ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจาก สายน้ำ สามชีวิต


ละครทีวีนั้น ใช่ว่าจะมีแต่ละครน้ำเน่าเท่านั้น แต่สามารถที่จะสร้างสรรค์เนื้อหาที่ให้สาระความรู้ได้
..... ระหว่างความเห็นของโขงเข้มที่มุ่งหน้าตามเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนา ที่ทำให้คนได้พัฒนาที่สะดวกสบายขึ้น ไม่ใช่ถอยหลังเข้าคลอง เมื่อไหร่จะได้เป็นประเทศที่พัฒนาอย่างคนอื่นเขา กับความเห็นของน้ำอิงที่บอกว่า มุ่งเทคโนโลยีลูกเดียว หารู้ไม่ว่าทำลายธรรมชาติ มีโรคภัยไข้เจ็บตามมาจนหาสาเหตุไม่เจอ น้ำอิงถามว่า จะเป็นประเทศพัฒนาอะไร พัฒนาวัตถุ แต่จิตใจคนไม่พัฒนา?

โขงเข้มเน้นเรื่องก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จะทำให้เราผลิตไฟฟ้าในราคาถูก ช่วยชนบทเจริญ และไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ น้ำอิงชี้ให้เห็นว่า เส้นทางท่อก๊าซผ่านโรงเรียนผ่านวัด ไร่นา ป่าไม้ สัตว์นานาชนิด กว่าจะมาถึงวันนี้ใช้เวลานานแค่ไหน อย่ามัวแต่คิดถึงแต่ตัวเลขกำไรที่ได้มา แต่ต่ค่ารอยยิ้ม และชีวิตคนเท่าใด  เทียบกับธรรมชาติที่เสียไปได้ไหม?

” เราก็อยากอยู่ดีกินดีขึ้น มีชีวิตยืนยาวขึ้น แต่เรากลับทำลายอากาศบริสุทธิ์ ทำลายน้ำสะอาด ป่าไม้และทะเล ทำลายแม้แต่ที่ดินผืนเล็กๆ ที่จะยืนมองฟ้าไว้อย่างภาคภูมิใจว่า นี่คือสมบัติตกทอดที่เราต้องช่วยกันรักษาหวงแหนไว้” น้ำอิงมองท้องฟ้าอันกว้างไกล


ที่หยิบยกมานั้น นำมาจากเนื้อหาจากละครเรื่อง สายน้ำ สามชีวิต ออกอากาศทางช่อง 7 สี ทุกวันพุธ-พฤหัสบดี เวลา 20.30-22.30 น. บทประพันธ์ของ นายพันดี หรือ ปรียานุช ปานประดับ กับกับการแสดงโดย นพพล โกมารชุน

เล่าเรื่องผ่านตัวละครที่ชื่อ เจ้าพระยา โขงเข้ม และน้ำอิง
ตั้งชื่อตัวละครด้วยชื่อไทย ที่ผูกพันกับสายน้ำ


ละครทีวีนั้น ใช่ว่าจะมีแต่ละครน้ำเน่าเท่านั้น แต่สามารถที่จะสร้างสรรค์เนื้อหาที่ให้สาระความรู้ได้ อย่างเช่นละครเรื่องนี้ ที่สอดแทรกแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีการผูกโยงเรื่องเข้ากับวิถีชีวิตเกษตรกร กับชีวิตนักธุรกิจ เรื่องราวของของฝีพายเรือพระราชพิธีที่ผูกโยงเข้ากับวิถีชีวิตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุ้นเคยกับสังคมไทยมานาน

นานๆจะมีละครดีๆแบบนี้มาให้ได้ชมกันครับ
ละครดีๆที่เขียนเนื้อหาสาระ สอดแทรกกับบันเทิงไปพร้อมกัน ทำให้ดูได้แบบไม่หนักหรือเครียดจนเกินไป


ในฉากที่น้ำอิงวิ่งในทุ่งนาที่รวงข้าวเหลืองอร่ามสุดสายตา เธอวิ่งไปกางแขนเหมือนจะโอบทั้งฟ้าและอากาศบริสุทธิ์เอาไว้ แล้วก้มลงสูดรวงข้าว เงยหน้าร้องว่า หอมจังเลย เหมือนกลิ่นมะลิ ถึงได้เรียกหอมมะลิ  เจ้าพระยารีบบอกเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

“ข้าวหอมมะลิ คือ สีเมล็ดเหมือนสีดอกมะลิ แต่กลิ่นหอมเหมือนใบเตย นี่ไม่ใช่หอมมะลิ และถิ่นนี้ไม่เหมาะ นี่ข้าวหอมปทุมธานี1”

อีกฉากหนึ่งเป็นการเล่าเรื่องชีวิตในมหาวิทยาลัย

........... ที่ห้องประชุมใหญ่พรั่งพร้อมด้วยครูบาอาจารย์ใหญ่น้อย ทั้งกรรมการนั่งประจำที่ นักศึกษาแต่ละแห่งที่ส่งเข้ามาโต้วาที เพื่อชัยชนะของสถาบันตน  ห้องประชุมใหญ่จึงคับแคบลงไปถนัด ต่างขึ้นไปตั้งท่าต่อสู้กันอย่างไม่มีใครยอมใคร เสียงปรบมือดังเป็นระยะที่หนุนฝ่ายตน เพราะหัวข้อที่ตั้งมานั้น น่าสนใจ และเป็นปัญหาสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ขณะนี้  “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ดีกว่าอ่าวไทยมีแก็ส”

การโต้วาทีดำเนินไปอย่างกระชั้นเข้ามา  น้ำอิงได้มีโอกาสขึ้นประกาศเหตุผลที่น่าฟัง

“คำว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ไม่หมายถึงว่า เรายากจน แต่หมายถึงว่า เรามีแผ่นดินอุดม มีทรัพยากรพอที่จะกินใช้ อย่างพอเพียงไปชั่วลูกชั่วหลาน ถ้าเรารู้จักใช้เพื่อปากท้องของพวกเราทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อกระเป๋าของใคร กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คงไม่มีใครอยากเห็นประเทศจนลง แต่คนขี้โกงรวยขึ้น”

“ทำไมเราไม่ภูมิใจในสิ่งที่ดีที่เรามีอยู่ ไม่ต้องเชื่อตามก้นคนอื่นที่โกหกว่า เราจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยด้วยการขายที่ดิน ขายน้ำ ขายทรัพยากร ขายวัมนธรรม เราจะเป็นชาวนาชาวไร่ที่มีความรู้ พึ่งพาตนเองได้  แต่เราจะไม่มีวันยอมเป็นทาสเศรษฐกิจที่สร้างขึ้น เพื่อล้มล้างความเป็นชาติของเรา ชาติที่มีข้าวเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ ชาติที่ข้าวคือชีวิตจิตใจและเอกราช เพราะฉะนั้น ดิฉันขอยืนยันว่า ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ดีกว่าอ่าวไทยมีแก็สค่ะ”.....



หมายเลขบันทึก: 56738เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2006 12:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท