สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว



          (ที่มา : http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2014/02/05/57eaa5eej5ja6ccahjcah.jpg)


               คนต่างด้าว[1]ในประเทศไทยถูกนิยามความหมายไว้ในหลายพระราชบัญญัติ ซึ่งโดยสรุปก็คือ เป็นผู้ซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย ด้วยเหตุความไม่มีสัญชาติไทย คนต่างด้าวจึงถูกจำกัดสิทธิบางประการ เพราะสิทธินั้นจะรับรองให้แก่คนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่ทำได้

               เช่นการจำกัดสิทธิในการทำงาน ซึ่งคนต่างด้าวห้ามประกอบอาชีพดังต่อไปนี้ในประเทศไทย อาชีพตัดผม อาชีพทำหมวก[2] เป็นต้น ซึ่งข้าพเจ้ามองว่าบางอาชีพอาจจะเป็นเพราะประเพณีและความเชื่อที่ฝังมาในความคิดของคนไทยมาตั้งแต่อดีตก็ได้ จึงจำเป็นต้องสงวนไว้ให้คนไทยประกอบอาชีพเหล่านี้ได้เท่านั้น แล้วการห้ามประกอบอาชีพบางอาชีพกับคนต่างด้าว เป็นข้อห้ามที่ขัดมาตรา 43 แห่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550[3] ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีและแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม หรือไม่ คำถามนี้ก็จะมีคำตอบไว้ในวรรคต่อมาว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

               และเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาได้ไม่นาน กรณีของนายสาธิต เซกัล คนต่างด้าวที่มีสัญชาติอินเดีย เป็นประธานหอการค้าไทย-อินเดีย และประธานกลุ่มนักธุรกิจสีลมออกจากประเทศไทย ได้ถูกเนรเทศออกจากประเทศไทยโดยศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) หลังจากนายสาธิตได้ขึ้นเวทีชุมนุม กปปส. และแสดงความคิดเห็นทางการเมืองโดยการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[4]

               คำถามในประเด็นนี้คือ นายสาธิต เซกัลป์ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวในกรณีนี้ มีสิทธิในเสรีภาพในการการแสดงความคิดเห็นเพียงใด ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 บัญญัติว่า

               บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

               การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัวหรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

               ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)[5] ข้อ 19

               ๑. บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง
               ๒. บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดทุกประเภท โดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษรหรือการตีพิมพ์ในรูปของศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก

               ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[6] ข้อ 19

               ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแหงความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและสงขอมูลข่าวสารและขอคิดผานสื่อใด และโดยไมคํานึงถึงพรมแดน

               จากบทกฎหมายต่างๆข้างต้น เป็นสิ่งที่รับรองสิทธิในเสรีภาพว่านายเซกัล สามารถแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของตนได้แต่ก็มีขอบเขตของการแสดงความคิดเห็นที่ต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางข้อห้ามที่ขัดไม่ได้ เช่น เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ยังเป็นถ้อยคำที่มีความหมายคลุมเครือ และอาจมีการตีความที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ใช้กฎหมาย แล้วเพราะอะไรนายเซกัลถึงถูกเนรเทศออกจากประเทศไทย

               การเนรเทศคนต่างด้าวมีกฎหมายให้อำนาจอยู่ในพระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499[7]

               เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้
              ความในวรรคแรกมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ที่เคยได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

               และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)[8] ข้อ 13

               คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกานี้โดยชอบด้วยกฎหมายอาจถูกไล่ออกจากรัฐนั้นได้โดยคำวินิจฉัยอันได้มาตามกฎหมายเท่านั้น และผู้นั้นย่อมได้รับอนุญาตให้ชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านการขับไล่ออกจากรัฐนั้น และขอให้มีการทบทวนเรื่องของตนโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ หรือบุคคล หรือคณะบุคคล ที่แต่งตั้งขึ้นเฉพาะการนี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจโดยได้รับอนุญาตให้ผู้แทนเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นได้เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นอย่างอื่นด้วยความมั่นคงแห่งชาติ

               ซึ่งถ้าพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าคนต่างด้าวมีความผิดจริง จึงสามารถใช้มาตรานี้อ้างในการเนรเทศคนต่างด้าวออกจากประเทศได้ แต่ในกรณีของนายเซกัลไม่ได้ใช้กฎหมายเรื่องนี้ในการพิจารณา เป็นการใช้กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยพรก. ฉุกเฉินบัญญัติให้ใช้กฎหมายคนเข้าเมืองโดยอนุโลมมาใช้แทน เป็นผลให้นายเซกัล ถูกเพิกถอนการอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร แต่ไม่ใช่เป็นการเนรเทศคนต่างด้าว (ในความหมายที่แท้จริง) ตามพ.ร.บ.การเนรเทศ พ.ศ.2499[9]

               ด้วยเหตุนี้เป็นที่น่าคิดว่าหากรัฐไทยจะทำการเนรเทศนายเซกัลออกจากประเทศไทยจริงๆ สมควรที่จะต้องกลับมาทบทวนตัวบทกฎหมายที่จะใช้อ้างในการพิจารณาข้อเท็จจริงนี้ใหม่หรือไม่ เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการใช้กฎหมาย นอกจากยังต้องพิจารณาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคีประกอบด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิของคนต่างด้าวในประเทศไทย

                                                                                                                        เขียนวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2557


เชิงอรรถ

[1] สิทธิในการเข้าร่วมทางการเมืองของคนต่างด้าวในประเทศไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.senate.go.th/lawdatacenter/includes/FCK... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557)

[2] กระทรวงแรงงาน, อาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.mol.go.th/employee/occupation%20_prohib... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557)

[3] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557)

[4] สาธิต เซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ที่ถูก ศรส. เนรเทศ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://hilight.kapook.com/view/97452. (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557)

[5] กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/ic... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557)

[6] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/ud... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557)

[7] พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ. 2499. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557)

[8] อ้างแล้วในเชิงอรรถที่5

[9] ข้อพิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศกรณีการเนรเทศคุณ สาธิต เซกัล http://prachatai.com/journal/2014/03/52267. (วันที่สืบค้นข้อมูล : 18 พฤษภาคม 2557)

หมายเลขบันทึก: 568497เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท