ศาลสิทธิมนุษยชน


         ปัญหาสิทธิมนุษยชนนั้นเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดคือการแก้ไขตั้งแต่ต้นเหตุเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสิทธิมนุษยชนขึ้นมาอีก แต่อย่างไรก็ตามหากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร สุดท้ายแล้ววิธีการในการเยียวยาแก้ไขปัญหาเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแม้จะเป็นเพียงแก้กันที่ปลายเหตุก็ตาม

         กระบวนการในการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนในปัจจุบัน เราสามารถจำแนกออกมาได้เป็น 2 รูปแบบ คือ

1.กระบวนการคุ้มครองหรือกระบวนการยุติธรรมในศาล

2.กระบวนการคุ้มครองหรือกระบวนการยุตินอกศาล

         ในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนอกศาลข้าพเจ้าจะขออธิบายสั้นๆว่า กระบวนนี้มักจะเป็นการใช้อำนาจบางอย่างนอกจากกระบวนการขั้นตอนในศาลตามปกติ เช่นการใช้อำนาจของสื่อ วิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งเป็นอำนาจที่ทรงพลังอย่างมากในโลกสมัยนี้ เพราะข่าวสารและข้อมูลจะเป็นตัวแปรสำคัญให้เกิด คลื่นกระแสความคิด และการชักจูงคล้อยตาม อันนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่ากระแสสังคมหรือกระแสมวลชนนั้นเอง ซึ่ง สิ่งนี้จะเป็นการกดดันรัฐได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นจะกระทบเพียงบุคคลบางกลุ่มแต่ หากกระแสสังคมต่อต้านการกระทำดังกล่าว หรือกดดันให้รัฐปฏิบัติตาม ก็เป็นสิ่งที่รัฐไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ข้าพเจ้าค่อนข้างสนใจว่า แท้จริงแล้วกระบวนการยุติธรรมนอกศาลนี้แหละคือสิ่งสำคัญในการเปลี่ยนแปลงปัญหาทั้งต้นเหตุและปลายเหตุได้เป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างไรสุดท้ายกระบวนยุติธรรมนอกศาลก็ไม่อาจทำให้เกิดความยุติธรรมที่แท้จริงได้จนกว่าจะดำเนินการต่อไปสู่กระบวนการยุติธรรมในศาล

            กระบวนการคุ้มครองหรือกระบวนการยุติธรรมในศาล

          ศาลสิทธิมนุษยชน คือศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต โดยทั่วไปมักเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐสมาชิกกระทำละเมิดต่อประชาชนที่เป็นปัจเจกบุคคลคนธรรมดา ศาลสิทธิมนุษยชนส่วนมากก่อตั้งขึ้นโดยอนุสัญญาที่มีผลผูกพันกันในระหว่างประเทศและกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก อาทิ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งแอฟริกา และ ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังจะมีการก่อตั้งศาลสิทธิมนุษยชนแห่งอาเซียนตามมาในอนาคตอีกด้วย

          ในปัจจุบันกรบวนการยุติธรรมในศาลที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและเป็นกรณีศึกษาที่ดี คือ ศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรป

          

               ที่มา: http://i.dailymail.co.uk/i/pix/2012/04/19/article-2131955-12AA95B5000005DC-711_634x286.jpg


           ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป มีที่มาจากการก่อตั้งCouncil of Europeขึ้นเป็นอันดับแรก โดย Council of Europe ได้ก่อตั้งขึ้นตามแนวคิดของ เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 โดยสนธิสัญญากรุงลอนดอน มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และสร้างเสริมความเป็นประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐในทวีปยุโรป โดยสาเหตุและความเป็นมาของการจัดตั้ง Council of Europe ก็เพื่อที่จะฟื้นฟูสภาพจิตใจและความเสียหายของประเทศในยุโรปหลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2

          ในปัจจุบัน Council of Europe ตั้งอยู่ที่กรุง Strasburg ประเทศฝรั่งเศส มีประเทศสมาชิกอยู่จำนวน 47 ประเทศ[1]ได้แก่ Albania, Andorra, Armenia, Austria, Azerbaijan, Belgium, Bosnia and Herzegovina, Bulgaria, Croatia, Cyprus, Czech Republic, Denmark, Estonia, Finland, France, Georgia, Germany, Greece, Hungary, Iceland, Ireland, Italy, Latvia, Liechtenstein, Lithuania, Luxembourg, Malta, Republic of Moldova, Monaco, Montenegro, Netherlands, Norway, Poland, Portugal, Romania
, Russian Federation, San Marino, Serbia, Slovak Republic, Slovenia, Spain, Sweden, Switzerland, The former Yugoslav Republic of Macedonia, Turkey, Ukraine, United Kingdom และได้มีกฎหมายที่ยกร่างขึ้นโดย Council of Europe ซึ่งใช้บังคับกันระหว่างรัฐสมาชิกคือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป 1950 (European Convention on Human Rights 1950)อนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้ในปี 1953 โดยเนื้อหาภายในของอนุสัญญากล่าวถึงในเรื่องของสิ่งต้องห้าม อันได้แก่ การทรมานการทารุณกรรมหรือการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมรวมถึงการ ลงโทษอย่างไร้มนุษยธรรม การเอาคนลงเป็นทาสและการใช้แรงงานโดยการบังคับ โทษประหารชีวิต การคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือโดยอำเภอใจ การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมในการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่ได้รับรองไว้ในอนุสัญญาฉบับนี้[1]

            ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ตั้งอยู่ที่กรุง Strasburg ประเทศฝรั่งเศส มีประเทศสมาชิกจำนวน 47 ประเทศเท่ากับ Council of Europe ก่อตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป 1950 (European Convention on Human Rights 1950) ข้อที่ 19 ซึ่งมีเนื้อความดังนี้

ARTICLE 19 Establishment of the Court[2]

To ensure the observance of the engagements undertaken by the High Contracting Parties in the Convention and the Protocols thereto, there shall be set up a European Court of Human Rights, hereinafter referred to as "the Court". It shall function on a permanent basis

            ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป มีความสำคัญอย่างมากในการพิจารณาบรรทัดฐานและเกณฑ์ทางกฎหมายร่วมกันระหว่างรัฐภาคีของรัฐสภาแห่งยุโรป คำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนจึงอาจถือเป็นบรรทัดฐานในการนิยามและกำหนดขอบเขตการคุ้มครองสิทธิต่างๆให้มีความชัดเจนแน่นอนได้

           แต่ถึงแม้ว่าคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปจะ “ไม่มีผลเหนือศาลภายใน” หรือ “ไม่มีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลภายใน” ก็ตาม แต่ผลกระทบของคำพิพากษาที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำให้ประเทศสมาชิกได้ปรับกฎหมายภายในของตนให้สอดคล้องกับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

            ซึ่งคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปนั้น ได้เป็นที่ยอมรับว่ามีความชัดเจนแน่นอน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามได้ไม่เฉพาะเพียงแต่ในประเทศในภูมิภาคยุโรปเท่านั้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UN Human Rights Committee) ก็ได้นำแนวคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปไปปรับใช้ในการพิจารณาถึงพันธกรณีของรัฐภาคีองค์การสหประชาชาติ ในกรณีที่มีการร้องเรียนโดยรัฐหรือเอกชนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยรัฐใดรัฐหนึ่งหรือไม่ด้วย

            เมื่อมองภาพโดยรวมแล้ว ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปนับเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จแห่งกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนก็ทำงานได้ผลในการบังคับใช้สิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน คำพิพากษาของศาลได้ซึมแทรกเข้าสู่ระบบกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก ก่อให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายต่างๆ อันยังประโยชน์แก่คนหรือกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรือเสียเปรียบในสังคม รวมทั้งเป็นตัวอย่างบรรทัดฐานในการใช้ตีความสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ขององค์การต่างๆ ในองค์การสหประชาชาติหรือองค์การในระดับภูมิภาคอื่นๆ[2]

            จากความสำเร็จของศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรป จึงเป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความต้องการในการพัฒนาและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จึงมีความร่วมมือกัน ในการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights หรือ AICHR)ถึงแม้ว่าปัจจุบัน AICHR จะมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากกว่าการเป็นอำนาจศาล จะยังไม่อาจทำให้สิทธิมนุษยชนได้รบการคุ้มครองอย่างสมบูรณ์ แต่อย่างไรก็ถือได้ว่าเป็นความพยายามหนึ่งที่จะทำให้สิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง

นายภัทรภณ  อุทัย


[1] ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรป

http://www.l3nr.org/posts/535865?locale=en

[2]รู้จักไหม ศาลสิทธิมนุษยชนในยุโรป

http://www.l3nr.org/posts/465646

หมายเลขบันทึก: 568490เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 15:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท