ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี


ผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี : กรณีศึกษาน้องผักกาด

น้องผักกาดเกิดที่โรงพยาบาลแม่สอดเมื่อ พ.ศ. 2549 โดยไม่มีการแจ้งเกิด น้องจึงมีอายุราว 8 ปี บุพการีของน้องเป็นคนมาจากเมียนม่าร์ ซึ่งน้องผักกาดยังไม่ได้รับการรับรองสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก จึงประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ไร้ทั้งรัฐและไร้สัญชาติ ตลอดจนถูกถือเป็นคนผิดกฎหมายคนเข้าเมืองของทุกรัฐบนโลก ซึ่งน้องผักกาดนั้นพิการตั้งแต่กำเนิด พูดไม่ได้ เดินไม่ได้ ซึ่งอาการต่างๆเป็นผลมาจากการที่ศีรษะบวมน้ำขนาดใหญ่มาก จึงทำให้น้องไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้[1] ด้วยเหตุที่น้องไร้รัฐ จึงทำให้น้องไม่ได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาลซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีสุภาพดี และเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่งด้วย

ดังปรากฏใน ข้อ 22 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights : UDHR ) กล่าวว่า ทุกคนในฐานะสมาชิกของสังคม มีสิทธิในหลักประกันสังคม…[2] กล่าวคือ น้องผักกาดเมื่อน้องคลอดออกมาและมีสภาพบุคคลในทางกฎหมาย ย่อมถือได้ว่าน้องเป็นมนุษย์คนหนึ่งของสังคมที่ย่อมได้รับสิทธิซึ่งมนุษย์ทุกคนควรได้รับในกรณีศึกษานี้คือสิทธิในการประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของประกันสังคมที่ปรากฏสิทธิดังกล่าวไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังนั้นแล้วการที่รัฐไทยไม่ได้ให้การสนับสนุนในการรักษาน้องผักกาดย่อมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง จึงกล่าวได้ว่า น้องผักกาดเป็นผู้ทรงสิทธิในการมีสุขภาพดี เนื่องจาก ผู้ทรงสิทธิ หมายถึง ผู้เป็นเจ้าของสอทธิตามที่กฎหมายกำหนดและความเป็นเจ้าของสิทธินั้นอาจจะได้มาโดยผลอัตโนมัติของกฎหมายหรือโดยขั้นตอนอันเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสิทธิมนุษยชนนั้นย่อมเป็นสิทธิที่ได้มาโดยอัตโนมัติดังนั้นเมื่อสิทธิการได้รับการประกันสังคม ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้วย่อมถือได้ว่า สิทธิที่น้องผักกาดจะได้รับย่อมเป็นสิทธิที่ได้มาโดยอัตโนมัติของกฎหมาย เพราะสิทธิมนุษยชนแม้เพียงเป็นมนุษย์ก็ย่อมได้รับสิทธิไม่จำเป็นต้องดำเนินการผ่านเงื่อนไขแต่อย่างใด หากเป็นสิทธิที่ต้องผ่านเงื่อนไขหรือขั้นตอนตามกฎหมายการจะเป็นผู้ทรงสิทธิแล้วย่อมต้องผ่านขั้นตอนดังกล่าวอย่างครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดก่อนจึงจะเป็นผู้ทรงสิทธิได้ [3]

หากกล่าวว่าการที่รัฐไทยไม่ได้ให้การสนับสนุนการรักษาน้องผักกาดนั้นเป็นเพราะสาเหตุที่ว่าน้องไม่มีสัญชาติไทยเนื่องจากพ่อแม่ของน้องไม่ได้มีสัญชาติไทย ก็เป็นการให้เหตุผลที่ถูกต้อง แต่หากว่ายังไม่เป็นเหตุผลที่ถูกต้องทั้งหมด เนื่องจากการจะได้รับสัญชาติไทยนั้น นอกจากจะต้องมีบิดา หรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้ว หากว่าเป็นผู้ที่เกิดในรัฐไทยย่อมได้รับสัญชาติไทยด้วยโดยรัฐไทยจะมีอำนาจอธิปไตยเหนือตัวบุคคล คือ น้องผักกาด เพราะหากน้องผักกาดได้รับสัญชาติไทยย่อมจะได้รับสิทธิในการประกันสุขภาพที่ดีเนื่องจาก ได้ปรากฏสิทธิในการบริการสาธารณะสุขและสวัสดิการจากรัฐ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

มาตรา 51 วางหลักว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับบริการสาธารณะสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และสิทธิในการได้รับบริการจากรัฐย่อมต้องเป็นไปอย่างทั่งถึงและมีประสิทธิภาพ[4] จากข้อเท็จจริงนั้นหากน้องผักกาดได้สัญชาติไทยแล้วย่อมจะได้รับสิทธิที่ปรากฏในมาตรา 51 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยชัดแจ้งตามบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร ซึ่งบัญญัติให้ใช้แก่ผู้ที่มีสัญชาติไทย แต่กล่าวได้ว่าสิทธิในการมีสุขภาพที่ดี นั้นเป็นสิทธิมนุษยชน ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงทำให้แม้ว่าน้องผักกาดไม่ได้รับสัญชาติไทยก็สมควรที่จะได้รับการรับการดูแลรักษาสุขภาพที่ดีได้จากรัฐไทย เพราะไม่เพียงแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้สิทธิที่จะได้รับการบริการสุขภาพแต่ยังรองรับสิทธิในการได้รับบริการที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพอีกด้วย และในกรณีของน้องผักกาดนั้นเป็นกรณีที่บิดาและมารดาได้ทิ้งน้องผักกาดไป โดยไม่ได้กลับมาดูแลอีกจึงทำให้น้องผักกาดเป็นผู้ยากไร้ ไม่มีผู้ดูแลและไม่มีทุนทรัพย์ในการรักษาพยาบาล ดังนั้นแล้ว ตามมาตรา 51 นั้นย่อมจะทำให้น้องผักกาดได้รับการบริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะถือว่าการได้รับการรักษาพยาบาลในกรณีของน้องผักกาดนั้น หากไม่ได้รับการรักษาแล้วย่อมจะทำให้น้องผักกาดเสียชีวิตได้ ซึ่งสิทธิในการมีชีวิตรอดนั้นก็เป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ในสิทธิมนุษยชน

ดังปรากฏใน ข้อ 3 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights : UDHR ) กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต [5]

ดังนั้นแล้วแม้ว่าน้องผักกาดจะไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่น้องก็ควรจะได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพจากรัฐไทยเพราะถือว่าน้องผักกาดเป็นผู้ทรงสิทธิโดยผลอัตโนมัติ

(เขียนบทความวันที่ 11 พฤษภาคม 2557 )


[1] กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนที่ประสบปัญหาความด้อยโอกาสทางสุขภาพเพราะพิการและป่วยหนัก โดย รศ.ดร.พันทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2557 ค้นข้อมูล :11 พฤษภาคม 2557

[2]ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights 1948: UDHR )แหล่งข้อมูล : http://www.khamkoo.com/uploads/9/0/0/4/9004485/un_udhr_-_thai.pdf ค้นข้อมูล :11 พฤษภาคม 2557

[3] สรุปแนวคิดและหลักกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดย รศ.ดร.พันทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 ค้นข้อมูล :11 พฤษภาคม 2557

[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แหล่งข้อมูล :http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf ค้นข้อมูล :10 พฤษภาคม 2557

[5] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights 1948: UDHR )แหล่งข้อมูล : http://www.khamkoo.com/uploads/9/0/0/4/9004485/un_udhr_-_thai.pdf ค้นข้อมูล :11 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568152เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท