ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีความตาย


เมื่อกล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยและคนหนีความตาย  ลำดับแรกที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ ความหมายของคำว่า “สิทธิมนุษยชน” เมื่อนำสืบค้นแล้วจะพบว่าได้มีการให้คำนิยาม”สิทธิมนุษยชน”อยู่มากมาย แต่คำนิยามเหล่านั้น ต่างมีข้อสรุปเหมือนกัน คือ สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิซึ่งมนุษย์ทุกคนมีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เป็นสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิดเนื่องจากความเป็นมนุษย์ เป็นสิทธิที่สามารถกำหนดตัวเองได้อย่างเป็นอิสระ ไม่อาจสละได้เพราะจะทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ไป

ลำดับต่อมาคำว่า“ผู้ลี้ภัย” กับ “ผู้หนีภัยความตาย” คำสองคำนี้มีความแตกต่างกัน ซึ่งนิยามของคำว่า ”ผู้ลี้ภัย” ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึงบุคคล ที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่อง จากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง[1]

“ผู้หนีภัยความตาย” คือ ผู้หนีภัยที่เกิดกับชีวิต ทั้งภัยโดยตรง และโดยอ้อม ภัยโดยตรง เช่น ภัยจากการสู้รบส่วนภัยความตาย โดยอ้อม โดยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภท คือ
1. ภัยความตายทางกายภาพ ซึ่งเกิดจากการคาดการณ์ได้ว่า ถ้าไม่หนีออกมาจากพื้นที่นั้นจะต้องตาย เช่น เมื่อรู้ข่าวว่ามีกองทหารกำลังจะเข้ามาที่หมู่บ้านและมีข้อมูลว่า หากทหารเข้ามาในหมู่บ้านแล้วจะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนถึงขั้นเสียชีวิต ได้ จึง หนีออกมาก่อนที่ทหารจะมาถึง หรือ กรณีการหนีจากการบังคับเกณฑ์แรงงาน ซึ่งอันที่จริง การเกณฑ์แรงงานไม่ได้เป็นภัยความตายโดยตรง คือ ถ้าถูกยอมให้เกณฑ์แรงงานไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะไม่ถูกฆ่าตาย แต่ถ้าหากปฏิเสธไม่ยอมทำงาน ก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ หรือ หากถูกบังคับให้ทำงานแล้วหลบหนีออกมาก็มีข้อมูลว่าคนเหล่านี้จะถูกฆ่าตายได้ เช่นเดียวกับกรณีการถูกบังคับเก็บภาษี หรือการข่มขืน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็มีความเสี่ยงที่จะตายได้ นี่เป็นตัวอย่างของภัยความตายทางกายภาพที่เห็นได้ชัด
2. ภัยความตายทางจิตใจ เช่น การข่มขืน เป็นต้น[2]

ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยที่เห็นได้อย่างเด่น ชัดก็คือสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศซีเรีย (Syria) ซึ่งสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ในซีเรียเพราะเป็นการทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกายมนุษย์ที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของกฎหมาย อีกทั้งเป็นสาเหตุให้คนซีเรียต้องอพยพออกนอกประเทศเนื่องจากเกิดความหวาด กลัวการถูกฆ่าและได้รับการคุกคามต่อชีวิต ทำให้มีคนซีเรียจำนวนหนึ่งอพยพเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่าจะเป็น อิรัก เลบานอน จอร์แดน หรือตุรกี และมีสถานะ “ผู้ลี้ภัย” เมื่อเข้าไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศเพื่อนบ้านไม่อาจปฎิเสธความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยในซีเรียได้เลย เนื่องจากมีกฎหมายระหว่างประเทศ ที่“ห้ามมิให้ชาติใดๆ ก็ตามส่งกลับ หรือปิดกั้นผู้ที่พยายามหนีออกจากประเทศ ซึ่งมีภัยคุกคามต่อชีวิตและเสรีภาพของบุคคลผู้นั้น”[3]
ซึ่งสิทธิหลักในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย ตามที่ระบุในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังปรากฏในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948 ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิต เสรีภาพ และความปลอดภัย

สิทธิในการแสวงหาและพักพิง อิสรภาพจากการเป็นทาส ได้รับการรับรองสถานภาพบุคคลตามกฎหมาย อิสรภาพจากการถูกจับกุมและคุมขังโดยพลการ สิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจของชุมชน[4]

และแม้ว่า ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ( United Nations High Commissioner for Refugees คำย่อ UNHCR)[5]จะ เข้ามาช่วยเหลือ โดยสร้างค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศต่างๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยภายในประเทศที่เข้าไปอาศัยพัก พิงนั้นก็ยังคงมีอยู่ ดังนี้

1. การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติ ในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ผู้ลี้ภัยที่หลบหนีไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหาที่พักพิงมักผลักให้อยู่ชาย ขอบของสังคม ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นผล ตกเป็นเหยื่อของการใช้วาทศิลป์เพื่อปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมและประชานิยม เป็นการกระพือความเกลียดชังด้านเชื้อชาติ และทำให้พวกเขาเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมากยิ่งขึ้น[6]

  1. การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านการศึกษา เด็กที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงของประเทศต่างๆมักจะไม่ได้รับการศึกษามากนัก เนื่องจากประเทศผู้รับที่ให้ที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้ลี้ภัยต้องแบกรับภาระ อย่างอื่นด้วย โดยมีบทสัมภาษณ์ของฮานา เด็กน้อยวัย 10 ปีเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยเหล่านี้ เด็กน้อยต้องอาศัยอยู่ในบริเวณที่พักที่จัดขึ้นชั่วคราวในหุบเขาเบกาของ เลบานอน สภาพความเป็นอยู่ลำบาก เด็กหลายคนไม่มีแม้กระทั่งรองเท้า "เราต้องการคลินิกไว้คอยรักษาคนป่วย" ฮานากล่าว "เราต้องการโรงเรียน สิ่งสำคัญที่สุดคือโรงเรียน"[7]

และUNCHR ยังได้แถลงว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยซีเรียเป็นเยาวชนตาดำๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่มีโอกาสได้เข้าเรียนหนังสือ “เด็กในวัยเรียนชาวซีเรียกว่า 400,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งมากกว่าเด็กเลบานอนตามโรงเรียนรัฐบาลเสียอีก โรงเรียนเหล่านี้เปิดรับเด็กซีเรียเข้าไปศึกษาเล่าเรียนแล้วประมาณ 100,000 คน แต่ความสามารถในการรับนักเรียนเพิ่มก็ยังจำกัดมาก”[8]

  1. การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เนื่องจากครอบครัวผู้ลี้ภัยซีเรียมีความเป็นอยู่ที่อัตคัดขัดสน เด็กๆ ส่วนใหญ่จึงต้องออกไปทำงานหาเงินมาเลี้ยงปากท้อง “เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะแต่งงานเร็ว และยิ่งพวกเขาขาดการศึกษาเล่าเรียนนานเท่าใด โอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น” UNHCR ระบุ[9]

อีกทั้งยังมีกรณีของค่ายผู้ลี้ภัยใน"ซาตารี"ประเทศจอร์แดน ที่น่าวิตกก็คือกลุ่มของเด็กหญิง ที่ไม่เพียงตกอยู่ในท่ามกลางความหวั่นกลัวตลอดเวลา ยังแทบไม่มีที่ใดปลอดภัยสำหรับพวกเธอแม้ในค่ายอพยพแห่งนี้ก็ตามที เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกำลังสงสัยกันว่า การล่วงละเมิดทางเพศกำลังระบาดอย่างกว้างขวางทั่วไปในค่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ถูกกันไว้เป็นห้องน้ำ-ห้องอาบน้ำรวม ที่จะทวีความอันตรายขึ้นสำหรับผู้หญิงหลังความมืดเข้าปกคลุม [10]

และนอกจากนี้ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้หนีภัยความตาย ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยขอยกกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยซึ่งมีการอพยพของผู้ลี้ภัยมาจาก ประเทศพม่า บุคคลในประเทศพม่าที่หนีภัยมายังประเทศไทยนั้นไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัยพ.ศ. 2494 และไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย หรือกระบวนการที่ใช้งานได้เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ขอลี้ภัยประเทศไทยถือ ว่า ผู้ลี้ภัยทุกสัญชาติที่อาศัยอยู่ของค่ายผู้ลี้ภัยชาวพม่าที่กำหนดไว้นั้น เป็นผู้ที่อยู่ในประเทศโดยผิดกฏหมาย ดังนั้นไทยจึงยอมรับว่าเป็นเพียง “ผู้หนีภัยความตายจากสงคราม” เท่านั้น แม้รัฐบาลไทยจะออกเอกสารรับรองให้ แต่ก็ให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆเพียงเล็กน้อย กรณีที่กล่าวมาคือผู้อพยพที่ได้ทำการขึ้นทะเบียนเท่านั้น ดังนั้นหากเป็นผู้อพยพที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้และอาศัยอยู่นอกค่ายพักพิงก็ จะถูกจับกุมและเนรเทศออกนอกประเทศทันที

จากสถานการณ์ที่กล่าวมาทำให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หนีภัยความตายที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ดังนี้

  1. การละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านการศึกษา เนื่องจากรัฐบาลไทยมีมุมมองต่อผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวไปใน เชิงลบ ทำให้เด็กในนั้นไม่ได้รับการศึกษา ซึ่งสิทธิในการที่จะได้รับการศึกษาถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควร จะได้รับอย่างไม่มีการเลือกปฎิบัติ
  2. การละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านการทำงาน เนื่องจากนโยบายของประเทศไทยที่จำกัดไม่ให้ผู้ลี้ภัยชาวพม่าเคลื่อนย้ายไป ยังที่ต่างๆ และห้ามไม่ให้พวกเขาทำงานอันเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานที่บุคคลมีสิทธิ เลือกประกอบอาชีพได้เองอย่างอิสระ อีกทั้งไม่มีการฝึกอาชีพให้กับคนในค่ายพักพิงพิงชั่วคราว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้อพยพชาวพม่าไม่มีความสามารถในการประกอบอาชีพ ไม่สามารถจะทำงานใดๆได้เลย นโยบายนี้ทำให้มีความเป็นไปได้น้อยที่ผู้ลี้ภัยจะสามารถเตรียมตัวเพื่อกลับ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างสำเร็จเมื่อพวกเขาเดินทางกลับประเทศ และหากชาวพม่าหลบหนีออกไปทำงานนอกค่ายสถานะจากผู้หนีภัยความตายจากสงครามก็ จะเปลี่ยนมาเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย โดยอาจถูกเนรเทศกลับประเทศได้เลย
  3. การละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านชีวิตและร่างกาย เนื่องจากค่ายส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาห่างไกลที่เข้าถึงได้ด้วยถนน ลูกรังเท่านั้น การแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวของค่ายผู้ลี้ภัยยังส่งผลให้เกิดภาวะ ที่เอื้ออำนวยต่อการใช้อำนาจโดยมิชอบ และการถูกละเมิดสิทธิ์โดยจากเจ้าหน้าที่ของจากรัฐบาลไทยที่ได้รับมอบหมายมา ให้คุ้มครองผู้ลี้ภัยซึ่งดำเนินไปโดยไม่ต้องรับโทษ ทั้งๆที่สิทธิในชีวิตและร่างกายเป็นสิทธิซึ่งเป็นของบุคคล เนื่องจากเกิดมาเป็นมนุษย์

จากที่ได้กล่าวมาถึงนโยบายของไทยในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับผู้หนีภัย ความตายจากพม่านั้น เป็นการคุ้มครองเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ จึงได้มีการเสนอแนะจากฮิวแมนไรท์วอทช์ โดยฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า ประเทศไทยควรทำงานร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเพื่อ สร้างระบบคัดกรอง และขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัยอย่างเป็นธรรม และโปร่งใส รัฐบาลไทยควรร่วมมือกับหัวหน้าผู้ลี้ภัย องค์การพัฒนาเอกชน สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ และผู้บริจาคความช่วยเหลือในการที่จะดำเนินการอย่างเป็นระเบียบเพื่อปรับ เปลี่ยนรูปแบบของค่ายผู้ลี้ภัยให้เป็น “ค่ายเปิด” ที่ช่วยทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถพึ่งตัวเองได้ และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ลี้ภัยในการที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสังคม พม่าเมื่อสถานการณ์ปลอดภัยพอที่จะเดินทางกลับประเทศ

และเฟรลิคกล่าวว่า “ทางการไทยควรรับประกันว่าผู้ลี้ภัยทุกคน รวมทั้งที่อาศัยอยู่ในค่าย จะสามารถเข้าถึงระบบยุติธรรมของไทยได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งตำรวจ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ขูดรีด และละเมิดสิทธิ์ของผู้ลี้ภัยจะต้องถูกลงโทษ หรือดำเนินคดีอย่างเหมาะสม” “นโยบายที่ให้ผู้ลี้ภัยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของพวกเขา และการพัฒนาทักษะต่างๆ จะไม่เพียงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะสั้น แต่ยังจะช่วยปูทางไปสู่การเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจ และยั่งยืน โดยผู้ลี้ภัยเหล่านั้นจะความรู้สึกที่ดีต่อประเทศไทยหลังจากที่พวกเขากลับ บ้านไปแล้ว”[11]

อีกทั้งรัฐบาลไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัย2494 หรือพิธีสารเกี่ยวกับสถานะภาพผู้ลี้ภัย2510และออกกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เพื่อปฏิบัติตามพันธะภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งหากไทยเปลี่ยนสถานะตนเองจากประเทศผู้รับซึ่งเป็นเพียงประเทศที่ให้ที่ พักชั่วคราวแก่ผู้อพยพ ไปเป็นประเทศที่3ซึ่งเป็นประเทศปลายทางที่ยอมรับให้ผู้ลี้ภัยสามารถตั้ง รกรากในประเทศตนได้ ควบคู่ไปกับการให้การศึกษาและฝึกทักษะในด้านการประกอบอาชีพให้กับผู้อพยพ จะเกิดผลดีต่อประเทศไทยในแง่ที่ว่า ไทยจะมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ

[1] https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee

[2] http://salweennews.org/home/?p=986 บทสัมภาษณ์นายพงษ์เทพ ยังสมชีพ นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน : “สิทธิของผู้หนีภัยความตาย”จากมุมมองนักวิชาการด้านสิทธิ

[3] http://www.thaiday.com/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000080038

[4] http://www.l3nr.org/posts/367715

[5] http://th.wikipedia.org/wiki/ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

[6] http://www.amnesty.or.th /th/component/k2/item/296-รายงานประจำปี-2556-โลกอันตรายมากขึ้นสำหรับผู้ ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่น?tmpl=component&print=1

[7] http://www.unicef.org/thailand/tha/media_21276.html

[8] http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000037728

[9] http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000037728

[10] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1379845654&grpid=03&catid=&subcatid=

[11] http://www.hrw.org/node/110102 ประเทศไทย: นโยบายผู้ลี้ภัยที่เฉพาะหน้า และไม่เพียงพอ

นิภัทร สันติสัตยพรต 5501680994

หมายเลขบันทึก: 568179เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 17:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท