สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


        จากกรณีศึกษานายสาธิต เซกัล ซึ่งเป็นประธานหอการค้าไทย-อินเดียและประธานกลุ่มนักธุรกิจสีลม ถูกเนรเทศออกจากประเทศไทยโดย ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.)หลังจากที่นายสาธิต เซกัลป์ มีชื่อเป็นแกนนำ กปปส. และขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร[1] โดยให้เหตุผลว่าเป็นคนต่างด้าวที่เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. ผิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินและนำพาความไม่สงบ มีผลกระทบต่อความมั่นคง

        ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ[2]

         ข้อ 19 ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซงและที่จะแสวงหา รับ และส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใด และโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน

         ข้อ 20 (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการชุมนุมและการสมาคมโดยสันติ

นายสาธิต เซกัล เกิดในประเทศอินเดีย เป็นชาวไทยเชื้อสายอินเดีย มีพี่น้อง 4 คน ทุกคนได้สัญชาติไทยทั้งหมด แต่สาธิต เซกัลนั้นยังถือสัญชาติอินเดียอยู่ เมื่อสาธิต เซกัลเป็นคนสัญชาติอินเดียแต่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนายสาธิต เซกัลจึงเป็นคนข้ามชาติ

        แม้นายสาธิต เซกัลจะเป็นคนข้ามชาติ มิได้มีสัญชาติไทย การที่นายสาธิต เซกัลขึ้นเวทีเป็นแกนนำของกปปส.เป็นการแสดงออกถึงความเห็นทางด้านการเมือง เสรีภาพในการแสดงความเห็นก็เป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ใน ข้อ 19 แห่งปฏิญญาฯ ดังนั้นเมื่อนายสาธิต เป็นมนุษย์คนหนึ่งแม้ไม่ได้มีสัญชาติไทยย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออก อีกทั้งการเข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. เสรีภาพในการชุมนุมก็เป็นสิทธิมนุษยชนที่ให้การรับรองไว้ในปฏิญญา นายสาธิตก็มีเสรีภาพในการเข้าร่วมการชุมนุมได้ตามข้อ 20 แห่งปฏิญญาฯ

        กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and PoliticalRights-ICCPR)

ข้อ 13 คนต่างด้าวผู้อยู่ในดินแดนของรัฐภาคีแห่งกติกานี้โดยชอบด้วยกฎหมายอาจอยู่ไล่ออกจากรัฐนั้นโดยคำวินิจฉัยอันได้มาตามกฎหมายเท่านั้น และผู้นั้นย่อมได้รับอนุญาตให้ชี้แจงแสดงเหตุผลคัดค้านการขับไล่ออกจากรัฐนั้นและขอให้มีการทบทวนเรื่องของตนโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือบุคคลหรือคณะบุคคลที่แต่งตั้งขึ้นเฉพาะการนี้โดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจโดยได้รับอนุญาตให้มีผู้แทนเพื่อวัตถุประสงค์ข้างต้นได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุผลจำเป็นอย่างอื่นด้านความมั่งคงแห่งชาติ[3]

        จากข้อ 13 ดังกล่าวคือรัฐเนรเทศคนต่างด้าวได้ แต่มีขั้นตอนการพิจารณาให้ถูกต้องตามขั้นตอน ถ้าเนรเทศออกโดยไม่มีเหตุผล ก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

        กฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวกับเรื่องการเนรเทศ คือ พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.2499 พิจารณาจาก มาตรา 5 เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้เนรเทศคนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักรมีกำหนดเวลาตามที่จะเห็นสมควร อนึ่ง เมื่อพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีจะเพิกถอนคำสั่งเนรเทศเสียก็ได้[4] โดยคำว่าความจำเป็นเพื่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้นเป็นคำที่ค่อนข้างคลุมเครือ ฝ่ายปกครองจึงใช้ดุลยพินิจกันอย่างกว้างขวาง[5]

        พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา12ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร(7)มีพฤติการณ์เป็นที่น่าเชื่อว่าเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือบุคคลซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศได้ออกหมายจับ[6] จึงต้องพิจารณาว่าการกระทำของนายสาธิตเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุขหรือความปลอดภัยของประชาชนหรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือไม่ ซึ่งก็อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

        ดังนั้นเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามและตีความกฎหมายภายในกันอย่างถูกต้องและเป็นธรรมเพื่อมิให้เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนของนายสาธิต เซกัลซึ่งเป็นคนต่างด้าว


[1] กระปุกดอทคอม.ข่าวสาธิตเซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดียที่ถูกศรส.เนรเทศ.[ออนไลน์]. http://hilight.kapook.com/view/97452.วันที่ 18 พฤษภาคม

[2] กระทรวงการต่างประเทศ.ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.[ออนไลน์]. http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf. วันที่ 18 พฤษภาคม 2557

[3] กระทรวงการต่างประเทศ.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง.[ออนไลน์].http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/iccprt.pdf.วันที่18 พฤษภาคม 2557

[4] ศูนย์ทนายความทั่วไทย.พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.2499.[ออนไลน์]. http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538973744&Ntype.วันที่18 พฤษภาคม 2557

[5] รศ.ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช.ข้อพิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศกรณีการเนรเทศคุณสาธิต เซกัล.เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2557

[6]สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง.พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522.[ออนไลน์].http://www.immigration.go.th/nov2004/doc/act_imm_2522.html.วันที่18 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568496เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 23:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท