HR-LLB-TU-2556-TPC-ครอบครัวข้ามชาติ


ครอบครัวข้ามชาติ

ก่อนที่จะมองไปถึงปัญหาที่เกี่ยวกับครอบครัวข้ามชาติจะต้องทำความเข้าใจกับคำว่า มนุษย์ข้ามชาติและ ครอบครัวข้ามชาติ เสียก่อน

มนุษย์ที่ข้ามชาติ หมายถึงบุคคลที่มีการกระทำในลักษณะที่ข้ามชาติ คือมีถิ่นที่อยู่หรือเคยอยู่อาศัยในประเทศประเทศหนึ่งอยู่แล้ว แต่ได้มีการข้ามหรือเคลื่อนย้ายมายังอีกประเทศหนึ่ง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม บุคคลเหล่านี้ได้แก่ นักท่องเที่ยว แรงงานข้ามชาติ นักลงทุนข้ามชาติ นักศึกษา และผู้หนีภัยความตาย เป็นต้น 

ครอบครัวข้ามชาติคือ ครอบครัวที่ประกอบด้วยสมาชิกในครอบครัวที่มีปัญหาเรื่องสถานะของตน เช่น สัญชาติที่ไม่ตรงกับดินแดนที่ตั้งถิ่นฐานได้แก่ บิดาหรือมารดา เป็นคนข้ามชาติ จากการเข้ามาในประเทศนั้นๆ ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม [1]

  • ตัวอย่างปัญหาการไร้สัญชาติของครอบครัวข้ามชาติ "ครอบครัวเจดีย์ทอง"

เมื่อราว พ.ศ.๒๕๔๗ นายอาทิตย์ เจดีย์ทอง ได้รู้จักและพบรักกับนางสาวแพทริเซีย ในขณะที่เดินทางไปทำงาน ณ ไต้หวัน แต่ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๒ เมื่อสัญญาจ้างแรงงานของนายอาทิตย์หมดสิ้นสุด เขาจึงต้องเดินทางกลับมาประเทศไทย แต่นางสาวแพทริเซียยังคงทำงานต่อไปในไต้หวันจนกระทั่งสัญญาแรงงานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๕๒

ในระหว่างเดินทางจากไต้หวันกลับประเทศมาเลเซีย นางสาวแพทริเซียได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อเยี่ยมนายอาทิตย์ โดยได้รับการตรวจลงตรา ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๒/ค.ศ.๒๐๐๙ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบันทึกในการตรวจลงตราบนหนังสือเดินทางของเธอว่า เธอจึงอาจอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้จนถึงวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖

ในระหว่างที่นางสาวแพทริเซียได้พักอาศัย ณ บ้านของนายอาทิตย์ในประเทศไทย นายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซียได้ตกลงกันที่จะอยู่กินฉันสามีภริยา ณ บ้านห้วยส้าน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ต่อมา มีบุคคลที่นายอาทิตย์นับถือแนะนำให้นางสาวแพทริเซียไปร้องขอต่ออำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เพื่อรับการสำรวจในสถานะของ “บุคคลที่ไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร” และต่อมา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒/ค.ศ.๒๐๐๙ นางสาวสาวแพทริเซียก็ได้รับการบันทึกใน “ทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘ ก” ในชื่อของ “อัญชลี เจดีย์ทอง” และได้รับการออก “บัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” ให้ถือเพื่อแสดงตัว โดยบัตรนี้ระบุว่า เธอมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๐ และบัตรนี้ระบุว่า จะหมดอายุในวันที่ ๑๓ กรกฏาคม พ.ศ.๒๕๖๒ นอกจากนั้น เธอได้ใช้บัตรประจำตัวที่ได้ในชื่อใหม่ ไปร้องขอสิทธิทำงานต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดตาก และได้รับใบอนุญาตทำงานในสถานะ “คนไร้สัญชาติ” เพื่อทำงานประเภททำความสะอาดบ้านตั้งแต่วันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕ จนถึงวันที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ โดยมีนายอาทิตย์ เจดีย์ทอง เป็นนายจ้าง

นายอาทิตย์ถือบัตรประจำตัวประชาชนคนสัญชาติไทย และบัตรนี้ระบุว่า เขามีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๕ และบัตรนี้ออกโดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่สอด จังหวัดตากเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๔ และระบุว่า หมดอายุเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒

สำหรับนางสาวแพทริเซียปรากฏตามหนังสือเดินทางที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ค.ศ.๒๐๐๙/พ.ศ.๒๕๕๒ ว่า นางสาวแพทริเซียเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๙๗๘ ณ ประเทศมาเลเซีย หนังสือเดินทางดังกล่าวหมดอายุในวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๗/ค.ศ.๒๐๑๔

นางสาวแพทริเซียมีบุตรกับนายอาทิตย์จำนวน ๓ คน และบุตรทุกคนได้รับการแจ้งการเกิดและการอยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยโดย นายอาทิตย์ เจดีย์ทอง ซึ่งได้รับการรับรองในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะสัญชาติไทย แต่มิได้รับการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซีย บุตรทั้งสามจึงมีสานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเท่านั้น ดังมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(๑) เมื่อ ด.ญ.สินี เจดีย์ทองเกิด ณ โรงพยาบาลแม่สอด จากนายอาทิตย์และนางสาวแพทริเซียในวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒/ค.ศ.๒๐๐๙ เธอจึงได้รับการจดทะเบียนคนเกิดในสูติบัตรประเภท ท.ร.๑ โดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่สอด จังหวัดตากเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ และได้รับการจดทะเบียนคนอยู่โดยสำนักทะเบียนดังกล่าวในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๑ ในวันที่ดังกล่าวเช่นกัน

(๒) เมื่อ ด.ญ.พร เจดีย์ทองเกิด ณ โรงพยาบาลแม่สอด ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ เธอจึงได้รับการจดทะเบียนคนเกิดในสูติบัตรประเภท ท.ร.๑ โดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่สอด จังหวัดตากเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ และได้รับการจดทะเบียนคนอยู่โดยสำนักทะเบียนดังกล่าวในทะเบียนบ้านตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๑ ในวันที่ดังกล่าวเช่นกัน

(๓) ด.ช.เดช เจดีย์ทอง เกิดเมื่อ ณ โรงพยาบาลตากประชานุเคราะห์ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ เขาจึงได้รับการจดทะเบียนคนเกิดในสูติบัตรประเภท ท.ร.๑ โดยสำนักทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลนครตาก จังหวัดตากเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ และได้รับการจดทะเบียนคนอยู่โดยสำนักทะเบียนบ้านกลางตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักขึ้นต้นด้วยเลข ๑ ในวันที่ดังกล่าวเช่นกัน

จะเห็นว่า ด.ญ.พร และ ด.ช.เดช เป็นฝาแฝดกัน ซึ่งพรเกิดเมื่อเวลา ๐๕.๕๔ น. ในขณะที่เดชเกิดเมื่อเวลา ๑๐.๒๘ น.

นางสาวแพทริเซียอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่เคยเดินทางกลับไปประเทศมาเลเซียอีกเลย และไม่เคยติดต่อสถานทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยอีกด้วย เธอมีความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตร่วมกับสามีและบุตรอีกสามคนในประเทศไทย และอยากมีสถานะเป็นคนสัญชาติเป็นไทยตามสามีและบุตร [2]

ปัญหาของนางสาวแพทริเซียคือการที่นางสาวแพทริเซียอยู่ในสถานะคนไร้สัญชาติในประเทศไทยซึ่งคนไร้สัญชาติ(Statelessperson) หมายถึง บุคคลที่ไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นผู้มีสถานะที่เป็นสมาชิกของประเทศใด หรือไม่มีประเทศใดรับว่าเป็นสมาชิกหรือเคยเป็นสมาชิกของประเทศ [3] แต่นางสาวแพทริเซียกลับมีสัญชาติมาเลเซีย นางสาวแพทริเซียจึงมีสถานะเป็นคนสองทะเบียนราษฎร ส่วนบุตรของนางสาวแพทริเซียและนายอาทิตย์ เจดีย์ทอง แม้จะได้รับสัญชาติไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติมาเลเซียทำให้เสียสิทธิต่างๆที่ควรจะได้รับจากการถือสัญชาติมาเลเซีย

การที่นางสาวแพทริเซียอยู่ในสถานะคนไร้สัญชาติในประเทศไทยโดยมีบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้ถือเพื่อแสดงตัวเอกสารดังกล่าวย่อมมีผลทางกฎหมายเพียงว่า บุคคลดังกล่าวปรากฏตัวในประเทศไทยและอยู่ในระหว่างการพิสูจน์ว่า เป็นคนไร้สัญชาติหรือไม่ เอกสารดังกล่าวยังไม่มีความหมายว่า รัฐไทยยอมรับที่จะให้สัญชาติไทยหรือสิทธิในสถานะคนต่างด้าวที่ชอบด้วยกฎหมายไทยแก่บุคคลดังกล่าว เอกสารดังกล่าวเป็นเพียงการรับรองความเป็นมนุษย์ของบุคคลดังกล่าวในประเทศไทย [4]

อ้างอิง

[1] ภัทรธนาฒย์ ศรีถาพร. "เด็กข้ามชาติ" มนุษย์ข้ามชาติที่มาจากหลากหลายสาหตุ. เข้าถึงได้จาก : http://www.l3nr.org/posts/535656 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

[2] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร. กรณีศึกษาครอบครัวเจดีย์ทอง : บุตรของชายสัญชาติไทยและหญิงมาเลเซียที่มีลักษณะการอาศัยอยู่แบบผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองตกอยู่ภายใต้มาตรา7 ทวิ วรรค3 ใหม่หรือไม่. เข้าถึงได้จาก : http://www.l3nr.org/posts/536193 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

[3],[4] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร. ความเป็นคนไร้รัฐและคนไร้สัญชาติในประเทศไทย : คืออะไร ? และควรจัดการอย่างไร ?, (2547,29 กรกฎาคม).  เข้าถึงได้จาก : http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 17 พฤษภาคม 2557).

หมายเลขบันทึก: 568228เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 01:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 01:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท