กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

หากกล่าวถึงการกระทำความผิดซึ่งมีโทษร้ายแรงในทางอาญาแล้วนั้น ส่วนใหญ่แล้วผู้กระทำความผิดมักจะต้องรับโทษด้วยการจำคุก เพื่อซึ่งเป็นวิธีการเยียวยาผู้กระทำความผิด หรือเป็นวิธีการลงโทษในการกระทำความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอย่างหนึ่ง ซึ่งในทางกฎหมายนั้นก็ย่อมมีการลงโทษที่มากน้อยแตกต่างกันไป หรือหากมีเหตุบางประการก็อาจจะได้รับการรอการลงโทษ ซึ่งอาจจะเป็นส่วนช่วยทำให้ความรู้สึกของผู้กระทำความผิดดีขึ้น หรืออาจจะรู้สึกว่าได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้กระทำความผิดได้กลับตัวกลับใจมากขึ้น และสามารถกลับเข้ามาอยู่ในสังคมได้เช่นเดิม

แต่หากเป็นกรณีที่ผู้กระทำความผิดได้ตั้งครรภ์ ซึ่งอาจจะต้องคลอดในช่วงที่ติดคุก หรือ กำลังจะคลอดลูกในระหว่างการลงโทษนั้นในกฎหมายของประเทศไทยศาลอาจจะให้รอการลงโทษ ซึ่งเป็นมาตรการทุเลาการบังคับโทษ โดยผู้กระทำความผิดสามรถยื่นร้องขอต่อศาลได้ จนกว่าตนจะคลอดบุตร หรือแม้กระทั่งผู้กระทำความผิดได้คลอดบุตรแล้วแต่ยังไม่ถึงสามปี และจำต้องเลี้ยงดูบุตร ก็อาจจะยื่นร้องขอต่อศาลให้รอการลงโทษก่อนได้

ดังปรากฏใน มาตรา 246 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วางหลักว่า เมื่อจำเลย สามี ภรรยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไปในกรณีต่อไปนี้
(1) เมื่อจำเลยวิกลจริต
(2) เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายตลอดชีวิตถ้าต้องจำคุก
(3) ถ้าจำเลนมีครรภ์
(4) ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น[1]

เหตุผลเบื้องหลังของการกำหนดหลักการในประมวลกฎหมายวิธีความอาญา เป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on Child Rights : CRC) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิก และมีผลใช้บังคับเมื่อ 26 เมษายน 2535[2]

ดังปรากฏใน ข้อ 1 วางหลักว่า เพื่อความมุ่งหมายแห่งอนุสัญญานี้ เด็ก หมายถึง มนุษย์ทุกคนที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่จะบรรลุนิติภาวะก่อนหน้านั้นตามกฎหมายที่บังคับใช้แก่เด็กนั้น

ข้อ 6 วางหลักว่า รัฐภาคียอมรับว่าเด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวที่จะมีชีวิตรอด และ จะประกันเต็มที่เท่าที่จะทำได้ให้เด็กมีการอยู่รอดและพัฒนาการของเด็ก

ข้อ 9 วางหลักว่า รัฐภาคีจะประกันว่า เด็กจะไม่ถูกแยกจากบิดามารดา โดยขัดกับความประสงค์ของบิดามารดา เว้นแต่ในกรณีที่หน่วยงานที่มีอำนาจ ซึ่งอาจจะถูกทบทวนโดยทางศาลจะกำหนดตามกฎหมายและวิธีพิจารณาที่ใช้บังคับอยู่ว่า การแยกเช่นนั้นจำเป็นเพื่อผลประโยชน์ของเด็ก การกำหนดเช่นว่านี้อาจจำเป็นในกรณีเฉพาะ เช่น ในกรณีที่เด็กถูกกระทำโดยมิชอบ หรือถูกถอดทิ้งละเลยโดยบิดามารดา หรือในกรณีที่บิดามารดาอยู่แยกกันและต้องมีการตัดสินว่าเด็กจะพำนักที่ใด[3]

จากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กนั้นแสดงให้เห็นว่า โดยหลักแล้วรัฐซึ่งเป็นภาคีสมาชิก ไม่ควรแยกเด็กออกจากบิดาหรือมารดาของเด็กโดยเฉพาะเมื่อเป็นเด็กแรกเกิด หรือเด็กที่มีอายุเพียงไม่กี่ปี ( เป็นไปตามอนุสัญญาข้อ 1 ที่กำหนดอายุของเด็กไว้ว่า บังคับใช้กับมนุษย์ที่มีอายุไม่เกิน สิบแปดปี ) เพราะบิดาหรือมารดาของเด็กจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อตัวเด็กเป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการพัฒนาด้านร่างกาย และด้านจิตใจ เพราะบิดาและมารดาย่อมเป็นบุคคลที่จะเข้าใจและมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับเด็กมากกว่าผู้ใดในโลก ดังข้อที่ ของอนุสัญญาที่ว่ารัฐภาคีจะประกันการพัฒนาการของเด็กอย่างเต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินของศาลภายใน เช่น ประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐสมาชิกของอนุสัญญาฉบับนี้ด้วย ย่อมมีดุลพินิจในการสั่งรอการลงโทษได้เมื่อเห็นสมควร ตามมาตรา 246 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
(เขียนบทความวันที่ 16 พฤษภาคม 2557)


[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แหล่งข้อมูล : www.senate.go.th ค้นข้อมูล : 16 พฤษภาคม 2557

[2] ผลการใช้บังคับของอนุสัญญา แหล่งข้อมูล : เอกสารประกอบคำบรรยาย วิชา สิทธิมนุษยชน โดย อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา ค้นข้อมูล : 16 พฤษภาคม 2557

[3] อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แหล่งข้อมูล : www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/crct.pdf ค้นข้อมูล : 16 พฤษภาคม 2557 

หมายเลขบันทึก: 568147เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤษภาคม 2014 14:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท