ขอดเกล็ดประสบการณ์งานพัฒนาสังคม (1)


ทุกวันนี้ เครื่องแต่งกายและบุคลิกภาพมันไม่ได้เป็นแค่สิ่งห่อหุ้มเท่านั้น หากมันเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวบ้าน ชุมชน คน องค์กรที่เราร่วมงาน และนักพัฒนาที่ชาญฉลาดสามารถปรับใช้มันเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงสิทธิอำนาจต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมได้

ขอดเกล็ดประสบการณ์งานพัฒนาสังคม

ตอนที่ 1 บุคลิกภาพนั้น สำคัญไฉน

 

หลายครั้งทีเดียว ที่ผมพบว่าการจัดประชุมอบรมต่างๆ ทั้งที่เจ้าภาพเป็นหน่วยราชการบ้าง เป็นเอ็นจีโอบ้าง มีผู้เข้าร่วมเยอะแยะ แต่สังเกตดูก็จะพบว่าประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้ร่วมประชุมกลับต่ำอย่างน่าใจหาย

ผมเองได้เคยเสนอในที่ประชุมคณะทำงานระดับต่างๆหลายครั้ง คนส่วนใหญ่ในที่ประชุมก็เหมือนจะเออออ แต่เอาเข้าจริงก็ปรับเข้าสู่โหมดการทำงานแบบเดิมๆ จนผมหน่าย นึกเสียดายการลงทุนลงแรงลงเงินในการจัดประชุมต่างๆ

พักหลังผมจึงเลือกไปประชุมเท่าที่จำเป็น และเท่าที่น่าสนใจจริงๆ เพราะเดี๋ยวนี้ ข้อมูลข่าวสารตามทันกันหมด ถ้าประชุมไม่ได้เรื่อง เราก็ตามจากข่าว หรือโทรถาม ฟังจากการบันทึกเสียง อ่านจากรายงานการประชุม เว็บไซต์ หรือเฟสบุ๊ค แล้วเขียนคอมเมนท์ไปก็ได้ ทางเลือกในการสื่อสารมีสารพัด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการประชุมก็ดี การสื่อสารผ่านหน้าเว็บ หน้าเฟส ก็ดี สิ่งสำคัญก็คือการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันเป็นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมปัจจุบันที่ความเป็นสาธารณะกับความเป็นส่วนตัว มันเหลื่อมทับกันมากขึ้น

ตรงนี้หมายความว่าอย่างไร ในทัศนะผมหมายความว่า การที่เราจะนำการประชุม นำวงสนทนา นำพื้นที่สื่อสารพัดแบบได้ดี เราต้องเป็นที่รู้จักในสายตาประชาชี รู้จักในที่นี้หมายถึงมีตัวตน ภาษาวิชาการว่ามีอัตลักษณ์ (Identity) ภาษาการตลาดก็คือมีแบรนด์ชัด และเป็นที่ดึงดูด สร้างความไว้ใจแก่ผู้คนในกลุ่มที่เราจะสื่อสารด้วยให้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกว่าเป็นคนที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เป็นคนที่มีพื้นที่ส่วนตัวที่แชร์กับผู้คนได้อย่างกันเองมากขึ้น ซึ่งเราจะพบว่า ผู้นำวงการต่างๆหลายๆคนก็ใช้กลยุทธ์เหล่านี้ เช่น มีเฟสบุ๊คที่ให้ข้อมูลครอบครัว งานอดิเรก ไลฟ์สไตล์ของตน ,มีเว็บเพจแฟนคลับเฉพาะของตน , มีการนำเสนอเรื่องส่วนตัวในเชิงสร้างสรรค์ออกสื่อต่างๆเพื่อสร้างความเชื่อถือ ไว้วางใจ

สิ่งเหล่านี้จะปล่อยให้เกิดขึ้นแบบตามมีตามเกิดได้ไหม คำตอบคือก็ได้ แต่ในสนามการช่วงชิงอำนาจเรื่องสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิชุมชน สิทธิคนชายขอบ สิทธิผู้หญิง สิทธิผู้บริโภค ฯลฯ ในสถานการณ์ที่ต้องทำงานสังคมเชิงรุก เรา (นักพัฒนา โดยเฉพาะบรรดาเอ็นจีโอทั้งหลาย)จะรอให้เป็นเรื่องตามยถากรรมไม่ได้ หากต้องออกแบบอย่างมีหลักวิชามีชั้นเชิง

การออกแบบให้ชาวบ้านเกิดความไว้ใจในตัวนักพัฒนามีได้มากมายหลายวิธี โดยมากคนจะพูดอะไรใหญ่ๆกว้างๆ เช่น สร้างการมีส่วนร่วมในทุกระดับ การฝังตัวใช้ชีวิตอยู่ในวิถีชุมชน ฯลฯ อันนี้ตำรามีเยอะ แต่เอาไว้ก่อน วันนี้ขอเจาะในเรื่องเล็กๆ เริ่มกันที่บุคลิกภาพที่เห็นได้ง่ายสุด คือการแต่งกายก่อนละกัน

นักพัฒนารุ่นพี่ผมคนหนึ่งแย้งว่า การทำตัวเซอร์ๆปอนๆรองเท้าลำลอง เสื้อผ้าหมองๆ มองเป็นชาวบ้านก็ได้ใจคน เพราะเขาจะเห็นถึงความเรียบง่าย การไม่ยึดติดกับเปลือกที่หุ้มห่อร่างกายภายนอก ผมก็ไม่เถียงอะไร เพราะรู้สึกว่าแกคงภูมิใจใน "แบรนด์" ของแกแบบนั้น

แต่ลึกๆผมก็มีคำถามเรื่อง การสร้างแรงดึงดูด และความไว้วางใจให้กับคนอื่น ว่า สังคมปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว ชาวบ้านมีการศึกษามากขึ้น มีรสนิยม มีภาพของผู้นำที่เปลี่ยนไป จะใส่แบบตามใจผู้จัด ขัดใจคนดู เอ มันจะมีผลต่อการเรียนรู้ของพวกเขารึเปล่า

สิบปีมาแล้วมั๊ง ผมเคยไปฟังชาวเขาคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาอยากให้นักพัฒนาแต่งตัวเรียบร้อยเวลามาพูดกับชาวบ้าน ไม่ใช่แต่งตามสบาย ลากรองเท้าแตะมา บางทีชาวบ้านแต่งตัวดีกว่าซะอีก อย่างนี้พวกเขาอาจจะไม่ศรัทธา

ที่แย่ไปกว่านั้น บางคนยังเหม็นเหล้า และเอาควันบุหรี่มาเข้าประชุมอีก

มิพักต้องพูดถึงหน่วยราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่มีลักษณะวินัยสูง เช่น ทหาร ตำรวจ ว่าเขาจะมองแล้วตัดสินเราจากเสื้อผ้า รวมถึงบุคลิกภาพแค่ไหน

ไม่ได้บอกว่าต้องเนี๊ยบราวกับออกมาจากแมกกาซีน เพียงแต่นักพัฒนาสมัยนี้ต้องใส่ใจในเรื่องเหล่านี้อย่างจริงจัง รู้จักปรับปรุงลุ๊ค ให้สอดคล้องกับพื้นที่ กับกาลเทศะของงาน

เพราะทุกวันนี้ เครื่องแต่งกายและบุคลิกภาพมันไม่ได้เป็นแค่สิ่งห่อหุ้มเท่านั้น หากมันเป็นเครื่องมือสร้างความเชื่อมั่นแก่ชาวบ้าน ชุมชน คน องค์กรที่เราร่วมงาน และนักพัฒนาที่ชาญฉลาดสามารถปรับใช้มันเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงสิทธิอำนาจต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมได้

 

ดูอย่างเสื้อรณรงค์ที่หน่วยงานพัฒนาต่างๆออกมาจำหน่ายจ่ายแจกนั่นปะไร ก็เป็นปรากฏการณ์ที่ใช้เครื่องแต่งกายในการขับเคลื่อนสังคมที่เราๆท่านๆใช้โดยคุ้นชินกันไปแล้ว

บุคลิกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งกาย ในยุคนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว และเอาเข้าจริงเครื่องแต่งกายเองไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวแบบโดดๆ หากแต่เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับโครงสร้าง ระบบสังคม ความเชื่อค่านิยมต่างๆที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังมากมาย ซึ่งซับซ้อนเกินกว่าจะบรรยายในที่นี้

เอาเป็นว่า ทำให้แคบเข้า ในแง่ของการจัดการเรียนรู้ มันก็เป็นปัจจัยพื้นฐานที่สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้พบเห็น ซึ่งส่งผลต่อการเปิดใจรับรู้ของผู้คนส่วนรวม

ไม่ต้องหรู แต่สะอาด ดูดี เคารพผู้คน เหมาะสมกับกาลเวลาสถานที่ นี่เป็นหลักการแต่งกายเบื้องต้นของนักพัฒนาสังคม

ถ้าคิดจะทำเพื่อส่วนรวม ก็ไม่ควรมองข้ามเรื่อง "ส่วนตัว" แบบนี้นะครับ

 

หมายเลขบันทึก: 567902เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 19:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014 19:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บทความนี้พยายามมองจากมุมของชาวบ้านและองค์กรต่างๆ ไม่ได้เจตนาจะไปกระทบกับคนที่แต่งตัวตามสบายนะครับ สำหรับผมก็ขึ้นกับงานและกลุ่มที่เราไปปะทะสังสรรค์ ส่วนตัวชอบใส่สบายๆกางเกงยีนส์เสื้อทีเชิร์ต รองเท้าผ้าใบ บางทีก็เสื้อแจ็คเก็ตชนเผ่าใส่ทับเพื่อแสดงอัตลักษณ์ กางเกงขายาวมีกระเป๋าข้างแบบลุยๆนี่ก็ชอบมาก แต่ที่ฟิตๆรัดรูปแบบสลิมนี่ไม่ไหวครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท