สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว


สิทธิในเสรีภาพของคนต่างด้าว

การเนรเทศ หมายความว่า การเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวให้ออกจากประเทศ โดยอาศัยมาตรการหรือคำสั่งจากฝ่ายปกครองด้วยเหตุผลเพราะว่าการพำนักอาศัยของคนต่างด้าวจะขัดต่อสันติภาพ (หรือความสงบสุข) มีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัย และสวัสดิการสาธารณะของรัฐซึ่งโดยหลักแล้ว รัฐจะต้องอ้าง “เหตุ” เพื่อการเนรเทศคนต่างด้าวเสมอ โดยอาจมีหลายเหตุดังที่กล่าวไปข้างต้นผลในทางกฎหมายของคนต่างด้าวที่ต้องคำสั่งให้เนรเทศมีอยู่สองประการคือ บุคคลผู้นั้นจะต้องออกนอกราชอาณาจักรไทย และบุคคลผู้นั้นจะเข้ามาในประเทศไทยไม่ได้อีกต่อไป

ถือเป็นข่าวใหญ่โตไม่น้อย เมื่อศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) มีคำสั่งเนรเทศ สาธิต เซกัล ประธานหอการค้าไทย-อินเดีย และประธานกลุ่มนักธุรกิจสีลมออกจากประเทศไทย หลังจากที่ สาธิต เซกัล มีชื่อเป็นแกนนำ กปปส. และขึ้นเวทีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยคำสั่งของ ศรส. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2557 ได้กล่าวว่า สาธิต เซกัล แกนนำ กปปส. และเป็นบุคคลต่างด้าว ได้ร่วมกระทำผิดในข้อหาต่าง ๆ และถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แจ้งข้อไปแล้ว ทาง ศรส. จึงแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเนรเทศนายสาธิตออกจากประเทศไทยโดยด่วน

จากข้อเท็จจริงพบว่า สาเหตุที่ทำให้นายสาธิต เซกัลป์ โดนเนรเทศ มีสาเหตุมาจากการที่นายสาธิต เซกัลป์ ได้ขึ้นเวทีปราศรัย แสดงความคิดเห็นทางการเมือง วิจารณ์การทำงานของคณะรัฐบาล จึงเกิดประเด็นที่น่าสงสัยคือ แม้นายสาธิต เซกัลป์ จะเป็นคนต่างด้าว แต่นายสาธิต เซกัลป์ไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น ตลอดจนใช้สิทธิทางการเมืองเชียวหรือ?

เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 45 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศ ชื่อเสียง สิทธิในครอบครัว หรือความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน

จากมาตราดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบุคคลทุกคนย่อมได้รับการคุ้มครองให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ แม้ว่าจะมิใช่คนสัญชาติไทยก็ได้รับการคุ้มครองให้มีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นได้ การรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้น นอกจากจะรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ยังได้รับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอีกด้วย

ข้อ 19 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน บัญญัติว่า ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก ทั้งนี้ สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับและส่งข้อมูลข่าวสารและข้อคิดผ่านสื่อใดและโดยไม่คํานึงถึงพรมแดน

ข้อ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง บัญญัติว่า

1.บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะถือเอาความเห็นใดก็ได้โดยปราศจากการแทรกแซง

2.บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพในเสรีภาพแห่งการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและกระจายข่าวและความคิดเห็นทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ไม่ว่าด้วยวาจาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ ในรูปของศิลปะหรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ประสงค์

จากหลักกฎหมายทั้งสองยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า บุคคลทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนชาติใด ย่อมมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยปราศจากการแทรกแซงจากรัฐหรือบุคคลอื่น ดังนั้นนายสาธิต เซกัลป์ที่แม้จะเป็นคนต่างด้าว ก็มีเสรีภาพที่จะแสดงออกทางความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเมือง หรือเรื่องอื่นใดก็ตาม ดังนั้นหากรัฐไทยต้องการที่จะเนรเทศนายสาธิต เซกัลป์ออกนอกประเทศ ควรพิจารณาถึงเหตุที่ให้เป็นข้ออ้างในการเนรเทศให้สอดคล้องกับหลักกฎหมายในเรื่องการเนรเทศมิให้ขัดกับหลักเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ได้กล่าวไปข้างต้น

อภิญญา นันโท

10 พฤษภาคม 2557

ที่มา :

1. สาธิต เซกัล ประวัติประธานหอการค้าไทย-อินเดีย ที่ถูก ศรส. เนรเทศ, http://hilight.kapook.com/view/97452, สืบค้นวันที่ 10 พฤษภาคม 2557

2. ข้อพิจารณาทางกฎหมายระหว่างประเทศกรณีการเนรเทศคุณ สาธิต เซกัล,ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช, http://prachatai.com/journal/2014/03/52267, สืบค้นวันที่ 10 พฤษภาคม 2557

3. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550, http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf

4. ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/udhrt.pdf

5. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, http://www.oknation.net/blog/print.php?id=30040

หมายเลขบันทึก: 567710เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2014 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท