ซ่าน (ไปทั้งใจ ไปจน) ฟุ้ง


เคยไหม ที่บางครั้งพอตาเห็นอะไร

อันเป็นสิ่งที่ปักใจ จึงสะดุ้ง

หรือสะท้านซ่านไปทั้งใจ

อดไม่ได้ ..... ที่จะคิดต่อไป ..... จนฟุ้ง

…………………………………………………..

หากมีอาการอย่างนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกค่ะ ทุกอย่างเป็นไปตามที่พระพุทธเจ้า ผู้เป็น “โลกวิทู” หรือ ผู้รู้แจ้งโลก ได้อธิบายกระบวนการเอาไว้แล้ว

ซึ่ง “โลก” ในที่นี้คือ กายอันยาวประมาณหนึ่งวา มีสัญญาและใจครองนี้นี่เอง

ในฐานะที่ยังเป็นบุคคล ยังมีกิเลสอยู่ เวทนาหรือความรู้สึก ความคิดปรุงแต่ง ทุกอย่างจึงเริ่มจากการรับรู้ด้วยตา หู จมุก ลิ้น กาย ใจ หรือ อายตนะ นี่เอง เพราะเรามีความยึด มีความอยาก มีกิเลสเป็นเหตุยินดี (กิเลสกามอันได้แก่ราคะ – ความยินดีในกาม, อิจฉา-ความอยากได้) ในสิ่งหรือสภาพที่น่ารื่นรมย์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย จนสิ่งนั้นๆกลายเป็นวัตถุกาม (พัสดุอันน่าใคร่) ของเรา ดังนั้นเมื่อตาเป็นต้นรู้อะไร ความที่เรายังมีกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ) อยู่ อาการ

สะดุ้ง   ซ่าน   ฟุ้ง

ดังที่ยกมาข้างต้นจึงเกิดแก่เราอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้  เพราะ

หากสิ่งนั้นเราไม่ใส่ใจ หรือ ไม่ใส่ใจมากนัก หรือ พิจารณาจนวางใจเป็นกลางกับเรื่องนั้นๆได้แล้ว

เมื่อตาเห็นแล้วก็พร้อมที่จะหน่วงนึกหรือไตร่ตรองอันก่อเกิดเวทนา ๓ คือสุข ทุกข์ ไม่ทุกข์ไม่สุข ไปได้ ๑๘ ลักษณะ (มโนปวิจาร ๑๘ อันได้จาก อายตนะ ๖ * เวทนา ๓ ) จึงไม่คิดปรุงต่อไป (A)

แต่ถ้าหากสิ่งนั้นเราใส่ใจมากขึ้น หรือ รักใคร่ในสิ่งนั้น จนทำให้พอใจเมื่อได้รับสิ่งนั้น หรือ ขัดเคืองใจเมื่อถูกขัดขวางให้ไม่ได้รับสิ่งนั้น เราก็จะปรุงแต่งต่อด้วยความชอบและชัง

โดย

เมื่อได้รู้รูปหรือเรื่องราวใดๆ กิเลสที่มีนอนเนื่องอยู่ก็จะซ่านไปย้อมจิตจนจนดำริเรื่องต่าง (B)

เพื่อเกื้อกูลแก่สังโยชน์ (C)

หากปล่อยตนให้เป็นไปตามกิเลสอยู่ตลอดเวลา เราก็จะจมลงในเหตุให้ลุ่มหลง (D)

กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในภายในจึงฟุ้งขึ้นท่วมทับ ครอบงำ บัญชาให้คิด พูด ทำในสิ่งต่างๆ ดังที่ตรัสเรียกว่า "ผู้มีอาจารย์" (E)

หากเราไม่กำหนดรู้ ไม่คลายกำหนัดในอายตนะ จนอดไม่ได้ที่จะคิดปรุงแต่งไปต่างๆ (สังขาร) เราจึงเป็นผู้ที่ไม่ควรแก่การสิ้นทุกข์ (F)

ยิ่งถ้าเรารักใคร่ ยึดมั่นในสิ่งนั้น ก็ย่อมเกิดความระแวงว่าจะสูญเสีย (G)

ก็จะดิ้นรนไปต่างๆ (H)

และเพราะความรัก, ความอยาก, ความยินดีในกามคุณ และ ความยึดในวัตถุกาม ความโศก ความสะดุ้งด้วยความกลัว จึงตามมา (I)

แต่หากเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นเกาะ (J)

แม้ว่าบางคราวอาจหลงลืมสติ จึงซ่านไปเพราะราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำในบางครั้ง แต่เมื่อระลึกขึ้นมาได้และกำหนดรู้ผัสสะ (K)

จึงข่มขู่จิตโดยชี้โทษเมื่อยามที่เกิดผัสสะแล้วเกิดฉันทะ(พอใจ), ราคะ(กำหนัด), โทสะ(ขัดเคือง), โมหะ(หลง) (L)

และไม่ประมาทในการกระทบของอายตนะ (M)

เมื่อเห็นโทษอยู่อย่างนี้และประพฤติไม่ยึดมั่นว่าเป็นของเรา (N)

ก็จะค่อยๆละความพอใจในสิ่งต่างๆได้ และสิ่งที่ละได้นั้นเอง นำสุขมาให้ (O)

เพราะพยายามพิจารณาให้ไม่เห็นความเป็นตน เป็นของตน เมื่อใด เมื่อนั้นก็จะว่างดังที่ตรัสว่า “โลกว่าง” (P)

จึงดับทุกข์ได้เป็นครั้งๆ อยู่เป็นสุขได้ในปัจจุบัน หรืออาจบรรลุธรรมที่ยิ่งไปกว่านั้น

...................................................

ไม่ต้องกลัวว่าเมื่อหมั่นพิจารณาแล้วจะเบื่อโลก เบื่อสิ่งที่เรารักนะคะ

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ตรัสว่า ไม่ต้องกลัวรีบนิพพาน เพราะกิเลสเรามีดังภูเขา

เราถูกย้อมติดมานาน ดีไม่ดี พิจารณาจนจบชีวิตนี้ ไม่รู้ว่าจะคลายได้หรือเปล่า

การพิจารณาอาจช่วยเราเพียงการไม่ปล่อยใจ

ให้พล่านไปกับกิเลสมากนักเท่านั้นก็ได้

..........................................................

หมายเหตุ
A ศึกษารายละเอียดได้จาก ธาตุวิภังคสูตร และ ติตถสูตร

B พระพุทธเจ้าตรัสเรียกผู้อยู่กับกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในภายใน
ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๕/๑๙

C สังโยชน์ กิเลสที่มัดในสัตว์, ธรรมที่มัดใจสัตว์ไว้กับทุกข์มี ๑๐ คือ.สักกายทิฏฐิ  (ความเห็นว่าเป็นตัวของตน), วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย), สีลลัพพตปรามาส (ความงมงายในศีลและวัตร), กามราคะ (ความติดใจในกามคุณ), ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ),รูปราคะ (ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต), อรูปราคะ (ความติดใจในอรูปธรรม), มานะ (ความถือตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่), อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) และ อวิชชา (ความไม่รู้จริง)

D จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง
“คำว่า จมลงในเหตุให้ลุ่มหลง อธิบายว่า กามคุณ ๕ ตรัสเรียกว่า เหตุให้ลุ่มหลง
ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๗/๒๘ – ๓๑

E

(๑)พระสารีบุตรอธิบายว่า ตรัสเรียกว่า ผู้อยู่กับกิเลสที่ฟุ้งขึ้น
    ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕/๑๙

(๒) บทว่า เต นํ สมุทาจรนฺติ ความว่า อกุศลธรรมเหล่านั้นย่อมครอบงำ ท่วมทับผู้นั้น หรือให้ผู้นั้นสำเหนียก กิเลสเหล่านั้นชื่อว่าเป็นอาจารย์ของเขา ด้วยอรรถว่าอบรม กล่าวคือให้สำเหนียกดังนี้ว่า จงทำเวชกรรมอย่างนี้ จงทำทูตกรรมอย่างนี้. กิเลสเหล่านี้ย่อมชื่อว่าเป็นอาจารย์ดังนี้. อธิบายว่า ภิกษุเป็นผู้อันอาจารย์เหล่านั้นทำให้เลื่อมใส.

F  เป็นผู้ไม่ควรแก่การสิ้นทุกข์
[๑๑๑] “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อยังไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้ ไม่คลายกำหนัด ไม่ละจักขุ เป็นผู้ไม่ควรแก่การสิ้นทุกข์ ....”
สํ.สฬา. (แปล) ๑๘/๑๑๑/๑๒๕

G ความระแวงอันเกิดจากความรัก
“หมู่สัตว์หวาดระแวงว่าจะมีผู้แย่งชิงวัตถุที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังถูกแย่งชิงไป ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นถูกแย่งชิงไปแล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง หมู่สัตว์หวาดระแวงว่า จะมีความผันแปรไปแห่งวัตถุที่ตนยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นกำลังผันแปรไป ย่อมดิ้นรนบ้าง เมื่อวัตถุนั้นผันแปรไปแล้ว ย่อมดิ้นรนบ้าง”
ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๒/๖๐

H ดิ้นรน
“คำว่า ดิ้นรนอยู่ อธิบายว่า เราเห็น แลเห็น ตรวจดู เพ่งพินิจ พิจารณาดู หมูสัตว์นี้ ผู้กำลังดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว สั่นเทา กระสับกระส่าย ด้วยความดิ้นรนเพราะตัณหา ดิ้นรนเพราะทิฏฐิ ดิ้นรนเพราะกิเลส, ดิ้นรนเพราะการประกอบ,ดิ้นรนเพราะวิบาก ดิ้นรนเพราะ ทุจริต”
ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๑/๕๕

I
ตณฺหาย ชายตี โสโก          ตณฺหาย ชายตี ภยํ
ตณฺหาย วิปฺปมุตฺตสฺส       นตฺถิ โสโก, กุโต ภยํ.
ขุ.ธ.๒๕ / ๗๑ / ๔๔
ความโศกเกิดจากความอยาก ภัย (ความสะดุ้ง, สิ่งที่เป็นที่กลัว, อันตรายในวัฏฏะ) ก็เกิดจากความอยาก
ความโศกย่อมไม่มีแก่ผู้ปราศจากความอยาก, ภัย จักมีแต่ที่ไหน.
(ความยินดี กาม สิ่งที่เป็นที่รัก ตรัสในแนวเดียวกัน)

J มีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ
“ภิกษุจะชื่อว่ามีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๒พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๑พิจารณาเห็นจิตในจิต มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
๑พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้”
สํ.ม.(แปล) ๑๙ / ๓๗๕ / ๒๒๔

K กำหนดรู้ผัสสะ
“คำว่า กำหนดรุ้ผัสสะ อธิบายว่า กำหนดรู้ด้วยปริญญา ๓ คือ
(๑) ญาตปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นรู้จัก)
(๒) ตีรณปริญญา (การกำนดรู้ขั้นพิจารณา)
(๓) ปหานปริญญา (การกำหนดรู้ขั้นละ)
ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๓/๖๓

L
วีโณปสสูตร ว่าด้วยอุปมาด้วยพิณ
ขุ.ม.(แปล) ๒๙ / ๒๔๖ / ๒๕๙ – ๒๖๒

M ไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖
“เรากล่าวว่า ‘ความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖ ประการ อันภิกษุเหล่านั้นควรทำ’ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะรูปที่พึงรุ้แจ้งด้วยตา น่ารื่นรมย์ใจบ้าง ไม่น่ารื่นรมย์ใจบ้าง มีอยู่ รูปเหล่านั้นกระทบแล้วๆ ย่อมไม่ครอบงำจิตของบุคคลนั้นอยู่ เพราะไม่ครอบงำอยู่ บุคคลจึงปรารภความเพียร ไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ ไม่กระสับกระส่าย มีจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ เราเห็นผลแห่งความไม่ประมาทนี้ จึงกล่าวว่า ‘ความไม่ประมาทในผัสสายตนะ ๖ ประการ อันภิกษุเหล่านั้นควรทำแท้ ”
สํ.สฬา.(แปล) ๑๘/๒๔๖/๒๖๐

N ประพฤติไม่ยึดมั่นว่าเป็นของเรา
“คำว่า พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา อธิบายว่า
คำว่า ความยึดถือว่าเป็นของเรา ได้แก่ ความยึดถือว่าเป็นของเรา ๒ อย่าง คือ (๑) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหา (๒) ความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิ ....นรชนละความยึดว่าเป็นของเราด้วยอำนาจตัณหาได้แล้ว สลัดทิ้งความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยอำนาจทิฏฐิได้แล้ว ไม่ยึดถือตาว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือหูว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือจมูกว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือลิ้นว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือกายว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือใจว่าเป็นของเรา ไม่ยึดถือ ไม่ถือ ไม่ยึดมั่น ไม่ถือมั่น รูป... เสียง... กลิ่น... รส... โผฏฐัพพะ... ธรรมารมณ์... ตระกูล... หมู่คณะ... อาวาส... ลาภ... ยศ... สรรเสริญ... สุข... จีวร... บิณฑบาต... เสนาสนะ... คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร... กามธาตุ... รูปธาตุ... อรูปธาตุ... กามภพ...  รูปภพ... อรูปภพ... สัญญาภพ... อสัญญาภพ... เนวสัญญานาสัญญาภพ... เอกโวการภพ... จตุโวการภพ... ปัญจโวการภพ... อดีต... อนาคต... ปัจจุบัน... รุปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่รับรู้ และธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งว่าเป็นของเรา พึงประพฤติ คือ อยุ่ เคลื่อนไหว เป็นไป เลี้ยงชีวิต ดำเนินไป ยังชีวิตให้ดำเนินไป รวมความว่า นรชนเห็นโทษนี้แล้ว... พึงประพฤติไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา
ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๒๑๐/๖๑๖

O สิ่งที่ละได้แล้วนำสุขมาให้
“สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า สิ่งใดมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละสิ่งนั้นเสียเถิด สิ่งที่พวกเธอละได้แล้วนั้นแลจักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขตลอดกาลนาน ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่ามิใช่ของพวกเธอ รูปมิใช่ของพวกเธอ เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปที่พวกเธอละได้จักมีเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ตลอดกาลนาน เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ... “
ขุ.ม.(แปล) ๒๙ / ๑๘๖ / ๕๒๖

P โลกว่าง
“อานนท์ เพราะโลกว่างจากตนหรือจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน ฉะนั้น เราจึงกล่าวว่า “โลกว่าง” อานนท์ อะไรเล่าว่างจากตน หรือ สิ่งที่เนื่องด้วยตน อานนท์ ตาว่างจากตนหรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน รูปว่างจากตนหรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน จักขุวิญญาณว่างจากตนหรือสิ่งที่เนื่องด้วยตน จักขุสัมผัสว่าง คือ ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นสุขก็มิใช่ เป็นทุกข์ก็มิใช่ ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็ว่าง
หู... เสียง....
จมูก... กลิ่น...
ลิ้น... รส...
กาย... โผฏฐัพพะ...
ใจ... ธรรมารมณ์... “
ขุ.ม.(แปล) ๒๙ / ๑๘๖ / ๕๒๘

หมายเลขบันทึก: 569320เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2014 09:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2014 06:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สะดุ้ง ซ่าน ..........ผมไม่พบ  ผมตรงไปที่ ฟุ้ง...........เลยครับ พี่ 5555 

ขอบคุณค่ะ..สติ คือตัวยับยั้งจิตฟุ้งซ่าน...จึงต้อง "ไม่ประมาท ขาดสติ"

<p>“รสพระธรรม เหนือกว่า รสทั้งปวง”..</p><p>.ขอบคุณครับ บทสาธยาย ขยายธรรม ได้เยี่ยมมากครับ</p><p>มอบภาพนี้ ให้อาจารย์นะครับ พระสัทธรรม ยังคงอยู่ </p><p>ตราบเท่าที่ พุทธบริษัทยังศึกษาอ้างอิง กล่าวถึง ปฏิบัติ และเห็นผลจริง แจ้งประจักษ์</p><p>ผมติดตามการยกธรรมะที่อาจารย์นำมาอธิบาย อยู่ตลอด นะครับ</p>

ขอบพระคุณทุกท่านที่มาเยี่ยมกันค่ะ

ห่างไปเป็นเดือน ยังให้ปัญญา ขบคิดธรรมะที่ลึกซึ้ง คมคาย เหมือนนั่งอยู่ข้างๆพระไตรปิฎก

ขอบคุณคุณสมานมากค่ะ มาเยี่ยมกันเสมอ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท