เก็บตกวิทยากร (10) ลปรร.แผนพัฒนาระดับองค์กรนิสิต


เป็นเวทีที่สื่อให้เห็นถึงกระบวนการ "ประเมินแผนพัฒนานิสิต" ในระดับองค์กรนิสิตทุกองค์กรได้เป็นอย่างดี เป็นการทบทวน-สรุปผลการดำเนินงานในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การขับเคลื่อนในปีการศึกษาใหม่

เป็นธรรมเนียมนิยมในวิถีกิจกรรมนิสิต เมื่อสิ้นปีการศึกษา องค์กรนิสิตทุกองค์กร ต้องมีเวทีสรุปงานประจำปี รวมถึงส่งมอบงานระหว่างชุดใหม่และชุดเก่า ซึ่งมีทั้งเวทีในระดับองค์การนิสิต สภานิสิต สโมสรนิสิตคณะ

เวทีดังกล่าวนี้  ถือเป็นกระบวนการหนึ่งของการ "ประเมินแผนพัฒนานิสิต"    ที่ประกอบด้วยเวทีรวมระดับมหาวิทยาลัยที่องค์กรนิสิตจะมาร่วมกันจัดเวทีร่วมกัน (องค์การนิสิต,สภานิสิต,สโมสรนิสิต) และอีกเวทีคือเวทีที่แยกส่วนไปจัดเฉพาะภายในแต่ละสโมสร    ซึ่งนิยมจัดร่วมกันระหว่างฝ่ายพัฒนานิสิตคณะกับคณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตทั้งชุดเก่าและชุดใหม่




นอกจากนี้แล้วในปีการศึกษา ๒๕๕๖ กองกิจการนิสิต ในฐานะผู้ดูแลระบบการพัฒนานิสิตของมหาวิทยาลัยก็มิได้ละเลยที่จะจัดเวทีดังกล่าวนี้เช่นกัน    ดังจะเห็นได้จากเวทีที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗   กองกิจการนิสิต ได้เชิญผู้นำองค์กรนิสิต  ทั้งชุดเก่าและชุดใหม่มาร่วม "สรุปหรือประเมินแผนพัฒนานิสิต"  ร่วมกันอีกครั้ง

เวทีดังกล่าวนี้ เริ่มต้นจากการที่ฝ่ายเลขานุการสะท้อน "ข้อมูลเชิงสถิติ"  ให้ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่าแผนพัฒนานิสิตในระดับองค์กรนั้น ในภาพรวมบรรลุเกินร้อยละ ๘๐ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว   ยกเว้นองค์การนิสิตเท่านั้นที่ยังขับเคลื่อนยังไม่ถึงร้อยละ ๘๐   ส่วนองค์กรที่ขับเคลื่อนบรรลุแผนเต็ม ๑๐๐ แล้วได้แก่   สภานิสิต สโมสรนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ และอยู่ในข่ายที่จะบรรลุครบเต็ม ๑๐๐ อีก ๒ องค์กร  คือสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์  และสโมสรนิสิตคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม



อย่างไรก็ดี เมื่อทุกคนได้เห็นข้อมูลอันเป็นสถานการณ์ร่วมกันแล้ว  จึงเปิดเวทีโสเหล่ถึงสภาพปัจจัยเหตุต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนแผนงานที่ผ่านมา   ซึ่งพบว่ามีข้อจำกัดหลายประเด็นที่ทำให้ไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ตามแผนที่กำหนดไว้   เช่น  ตรงกับกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ที่จัดขึ้นนอกแผนงาน   ติดช่วงสอบกลางภาค  ขาดการเตรียมการเชิงรุกในคณะทำงาน ฯลฯ

ถัดจากนั้นก็เปิดเวทีให้แต่ละองค์กรได้พิจารณาแผนงานเชิงรุกของตนเองที่สอดรับและสัมพันธ์กับนโยบายการพัฒนานิสิตในระดับมหาวิทยาลัยและระดับคณะ    ซึ่งมีประเด็นสำคัญๆ เชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันได้แก่  ปรัชญา,เอกลักษณ์,อัตลักษณ์,ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ฯลฯ



ทั้งนี้แต่ละองค์กรได้พยายามสื่อสารให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างแผนงานขององค์กรต้นสังกัดกับประเด็นอันเป็นหมุดหมายเชิงยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยและคณะต้นสังกัด   ซึ่งพบกิจกรรมเด่นๆ ที่ไม่ใช่กิจกรรมประเพณีนิยม (รับน้อง,ไหว้ครู,ลอยกระทง,สงกรานต์,กีฬา,วันเด็กแห่งชาติ)    อย่างน่าสนใจหลายกิจกรรม  เช่น

  • โครงการสถาปัตย์สัญจร,ละครเวทีสถาปัตย์ (สโมสรนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ)
  • โครงการค่ายสัมมนาสภา ๕ เทา (สภานิสิต)
  • โครงการศิลปกรรมอาสาร่วมพัฒนาชุมชน (สโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์)
  • โครงการค่ายหมอยาเรียนรู้ชุมชน (สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์)
  • โครงการพี่สอนน้อง,โครงการค่ายถนนผู้สร้าง (สโมสรนิสิตคณะวิศวกรรมสาสตร์)
  • โครงการวิทยาการสารสนดทศ ร่วมใจสามัคคี ทำความดีเฉลิมพระเกียรติ (สโมสรนิสิตคณะวิทยาการสารสนเทศ)
  • โครงการออนซอนพี่น้องวัฒนธรรม (สโมสรนิสิตคณะวัฒนธรรมศาสตร์)
  • โครงการองค์ความรู้สมุนไพรกับการดุแลสุขภาพคนชรา (สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์)
  • โครงการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม (สโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์)

หรือกระทั่งแผนงานเชิงรุกที่ไม่ได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนานิสิตอย่างเป็นรูปธรรม แต่ทุกองค์กรจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพร่วมกับฝ่ายพัฒนานิสิตคณะ นั่นก็คือ “การบริจาคโลหิต” เฉลี่ยแล้วอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้งเป็นอย่างต่ำ ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาร่วม ๕ ปี เสมือนการหยั่งรากเป็นวัฒนธรรมในองค์กร เป็นหนึ่งในกระบวนการบ่มเพาะเรื่อง “จิตสาธารณะ”   หรือ “จิตอาสา” แห่งการ "ทำความดีเพื่อสังคม"  ในอีกมิติหนึ่งด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังเปิดเวทีร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับแนวทางของการ “ประเมินความเป็นไปได้”  ของแผนพัฒนานิสิตที่เหลือว่าจะสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแผนงานของคณะกรรมการองค์กรชุดเดิม (ปีการศึกษา ๒๕๕๖) ที่เพิ่งหมดวาระลงในเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ แต่ได้ทำการส่งมอบให้คณะกรรมการชุดใหม่ (ปีการศึกษา ๒๕๕๗)  เป็นผู้ขับเคลื่อนต่อในระยะเวลาที่เหลือในวงรอบปีการศึกษา ๒๕๕๖ ทะลุไปถึงแผนงานในวงรอบปีงบประมาณ ๒๕๕๗  ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน ๒๕๕๗



และในช่วงท้ายของเวทีนั้น  ได้เปิดให้แต่ละองค์กรช่วยระดมความคิด (หมุดหมาย) การขับเคลื่อนแผนพัฒนานิสิตปีการศึกษา ๒๕๕๗ ว่าควรมีประเด็นใดที่ต้องหยิบจับมาทำกันอย่างจริงๆ จัง   ซึ่งนิสิตได้สะท้อนโดยสังเขป เป็นต้นว่า

  • กิจกรรมนิสิตกับการประกันคุณภาพการศึกษาภายใน
  • กิจกรรมนิสิตกับการเสริมสร้างจิตสาธารณะ หรือคุณธรรมจริยธรรม
  • กิจกรรมนิสิตกับวิถีวัฒนธรรมประชาคมอาเซียน
  • กิจกรรมนิสิตกับการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ฯลฯ



แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังไม่มีข้อยุติแต่ประการใด   หากแต่มอบหมายให้องค์กรนิสิตชุดใหม่ในปีการศึกษา ๒๕๕๗ ได้กลับไปทบทวนร่วมกัน (คิดเอง)  เพื่อกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์การทำงานเชิงรุกใหม่อีกครั้ง  โดยแผนพัฒนาที่จะมีขึ้นนั้น ทั้งผมและทีมงานได้ฝากให้นิสิตวิเคราะห์ให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกำลังมุ่งไป  –

ครับ, เวทีดังกล่าวนี้  ถึงแม้จะใช้เวลาไม่นานนัก   แต่ก็เป็นเวทีที่สื่อให้เห็นถึงกระบวนการ "ประเมินแผนพัฒนานิสิต"  ในระดับองค์กรนิสิตทุกองค์กรได้เป็นอย่างดี   เป็นการทบทวน-สรุปผลการดำเนินงานในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา เพื่อเชื่อมโยงไปสู่การขับเคลื่อนในปีการศึกษาใหม่   หรือแม้แต่ในห้วงเวลาที่เหลือทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

เช่นเดียวกับการช่วยให้แต่ละองค์กรได้มองเห็นแผนงานของกันและกัน   ซึ่งในบางแผนงานสามารถบูรณาการเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันได้ในอนาคต   รวมถึงการมองเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของกันและกันที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ หรือแม้แต่เกื้อหนุนกันและกัน  


สำหรับผมและทีมงานแล้ว  ในเวลาอันใกล้นี้  จะมีเวทีใหญ่เพื่อจัดทำ "แผนพัฒนานิสิต"   ร่วมกันอีกครั้ง   ทั้งในกลุ่มผู้บริการ-เจ้าหน้าที่ และนิสิต  เรียกได้ว่าเป็นแผนพัฒนานิสิตในระดับมหาวิทยาลัยฯ นั่นเอง



เร็วๆ นี้....



หมายเลขบันทึก: 569305เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2014 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2014 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ยอดเยี่ยมมากเลยค่ะ สรุป ปรับ พัฒนา ขับเคลื่อนแผนร่วมกันทุกฝ่าย พลังของการเรียนรู้ต่อยอด 

ขอบคุณครับ นุ้ยcsmsu

สู้อุตส่าห์มาหนุนกันเอง 555
กระนั้นก็ท้าทายนะครับ สำหรับการผลักดันกลับสู่การเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ระดับสถาบันที่เป็นรูปธรรมอีกครั้ง...
(แต่คงเหนื่อยหนักกว่าครั้งที่แล้ว....)

เป็นการประเมินแผนเพื่อพัฒนางานตนเองและสามารถมองเห็นแผนงานองค์การอื่นๆ  เพื่อปรับแผนและกลยุทธในการทำงานตามนโยบาย

...เป็นตัวอย่างรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วนนะคะ...

ขอบคุณครับ คุณ แดนไท

กระบวนการเช่นนี้ คือ PDCA  ง่ายๆ  ที่ทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง และมองทะลุไปยังการงานคนอื่น  และยึดโยงเข้าหากัน
การพัฒนานิสิตในมหาวิทยาลัย  ไม่อาจแยกส่วนการทำงานได้เลย  จำต้องสัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นน้ำ (นโยบาย)  จากระดับมหาวิทยาลัยสู่คณะ และองค์กรนิสิต...

ขอบคุณที่แวะมาแลกเปลี่ยน ครับ

ขอบคุณครับ อ.Pojana Yeamnaiyana Ed.D.

ตอนนี้กำลังหาลักษณะร่วมอันเป็นทิศทางที่เหมือน หรือคล้าย หรือแม้แต่ความแตกต่างกันในการพัฒนานิสิตของแต่ละภาคส่วนโดยมีเป้าหมายอันเดียวกัน ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)  ซึ่งฟังดูนามธรรมมากครับ  อาศัยการเรียนในชั้นเรียนอย่างเดียวคงยากที่จะก่อให้เกิดทักษะ และกระบวนทัศน์ได้  การเคลื่อนกิจกรรมนอกชั้นเรียนไปหนุนเช่นนี้  น่าจะทำให้เป้าหมายมีโอกาสสำเร็จได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งดีกว่าทำ-ขับเคลื่อนแยกส่วน หรือเชิงเดี่ยว ครับ

ครบถ้วนสมบูรณ์ตามวงจร PDCA ครับ ขอเป็นกำลังใจให้พี่ๆเพื่อนๆและน้องๆสายกิจกรรมพัฒนานิสิตทุกท่านนะครับ

สวัสดีครับ หัวใจอาสา

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
และขอให้มีพลังในการทำงาน-ใช้ชีวิต เฉกเช่นเป็นมา ครับ

ขอบคุณ tuknarak เช่นกันครับ
ขอให้ชีวิตเต็มไปด้วยพลังการสร้างสรรค์ นะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท