สร้างโอกาสบนวิกฤติ…พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยกระบวนการศึกษา “โรงเรียนสองภาษาที่บ้านโป่งวัวเเดง”


ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งถูกผลักออกจากสิทธิบางอย่างที่พึงจะได้รับ โดยเฉพาะการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิโดยพื้นฐาน เมื่อเรามองว่า "ความรู้คืออำนาจ"ดังนั้น การเรียนรู้ในกระเเสหลักจึงเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ถูกให้ความสำคัญ เเละต้องใช้เงินในการลงทุน ทั้งในฝ่ายผู้รับการเรียนรู้เเละบทบาทของผู้ให้ความรู้ เมื่อเงื่อนไข การจัดการศึกษาผูกเเน่นค่านิยมดังกล่าว การศึกษาจึงกลายเป็นสิทธิพื้นฐานที่ผู้ที่ขาดเเคลนกำลังทรัพย์ยากที่จะเข้าถึง

เรื่องราวที่โรงเรียนบ้านโป่งวัวแดง ที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท ที่อยู่กับบริบทที่คล้ายคลึงกับโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศที่อยู่ทางกลางความไม่พร้อม เเละปัญหาอุปสรรครอบด้าน

เมื่อทบทวนปัญหาเดิม พบว่าในปี ๒๕๕๐ พบว่าผลคะเเนน ONET ของโรงเรียนมีระดับคะเเนนที่ต่ำกว่าคะเเนนเฉลี่ยระดับประเทศ โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นปัญหาคลาสสิกของการเรียนภาษาอังกฤษคือ เมื่อนักเรียนเรียนเเล้วไม่สามารถสื่อสารได้

ครูสว่าง สิงหะคเชนทร์ ปัจจุบันครูสว่างดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโป่งวังแดงมีมุมมองผ่านประสบการณ์ ได้เรียนรู้ว่า ลูกศิษย์ของครูที่จบการศึกษาออกไป หากมีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ จะมีโอกาสที่ดีในชีวิต สามารถที่จะหางานได้ง่ายเเละได้ทำงานดีๆ มีรายได้สูง มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งเงื่อนไขปัญหาเเละมุมมองผ่านความสำเร็จของลูกศิษย์ที่สำเร็จการศึกษา ทำให้ ผอ.สว่าง ได้ผุดความคิดนำร่องห้องเรียนสองภาษา ให้เกิดขึ้นในโรงเรียนของตนเอง เเม้คำว่า โรงเรียนสองภาษา ในความคิดขณะนั้น เมื่อเราคิดถึงโรงเรียนสองภาษา ก็มักจะมาพร้อมกับค่าบริหารจัดการที่สูง ในขณะที่บริบทโรงเรียนขาดทั้งกำลังคน เเละกำลังทรัพย์

จุดเริ่มต้นการจุดประกายการขับเคลื่อนสิ่งใหม่ที่ท้าทาย

ในปี ๒๕๕๐ มีคุณครูมาบรรจุใหม่ ซึ่งคุณครูคนใหม่เคยมีประสบการณ์ในการสอนโรงเรียนสองภาษามาก่อน ครูคนใหม่ท่านนี้เองเป็นจุดเริ่มต้น จุดประกายความคิดที่มีอยู่เดิมของผอ.สว่าง ให้เห็นเป็นรูปร่างเเละคิดต่อว่า “เราก็น่าจะทำได้”คำว่าเราในที่นี้ หมายถึง โรงเรียน เเละผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด

ประสบการณ์ที่ถูกถอดบทเรียนจากครูคนใหม่ ผนวกกับ ความมุ่งมั่นของโรงเรียน ทำให้เริ่มคิด ห้องเรียนนำร่องสองภาษา ขึ้น ในตอนนั้นเอง

เมื่อเริ่มคิด...ก็เริ่มทำ

ความคิดเริ่มต้น เเต่ประสบการณ์น้อย สิ่งที่โรงเรียนสามารถทำได้คือ เรียนลัด คณะครูจึงพาคณะกรรมการโรงเรียน ตัวเเทนครู ตัวเเทนผู้ปกครอง ไปศึกษาดูงานโรงเรียนที่ดำเนินการโรงเรียนสองภาษา ที่มีชื่อหลายๆโรงเรียน เช่น โรงเรียนอนุบาลเมืองเชียงราย,โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จังหวัดเชียงราย เเละโรงเรียนหนองฉางวิทยาคม ที่จังหวัดอุทัยธานี

เริ่มต้น "การมีส่วนร่วม"ตั้งเเต่ เริ่มคิด เริ่มหาข้อมูล จนกระทั่งร่วมกันออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริบทเเละข้อจำกัดที่ผ่านการวิเคราะห์ของโรงเรียนบ้านโป่งวัวแดง ทางโรงเรียนจึงขออนุมัติหลักสูตร กับ คณะกรรมการเขตพื้นที่ ทั้งในประเด็นการตั้งหลักสูตรใหม่เเละการระดมทรัพยากร เเละห้องเรียนนำร่องสองภาษาเริ่มต้นในจุดนั้น

ผอ.สว่าง เล่าถึงวิธีคิดเริ่มต้น เชื่อมให้เห็นถึง การมีส่วนร่วมตั้งเเต่ต้นว่า โรงเรียนของเรา เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ทรัพยากรน้อย งบประมาณก็มีจำกัด ลำพัง ผู้บริหารโรงเรียน เเละคณะครูเพียงฝ่ายเดียว ไม่สามารถที่จะทำให้โปรเจคก์นี้ประสบความสำเร็จ ผมก็เลยมีความคิดว่า น่าจะหาเจ้าภาพ หาคนที่จะมาเป็นหุ้นส่วน ผมก็มองไปที่ผู้ปกครองนักเรียน เเล้วก็มองไปที่ท้องถิ่น ก่อนที่จะทำอะไรก็ตาม เราก็จะประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ว่าเราจะทำอะไร มีเหตุมีผลอย่างไร?”

วิธีคิดที่แฝงด้วยการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม น่าจะเป็นประตูบานเเรกที่จะเปิดไปสู่ความสำเร็จที่ตั้งใจไว้

ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ เป็นห้องเรียนเเรกที่ทางโรงเรียนทดลองนำร่องเป็นห้องเรียนสองภาษา ในปีเเรกที่ริเริ่มคิด ทำไมต้องเป็น ป.๓ ผอ.สว่างเล่าว่า ".๓ เป็นระดับชั้นที่มีความพร้อมเเล้ว เพราะสามารถอ่าน เขียนภาษาไทยได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่จะเริ่มเรียนภาษาที่สองได้"

ในการนำร่องห้องเรียนสองภาษา ในปีเเรก เปิดให้สำหรับนักเรียนที่สนใจ เเละผู้ปกครองเห็นชอบในหลักการ กลุ่มนี้จะจ่ายค่าเล่าเรียน ๓,๐๐๐ ต่อปี เมื่อรวมค่าใช้จ่ายเเล้วพบว่า การเปิดห้องเรียนสองภาษาในเเต่ละปี ต้องใช้งบประมาณราว หนึ่งเเสนสองหมื่นบาท งบประมาณที่ขาดไปก็ได้รับการสมทบจากองค์การบริหารส่วนตำบล เเละส่วนหนึ่งจากงบประมาณของโรงเรียน เเละงบประมาณทั้งหมดถูกใช้จ่ายเป็นค่าจ้างครูต่างประเทศที่ต้องจ่ายค่าจ้างเดือนละประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท

ถอดบทเรียนความสำเร็จ...เพื่อก้าวต่อไป

ผ่านไป ๑ ปี ทางโรงเรียนได้เปิดเวทีเล็กๆ เพื่อทำกระบวนการถอดบทเรียน ประเมินผลการดำเนินการห้องเรียนนำร่อง เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์พบว่า นักเรียนที่ผ่านกระบวนการนี้ มีความสามารถเเละทักษะในการ พูด ฟัง อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษในระดับที่น่าพึงพอใจ มติของคณะกรรมการเเละผู้ที่มีส่วนร่วมในการประเมินผล จากเวทีเล็กๆในครั้งนั้น ได้ขอให้โรงเรียนขยายผลห้องเรียนสองภาษา เเละพร้อมให้การสนับสนุนต่อ จากเดิมมีนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ๕๐ % ในปี ๒๕๕๔ มีนักเรียนเข้าเข้าร่วมเพิ่มขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งหมด ๙๐ % มีเพียงบางส่วนที่มีปัญหาเรื่อง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเเละมีบางส่วนที่ผู้ปกครองไม่ให้ความสนใจ โรงเรียนเลยได้จัดทำโครงการห้องเรียนสองภาษาเพิ่ม โดยผ่านครูคนไทยที่มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในการสอน ตามโครงการ EBE (Bilingual education Education) เพื่อตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว

ผลสำเร็จ..ที่เกิดขึ้น ที่โป่งวัวแดงจึงพยายามให้เห็นว่า ที่นี่ไม่ได้เริ่มต้นมาจากความพร้อม เเต่ที่นี่เริ่มต้นมาจากปัญหาเเละความเหลื่อมล้ำ ที่นักการศึกษามองเห็นปรากฏการณ์นี้อยู่เเล้ว ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน การแก้ไขปัญหาที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจึงยากที่จะเริ่มต้นในการแก้ไข...


การก้างย่างของโรงเรียนบ้านโป่งวัวแดง ความกล้าหาญในการพาโรงเรียนเข้าสู่ระบบโรงเรียนสองภาษา แม้จะยากด้วยความไม่พร้อมแต่อาศัยวิสัยทัศน์ของผู้นำ ความพร้อมอกพร้อมใจของคณะครู การผนึกกำลังของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกับโรงเรียน มองเป้าร่วมกัน เเล้วหาวิธีการที่คิดขึ้นภายใต้ศักยภาพของตัวเอง ก็สามารถจะพิชิตเป้าหมายได้ อาจไม่เหมือนใคร แต่ได้ผลลัพธ์ที่น่าชื่นใจ

ความสำเร็จที่โรงเรียนบ้านโป่งวัวแดง ถูกนำเสนอผ่านเวทีต่างๆที่ทางเขตพื้นที่การศึกษาฯ ได้เปิดโอกาส เล่าขานความสำเร็จ ในเวทีโรงเรียนในฝัน ปี ๒๕๕๕ ระดับประเทศ ภายใต้ชื่อ “การขยายโอกาสทางการศึกษา นวัตกรรมโป่งวัวแดงโมเดล” โดยครั้งนั้นโรงเรียนบ้านโป่งวัวแดง ได้รับรางวัลนวัตกรรม “Best of The best” ระดับประเทศ เเละในปี ๒๕๕๗ โรงเรียนได้รับรางวัลเหรียญทอง “นวัตกรรมการเตรียมตัวเข้าสู่อาเซียน เเละทักษะศตวรรษที่ ๒๑

ช่วงต้นปี ๒๕๕๗ ทาง สสค.ได้เชิญทางโรงเรียนไปร่วมงานสัมมนาความสำเร็จจากการจัดการศึกษา เเละหลังจากนั้นในช่วงกลางปี ได้เข้ามาติดตาม เรียนรู้ยังโรงเรียน ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวิดีทัศน์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวใน มหกรรมวิชาการการศึกษา ที่เมืองทองธานี วันที่ ๖- ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ชื่อเสียงเล่าขานถึงโรงเรียนเล็กๆแห่งนี้ขจรขยายมากขึ้นจากรางวัล การันตีหลายๆรางวัล เเละการสื่อสารสู่สาธารณะหลายครั้ง

มีโรงเรียนที่มีความพร้อมหลายๆโรงเรียนได้ขอโอกาสเข้ามาศึกษาดูงานที่โรงเรียนพร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมโรงเรียนเล็กๆแบบวัดโป่งวัวแดงถึงสามารถจัดการการศึกษาตามเเนวทางโรงเรียนสองภาษาได้ เเละสำเร็จเห็นผลงานเชิงประจักษ์?


ปัจจัยความสำเร็จ...กว่าจะถึงวันนี้ ที่บ้านโป่งวัวแดง

ความสำเร็จที่ปลายทาง เกิดจากการปฏิบัติ และการปฏิบัติก็เป็นผลมาจากวิธีคิดมุมมอง หลอมเป็นหลักการไปสู่วิถีของการทำงานจริง เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยของความสำเร็จของโรงเรียนบ้านโป่งวัวเเดง ก็พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • ปัญหา วิกฤติ เเละอุปสรรค เปลี่ยนเป็นความท้าทาย ปัญหาเมื่อมองดูเหมือนจะไม่มีวิธีแก้ไข เเต่เมื่อขยับลงสู่การปฏฺิบัติก็พอที่จะมองเห็นทางออกของปัญหา ดังนั้นข้อจำกัดของโรงเรียนบ้านโป่งวังแดง กลายเป็นเเรงผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาจนสามารถนำไปสู่โรงเรียนที่สามารถบริหารจัดการให้เป็นโรงเรียนสองภาษาได้ภายใต้ข้อจำกัดทางทรัพยากร
  • วิสัยทัศน์ของผู้นำ ต้องยอมรับว่า สถานศึกษาที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าประเด็นใดก็ตาม องค์ประกอบสำคัญคือ ผู้บริหาร ดังนั้นหากผู้นำมีวิสัยทัศน์ เเละมีกระบวนการบริหารจัดการที่สามารถสร้างพลังการทำงานกลุ่มได้ พร้อมกับทำหน้าที่เป็นผู้เอื้อให้เกิดกระบวนการพัฒนาได้ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
  • กระบวนการทำงานเป็นทีม งานหรือกิจกรรมใดที่เกี่ยวข้องกับผู้คนหลากหลาย ที่เรียกว่า ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ความเป็นทีมในการขับเคลื่อนงาน เพราะความเป็นทีมนอกจากจะมีพลังในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของงานเเล้ว ความสามารถที่หลากหลายของทีมงานหากมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ก็สามารถจะใช้ศักยภาพของเเต่ละคนได้เต็มที่
  • การมีส่วนร่วม กระบวนการพัฒนาโรงเรียนสองภาษา ถือว่าเป็นรูปแบบการจัดการศึกษาที่จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ออกแบบ ร่วมทำเเละร่วมประเมินผลร่วมกัน ถึงจะประสบความสำเร็จ
  • กระบวนการสื่อสารที่ทรงพลัง การสื่อสารที่ดี เเละมีประสิทธิภาพ ผ่านสื่อที่เหมาะสมกับยุคสมัย จะเป็นช่องทางการบอกกล่าวให้กับสังคมได้เรียนรู้ร่วมกับโรงเรียนไปด้วย อีกทั้งการสื่อสารถือว่าเป็นการระดมพลังทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สามารถกำหนดคุณสมบัติของครูที่จะมาสอนได้ด้วยตนเอง การเป็นผู้นำในการบุกเบิกนวัตกรรมการจัดการศึกษา และอาศัยช่องทางในการจัดทำหลักสูตร จึงสามารถคัดเลือก รวมถึงกำหนดคุณสมบัติครูที่จะมาสอนที่โรงเรียนได้ด้วยตนเอง ดังนั้นครูที่มาสอนจึงเเน่ใจได้ว่ามีศักยภาพ ความพร้อมอย่างที่โรงเรียนต้องการ
  • มีกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการจัดการความรู้สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับงานพัฒนาที่ต้องการองค์ความรู้ใหม่ๆ สร้างทางเลือกใหม่ๆ คือ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ที่มีความต่อเนื่อง รวมไปถึงการสะท้อนบทเรียนเป็นระยะๆ จนกระทั่งสามารถสรุปองค์ความรู้เพื่อใช้ในการตัดสินใจในการดำเนินงานต่อเนื่อง

ผลของการจัดการโรงเรียนสองภาษาบนข้อจำกัดของโรงเรียนขนาดเล็ก เมื่อขยับ ก็พอที่จะเห็นทางออกของปัญหา เพียงเเต่ต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างบทเรียนใหม่ ในการตัดสินใจ เเละให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมอย่างเเท้จริง

องค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินงานยังพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกว่า การที่โรงเรียนจัดกระบวนการเรียนรู้โรงเรียนสองภาษานำร่องจนขยายผลในโรงเรียนในทุกช่วงชั้น พบว่า ชั้นที่เล็กลงจนถึงอนุบาลสองปีครึ่ง ของ อบต.ที่อยู่ในรั้วโรงเรียน การที่เราเริ่มหลักสูตรสองภาษา ตั้งเเต่เด็กอายุขนาดนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมที่มีประสิทธิภาพเเละประสิทธิผล เด็กสามารถฝึกทักษะพูด เขียน ออกเสียง เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ที่จำเป็นในระดับชั้นที่สูงขึ้น ผลงาน เชิงประจักษ์ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ปกครอง ส่งบุตรหลานมาเรียนในระดับปฐมวัยมากขึ้นจากยอดนักเรียนเดิม ในปี ๒๕๕๑ มีนักเรียนปฐมวัยเพียง ๓๕ คน แต่ในปัจจุบันปี ๒๕๕๗ มีจำนวนนักเรียนปฐมวัยถึง ๙๓ คน จำนวนนักเรียนปฐมวัยที่เพิ่มมากขึ้น ย่อมหมายถึงความเชื่อมั่นในการจัดการศึกษาของผู้ปกครองต่อโรงเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในมุมของการระดมทรัพยากรในส่วนของ อาสาสมัครชาวต่างประเทศ ที่เข้ามาช่วยสอนที่โรงเรียน มีจำนวนอาสาสมัครเข้ามามากขึ้น จนกระทั่งบางช่วงโรงเรียนไม่สามารถรับอาสาสมัครเพิ่มได้ การสร้างเครือข่ายผ่านการสื่อสารระดับโลกของโรงเรียนเล็กๆแห่งนี้ จึงน่าสนใจ มีคำถามผุดขึ้นมาว่า ทำไมอาสาสมัครจากทั่วโลกจึงมุ่งมายังสถานที่แห่งนี้คำตอบก็คือ ทางโรงเรียนได้สร้างเวปไซต์ที่บอกกล่าวถึงเรื่องราวโรงเรียน วิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่ายมีเสน่ห์ รวมไปถึงความต้องการช่วยเหลือ อาสาสมัครจากทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้โดยง่าย เเละเมื่อได้มีโอกาสเข้ามาเป็นอาสาสมัครยังโรงเรียน ก็ได้รีวิว เขียนเรื่องราวประทับใจในระหว่างที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ได้อย่างน่าสนใจ เรื่องราวที่มีเสน่ห์แบบชนบทไทยรวมไปถึงการสะท้อนเเง่มุมประทับใจ เป็นชุดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจสำหรับอาสาสมัครคนอื่นๆต่อไป

นอกจากปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ได้วิเคราะห์ผ่าน ผอ.สว่าง ในบทบาทผู้นำองค์กรเเล้ว ผอ.ได้ให้ข้อคิดในการทำงานไว้อย่างน่าสนใจว่า การทำงานที่ประสบความสำเร็จอย่างเเท้จริง ต้องได้ทั้งคน ได้ทั้งงาน เมื่อคนทำงานมีความสุข งานก็มีประสิทธิภาพ ใช้หลักการประชาธิปไตย ร่วมคิด ร่วมทำ เเละร่วมประเมินผล ให้กำลังใจกัน เอื้ออาทร เสมือนคนในครอบครัวเดียว ในบ้านหลังใหญ่ “โรงเรียนบ้านโป่งวัวแดง

จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร[1]: ถอดบทเรียน ผ่าน ผอ. สว่าง สิงหะคเชนทร์


[1] ถอดบทเรียน ในเวทีการจัดการความรู้ เพื่อพัฒนานักถอดบทเรียน Best Practice สำหรับครู,สฟบ.พิจิตร เขต ๒ ณ บ้านไม้ระเบียงภู รีสอร์ท อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่างวันที่ ๒๑-๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 569072เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2014 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2014 09:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ยินดีมากค่ะที่ได้อ่านเรื่องราวดีดีของ อ เอก อีก

คงได้อ่านเรื่องต่อๆไปนะคะ

ขอบคุณครับ กลับมาลองลงบันทึกครับ ผมเขียนไว้ในคอมพิวเตอร์หลายร้อยบทความครับ เเต่ยังไม่ได้นำมาลง

ดีใจที่ได้อ่านบันทึกน้องเอกอีกครั้ง คิดถึงน่ะค่ะ

พี่ตั้งข้อสังเกตว่า ในบริบทแบบไทยๆ  ในระบบราชการหรือกึ่งราชการ วิสัยทัศน์ของผู้นำ  และการนำ มีอิทธิพลมากที่สุดต่อการทำงานและความสำเร็จ เมื่อมีปัจจัยนี้แล้วทุกอย่างจะตามมาทั้งหมด  

ไม่นานมานี้ได้ไปเห็นวิธีคิด วิธีทำงานของบริษัทเอกชนเล็กๆ ของต่างชาติ แล้วแปลกใจว่า แรงจูงใจอะไรทำให้คนทำงานกระตือรือร้นได้ขนาดนั้น?? พยายามหาคำตอบอยู่

พี่อยากทราบว่าตัววัดอะไรที่บอกว่าห้องเรียนสองภาษาของโรงเรียนบ้านโป่งแดงประสบความสำเร็จ น้องเอกกรุณาเล่าเพิ่มได้มั๊ยคะ

ฝากคำชื่นชมจากใจคนนอกวงการอย่างพี่ถึงท่าน ผอ. สว่าง สิงหะคเชนทร์ ด้วยนะคะ

และขอบคุณน้องเอกที่เล่าบันทึกดีๆ นี้ค่ะ

ป.ล. พี่สงสัยว่าค่าตอบแทนครูต่างชาติทำไมถูกจัง "เดือนละประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท"

ค่าตอบแทน 12,000 บาท เมื่อย้อนไป 10 ปีก่อน ครับ พี่นุ้ย (แรกคิดโครงการ)

ดูคลิปประกอบนะครับ. http://m.youtube.com/watch?sns=fb&v=Rr8gQ0ilFlE

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท