กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


              สิทธิมนุษยชนมีพัฒนาการมาจากความพยายามของมนุษย์ที่จะให้ศักดิ์ศรีของมนุษยชนได้รับการเคารพ และคุ้มครองจากการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเสมอภาคที่เกิดขึ้นในดินแดนต่างๆ ทั่วโลก แนวความคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงเกิดจากบรรดานักคิดที่มาจากหลากหลายประเพณีและศาสนา ซึ่งต่อมาผู้บริหารประเทศและนักกฎหมายต่างมีบทบาทในการส่งเสริมแนวความคิดดังกล่าวและร่างขึ้นเป็นเอกสารที่ใช้ปกป้องสิทธิของบุคคลและค่อยๆ กลายเป็นบทบัญญัติและรัฐธรรมนูญของชาติต่างๆเพราะต่างเห็นพ้องต้องการกันว่าสิทธิมนุษยชนควรได้รับความคุ้มครองและได้รับความเคารพอย่างจริงจัง โดยมีกฎหมายเป็นหลักเกณฑ์ในการประพฤติและปฏิบัติ

               ต่อมาในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อมีการดำเนินการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น บรรดาผู้นำของประเทศสมาชิกดั้งเดิม 50 ประเทศ ได้ร่วมลงนามในกฎบัตรสหประชาชาติ (The Charter of the United Nations) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1945 ซึ่งประกาศเป้าหมายหลักขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1945 ว่า : “เพื่อปกป้องคนรุ่นต่อไปจากภัยพิบัติของสงคราม และเพื่อยืนยันความศรัทธาในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในศักดิ์ศรี และคุณค่าของมนุษย์ และในสิทธิอันเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี” [1]

                ด้วยเหตุที่กฎบัตรสหประชาชาติ เป็นสนธิสัญญาที่บรรดาประเทศสมาชิกองค์การสประชาชาติร่วมลงนาม จึงถือว่ามีข้อผูกพันทางกฎหมายที่บรรดาสมาชิกจะต้องปฏิบัติตาม รวมถึงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และการร่วมมือกับสหประชาชาติตลอดจนนานาประเทศ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ในกฎบัตร อย่างไรก็ตาม กฎบัตรสหประชาชาติมิได้มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยตรง หรือกลไกที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกปกป้องสิทธิมนุษยชน ครั้นปี ค.ศ. 1945 องค์การสหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Committee on Human Rights) ขึ้น มีหน้าที่ร่างกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน จึงเกิดปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ซึ่งสหประชาชาติ ได้มีมติรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948 เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน โดยไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติทางใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ สถานะทางสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม และได้กลายเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ในการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในเวลาต่อมา

               โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้ในปี2491 ท่ามกลางบรรยากาศหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่เรียกร้องถึงสันติภาพ การเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของมนุษย์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมที่ทำลายล้างชีวิตของมนุษยชาตินับล้านคนขึ้นอีกในอนาคต ภายหลังการรับรองปฏิญญาสากลฯ มีกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้รับการพัฒนาตามมาหลายฉบับ ซึ่งล้วนแต่แตกลูกออกมาจากข้อบทต่างๆ ในปฏิญญาสากลฯ ทั้งสิ้น กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญในปัจจุบัน ประกอบด้วยอนุสัญญาฯ หลัก 9 ฉบับ ได้แก่

(1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)

(2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม(International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR)

(3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี(Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW)

(4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC)

(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ(Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD)

(6) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

(Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT)

(7) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)

(8) อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ(Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED)

(9) อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว(Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families MWC) [2]

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญๆ 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ สำหรับอนุสัญญาหลักอีก 2 ฉบับที่ไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีคือ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว[3]

โดยข้าพเจ้าจะขออธิบายถึงรายละเอียดของอนุสัญญาบางฉบับดังนี้

      1.อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ(Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528 [4]

วัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญาฉบับนี้ คือการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ รวมทั้งการประกันว่าสตรีและบุรุษมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติและดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคกัน ได้แก่

1)กล่าวถึงคำจำกัดความของคำว่าการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (discrimination against women) พันธกรณีของรัฐภาคี มาตรการที่รัฐภาคีต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าของสตรี มาตรการเร่งด่วนชั่วคราวเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรีอย่างแท้จริง ซึ่งจะไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ การปรับรูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อให้เอื้อต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และการปราบปรามการลักลอบค้า และแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากสตรี

2)กล่าวถึงความเท่าเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรีในด้านการเมืองและการดำรงชีวิต (public life) ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ เช่น สิทธิในการเลือกตั้ง การสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ความเท่าเทียมกันในกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และการศึกษา

3)กล่าวถึงการที่สตรีจะได้รับการดูแลทางเศรษฐกิจ โดยได้รับความเท่าเทียมกันในด้านสิทธิและโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานและสิทธิด้านแรงงาน รวมถึงการป้องกันความรุนแรงต่อสตรีในสถานที่ทำงาน ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ โดยเฉพาะสตรีมีครรภ์และหลังคลอดบุตร การที่รัฐภาคีจะประกันความเป็นอิสระของสตรีด้านการเงินและความมั่นคงด้านสังคม และการให้ความสำคัญแก่สตรีในชนบท ทั้งในด้านแรงงานและความเป็นอยู่

4)กล่าวถึงความเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรีในด้านกฎหมาย โดยเฉพาะในด้านกฎหมายแพ่ง และกฎหมายครอบครัว ซึ่งเป็นการประกันความเท่าเทียมกันในชีวิตส่วนบุคคล

5)กล่าวถึงการจัดตั้งคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ พันธกรณีในการจัดทำรายงานของรัฐภาคี การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ และการมีส่วนร่วมของทบวงชำนัญพิเศษที่เกี่ยวข้อง

6)กล่าวถึงการมิให้ตีความข้อบทของอนุสัญญาที่จะขัดต่อกฎหมายภายในที่ดำเนินการมากกว่าที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ การนำพันธกรณีไปปฏิบัติในระดับประเทศ การเปิดให้ลงนามและกระบวนการเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญา การแก้ไขอนุสัญญา เงื่อนไขการมีผลบังคับใช้ของอนุสัญญา การตั้งข้อสงวน การขัดแย้งในการตีความระหว่างรัฐภาคี

             2.อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) เป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก โดยทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบัน ยกเว้นประเทศโซมาเลียและสหรัฐอเมริกา ในพ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน อนุสัญญาฉบับนี้ระบุรายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ว่าทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตน ได้แก่

สิทธิที่จะมีชีวิตรอด – ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัย

สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา – มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม

สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง - ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ

สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม – ในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง

ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน

การละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนในสังคมไทยมีปรากฏการณ์ในหลายรูปแบบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายทศวรรษและยังคงดำรงสืบเนื่องในสังคมไทย และมีแนวโน้มขยายความรุนแรงกว้างขวางขึ้นกับกลุ่มเด็กและเยาวชนต่างๆ ข้อมูลของกรมประชาสงเคราะห์ ปี 2545 พบว่าเด็กที่อยู่ในอายุ 1–14 ปี ประมาณ 6 ล้านคนอยู่ในครอบครัวที่ยากจน เด็กถูกทอดทิ้งมีจำนวนมากกว่าแสนคน เด็กกำพร้ามีจำนวนประมาณ 350,000 คน เด็กเร่ร่อน มีประมาณ 370,000 คน เด็กพิการทางกาย หรือทางจิตกว่า 400,000 คน เด็กชนเผ่าที่เป็นกลุ่มคนชายขอบกว่า 200,000คน

ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้านั้นเด็กและเยาวชนเหล่านี้ควรได้รับความคุ้มครองและได้รับสิทธิพื้นฐานตามอนุสัญญาดังกล่าวข้างต้น เพื่อไปใช้ในการพัฒนาศักยภาพความเป็นมนุษย์ของตนและเพื่อพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ในสังคมไทยให้อนาคตของชาติเติบขึ้นมาในสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาทรัพยารทางบุคคล [5]

             

 แหล่งข้อมูลอ้างอิง

[1] การพัฒนาของสิทธิมนุษยชน(ออนไลน์)http://www.l3nr.org/posts/519241

[2] อนุสัญญาระหว่างประเทศ(ออนไลน์)http://www.mfa.go.th/humanrights/implementation-of-un-resolutions/86-human-rights-obligations

[3]อนุสัญญาที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี(ออนไลน์)http://www.l3nr.org/posts/467177

[4]อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ(ออนไลน์)http://www.l3nr.org/posts/466710

[5]ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน(ออนไลน์)http://www.oknation.net/blog/print.php?id=389345

หมายเลขบันทึก: 567943เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท