ครอบครัวข้ามชาติ ; ครอบครัวเจดีย์ทอง


บทความที่ 9 เรื่องครอบครัวข้ามชาติ : ครอบครัวเจดีย์ทอง

       ครอบครัวข้ามชาติ คือ ครอบครัวที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับหลายประเทศ เช่นผู้เป็นสามีเป็นผู้มีสัญชาติหนึ่ง ในขณะที่ภรรยาเป็นคนอีกสัญชาติหนึ่งจึงเกิดข้อพิจารณาว่าในกรณีที่ครอบครัวหนึ่งๆนั้นมีจุดเกาะเกี่ยวกับหลายประเทศจะมีผลกระทบเรื่องสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวหรือไม่

        โดยสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งครอบครัวในรูปแบบครอบครัวตามธรรมชาติ เช่น การสมรส การทำให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา หรือการก่อตั้งครอบครัวบุญธรรม ซึ่งก็คือการรับบุตรบุญธรรม สิทธิดังกล่าวได้รับการรับรองทั้งตามกฎหมายภายใน และกฎหมายระหว่างประเทศ ดังต่อไปนี้[1]

        กฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัว ได้แก่

1. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.1948ข้อ 16 วางหลักว่า ชายหญิงเมื่อเจริญวัยบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและสร้างครอบครัว โดยไม่มีการจำกัดใดๆเนื่องจาก เชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา บุคคล ชอบที่จะมีสิทธิเท่าเทียมกันในเรื่องการสมรส ในระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส

2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ. 1966

ข้อ 10 รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับรองว่า 1. ครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยรวมของสังคมที่เป็นพื้นฐานและเป็นธรรมชาติควรได้รับการคุ้มครองและได้รับการช่วยเหลืออย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะในการจัดตั้ง และในขณะที่ต้องรับผิดชอบต่อการดูแลและการศึกษาของเด็กที่ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ การสมรสต้องกระทำโดยยินยอมอย่างเสรีของผู้ที่เจตนาจะสมรส

         จากหลักกฎหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่าการก่อตั้งครอบครัวข้ามชาตินั้นมิได้ทำให้สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวต้องถูกกระทบหรือทำให้ถูกจำกัดลง เพราะสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ไม่ถูกจำกัดเพียงเพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางเชื้อชาติหรือสัญชาติ

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาจากการตั้งครอบครัวข้ามชาตินั้นคือสิทธิของบุตรที่เกิดขึ้นจากครอบครัวข้ามชาติ ว่าจะมีสิทธิเช่นไรในสัญชาติของผู้เป็นบิดาและมารดาที่มีสัญชาติแตกต่างกันดังกรณีศึกษาอันจะกล่าวต่อไปนี้

         กรณีศึกษาครอบครัวเจดีย์ทอง อันเป็นครอบครัวที่ก่อตั้งโดยนายอาทิตย์แรงงานสัญชาติไทยกับนางสาวแพททริเซียแรงงานสัญชาติมาเลเซีย โดยที่พบกันที่ประเทศไต้หวัน และได้มีการตั้งครอบครัวในประเทศไทย ที่ จังหวัดตาก จะเห็นว่าครอบครัวเจดีย์ทองนี้มีลักษณะเป็นครอบครัวข้ามชาติระหว่างประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย

        โดยปัญหาที่เกิดขึ้นกับครอบครัวดังกล่าวคือข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางแพททริเซียได้ถูกเจ้าหน้าที่บันทึกในทะเบียนประวัติประเภท ทร.38ก ว่าเป็นบุคคลไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร เนื่องจากนางแพททริเซียได้ทำตามคำแนะนำของบุคคลผู้หนึ่ง ทั้งที่แท้จริงแล้วเธอมีสัญชาติมาเลเซียที่ได้รับจากประเทศมาเลเซียอยู่แล้วประกอบกับการไม่ตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานที่แพททริเซียไปแจ้ง

        เช่นนี้จึงก่อให้เกิดปัญหาต่อบุตรทั้งสองคนของนายอาทิตย์และนางแพททริเซีย เนื่องจากในทางข้อเท็จจริงแล้วบุตรทั้งสองของครอบครัวดังกล่าวต้องเป็นผู้มีสิทธิในการถือสัญชาติทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติมาเซียแต่ในปัจจุบันกลับมีเพียงสัญชาติไทย แต่ไม่ได้รับสัญชาติมาเลเซีย อันเป็นปัญหาที่มีผลมาจากการที่แพททริเซียมีชื่อเป็นบุคคลไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของประเทศไทย อันทำให้บุตรของครอบครัวนี้สูญเสียสิทธิที่ต้องได้รับในการเป็นบุคคลผู้ถือสัญชาติมาเลเซีย เช่นสิทธิเดินทางเข้าประเทศมาเลเซีย หรือสิทธิในการทำงานในประเทศมาเลเซียอย่างคนผู้มีสัญชาติมาเลเซีย

 

เขียนเมื่อวันที่16 พ.ค. 57

 

เอกสารอ้างอิง

[1]กฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวhttp://www.l3nr.org/posts/465301

สืบค้นเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 57

หมายเลขบันทึก: 568178เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท