ศาลสิทธิมนุษยชน


        แนวความคิดของการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเริ่มมีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นับแต่ศตวรรษที่ 20 ได้มีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติซึ่งถือเป็นต้นแบบขององค์กรในการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชน

        โดยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คือ แนวความคิดในความเสมอภาคเท่าเทียมกันของมนุษย์และการคุ้มครองรักษาสิทธิที่อยู่ติดตัวของมนุษย์ตั้งแต่กำเนิดที่เรียกว่า สิทธิธรรมชาติ สิทธิมนุษยชนจึงเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในโลกมีอยู่ในฐานะที่เป็นมนุษย์และถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนย่อมจะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งแนวความคิดในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนนี้เองที่ทำให้เกิดการคุ้มครองปัจเจกชนในฐานะผู้เสียหายขึ้น ภายหลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้ประกาศใช้ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ทำให้การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแพร่หลายไปในทุกที่ในสังคมโลก โดยที่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในภูมิภาคยุโรปมีความพิเศษในการจัดตั้งองค์กร ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป(The European of Human Rights-ECtHR) [1]

          โดยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปตั้งอยู่ที่เมืองสตราส์บูร์ก (Strasbourg) ประเทศฝรั่งเศสซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกของสภายุโรป ทั้ง 47 ประเทศได้เข้าเป็นภาคีและรับหลักการของอนุสัญญาฯ โดยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้เปิดโอกาสให้ปัจเจกชนสามารถยื่นร้องเรียนจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ฝ่าฝืนจากบทบัญญัติที่กำหนดเป็นการคุ้มครองสิทธิในอนุสัญญาได้ ซึ่งการให้สิทธิแก่ปัจเจกชนในการยื่นคำร้องทุกข์ต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเกิดจากการจัดทำสนธิสัญญาของคณะมนตรีแห่งยุโรป เพื่อเข้ามาให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนภายในภูมิภาคดังกล่าว เรียกอนุสัญญานี้ว่า อนุสัญญายุโรปว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ค.ศ.1950 (Convention for the Protection of Human Rights and Fundamental Freedoms)

           เมื่อพิจารณาจากอนุสัญญาดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีหลักการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้แก่ปัจเจกชนในฐานะผู้เสียหายที่สำคัญ 2 กรณี คือ การจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเพื่อเป็นองค์กรในการให้ความคุ้มครองปัจเจกชนในฐานะผู้เสียหายกรณีหนึ่ง และกรณีที่สอง คือ การกำหนดให้ปัจเจกชนในฐานะผู้เสียหายได้เข้ามาใช้สิทธิยื่นข้อร้องเรียนหรือคำร้องทุกข์ต่อศาลโดยตรง

          อนุสัญญาดังกล่าวกำหนดให้รัฐสมาชิกจะต้องให้ความคุ้มครองบุคคลที่อยู่ในประเทศของตนให้เป็นไปตามอนุสัญญาโดยไม่จำกัดเฉพาะคนที่มีสัญชาติของประเทศนั้นเท่านั้น โดยสิทธิขั้นพื้นฐานประกอบด้วย สิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน สิทธิที่จะได้รับการเคารพต่อชีวิตส่วนตัวและครอบครัว เสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพด้านความคิด ความเชื่อ การนับถือศาสนา และห้ามมิให้รัฐสมาชิกมีบทลงโทษประหารชีวิต ห้ามกระทำการทรมาน ห้ามมีการลงโทษที่ปราศจากมนุษยธรรม ตลอดจนห้ามเลือกปฏิบัติ เป็นต้น โดยมีศาลสิทธิมนุษยชนซึ่งจัดตั้งในปี ค.ศ. 1959 ทำหน้าที่พิจารณาคำร้องที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิต่าง ๆ ของบุคคลที่ระบุอยู่ในอนุสัญญาและมีผู้พิพากษาซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประเทศสมาชิกทั้ง 47 ประเทศเป็นผู้พิจารณา ดังนั้นประชาชนในประเทศสมาชิกไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสเท่านั้นแต่สามารถยื่นคำร้องเป็นภาษาประจำชาติได้

          การยื่นคำร้องต่อศาลสามารถดำเนินการได้โดยบุคคล/กลุ่มบุคคล/บริษัท/NGOs/รัฐ แต่การฟ้องร้องจะกระทำได้เฉพาะต่อรัฐสมาชิกอนุสัญญาเท่านั้น ไม่สามารถฟ้องร้องต่อบุคคลหรือต่อรัฐอื่นที่มิได้เป็นสมาชิกอนุสัญญา โดยศาลจะพิจารณาคำร้องในเบื้องต้นว่าเข้าข่ายการละเมิดสิทธิตามที่ระบุในอนุสัญญา หรือไม่ และเงื่อนไขสำคัญที่ศาลจะรับพิจารณาคำร้องคือ ผู้ร้องไม่ว่าจะเป็นบุคคลสัญชาติใดที่ถูกละเมิดสิทธิโดยประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่ตนถูกละเมิดให้แล้วเสร็จก่อน และหากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงมายื่นคำร้องต่อศาลภายใน 6 เดือนต่อไป ซึ่งรัฐสมาชิกมีพันธะที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล อาทิ การจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้ร้อง หรือการแก้ไขกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับอนุสัญญา [2]

          สำหรับคนไทยในยุโรปหากถูกละเมิดสิทธิตามอนุสัญญาก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวได้

          แม้ประเทศไทยจะมิได้เข้าเป็นภาคีของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปแต่ในอาเซียนได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) โดยความมุ่งประสงค์ของคณะกรรมาธิการฯ คือ [3]

1.1 เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้น พื้นฐานของประชาชนอาเซียน

1.2 เพื่อยึดถือสิทธิของประชาชนอาเซียนที่จะดำรงชีวิตโดยสันติ มีศักดิ์ศรีและมีความมั่งคั่ง

1.3 เพื่อช่วยให้บรรลุความมุ่งประสงค์ของอาเซียนตามที่ปรากฏ ในกฎบัตรอาเซียน เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความปรองดองใน ภูมิภาค ความเป็นมิตรและความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก อาเซียน รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดี การดำรงชีวิต สวัสดิการ และการ มีส่วนร่วมของประชาชนอาเซียนในกระบวนการสร้างประชาคม อาเซียน

1.4 เพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในบริบทของภูมิภาค โดยคำนึง ถึงลักษณะเฉพาะของประเทศและภูมิภาค การเคารพซึ่งกันและ กันในเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและศาสนาที่ แตกต่างกัน และการคำนึงถึงความสมดุลระหว่างสิทธิและหน้าที่

1.5 เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อเสริมความ พยายามระดับประเทศและระหว่างประเทศด้านการส่งเสริมและ คุ้มครองสิทธิมนุษยชน

1.6 เพื่อยึดถือมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนตาม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาและแผนปฏิบัติ การเวียนนา และตราสารว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นภาคี

           แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้พยายามจัดทำร่างปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน แต่ก่อให้เกิดปัญหา คือ บางประเทศเลือกที่จะส่งข้าราชการระดับสูงที่เน้นแต่ผลประโยชน์ประเทศมากกว่าการส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน ขณะที่บางประเทศพยายามลดระดับความสำคัญของปฏิญญาให้กลายเป็นเพียงกรอบความร่วมมือ มิหนำซ้ำ กระบวนการร่างปฏิญญายังขาดการพูดคุยหารือกับตัวแทนภาคประชาสังคมที่มีส่วนได้เสียโดยตรงอย่างเพียงพอ ทำให้หลักการที่ปรากฏในปฏิญญาเต็มไปด้วยความคลุมเครือ และไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล อีกทั้งยังเป็นการละเลยสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานหลายประการ[4]

          ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าควรจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนอาเซียนโดยนำศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมาเป็นต้นแบบเพื่อที่จะได้ไม่เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน

                                                                                                                     เขียน 15 พฤษภาคม 2557

                                                                                                                       เมธสา เอื้อโอภาพัฒน์

[1]“ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป.” [ระบบออนไลน์] เข้าถึงได้จาก

http://digi.library.tu.ac.th/thesis/la/1118/03ABSTRACT.pdf สืบค้น 15 พฤษภาคม 2557

[2] “คนไทยมีสิทธิรับความคุ้มครอง ภายใต้ The European Convention on Human Rights.” [ระบบออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttp://www2.thaieurope.net/คนไทยมีสิทธิรับความคุ้/.สืบค้น 15 พฤษภาคม 2557

[3] ภาคิน นิมมานนรวงศ์. 2556. “สิทธิมนุษยชนอาเซียน: ตู้โชว์ความเป็นสากล, กรุงเทพธุรกิจ.” [ระบบออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttp://www.academia.edu/5351845/_22_._._56_สืบค้น 15 พฤษภาคม 2557

[4]กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ. “ขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ ระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.” [ระบบออนไลน์] เข้าถึงได้จากhttp://www.baanjomyut.com/library_2/asean_communit... 15 พฤษภาคม 2557

หมายเลขบันทึก: 568077เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 22:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 02:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท