กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


            

(ที่มา : http://www.matichon.co.th/gallery/fullimages/2009/...

            ปัจจุบันประเทศไทยได้เป็นภาคีสมาชิกในอนุสัญญา 7 ฉบับจาก 9 ฉบับด้วยกัน ได้แก่

1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR )

2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)

3. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC)

4. อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ (CERD)

5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)

6. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRDD)

7. อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT)

             ถึงแม้ว่าไทยจะได้เป็นภาคีอนุสัญญาต่างๆเหล่านี้แล้ว เพื่อแสดงว่าตนเป็นผู้มีมนุษยธรรม และพร้อมจะปฏิบัติตามอนุสัญญาเหล่านี้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ทรงสิทธิในอนุสัญญาต่างๆ เช่น เด็ก ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก หรือผู้หญิงในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบเป็นต้น แต่ก็ยังมีข่าวที่ผู้ทรงสิทธิตามอนุสัญญาต่างๆเหล่านี้ถูกละเมิดสิทธิภายในประเทศไทย เกิดขึ้นให้เห็นอยู่เสมอ เช่นกรณีดังต่อไปนี้

             น้องหม่อง ทองดี เป็นเด็กที่มีผู้ปกครองเป็นคนรัฐฉาน ประเทศพม่า แต่อพยพมาอยู่ที่ประเทศไทย และให้กำเนิดน้องหม่องที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย น้องหม่องมีสถานะเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราว ไม่มีสัญชาติไทย และยังมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยข้อสัญนิษฐานของมาตรา 7 ทวิ วรรค 3 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ แต่น้องหม่องเป็นเด็กมีความสามารถในการชนะการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ แห่งประเทศไทย และได้รับเชิญให้ไปแข่งขันต่อที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อยื่นหนังสือต่อกระทรวงมหาดไทยเพื่อขออนุญาตให้น้องหม่องเดินทางออกนอกประเทศได้ กลับถูกกระทรวงมหาดไทยปฏิเสธ และบอกว่าน้องสามารถเดินทางออกไปนอกประเทศได้แต่จะกลับเข้ามาประเทศไทยไม่ได้อีก โดยอ้างว่าเป็นเพราะจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ คำถามคือเมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงตามกรณีของน้องหม่องและข้ออ้างของกระทรวงมหาดไทย การกระทำของกระทรวงมหาดไทยเป็นการจำกัดสิทธิของน้องหม่องไม่[1]

              ตามกรณีของน้องหม่อง อนุสัญญาที่เกี่ยวข้องในการจะนำมาพิจารณาได้คือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR )[2] ข้อ 12

              1.บุคคลทุกคลที่อยู่ในดินแดนของรัฐโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมมีสิทธิในเสรีภาพในการโยกย้าย และเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในดินแดนของรัฐนั้น

               2.บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะออกจากปะเทศใดๆรวมทั้งประเทศของตนได้

               3.สิทธิดังกล่าวข้างต้นไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดๆ เว้นแต่เป็นข้อจำกัดตามกฎหมาย และที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นและข้อจำกัดนั้นสอดคล้องกับสิทธิอื่นๆ ที่รับรองไว้ในกติกานี้

                น้องหม่องจัดอยู่ในกลุ่มของผู้ถือบัตรเลข 0 ซึ่งหมายความว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะในทะเบียนราษฎร (ท.ร.38 ก) และการที่น้องมีบัตรนี้แล้วเท่ากับว่าประเทศไทยได้รับรองการมีรัฐให้น้องหม่องแล้วแต่ยังไม่ได้รับรองสัญชาติให้ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงมีปัญหาเรื่องการเดินทางออกนอกพื้นที่ เวลาจะเดินทางออกต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าไม่ทำก็จะโดนจับและถูกปรับเงิน มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีกว่าในการขออนุญาตออกนอกพื้นที่นั้นเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ด้วย แล้วถ้าหากว่าพวกเขาโดนกลั่นแกล้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ข้าพเจ้ายังไม่สามารถหาข้อเท็จจริงมารองรับข้อสัญนิษฐานนี้ได้ แล้วในกรณีของน้องหม่อง ทองดี เป็นกรณีที่ที่โดนเจ้าหน้าที่รัฐกลั่นแกล้งหรือไม่ อาจจะไม่ใช่เหตุผลนี้แต่เป็นเพราะรัฐกลัวว่าจะมีผลต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากน้องหม่องไม่ได้มีสัญชาติไทย เป็นเพียงบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร บุคคลเหล่านี้ย่อมจะถูกพิจารณาเป็นพิเศษในการที่รัฐไทยรับรองให้สิทธิแก่พวกเขาในการทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่กรณีน้องหม่อง คือการที่น้องจะเป็นตัวแทนของประเทศในการไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษา ถ้าพิจารณาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ในข้อที่ 28 และ 29[3] รัฐภาคียอมรับสิทธิของเด็กที่จะได้รับการศึกษา ได้รับการสนับสนุนและพัฒนาความรู้ความสามารถพิเศษ เป็นต้น ดังนี้แล้ว จะถือว่ารัฐไทยกำลังละเมิดสิทธิของน้องหม่อง ทองดี ก็ว่าได้ เนื่องกระทรวงมหาดไทยปฏิเสธหนังสือขออนุญาตในตอนแรก แต่เมื่อมีผู้ให้ความช่วยเหลือดำเนินเรื่องทางกฎหมายต่างๆให้แก่น้องหม่อง และได้ยื่นฟ้องต่อศาลไป ในภายหลังกระทรวงมหาดไทยจึงได้ทำหนังสืออนุญาตให้น้องหม่องเดินทางไปแข่งขันในนามประเทศไทยได้สำเร็จ แต่ถึงยังไงปัจจุบันน้องหม่องก็ยังไม่มีสัญชาติ แสดงว่าน้องหม่องกำลังถูกละเมิดสิทธิอีกข้อ 15 ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง ซึ่งสิทธินี้รัฐใดรัฐหนึ่งที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับน้องหม่องจะต้องดำเนินเรื่องเพื่อรับรองสัญชาติให้น้อง การมีสัญชาติไม่ใช่สิทธิที่รัฐจะรับรองได้หรือไม่ได้แต่เป็นหน้าที่ที่จะต้องรับรองให้กับบุคคลคนหนึ่งตามหลักการได้สัญชาติคือ ได้มา 3 ทางด้วยกันก็คือตามหลักดินแดนที่เกิด และตามสัญชาติของบิดา มารดา ถ้าตามหลักดินแดน น้องหม่องควรได้รับสัญชาติไทย เพราะน้องเกิดที่ประเทศไทย แต่ทำไมจนถึงตอนนี้น้องถึงยังเป็นคนไร้สัญชาติ ปัญหาการไร้สัญชาติ ปัญหาสถานะของบุคคลในประเทศไทย ยังมีอีกมากมายที่รอการช่วยเหลือและแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากยังปล่อยทิ้งไว้ ประเทศไทยก็จะเป็นที่จับตามองของสากลว่ากำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนในรัฐตัวเองอยู่หรือไม่

                  ปัญหาสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาที่แก้ไขยังไงก็ไม่มีวันหมดไปจากโลก เพราะตราบใดที่คนยังอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความคิด ทัศนคติ ความเชื่อ ที่แตกต่างและหลากหลาย ย่อมต้องมีซักเหตุผลหนึ่งที่จะแตกต่างกันและทำให้เกิดข้อพิพาทต่างๆขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องมีกฎหมายคอยควบคุมการดำเนินชีวิตของคนในสังคมนั้นๆให้เดินไปในทางเดียวกัน แต่เมื่อมีกฎหมายแล้ว คนไม่ปฏิบัติตาม ปัญหาก็จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ หากทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายมีหรือที่จะเกิดปัญหา ดังนั้นสิ่งที่รัฐควรจะจัดการลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ก็คือการที่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันว่ารัฐมีหน้าที่รับรองสิทธิอะไรแก่คนในรัฐบ้าง จัดการตามขั้นตอน และวิธีการที่ถูกต้อง ให้ความรู้ในการจัดการกับปัญหาของตนหรือคนรอบข้าง เพื่อที่เขาจะได้ว่าว่าปัญหาของเขาควรจะเริ่มต้นแก้ที่จุดไหนก่อน ควรเดินไปหาหน่วยงานหรือองค์กรไหน เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะลดลง และผู้ที่ประสบปัญหาก็อาจจะเข้าใจหนทางแก้ปัญหาของตนมากขึ้น

                                                                        เขียนวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2557


[1] รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนจินดา สายสุนทร .”กรณีศึกษา เด็กชายหม่อง ทองดี” เอกสารประกอบการสอนวิชา น.396 หน้า (5 พฤษภาคม 2557) :18-22.

[2]กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/ic....(วันที่ค้นข้อมูล : 16 พฤษภาคม 2557).

[3] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก :http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/cr... : 16 พฤษภาคม 2557).

หมายเลขบันทึก: 568220เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท