ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก

หากจะพิจารณาว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยมีความเชื่อมโยงกับสังคมโลกอย่างไรนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า ปัญหาเรื่อง สิทธิมนุษยชนนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาคู่กับสังคมมนุษย์เลยก็ว่าได้ และ เปลี่ยนแปลงไปทั้งดีขึ้น และ แย่ลงตามยุคตามสมัย กระทั่งในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการออกมาเคลื่อนไหวและคุ้มครองในเรื่องของสิทธิมนุษยชน อย่างกว้างขวางแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก และแต่ละเรื่องล้วนแล้วไม่ง่ายที่จะแก้ไขในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นใน ฐานนะที่นานาประเทศยอมรับว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน และไม่อาจจะมีผู้ใดพรากเอาไปได้แล้วนั้น ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งหลายที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นปัญหาที่นานาประเทศควรให้ความสนใจและร่วมกันแก้ไข

ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ของชาวโรฮิงญา

โรฮิงญา เป็นกลุ่มชนที่อาศัย อยู่บริเวณชายแดนของประเทศพม่า ซึ่งนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องของการได้รับสัญชาติ เพราะรัฐบาลของประเทศพม่า ไม่ให้การรับรองว่า บุคคลเหล่านี้เป็นพลเมืองของประเทศพม่า จึงไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆในฐานะพลเมืองของประเทศพม่า ซ้ำร้ายรัฐบาลพม่ายังมองว่าบุคคลเหล่านี้เป็น “ผู้ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย” เป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญายังโดนกดขี่ข่มเหงต่างๆนาๆอย่างไม่เป็นธรรม และไม่คำนึงถึง สิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด มาเป็นเวลานาน

ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวโรฮิงญา ต้องหลบหนีการกดขี่ข่มเหง การไล่ล่าจากรัฐบาลพม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อที่พวกตนจะได้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม และหนีเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย โดยเข้ามาหลายช่องทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการหนีออกมา โดยยอมตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ และถูกเอาลงเป็นทาสในที่สุด หรือ หนีเข้ามาในประเทศไทยและอยู่ปะปนกับแรงงานต่างด้าวอย่างผิดกฎหมายอย่างหลบๆซ่อนๆ และมีโอกาสสูงมากที่บุคคลเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนหลายท่านได้ออกมากดดันประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่มีอัตรากรค้ามนุษย์สูงอีกด้วย

ดังนี้โดยหลักแล้วหากพิจารณาตามตัวบทกฎหมายของประเทศไทยนั้น หากมีการหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้น จะต้องทำการจับกุมและส่งกลับประเทศ ซึ่งการส่งกลุ่มบบุคคลเหล่านี้กลับประเทศ จะยิ่งเป็นเสมือนการซ้ำเติมความยากแค้น และการถูกกดขี่ของชาวโรฮิงญามากขึ้นไปอีก และแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้เป็น ภาคีสมาชิกในอนุสัญญา Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination หรือ International Covenant on Civil and Political Rights ก็ตาม แต่โดยหลักการทั่วไปในเรื่องของสิทธิมนุษยชนแล้วนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือเยียวยาบุคคลเหล่านี้ ซึ่งประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเป็นประเทศ “ระหว่างทาง” เช่นเดียวกับ มาเลเซียและ อินโดนีเซีย ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวโรฮิงญา ได้มีที่พักพิงชั่วคราว เพื่อที่จะส่งบุคคลเหล่านี้ไปยังประเทศ “ปลายทาง” ที่พร้อมที่จะรองรับ ชาวโรฮิงญาอย่างเต็มใจ

ชาวโรฮิงญารายหนึ่งเคยกล่าวว่า "ผมกลับไปที่ประเทศพม่าไม่ได้ ถ้ากลับไปผมต้องโดนฆ่าแน่ แต่ตอนนี้ อยู่ที่นี้ผมก็ไม่มีเอกสารที่แสดงสถานะถูกต้องทางกฎหมาย" - ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คำกล่าวดังที่ปรากฎของชาวโรฮิงญาผู้นี้สะท้อนว่า ปัญหาการไร้สัญชาติ และการถูกกดขี่ของชาวโรฮิงญา หาใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงประเทศเดียวไม่ แต่เป็นหน้าที่ของประชาคมโลก ที่จะต้องร่วมกันปกป้องคุ้มครองบุคคลเหล่านี้ ให้เขาได้มีสิทธิมนุษยชนที่เท่าเทียมกับบุคคลอื่นๆในอารยประเทศ

ดังนั้น สำนักงานผู้ลี้ภัย (UNHCR) และ องค์การเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ(International Organization for Migration - IOM) ควรจะเข้ามาทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในกรณีนี้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อที่จะได้ประสานไปยังประเทศต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นในแง่ของเงินทุน หรือที่พักอาศัยก็ตาม

กล่าวโดยสรุปคือ ข้าพเจ้ามองว่าปัญหา ชาวโรฮิงญา นั้นไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งโดยเฉพาะ แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาของนานาประเทศที่จะต้องให้ความคุ้มครองแก่บุคคลเหล่านี้ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักที่ทั่วโลกยอมรับ และนี่คงยังเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการเหลียวแลและแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งหากปล่อยเลยไปย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนอย่างมหาศาล

อ้างอิง

ประวัติของชาวโรฮิงญา แหล่งที่มา :http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php?option=com_content&view=article&id=61:2010-11-16-05-48-43&catid=36:2010-10-21-08-06-37&Itemid=58 สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฦษภาคม 2557

ปัญหาไทยกับชาวโรฮิงญา แหล่งที่มา: http://www.sereechai.com/news/index.php/2013-05-01-06-34-27/2013-05-01-07-27-26/109-2013-05-02-04-27-05 สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฦษภาคม 2557

โรฮิงญาภาระของใคร?แหล่งที่มา: http://www.naewna.com/politic/columnist/5049 สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฦษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568235เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 02:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 02:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท