​​ความเห็นต่อบทความ "อภิวัฒน์การเรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑"


          สสค. ส่งต้นฉบับบทความ "อภิวัฒน์การเรียนรู้ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑" โดย รศ. ดร. ทิศนา แขมมณี มาให้ผมให้ข้อคิดเห็น

          บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการประชุมวิชาการ “อภิวัฒน์การเรียนรู้...สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย” ระหว่างวันที่ ๖ - ๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ที่อิมเพ็คท์ฟอรั่ม เมืองทองธานี ซึ่งผมไม่มีโอกาสเข้าร่วม เพราะไปต่างประเทศ ตัวบทความคงจะมีการนำเสนอในงานประชุมดังกล่าว

          บทความนี้เขียนแบบเน้นที่ตัวครูซึ่งหากคิดแบบนี้ สาระในบทความมีความสมบูรณ์ครบถ้วนดีมากแต่หากคิดภาพรวม บทความนี้ขาดมิติเชิงระบบ

          ผมขอให้ความเห็นเชิงวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

          หน้า ๔-๕ เรื่องการเรียนรู้ที่จำเป็นขาดทักษะการทำความเข้าใจ และทักษะปรับปรุง วิธีการเรียนรู้ของตนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเรียนรู้ให้เกิดความรู้ความเข้าใจในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง (mastery learning) โปรดอ่าน http://www.gotoknow.org/posts/532119

        หน้า ๖-๗ น่าจะเพิ่ม "ทักษะการชื่นชมสุนทรียะ"ซึ่งช่วยให้มนุษย์มีความสุขอย่างพอเพียงได้ ในอีกมิติหนึ่ง

และน่าจะพิจารณา "ทักษะด้านในของตนเอง" อันได้แก่ ทักษะการไตร่ตรองทบทวนตนเอง (self-reflection)ทักษะการหยุดความคิด เพื่ออยู่กับความเป็นจริงที่ไม่ปรุงแต่งเป็นต้น

          คือข้อความในหน้า ๖-๗ ดูจะเน้นเฉพาะทักษะด้านนอกหย่อนทักษะด้านในของตนเอง เพื่อให้รู้จักตนเองโรงเรียนทางเลือก เช่นโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาโรงเรียนสัตยาไสโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นต้น เน้นจิตศึกษา เพื่อการเรียนรู้พัฒนาทักษะด้านใน

          ผมชอบนิยามของ "การสอน" ในหน้า ๗ และอยากให้ใช้เป็นนิยามที่ใช้กันทั่วไปในระบบการศึกษาไทย

          หน้า 9 ระหว่าง bullet point ที่ ๒ และ ๓ น่าจะเพิ่มอีก bullet หนึ่ง คือ "ได้รับ Embedded Formative Assessment" จากครู หรือจาก co-educatorเพื่อนำไปสู่ bullet point ต่อไปอีก ๓ bulletโดยใน bullet ได้รับข้อมูลป้อนกลับต้องเป็น feedback แบบที่ทำให้ผู้เรียนเกิด forward thinkingไม่ใช่เกิด backward thinking

          หน้า ๑๒ - ๑๖ กระบวนการเรียนการสอนทักษะกระบวนการมีปัญหาอะไรผมคิดว่าบทความนี้วิเคราะห์สถานการณ์ตื้นเกินไปคือเน้นวิเคราะห์ที่ตัวครูเรื่องราวในความเป็นจริงซับซ้อนกว่านี้มากคือขึ้นอยู่กับการนิเทศการสอนและการตรวจสอบว่าครูได้สอน "ครบ" ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรหรือไม่คืออยู่ในระบบการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ หรือ สพฐ. ด้วย

          หน้า ๑๔ สาเหตุสำคัญที่ทำให้การเรียนการสอนทักษะกระบวนการยังไม่บรรลุผลผมคิดว่าอยู่ที่การผลิตครูยังดำเนินการภายใต้การเรียนรู้ที่เน้นทฤษฎี ไม่เน้น การพัฒนา/ฝึก "ทักษะกระบวนการ" ในการทำหน้าที่ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑

          ทักษะกระบวนการที่ยังไม่ได้ระบุถึงในบทความ คือ "ทักษะการเป็น 'คุณอำนวย' (facilitator) ของการทำ reflection"เพื่อให้นักเรียนฝึกทำความเข้าใจทฤษฎีจากสัมผัสของตนเอง (inductive learning)ครูทุกคนต้องคล่องแคล่วในการทำหน้าที่ "คุณอำนวย"

          หน้า ๑๕-๑๖ ปัญหาหลักของครูยังขาดประเด็นสำคัญ ๓ ประเด็น คือ

          (๑) ความเข้าใจผิดเรื่องการพัฒนาครูหลงพัฒนาครูโดยการฝึกอบรมแทนที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ ณ จุดทำงานโดยส่งเสริมให้ครูรวมตัวกันเรียนรู้จากการพัฒนางานประจำของตนที่เรียกว่า Professional Learning Community - PLC)ซึ่งตรงกับข้อ ๗ ในหน้า ๑๖

          (๒) หลักสูตรการผลิตครู ตามที่ให้ความเห็นในหน้า ๑๔

          (๓) การเลื่อนวิทยะฐานะครู โดย "ผลงาน" ในกระดาษแทนที่จะใช้ผลงานที่ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนนำไปสู่ความเสื่อมเสียคุณธรรมในวงการครูอย่างน่าละอายเป็นความผิดพลาดของ ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน

          หลังจากอ่านบทความทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่าบทความนี้เน้นที่ครูซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะครูและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์แต่ไม่เพียงพอผมคิดว่า มีประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับการอภิวัฒน์การเรียนรู้ ที่ควรคำนึงถึงอีก ๓ ประเด็นคือ

(๑) "การสอนแบบไม่สอน" ซึ่งหมายถึงครูช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ในโมเดล Adult Learning / Inductive Learning ได้สำเร็จโดยครูทำหน้าที่ "สร้างโครง" (scaffolding) ให้ความรู้ใหม่เกาะ

(๒) การใช้พลังของ ICTนำมาใช้อภิวัตน์การเรียนรู้

(๓) การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เพื่อลดแรงเฉื่อยของระบบ และคอรัปชั่น ในกระทรวงศึกษาธิการและวงการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นอุปสรรคต่อการอภิวัฒน์การเรียนรู้ ทั้งด้านปัญญาและจริยธรรม

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มี.ค. ๕๗

หมายเลขบันทึก: 567215เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 11:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นำรูปในงานประชุมมาฝากค่ะอาจารย์

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท