ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย


             ในปัจจุบันนั้นสังคมได้ให้ความสำคัญกับสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในแง่ที่ว่าบุคคลทุกคนควรได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะมีความแตกต่างทางเชื้อชาติ เพศ อายุ ศาสนา หรือไม่ก็ตาม ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ได้เป็นที่ยอมรับให้นำมาใช้กับบุคคลที่ได้ลักลอบเข้าเมือง กล่าวคือบุคคลที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเช่นกัน ซึ่งมองว่าแม้บุคคลดังกล่าวนั้นจะเป็นคนที่ทำผิดกฎหมายจากการลักลอบเข้าเมือง แต่การกระทำผิดดังกล่าวนั้นก็ไม่ได้ตัดสิทธิที่บุคคลดังกล่าวที่จะได้รับการปฎิบัติในแง่ที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่เข้าเมืองผิดกฎหมายย่อมมีสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

             สิทธิหมายถึง[1] สิ่งที่ไม่มีรูปร่างซึ่งมีอยู่ในตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดหรือเกิดขึ้นโดยกฏหมาย เพื่อให้มนุษย์ได้รับประโยชน์ และมนุษย์จะเป็นผู้เลือกใช้สิ่งนั้นเอง โดยไม่มีผู้ใดบังคับได้ เช่น สิทธิในการกิน การนอน แต่สิทธิบางอย่างมนุษย์ได้รับโดยกฎหมายกำหนดให้มี เช่น สิทธิในการมี การใช้ทรัพย์สิน สิทธิในการร้องทุกข์เมื่อตนถูกกระทำละเมิดกฎหมาย เป็นต้น
เสรีภาพหมายถึง การใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้อย่างอิสระ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่อสิทธิของผู้อื่น ซึ่งหากผู้ใดใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตจนก่อความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ก็ย่อมถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

              ศักดิ์ศรี[2]  คือ การยอมรับของบุคคลในสังคมในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ที่ได้รับการยอมรับของสังคมมนุษย์และเรื่องดังกล่าวต้องเป็นเรื่องดีงามเท่านั้นเรื่องไม่ดี ไม่ให้รวมเรื่องศักดิ์ศรี แม้ว่าพฤติกรรมที่บุคคลกระทำนั้น หรือต้องการกระทำนั้นๆ อาจจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก็ได้ถือว่าเป็นเรื่องดีงาม สมควรยกย่องและต้องถือปฏิบัติเพื่อเป็นมติขององค์การ การยอมรับขององค์กรต่างๆ นั้นด้วยก็ได้ สิทธิเสรีภาพหรืออำนาจและหน้าที่ก็ถือเป็นศักดิ์ศรีด้วยเช่นกัน

              มนุษย์ คือ บุคคลทั่วไป ไม่เลือกว่าจะเป็นชนชาติใด เผ่า ศาสนา ผิวสี ภาษา และอื่นๆ ที่มีสภาพเป็นที่ยอมรับว่าเป็นส่วนของสังคมตลอดจนองค์กร / องค์การ ที่อาศัยมติเป็นข้อปฏิบัติไปตามประสงค์ขององค์การองค์การก็ให้ถือเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน ดังนั้นคำว่าสิทธิและเสรีภาพของบุคคลในรัฐธรรมนูญให้ถือว่าเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน

               เมื่อพิจารณาถึงความหมายของคำที่กล่าวข้างต้นนั้น คนเข้าเมืองผิดกฎหมายนั้นเป็นบุคคลทั่วไปจึงถือว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งเช่นเดียวคนทั่วโลก ซึ่งย่อมเกิดมาพร้อมกับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิและมนุษยชน ข้อ1 ซึ่งบัญญัติว่า มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพ

                อย่างไรก็ตามแม้ตามหลักการ คนเข้าเมืองผิดกฎหมายย่อมได้รับความคุ้มและได้รับสิทธิเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปเพราะเป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกันตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่ในทางปฎิบัติบุคคลดังกล่าวกลับไม่ได้รับสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างที่ควร โดยกรณีดังกล่าวนั้นถือเป็นปัญหาสำคัญด้านสิทธิมนุษย์ชในสังคมไทยที่ยังไม่มีผู้ใดเข้ามาแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งขอยกตัวอย่างกรณีศึกษาดังนี้

                   กรณีศึกษา ของเด็กชายนิวัฒน์ จันทร์คำหรือน้องนิค ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า น้องนิคเกิดในประเทศเมียนมาร์โดยไม่มีหนังสือรับรองการเกิดและไม่รับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย น้องนิคจึงเป็นคนไร้สัญชาติ มารดาและบิดาของน้องนิคเป็นคนชาติพันธุ์ไทยลื้อ ซึ่งปัจจุบันมารดาของน้องนิคถือสัญชาติเมียนมาร์และมีเอกสารประจำตัวที่ออกโดยรัฐเมียนมาร์ เมื่อน้องนิคอายุประมาน 3-4 ปี บิดามารดาพาน้องนิคเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทุกคนไม่มีเอกสารแสดงตนจึงเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งจากข้อเท็จจริงน้องนิคอายุเพียง 3-4 ปี จึงไม่มีเจตนาในการเข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างแน่นอน ต่อมาคุณป้าของน้องนิคพาน้องนิคไปสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ด้วยความกังวลว่าโรงเรียนอาจไม่รับน้องนิคเข้าเรียนคุณป้าจึงนำเอกสารของลูกชายตนเองไปยื่นแทนเองสารจริง น้องนิคจึงได้เข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าและน้องนิคได้เป็นประธานนักเรียนในโรงเรียน

               เมื่อพิจารณาจากกรณีดังกล่าวนั้นประเด็นที่น่าสนใจคือ การรับรองสิทธิเสรีภาพให้แก่บุคคลเข้าเมืองผิดกฎหมายเพื่อให้เขามีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน[3]

ข้อ 26 บุคคลมีสิทธิในการศึกษา การศึกษาจะเป็นสิ่งที่ให้ประโยชน์โดยไม่คิดมูลค่า อย่างน้อยที่สุดในขั้นประถมศึกษษ และขั้นพื้นฐาน ชั้นประถมศึกษาให้เป็นการศึกษาภาคบังคับ ขั้นเทคนิคและประกอบอาชีพเป็นการศึกษาที่ต้องจัดให้มีโดยทั่วๆไป ขั้นสูงสุดเป็นขั้นที่จะเปิดให้ทุกคนเท่ากันตามความสามารถ

ข้อ 27 (1)ที่กำหนดให้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าร่วมโดยอิสระในชีวิตทางวัฒนธรรมของชุมชน ที่จะเพลิดเพลินกับศิลปะ และมีส่วนในความรุดหน้า และคุณประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์

                       กรณีแรกที่เราต้องพิจารณาคือ ตามความเป็นจริงแม้คุณป้าไม่ใช้เอกสารปลอมน้องนิคก็มีสิทธิได้เข้าเรียนในโรงเรียนดังกล่าว ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 26 กล่าวคือบุคคลแม้ไร้รัฐ ไร้ชาติ เขาก็ย่อมมีสิทธิในการศึกษาเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่น และเมื่อพิจารณา พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ม.10 วรรคหนึ่ง “ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ซึ่งบุคคลในทีนี้หมายถึงบุคคลใดก็ได้ที่เป็นมนุษย์ เช่นนี้ไม่ว่าน้องนิคจะมีสัญชาติจะเป็นคนไร้รัฐหรือไม่ก็ตาม ทางโรงเรียนต้องจัดให้น้องนิคได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างน้อย สิบสองปีเพราะ น้องนิคเป็นมนุษย์คนหนึ่งซึ่งกฎหมายคุ้มครองและให้สิทธินั้น ดังนั้นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายย่อมได้รับสิทธิในการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองให้ดำรงค์อยู่ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตน

                        กรณีที่สองน้องนิคได้เป็นประธานนักเรียน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 27 (1) แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนได้ให้ความเคารพในสิทธิในการมีส่วนร่วมในสังคมซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับและได้มีการรับรองโดยกฎหมาย

                        ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า คนเข้าเมืองผิดกฎหมายย่อมได้รับสิทธิในการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองและสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆที่ตนสมควรจะได้รับ เช่น สิทธิในการมี่ส่วนร่วมกับสังคม สิทธิในการมีสุชภาพที่ดี เพื่อให้ดำรงค์อยู่ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตน เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกคนบนโลกแม้ตนจะไร้สัญชาติ หรือได้ทำผิดกฎหมายก็ตาม


แหล่งที่มาของข้อมูล

[1]ความหมายของสิทธิและเสรีภาพ (ออนไลน์)http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowl...

[2]ความหมายของศักดิ์ศรีและมนุษย์  (ออนไลน์)http://www.ongkarn-leio.org/knonwlege.php

[3] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ออนไลน์)http://www.baanjomyut.com/library/human/page1.html


หมายเลขบันทึก: 568299เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท