ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ


ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนด้วยหรือ

ปัจจุบันการประกอบอาชีพส่วนตัวเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมสูงมาก เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลอื่น เป็นอาชีพที่อิสระ ได้เป็นเจ้านายตัวเอง และมักจะเป็นอาชีพที่มีรายได้ค่อนข้างสูง ดังนั้นแล้วเมื่ออาชีพธุรกิจส่วนตัวมีมากขึ้นย่อมทำให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้นตามไปด้วย ด้วยเหตุที่เป็นอาชีพที่รายได้ค่อนข้างดีและเป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมส่งผลให้มีผู้สนใจหันมาประกอบธุรกิจส่วนตัวมากกว่าการรับราชการ แต่ก็ไม่ใช่เสมอไปที่การประกอบอาชีพส่วนตัวจะได้รับผลการประกอบการที่ดี ดังนั้นนอกจากจะต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการายอื่นแล้ว ยังต้องลดต้นทุนในการประกอบกิจการของตนลงด้วย จึงจะสามารถจะดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งในบางครั้งเป็นเหตุให้ต้องใช้วิธีที่รวดเร็ว ง่ายเพื่อที่จะประหยัดต้นทุนการประกอบการ หรือลดค่าใช้จ่ายลง จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นได้ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมสารเคมี ซึ่งก่อนที่จะปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำต้องบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐานก่อนที่จะปล่อยออกสู่สาธารณะได้ แต่เมื่อเป็นโรงงานขนาดเล็ก รวมกับต้องการลดค่าใช้จ่ายในการผลิต จึงอาจจะใช้วิธีที่รวดเร็วและง่ายด้วยการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำทันที หรืออาจจะบำบัดน้ำเสียแล้วแต่ยังไม่ได้ตามมาตรฐานจึงทำให้ชาวบ้านผู้อยู่ระแวงนั้นเมื่อใช้น้ำแล้วอาจจะได้รับอันตรายจากสารตกค้างจากสารเคมีที่ปะปนมากับการระบายน้ำเสียของโรงงาน ซึ่งเป็นการกระทบต่อสิทธิในร่างกาย และอนามัยของชาวบ้าน ซึ่งสิทธิในร่างกายและอนามัยเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน

ดังปรากฏในข้อ 3 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ( Universal Declaration on Human Rights 1984 : UDHR ) วางหลักว่า ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิตเสรีภาพและความมั่นคงแห่งบุคคล[1] ดังนั้นแล้วหากชาวบ้านซึ่งมีสภาพบุคคลเป็นมนุษย์ได้รับอันตรายจากสารเคมี แล้วอาจจะก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการมีชีวิตซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน

กรณีศึกษา เขื่อนไซยะบุรี

เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตพลังงานกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ โดยจะสร้างกั้นบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของเมืองไซยะบุรีทางตอนเหนือของประเทศลาว ก่อสร้างโดยบริษัท ช. การช่างเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจัดซื้อกระแสไฟฟ้าระหว่างการผลิตแห่งประเทศไทย กับรัฐบาลลาว แต่การสร้างก็ได้หยุดชะงักลงเพราะเหตุที่รัฐบาลของเวียดนามและกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (ได้มีการทำการตกลงเป็นพันธกรณีระหว่างกัน 4 ประเทศคือ ไทย ลาว เวียดนามและกัมพูชา ในการใช้น้ำในลุ่มแม่น้ำโขง ) ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อการสร้างเขื่อน ว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้คนที่อยู่ในแถบชายฝั่ง การเปลี่ยนแปลงของระดับในแม่น้ำโขง ตะกอนและทางผ่านปลา นอกจากนี้การปิดและเปิดเขื่อนจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไปอาจจะทำให้ช่วงรอยต่อของฤดูกาลตามระบบนิเวศจะเสียไปอย่างสิ้นเชิง[2]

จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่าการดำเนินการของการสร้างเขื่อนไซยะบุรีนั้นเป็นการสร้างเขื่อนที่จะส่งผลกระทบต่อผู้คนมากมาย ในหลากหลายอาชีพ ทั้งผู้ที่อยู่แถบริมชายฝั่ง ผู้ที่ประกอบอาชีพด้วยการหาปลา ซึ่งหากได้ทำการสร้างเขื่อนจนสำเร็จแล้วแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากการสร้างเขื่อนโดยค่าไฟฟ้าจะลดลง แต่หากเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อบุคคลอื่นแล้ว ย่อมไม่สามารถที่จะเทียบกันได้เลย แม้ว่าการก่อสร้างเขื่อนจะสำเร็จลุล่วงไปไดก็ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ดี ซึ่งตามกรณีที่เกิดขึ้นนั้นประชาชนที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบย่อมสามารถที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิภายในประเทศของตนได้ เพื่อที่จะเป็นส่วนช่วยคอยผสานงานต่อภาครัฐของประเทศอื่นๆหรืออาจจะติดต่อไปยังNGO ( Non – Government Organization ) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชน ก็สามารถที่จะช่วยดำเนินการแทนผู้ได้รับผลกระทบหรือเรียกอีกอย่างได้ว่า ผู้ทรงสิทธิในการได้รับการคุ้มครอง เพราะ ผู้ทรงสิทธิ [3]หมายถึง ผู้เป็นเจ้าของแห่งสิทธิที่กฎหมายกำหนด โดยสิทธินั้นๆอาจจะเกิดจากผลอัตโนมัติของกฎหมายหรือเกิดจากขั้นตอนตามกฎหมายก็ได้ ซึ่งสิทธิมนุษยชนนั้นถือเป็นสิทธิที่ได้มาโดยผลอัตโนมัติ เพราะสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิทธิที่จะได้รับมาเมื่อเกิดแล้วมีสภาพบุคคล ดังนั้นผู้ที่มีสภาพบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองและส่งเสริมในสิทธิมนุษยชนทันที

(เขียนบทความวันที่ 15 พฤษภาคม 2557)


[1] ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แหล่งที่มา : http://www.khamkoo.com/uploads/9/0/0/4/9004485/un_udhr_-_thai.pdf ค้นข้อมูล 15 พฤษภาคม 2557

[2] ข้อเท็จจริงกรณีเขื่อนไซยะบุรี แหล่งข้อมูล : www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1361165112 ค้นข้อมูล :15 พฤษภาคม 2557

[3] ความหมายของผู้ทรงสิทธิ แหล่งข้อมูล : เอกสารประกอบคำบรรยาย วิชาสิทธิมนุษยชน โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ค้นข้อมูล :15 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568153เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 14:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท