เส้นทางชีวิตของยอดมอธเหยี่ยวลายพราง(หนอนที่เกิดผิดที่ผิดทาง)


สวัสดีทุกท่านครับ ลุงชาติเคยลงภาพชุดหนอนน้อยชนิดเดียวกันนี้ให้ชมไปแล้วครั้งหนึ่ง ตามลิ้งค์นี้ครับ


...วงจรชีวิตหนอนผีเสื้อกลางคืน MOTH...

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/438272

และ เป็นหนอนต่างสี เป็นผีเสื้อเหมือนกัน

http://www.gotoknow.org/posts/540608

ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงกันได้กับเรื่องราวในชุดนี้ครับ

เส้นทางชีวิตของยอดมอธเหยี่ยวลายพราง



  สิ้นปี ลุงชาติต้องจัดระเบียบเรื่องราวในฮาร์ดดิสค์ซะใหม่ เพราะข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้เจอเรื่องราวที่เขียนไว้เสร็จแล้ว แต่จะเป็นด้วยเหตุผลใดไม่อาจนึกออกมาได้ ทำให้หลงลืมเรื่องนี้ไป ไม่ได้เผยแพร่ อาจเพราะยุ่งกับการจัดการก่อสร้างต่อเติมปรับปรุงบ้านก็เป็นได้


  เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปลายเดือนมีนาคม 2554 ตอนเช้า 07.30 น. ลุงชาติเดินดูต้นไม้ที่ปลูกไว้ ก็พบว่ามีไข่ผีเสื้อติดอยู่ที่ใบโหระพา ไม่เคยรู้ว่ามีหนอนผีเสื้อชนิดไหนที่กินใบโหระพา จึงได้ขนย้ายกล้องที่ตั้งสำหรับถ่ายนกอยู่มาถ่ายไข่หนอนแทน อ้าว......ถ่ายไข่ไม่ทันซะแล้ว หนอนออกมาจากไข่ซะก่อน


  หนอนที่ออกมาจากไข่ตัวเล็กจิ๋ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัวประมาณเท่ากับเข็มหมุดหรือเข็มเย็บผ้า ลำตัวกลม มีขนาดยาวประมาณ 4 มม. ไม่น่าเกิน 5 มม. สีเหลือง



  พอหนอนออกจากไข่มา ก็เริ่มกินเปลือกไข่ของมันเองทันที ใช้เวลาในการกินเปลือกไข่ไป 16 นาที หลังจากกินเปลือกไข่หมด หนอนก็ออกเดินไปสักพัก เจ้าหนอนก็ได้นอนพักผ่อนไปประมาณ 1 ชั่วโมง




  เมื่อเจ้าหนอนตื่นขึ้นมา มันเริ่มออกเดิน ไปกิ่งโน้น ไปกิ่งนั้นอยู่ตลอดเวลา เจ้าหนอนไม่กินอะไรเลย ต่างจากหนอนตัวอื่นที่ออกจากไข่บนต้นชวนชมที่ออกมาพร้อมๆกันกับมัน หนอนตัวอื่นกินตลอดเวลาเลย หรือว่ามันจะไม่ใช่หนอนที่กินใบโหระพา แม่มันมาไข่ทิ้งไว้ผิดต้นหรือ?....หรือว่า ไข่หนอนหลุดออกมาจากต้นชวนชมมาติดอยู่ที่ต้นโหระพา?...




  วันนี้ทั้งวันคงต้องเฝ้าดูเจ้าหนอนจิ๋วไปตลอด คอยดูพฤติกรรมของหนอนตัวนี้ กินข้าวมื้อเช้าเอาตอนเที่ยงที่ต้นโหระพานี่แหละ เรากินข้าวชามบะเริ่ม แต่เจ้าหนอนตัวนี้ได้กินแค่เปลือกไข่ของมันเองเพียงอย่างเดียว แล้วก็ยังไม่ได้กินอะไรอีกเลย ผิดกับหนอนตัวอื่นที่ออกจากไข่บนต้นชวนชมที่กินเอากินเอาทั้งๆที่เกิดมาพร้อมกันแต่ต่างสถานที่




  นั่งจ้องเจ้าหนอนนานๆชักเบื่อนิดๆ หันสายตาไปมองอย่างอื่นบ้าง พอกลับมามองอีกที อ้าว เจ้าหนอนกำลังชักใยลงมาจากยอดโหระพา คิดว่าหนอนจิ๋วสีเหลืองตัวนี้คงไม่กินใบโหระพาเป็นแน่ มันเดินหาอาหารอยู่นานมาก ตั้งแต่เช้ายันบ่ายจนในที่สุดมันตัดสินใจชักใยลงมาเพราะมันหาทางไปต้นไม้อื่นไม่ได้ เป็นความยอดเยี่ยมของธรรมชาติ สัญชาติญาณในการเอาตัวรอด.....

  ขออภัยที่ภาพชุดนี้เบลอ เป็นการถ่ายภาพที่ใช้กำลังขยายสูง หนอนตัวเล็กมากชักใยลงมา โดนลมนิดเดียวก็แกว่งไปมาตลอด เตรียมแฟลชไม่ทัน แฟลชหัวกล้องก็ยิงไม่โดนหนอนเพราะจะถูกเลนส์บังแสงเอาไว้ ไม่ทันแม้แต่จะตั้งขาตั้งกล้อง ปรับเป็นแมนนวลโฟกัส ยกกล้องขึ้นเล็งแล้วกดถ่ายเลย ถ่ายภาพเบลอๆมาได้แค่สองภาพ และจำเป็นต้องใช้ภาพเบลอๆนี้




    เจ้าหนอนจิ๋วชักใยลงมา มันใต่ไปยังต้นชวนชมได้แล้วและมันก็เริ่มต้นแทะเล็มกินผิวของใบชวนชมทันที มันกินไปสามสี่คำ แล้วก็นอนหงายพักผ่อนเลย....โอ พระเจ้า

  ตรงรอยที่มันแทะกิน จะเห็นว่ามียางของชวนชมไหลออกมาตรงบริเวณที่มันแทะกินนั้นให้เห็นอยู่ในภาพถ่าย เจ้าหนอนน้อยหนีตายมาได้จากต้นโหระพาที่มันไม่เคยกิน มาพบแหล่งอาหารที่มันกินได้คือต้นชวนชม....หนอนน้อย นายแน่มาก




  ช่วงนี้(ปลายเดือนมีนาคม 2554)ไม่รู้สภาพอากาศเกิดวิปริตผิดอาเพธอะไรขึ้นมา สภาพดินฟ้าอากาศวิปริตเปลี่ยนแปลงไป หน้าร้อนแท้ๆแต่ดันหนาวจนสั่น ลมแรงจัดและฟ้าหม่นหมอง บางครั้งมีฝนตกอย่างหนักแล้วก็มีแดดเปรี้ยงออกมา มีครบทั้งสามฤดูกาลในเดือนนี้ วันนี้เจ้าหนอนมีอายุได้สามวัน มันคงได้รับผลกระทบกับธรรมชาติที่วิปริตนี้ด้วย บรรดาหนอนต่างเบื่ออาหาร กินกันน้อยกว่าปกติ ร่างกายไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร เห็นหนอนบางตัวร่วงลงมาตายต่อหน้าต่อตาเลย อากาศมันวิปริตจริงๆ เจ้าหนอนน้อยมันอาศัยเกาะนอนอยู่ใต้ใบชวนชมให้ช่วยบังฝน บังแดดและบังลม ตอนนี้อากาศหนาวเย็นมาก มันไม่กินอาหาร มันไม่ขยับไปไหนเลยตั้งแต่เช้าจนมืดค่ำ ในตอนค่ำมันจึงค่อยแทะเล็มกินใบชวนชมบ้างเพื่อประทังชีวิต




  วันนี้เจ้าหนอนมีอายุได้ห้าวันแล้ว มันไม่ค่อยได้กินอาหารเนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวน มันได้แต่นอนนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน นานๆทีจึงจะกัดแทะกินใบชวนชมนิดๆหน่อยๆพอประทังชีวิต ตัวมันเล็กกว่าหนอนชุดเดิมที่เคยถ่ายมาแต่ก่อนในช่วงเวลาอายุที่เท่ากัน วันนี้สภาพอากาศอบอุ่นขึ้นมากกว่าเดิมบ้างแล้ว ผมแยกแฟลชออกถ่ายภาพมา ภาพด้านหน้าถ่ายในทิศทางตามแสงแต่เป็นแสงเฉียง ส่วนภาพด้านหลัง แยกเอาแฟลชไปตั้งไว้ด้านตรงข้ามแล้วถ่ายย้อนแสง



  วันนี้หนอนมีอายุได้หกวัน เริ่มกินอาหารมากกว่าเดิมแล้ว เปลี่ยนใบชวนชมไปเรื่อย และลักษณะการกินเป็นการกัดกินจนใบแหว่งแล้วไม่ใช่แทะเล็มแบบก่อน เจ้าหนอนเริ่มกินได้ ถ่ายได้ ตอนนี้ตัวยาวประมาณเซ็นต์ครึ่ง น่าจะรอดชีวิตแน่นอนแล้ว เพื่อนๆรุ่นเดียวกับมันหนาวตายไป 2 – 3 ตัว




  วันนี้หนอนมีอายุได้เจ็ดวันแล้ว มันเริ่มที่จะกินใบชวนชมมากขึ้น แต่ยังสังเกตุได้ว่ากินน้อยกว่าหนอนชุดที่เคยถ่ายมาก่อนหน้านี้ คงกำลังปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับสภาพอากาศที่แปรปรวนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆในช่วงนี้ หนอนมีความยาวประมาณสองเซ็นต์ ซึ่งถือว่าตัวเล็กกว่าชุดที่เคยถ่ายมาแล้วมากในรุ่นอายุที่เท่ากัน




  เจ้าหนอนก็ยังดิ้นรนปรับสภาพร่างกายให้เข้ากันได้กับสภาพอากาศที่แปรปรวนต่อไป มันกินได้น้อยกว่าหนอนชุดเดิมๆที่เคยถ่ายในสภาพอากาศปกติ เมื่อมีอายุได้แปดวัน ตัวมันยาวประมาณสองเซ็นต์ครึ่ง และเมื่อมีอายุได้สิบวัน ตัวมันยาวประมาณสามเซ็นต์ และในวันนี้หนอนมีอายุได้สิบสองวัน ยังโตได้ไม่เต็มที่เหมือนรุ่นก่อนๆ มันกินแค่พอสมควรแล้วก็นอน นานๆจึงจะขยับไปกินซะทีนึง ต่างจากรุ่นก่อนมากที่กินกันตลอดเวลา โลกเราเปลี่ยนแปลงไปมากขนาดนี้เชียวหรือ

 



  วันนี้หนอนมีอายุได้สิบสามวัน ยังกินน้อยเหมือนเดิม ผมถ่ายภาพเปรียบเทียบมาให้ดู เปรียบเทียบกับหนอนตัวที่แม่มันไข่ไว้ที่ต้นชวนชมตามปกติซึ่งมีอายุเท่ากันแต่ตัวโตต่างกันมาก เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ภาพด้านนอกคือหนอนตัวที่ออกจากไข่ที่ต้นโหระพา มันกินน้อยกว่า ตัวเล็กกว่าเยอะมาก ทั้งๆที่มีอายุเท่ากัน ออกจากไข่มาวันเดียวกัน




  วันนี้หนอนทั้งสองตัวมีอายุสิบสี่วัน เจ้าตัวเล็ก ภาพด้านหน้า ก็คือหนอนที่ออกจากไข่ที่ต้นโหระพา มันได้ลอกคราบออกมา แล้วมันก็นอนต่อโดยไม่แยแสกับคราบนั้นเลย ซึ่งปกติหนอนจะกินคราบที่มันลอกออกมาด้วย ส่วนเจ้าตัวใหญ่ที่เกิดบนใบชวนชมตามปกติก็ตั้งหน้าตั้งตากินอย่างเดียว หนอนทั้งสองตัวนี้เกิดพร้อมกัน แต่ต่างสถานที่กัน แต่ในขณะนี้มาอาศัยกินใบชวนชมต้นเดียวกันภาพชุดนี้ถ่ายในเวลาบ่ายสามโมง เจ้าตัวใหญ่ โตเต็มที่แล้ว หัวเริ่มกลายเป็นสีเหลืองแล้ว อีกไม่นานก็จะเข้าสู่ระยะดักแด้ ส่วนเจ้าตัวเล็กยังโตไม่เต็มที่เลย




  เจ้าหนอนตัวใหญ่ถ่ายในเวลาสามทุ่ม ร่างกายเปลี่ยนเป็นสีส้ม คืนนี้เป็นอันว่าต้องอยู่เฝ้าดูหนอนตัวใหญ่นี้เข้าสู่ระยะดักแด้อีกคืนนึงแน่นอน เจ้าพวกนี้มันชอบทำอะไรกันตอนดึกๆเป็นประจำ




   แล้วในตอนตีสองครึ่ง เจ้าหนอนตัวใหญ่ก็ลงไปคลานบนพื้นดิน มันเริ่มขนใบไม้มาคลุมตัว แล้วปล่อยใยเส้นเล็กๆออกมามัดมายึดใบไม้ให้คลุมตัวมันอย่างแน่นหนา เจ้าหนอนใช้เวลาในการทำที่สำหรับให้มันเข้าสู่ระยะดักแด้ทั้งหมดสองชั่วโมงครึ่ง มันเข้าระยะดักแด้ในเวลาตีห้า





  ภาพชุดนี้ถ่ายภาพต่อเนื่องกันมาแล้วทำเป็นไฟล์ GIF ให้เป็นภาพเคลื่อนไหว บางบอร์ดก็จะเห็นเป็นภาพนิ่ง บางบอร์ดก็จะเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว




  หลังจากที่เจ้าหนอนตัวใหญ่ได้เข้าสู่ระยะดักแด้ไปแล้ว เจ้าหนอนตัวเล็กก็เริ่มกินมากขึ้น นี่เจ้าตัวใหญ่เข้าดักแด้ไปสามวันแล้ว เจ้าตัวเล็กก็มีอายุได้สิบแปดวัน ตอนแปดโมงเช้าเริ่มเห็นที่หัวออกมาเป็นสีเหลืองๆ อีกภาพนึงด้านหลังถ่ายตอนห้าโมงเย็น ตัวเริ่มกลายเริ่มเปลี่ยนสีแล้ว น่าจะเข้าระยะดักแด้ภายในคืนนี้แน่ๆ




  แล้วในตอนเที่ยงคืน เจ้าหนอนตัวเล็กก็ลงไปคลานบนพื้นดิน มันเริ่มขนเศษวัสดุมาคลุมตัว แล้วปล่อยใยเส้นเล็กๆออกมามัดมายึดให้คลุมตัวมันอย่างแน่นหนา มันมีมรรยาทที่ดีพอที่จะไม่ไปแย่งเอาเศษวัสดุที่เจ้าตัวใหญ่ทำไว้ก่อนแล้ว มันหาใหม่เอาเอง ช่างแตกต่างจากมนุษย์บางประเภท ที่ยกย่องตัวเองนักหนาว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ก็แย่งชิง ปล้น โกง เอาของคนอื่นมาเป็นของตัวเองอย่างไม่ละอาย... เจ้าหนอนใช้เวลาในการทำที่สำหรับให้มันเข้าสู่ระยะดักแด้ทั้งหมดเกือบสามชั่วโมง มันเข้าระยะดักแด้ในเวลาใกล้ตีสาม




  ภาพชุดนี้ถ่ายภาพต่อเนื่องกันมาแล้วทำเป็นไฟล์ GIF ให้เป็นภาพเคลื่อนไหว บางบอร์ดก็จะเห็นเป็นภาพนิ่ง บางบอร์ดก็จะเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหว




  อีกสิบวันต่อมา เจ้าหนอนตัวใหญ่ก็ได้เวลาออกมาจากดักแด้ วันนี้มันใจดี ออกมาจากดักแด้ในเวลาสี่ทุ่มซึ่งยังไม่ดึกเกินไปนัก เป็นมอธเหยี่ยวลายพรางตัวใหญ่สมบูรณ์ทีเดียว รวมระยะเวลาวิวัฒนาการของเจ้าตัวใหญ่มีดังนี้ครับ


ระยะฟักไข่
3 วัน ระยะหนอน 14 วัน ระยะดักแด้ 13 วัน รวม 30 วัน




  อีกห้าวันต่อมา เจ้าหนอนที่ออกจากไข่ที่ต้นโหระพา ก็ได้ออกมาจากดักแด้ เป็นมอธเหยี่ยวลายพราง ออกจากดักแด้มาตอนสามทุ่ม ตัวเล็กกว่าปกติ เพราะมันต้องดิ้นรนมามากมายเลยตั้งแต่ตอนเกิด วันนี้ถ่ายลำบาก มืดมาก ยุงเพียบเลย รวมระยะเวลาวิวัฒนาการของเจ้าตัวเล็กมีดังนี้ครับ

ระยะฟักไข่ 3 วัน ระยะหนอน 18 วัน ระยะดักแด้ 15 วัน รวม 36 วัน




  เจ้ามอธเหยี่ยวตัวน้อย

  การที่เจ้าต้องดิ้นรน ต้องหาทางเอาชีวิตให้รอดพ้นจากภัยร้ายทั้งหลายทั้งปวง การที่เจ้าเพียรพยายามหาทางออกให้ชีวิต จึงได้พบทางรอด

  เจ้าสู้กับภัยธรรมชาติ สู้กับดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน รู้จักหลบ รู้จักกำบัง และการกินเพื่อประทังชีวิต รวมทั้งการที่เจ้าไม่แย่งชิงที่กำบังกายจากเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ เจ้าไม่ทำร้ายทำลายกันเอง มันช่างประเสริฐยิ่งนัก

  ทั้งหลายทั้งปวงนี้ มันทำให้นึกถึงมนุษย์ ที่พร่ำยกตนเองว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐซะจริงๆ.......เจ้ามอธเหยี่ยวตัวน้อย ข้า....นับถือเอ็งว่ะ




  หนอนที่ออกมาจากไข่ตัวเล็กจิ๋ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของลำตัวประมาณเท่ากับเข็มหมุดหรือเข็มเย็บผ้า ลำตัวกลม มีขนาดยาวประมาณ 4 มม. ไม่น่าเกิน 5 มม. สีเหลือง

จากภาพนะครับ เป็น Daphnis nerii , Oleander Hawk-moth or Gardinia Hawk-moth

หรือชื่อไทยว่า มอธเหยี่ยว(ผีเสื้อจวรวด)ลายทหารเขียว

ชื่ออังกฤษว่า Oleander Hawkmoth

อยู่ในวงศ์ Sphingidae

ตัวหนอนของผีเสื้อชนิดนี้พบได้ง่ายๆ ตัวอ้วนๆ เขียวๆ

อยู่บนต้น พุทรา แพงพวย พุด ยี่โถ ลั่นทม และชวนชม


  คลิปวิดีโอจากหนอนตัวจิ๋วที่เกิดมาบนต้นไม้ที่ไม่ใช่พืชอาหารของมัน ต้องหาทางเอาชีวิตให้รอด หากินเจริญเติบโต เป็นดักแด้ จนออกมาเป็นผีเสื้อ ใช้ชีวิตอยู่ในวงวัฏจักรได้


ขอขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาชม มาให้กำลังใจ 

ขอบคุณ gotoknow

ที่ให้พื้นที่ดีๆในการแบ่งปันความสุข

ขอบคุณครับ



หมายเลขบันทึก: 567941เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2014 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2014 23:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

กว่าจะได้ภาพทั้งหมด

ใช้เวลามากเลยนะครับ

ขอบคุณมากๆ

อย่าหายไปนานให้คิดถึงครับ

ขจิต ฝอยทอง

กว่าจะได้ภาพทั้งหมด

ใช้เวลามากเลยนะครับ

ขอบคุณมากๆ

อย่าหายไปนานให้คิดถึงครับ

สวัสดีครับอ.ขจิต

ใช้เวลาถ่ายภาพเป็นเดือนเลยครับ
ต้องติดตามเฝ้าดู

ผมหายไปเพราะงานเยอะมากตอนแก่นี่แหละครับ

กลับมาครั้งนี้ตั้งใจว่าจะเริ่มเขียนเทคนิคโฟโตชอพด้วย
เคยมีบล้อกเกอร์ถามไว้หลายคนเหมือนกัน

บล้อกเกอร์บางคนก็เคยเรียนกับผมบ้างแล้ว

และทำได้ดีซะด้วย

ขอบคุณมากครับอาจารย์ขจิต

  • โอ้โฮ ลุงชาติ..อดทนและเพียรพยายามมากๆเลยครับ
  • ขอยกย่องชื่นชมและขอขอบพระคุณสำหรับบทสรุปในชีพจักร..ครับ

สามสัก(samsuk) สวัสดีครับ

ภาพชุดนี้ติดตามถ่ายตามบันทึกเดือนกว่าๆครับ

ขอขอบคุณครับคุณ สามสัก

เป็นความพยายามอย่างยิ่งยวด และเป็นประโยชน์ที่ยิ่งใหญมากๆครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท