Digital came to the world after Analog (ตอนที่ 1)


สิ่งที่ผู้เขียนได้คือ ความอิ่มเอมเต็มสมองและเหมือนได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ในด้านความเป็นดิจิตอล ในช่วงเวลานี้คงปฏิเสธได้ยากว่า ใครจะมาแทนที่ใคร แต่ที่แน่ๆ ได้มีกลุ่มศิลปินที่ได้รวมศาสตร์ทั้งสองด้านตรงข้ามนี้มารวมเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะพอดี


เมื่อวันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังสัมมนาด้านการออกแบบและสื่อสารที่ทาง TCDC
ได้ร่วมกับนิตยสารด้านการออกแบบสื่อสาร +81 (พลัส-เอ้กตี้-วัน) และ Japan FoundationBangkok จัดขึ้น งานนี้เป็นงานที่รวบรวมนักออกแบบชั้นนำในแวดวงกราฟิกดีไซน์ของญี่ปุ่น โดยเป็นดีไซน์เนอร์ในด้านที่แตกต่างกัน อาทิ ศิลปินด้านกราฟิกดีไซน์ ด้านภาพถ่าย ด้านเทคโนโลยีและด้านสื่ออินเตอร์แอคทีฟ โดยได้เปิดประเด็นพูดคุยกันในแนวคิด “Hi Fi Design” ในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะเรื่องของการรวมตัวกันระหว่างความเป็นอะนาล็อกและความเป็นดิจิตอล แต่ก็ใช่ว่าผู้จัดจะเชิญมาแต่ศิลปินญี่ปุ่นอย่างเดียว ไหนๆ ก็ in Bangkok กันแล้ว ก็เลยมีศิลปินไทยที่ทำงานในด้านที่คาบเกี่ยวกันระหว่างอะนาล็อกกับดิจิตอลมาร่วมด้วย คือ Visionery Team และ วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์

ในงานนี้ทางผู้จัดฯได้นำงานดีไซน์ในแบบฉบับของกรุงโตเกียว ที่มีการผสมผสานงานสร้างสรรค์ผ่านไอเดียทั้งในรูปแบบอะนาล็อกและดิจิตอลมาจัดแสดงนิทรรศการด้วย ซึ่งตัวนิทรรศการนั้นสามารถเข้าชมได้ฟรีที่เอ็มโพเรียม ชั้น 6 บริเวณหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ตั้งแต่วันนี้ถึง 1 มิถุนายน 2557 เวลา 10.30 – 21.00

ศิลปินที่มาถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์ในงานสัมมนาครั้งนี้ ได้รับการคัดสรรจากนิตยสารด้านการออกแบบชั้นนำในญี่ปุ่น คือ นิตยสารพลัสเอ้กตี้วัน (+81) หัวข้อแรกที่เปิดคุยกันเริ่มที่ Semitransparent Design สตูดิโอออกแบบดิจิทัลมีเดียมือรางวัล ผู้เคยร่วมงานกับ Issey Miyake /ศิลปิน Ikko Tanaka และเคยจัดแสดงผลงานทั้งในญี่ปุ่นและฝรั่งเศส ตามมาด้วย Yuni Yoshida อาร์ตไดเรกเตอร์และนักออกแบบแฟชั่นกราฟิกที่มีสไตล์เฉพาะตัว ซึ่งเคยร่วมงานกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Mercedes-Benz, Louis Vuitton และ Laforet จากนั้นก็พักกลางวันกันสักชั่วโมง

เปิดหัวข้อสนทนาตอนบ่ายด้วยทีมคนไทย Visionery Team ซึ่งเป็น Production House ที่มาแรงอันดับต้นๆ ของไทย เจ้าของรางวัลระดับโลกจาก Press Lions Cannes 2013 และ D&AD Awards 2013 (ถ้าจะว่าบริษัท Illusion ของพี่สุรชัย พุฒิกุลางกูรเป็นอันดับ 1 ของเมืองไทยด้านการรีทัชภาพแล้ว ผู้เขียนก็เห็นว่าบริษัท Visionery Team ก็จัดอยู่อันดับต้นๆ ติด Top 5 อยู่เหมือนกัน ถ้าสบโอกาสเมื่อไหร่จะขอเขียนถึงบริษัท Illusion และพี่สุรชัยเจ้าของรางวัล Illustrator มือวางอันดับ 1 ของโลกเก็บเอาไว้ด้วย)

จบจากทีม Visionery ก็ได้เวลาเปิดตัวสตูดิโอที่ผู้เขียนแอบสนใจมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเคยเห็นผลงานมาแล้วจากนิตยสาร Computer Art Thailand คือ บริษัท NAM จากโตเกียว (แอบเสียดายที่ลงชื่อเข้าร่วม Workshop กับทางทีม NAM ไม่ทัน) ทีมนี้มีความน่าสนใจตรงที่ผลงานจะเป็นการผสมผสานกันระหว่างงานกราฟิกกับการถ่ายภาพ โดยนำเสนอผ่านผลงานแนวแฟนตาซีแปลกตา จนโดนใจแบรนด์ดังอย่าง Onitzuka Tiger ให้มาถ่ายทำแคมเปญโฆษณาให้ทั้งชุด จบจากความตื่นตาตื่นใจและความประณีตในงานของทีม NAM ก็ได้รับรู้ผลงานของศิลปินไทยแนว Machinery อันดับต้นๆ ของเมืองไทย พี่วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ศิลปินผู้มากประสบการณ์ ใครสักกี่คนจะจำได้ว่า พี่เขาเคยเป็นหนึ่งในยุทธการขยับเหงือก (รุ่นที่ 4) เพลิดเพลินกับงานแนวแมคคานิคผสมกลไกของพี่วิชญ์จบ ก็เริ่มการสนทนาสุดท้ายโดยบริษัท Rhizomatiks บริษัทที่มีศิลปินด้าน Visual Art ผู้ออกแบบโปรแกรมแนว Dynamic Computerized ใช้สร้างผลงานอินเตอร์แอคทีฟที่น่าทึ่งและหลากหลายรูปแบบ เช่น Graphic Projection ผลงานที่นำมาโชว์ในครั้งนี้เป็นผลงานที่ออกแบบให้กับวง Perfume และได้รับรางวัลในงาน Cannes Lions International ส่วนหนึ่งที่ทำให้ศิลปินแนวนี้สามารถสร้างรูปแบบเฉพาะตัวขึ้นมาได้จากงานดิจิตอล เป็นเพราะตัวศิลปินเองมีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมด้วย ข้อนี้จึงจัดเป็นข้อได้เปรียบที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

งานสัมมนาจบลงไปพร้อมกับผู้คนเริ่มเดินทยอยออกจากห้องประชุม สิ่งที่ผู้เขียนได้คือ ความอิ่มเอมเต็มสมองและเหมือนได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ในด้านความเป็นดิจิตอล ในช่วงเวลานี้คงปฏิเสธได้ยากว่า ใครจะมาแทนที่ใคร แต่ที่แน่ๆ ได้มีกลุ่มศิลปินที่ได้รวมศาสตร์ทั้งสองด้านตรงข้ามนี้มารวมเข้าด้วยกันอย่างพอเหมาะพอดี และทำให้งานออกแบบดูน่าสนุกขึ้นอีกเป็นกอง ครั้งหน้าผู้เขียนจะขอเล่าถึงผลงานของศิลปินแต่ละคนโดยเฉพาะ รับรองว่าผู้อ่านจะต้องรู้สึกอิ่ม(สมอง) ทึ่ง และสนุกไปพร้อมๆ กันเป็นแน่



เชิงอรรถอ้างอิง

- จากการเข้าร่วมงานสัมมนา Graphic Passport in Bangkok @ TCDC : 26 เมย. 57.

- "TCDC จัดงานสัมมนา “Graphic Passport in Bangkok”. http://www.newsplus.co.th/33960

หมายเลขบันทึก: 567714เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2014 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2014 22:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากครับ อาจารย์ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท