พลัดตกหกล้ม


วันนี้ (26 พ.ค.)นพ.โสภณ เมฆธนอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การพลัดตกหกล้มเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ (Unintentional) รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มประมาณปีละ 424,000 คน เฉลี่ยวันละ 1,160 คน ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มปีละกว่า 1,600 คน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุ โดยเพศหญิงสูงกว่าเพศชาย ทั้งนี้ เพศหญิงส่วนใหญ่พลัดตกหกล้มในตัวบ้านและในบริเวณรั้วบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำ เป็นต้น ขณะที่เพศชายส่วนใหญ่พลัดตกหกล้มบริเวณนอกบ้าน ขณะเดินทาง และในสถานที่ทำงาน เช่น ถนนในซอยและถนนใหญ่ ข้ามสะพาน จักรยาน/มอเตอร์ไซค์ล้ม บนรถเมล์ไร่ นา ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

       “สาเหตุของการหกล้มส่วนใหญ่มาจากพื้นลื่น สะดุดสิ่งกีดขวาง การเสียการทรงตัว พื้นต่างระดับ หน้ามืดวิงเวียน และสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม เช่น ถูกกระแทก ตกบันได เป็นต้น และภายหลังการพลัดตกหกล้มแล้ว ประมาณครึ่งหนึ่งมีอาการฟกช้ำ รองลงมาคือ มีอาการปวดหลัง และรุนแรงจนกระดูกหัก รวมทั้งเกิดความพิการและเสียชีวิตตามมา”

 นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า คำแนะนำในการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ

1. สังเกตอาการและความผิดปกติของการมองเห็นเช่น มองเห็นไม่ชัดเจน ตาพร่ามัว บอกระยะห่างไม่ได้ และไม่สามารถแยกความแตกต่างของสีได้ เป็นต้น


2. สังเกตอาการและความผิดปกติของการเดินการทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่ควบคุมการทรงตัวของระบบอวัยวะต่างๆ ลดลง ทำให้สมดุลในการทรงตัวบกพร่อง


3. สังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับ วัน เวลา สถานที่ และบุคคล เป็นต้น รวมทั้งมีการรับรู้ ตัดสินใจ หรือตอบสนองได้ช้าลง


4. ทบทวนและปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มได้แก่ ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต และยาขับปัสสาวะ หรือมีประวัติการใช้ยาเป็นประจำตั้งแต่ 4 ชนิดขึ้นไป (ไม่รวมวิตามิน)


5. ประเมินสภาพบ้าน ที่อยู่อาศัยทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน โดยจัดให้มีราวบันไดและราวจับในห้องน้ำ แสงสว่างเพียงพอ พื้นเรียบเสมอกัน ไม่ลื่น ไม่มีสิ่งกีดขวางบริเวณทางเดิน ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง ใช้เตียงที่มีความสูงเหมาะสม และใช้โถส้วมชนิดนั่งราบ/ชักโครก ฯลฯ


6. ควรออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเน้นฝึกการทรงตัวและทักษะการเคลื่อนไหว เช่น โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น


7. ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตกในท่ายืนหน้ามืด วิงเวียน จะเป็นลม ขณะลุกนั่งหรือยืนทุกครั้ง 


8. สำรวจสิ่งแวดล้อมหรือจุดเสี่ยงในชุมชนเช่น พื้นทางเดิน ถนน ที่สาธารณะ ฯลฯ และ กำหนดนโยบายสาธารณะและร่วมปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรม/โครงการป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน เช่น การออกกำลังกายแบบไทเก๊ก โยคะ การรำมวยจีน การเดิน ว่ายน้ำ เป็นต้น

                  

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 พฤษภาคม 2557 17:29 น
หมายเลขบันทึก: 569218เขียนเมื่อ 27 พฤษภาคม 2014 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2014 20:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มอเตอร์ไซต์ล้มนี่เห็นบ่อยมากค่ะ

8  ข้อสังเกตุของอดีตท่านรองปลัด โสภณ เมฆธน น่าสนใจ นำไปบอกต่อเพื่อป้องกัน  การพลัดตกหกล้ม

เมื่อท่านมาเป็ยอธิบดีกรมควบคุมโรค พวกผม สมาคมลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศ  ก็ไม่ได้ ไปกวนท่าน เหมือนเมื่อตอนท่านอยู่ในตำแหน่ง รองปลัด

ผู้ใหญ่อีกท่านที่ต้องกล่าวถึง เพราะมีคุณูปการกับลูกจ้างกระทรวงสาธารณสุขอย่างมากมาย คือท่าน ดนุพงษ์ สาเขต

ท่านได้กรุณาพวกผมมาตลอด  แม่กระทั่งเรื่อง พกส(พนักงานกระทรวงสาธารณสุข).ที่จะนำเข้าสู่ กสจ(กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลูกจ้าง)

เป็นข้อมูลที่น่าสนใจมากเลยครับ

นพ.โสภณ เมฆธนอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การพลัดตกหกล้มเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ

ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจค่ะ อายุที่มากขึ้นจะต้องระมัดระวังเรื่องการพลัดตกหกล้ม เพราะโอกาสกระดูกหักได้ง่าย

ประเทศไทยเพศหญิงพลัดตก หกล้ม มากกว่าเพศชาย แต่ในต่างประเทศพบว่าเพศชาย มากกว่าเพศหญิงค่ะ

ขอบคุณครับอ.Sukajan สำหรับคำแนะนำดีๆในการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ

คุณแม่ของผมเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาในการทรงตัวแต่ไม่ยอมฝึกบริหารท่าที่ช่วยได้เลย 

ไม่ทราบว่าอ.Sukajan จะมีคำแนะนำอะไรไหมครับ

ขอบคุณข้อมูลดีๆเช่นนี้ค่ะ...ทางเดินสาธารณะมักต่างระดับและไม่เรียบเสมอกัน....อีกทั้งรถมอเตอร์ไซค์ชอบขึ้นมาแล่นบนทางเดิน...ต้องระวังมากๆ แม้ไม่ใช่ผู้สูงวัยค่ะ

ตอนนี้เมืองเพชร....กำลังรณรงค์เรื่องนี้อยู่นะคะ

ขอบคุณ คุณปิย่า คุณ rojfitness พี่ใหญ่ และคุณหมอเปิ้ลค่ะ

ตอบคุณ rojfitness ว่าถ้าไม่ยอมออกกำลังกายเป็นเรื่องเป็นราว ชวนคุยและพาเดินเล่น ทางตรงบ้าง ทางโค้งบ้าง คอยดูแลใกล้ๆเผื่อคุณแม่หกล้ม หรือชวนยืนทำโน่น นี่ นั่น บ้าง สัก 10-15 นาที วันละ 2 รอบ ก็พอถูไถไปได้นะ อย่าให้นั่งๆนอนๆทั้งวัน ถ้าชอบร้องเพลงก็ให้ยืนร้องเพลงหรือชวนเต้นรำเบาๆ สนุกๆ ลองคิดกิจกรรมในท่ายืนหรือเดินที่ท่านชอบดูนะคะ แต่ต้องมีเพื่อนทำหรือมีใครอยู่ด้วยคอยระวังหกล้ม

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท