HR-LLB-TU-2556-TPC-มนุษย์ที่ข้ามชาติ


มนุษย์ที่ข้ามชาติ

มนุษย์ที่ข้ามชาติหมายถึงบุคคลที่มีการกระทำในลักษณะที่ข้ามชาติ คือมีถิ่นที่อยู่หรือเคยอยู่อาศัยในประเทศประเทศหนึ่งอยู่แล้ว แต่ได้มีการข้ามหรือเคลื่อนย้ายมายังอีกประเทศหนึ่ง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม บุคคลเหล่านี้ได้แก่ นักท่องเที่ยว แรงงานข้ามชาติ นักลงทุนข้ามชาติ นักศึกษา และผู้หนีภัยความตาย เป็นต้น [1]

 ปัญหาของมนุษย์ที่ข้ามชาติโดยมากจะเป็นปัญหาคนไร้รัฐ คือไม่มีรัฐไหนให้การรับรอง ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆ และปัญหาของคนไร้สัญชาติ คือมีรัฐที่ออกเอกสารแสดงตนให้ แต่ไม่ได้รับรองสัญชาติให้แก่บุคคลนั้น โดยบุคคลเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้สูงมาก เพราะการไร้สัญชาติอาจเกิดจากการไม่ถูกยอมรับว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายให้อันเป็นการขัดกับปฏิญญาสากลฯและละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งส่วนมากบุคคลเหล่านั้นจะเป็นบุคคลที่ไม่รู้กฎหมายและเข้าไม่ถึงสิทธิบางประการแม้สิทธินั้นจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนทุกคนต้องได้รับเช่น สิทธิในการได้รับการศึกษา อีกทั้งสัญชาติยังมีความสำคัญในเรื่องสิทธิประโยชน์จากการที่มีสัญชาตินั้นๆและรัฐที่มีสัญชาติอยู่จะให้ความคุ้มครองทางการฑูตแก่บุคคลนั้นด้วย หากบุคคลหนึ่งเป็นคนไร้สัญชาติก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองทางการฑูตดังกล่าวจากรัฐ

ประเภทของเด็กข้ามชาติในประเทศไทย

1. เด็กข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่ซึ่งเป็นคนข้ามชาติที่หลบหนีเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือตัวเด็กเองหลบหนีเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือถูกลักพาตัวเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย

2. เด็กข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ที่เป็นคนข้ามชาติ ซึ่งเด็กเหล่านี้สมควรจะได้รับการขึ้นทะเบียนจากรัฐ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น โดยอาจเกิดจากความไม่รู้ของพ่อแม่ หรือการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้ไม่อาจเข้าถึงสิทธิได้ และถูกถือเป็นเด็กข้ามชาติ

3. เด็กที่ข้ามชาติมาอย่างถูกกฎหมาย

จากการค้นคว้าและติดตามข่าวสารเรื่องเด็กข้ามชาตินั้น ทำให้พบว่าเด็กที่ข้ามชาติมักจะอาศัยอยู่บริเวณจังหวัดที่ติดชายแดนเป็นส่วนใหญ่ อาทิ จังหวัดตาก จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น แต่จังหวัดที่พบปัญหาเด็กข้ามชาติเป็นจำนวนมากอีกจังหวัดหนึ่งคือจังหวัดสมุทรสาคร ที่เป็นเช่นนี้อันเนื่องมาจากจังหวัดสมุทรสาครมีการว่าจ้างแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้แรงงานข้ามชาติที่มาทำงานเหล่านี้มีการก่อตั้งครอบครัวขึ้น เมื่อมีการก่อตั้งครอบครัวก็ทำให้มีบุตรซึ่งเกิดในประเทศไทย ซึ่งอันที่แล้วควรจะได้รับการขึ้นทะเบียนพร้อมกับการมีสัญชาติไทย แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากการขาดความรู้ความเข้าใจของพ่อแม่ว่าจะต้องนำบุตรไปจดทะเบียน หรือพ่อแม่บางคนเกรงกลัวเพราะว่าตนเองหลบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายจึงไม่กล้าพาบุตรของตนไปขึ้นทะเบียน หรือการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เด็กซึ่งเป็นบุตรของคนข้ามชาติเหล่านี้ไม่อาจเข้าถึงสิทธิได้ และถูกถือเป็นเด็กข้ามชาติ [2]

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเด็กที่ข้ามชาติโดยผิดกฎหมายประกอบไปด้วยกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภายในประเทศได้แก่

  • อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)

ข้อที่ 7 เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และมีสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ

ข้อที่ 22 เด็กที่ร้องขอสถานะผู้ลี้ภัย จะต้องได้รับความคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม ข้อที่ 24-26 ว่าด้วยสิทธิของเด็กที่จะได้รับบริการทางสาธารณสุขจากรัฐ

ข้อที่ 28-29 ว่าด้วยสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ข้อที่ 32,34,36 ว่าด้วยการคุ้มครองเด็กจากการทำงานที่เสี่ยงภัยอันตราย การค้าประเวณี และการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กในรูปแบบอื่นๆ

  • รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

มาตรา 26 ว่าด้วยการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐ ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ

มาตรา 30 ว่าด้วยหลักความเสมอภาค

มาตรา 49 ว่าด้วยสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มาตรา 51-52 ว่าด้วยสิทธิการได้รับบริการสาธารณสุขโดยรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 157 ว่าด้วยเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเลยหรือละเมิดสิทธิบางประการของประชาชน

  • พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
  • พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534
  • พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
  • พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

ซึ่งจากพ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ. 2508 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้กล่าวไว้ว่า

หมวด 1 การได้สัญชาติไทย

มาตรา7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(๑) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(๒) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง

คำว่าบิดาตาม (๑) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม

มาตรา ๗ ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายหรือเป็นการทั่วไปให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งจะอยู่ในราชอาณาจักรไทยในฐานะใด ภายใต้เงื่อนไขใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรและสิทธิมนุษยชนประกอบกัน ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎกระทรวงดังกล่าว ให้ถือว่าผู้นั้นเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

มาตรา 8 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้สัญชาติไทย ถ้าขณะที่เกิดบิดาหรือมารดาเป็น

(1) หัวหน้าคณะผู้แทนทางทูตหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางทูต

(2) หัวหน้าคณะผู้แทนทางกงสุลหรือเจ้าหน้าที่ในคณะผู้แทนทางกงสุล

(3) พนักงานหรือผู้เชี่ยวชาญขององค์การระหว่างประเทศ

(4) คนในครอบครัวซึ่งเป็นญาติอยู่ในความอุปการะหรือคนใช้ ซึ่งเดินทางจากต่างประเทศมาอยู่กับบุคคลใน (๑) (๒) หรือ (๓) [4]

ตัวอย่างของเด็กไร้สัญชาติที่สำคัญตัวอย่างหนึ่งคือน้องดนัย ยื่อบ๊อ น้องดนัยเกิดวันที่ 16 พฤษภาคม 2542 ที่โรงพยาบาลฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มารดาชื่อนางหมี่ยื่ม ยื่อบ๊อ เป็นชาวอาข่าดั้งเดิม ได้รับสัญชาติไทยในวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 มีบิดาชื่อนายอาบู เป็นชาวอาข่าที่อพยพมาจากประเทศเมียนมาร์ เป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีหนังสือเดินทาง ไม่มีการตรวจลงตราแต่อย่างใด

ดังนั้นเมื่อพิจารณาแล้วจะพบว่าน้องดนัยเกิดจากมารดาที่มีสัญชาติไทย แม้ว่ามารดาของน้องดนัยจะได้รับสัญชาติไทยภายหลังจากได้ให้กำเนิดก็ตาม น้องดนัยก็ยังถือเป็นผู้เกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย จึงควรที่จะได้รับสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508มาตรา 7(1)

อีกทั้งน้องดนัยเป็นผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย จึงควรได้รับสัญชาติไทย ตามพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508มาตรา 7(2) ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง และไม่เข้ามาตรา 8

อ้างอิง

[1],[2],[3] ภัทรนาฒย์ ศรีถาพร.  เด็กข้ามชาติ มนุษย์ข้ามชาติที่มาจากหลากหลายสาเหตุ. เข้าถึงได้จาก : http://www.l3nr.org/posts/535656 (วันที่สืบค้นข้อมูล : 16 พฤษภาคม 2557).

[4] พรบ.สัญชาติ พ.ศ.2508. เข้าถึงได้จาก : http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=... (วันที่สืบค้นข้อมูล : 16 พฤษภาคม 2557).

หมายเลขบันทึก: 568224เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 00:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 00:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท