ฉบับที่ ๓๓ ลุงแซมกับบุหรี่มวนเดียว


คุณสาวิตรี เขียนเรื่องเล่าส่งมาที่ ศจย. และได้รับการคัดเลือกให้เผยแพร่และตีพิมพ์อยู่ในหนังสือ “Story Telling” ในปี พ.ศ.2555 ผู้เขียนจึงนำมาแบ่งปันให้กับคุณผู้อ่านใน Go to know เพื่อเสริมกำลังให้กับคนทำงานให้กับสาธารณะและช่วยเหลือผู้คน

                                               ลุงแซมกับบุหรี่มวนเดียว

โดย สาวิตรี ดาทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลสนม จ.สุรินทร์

ลุงแซมชายวัยผู้ใหญ่ รูปร่างสันทัด ผิวดำแดง สวมใส่เสื้อผ้าสะอาดสะอ้าน เป็นผู้ป่วยรายหนึ่งที่ดิฉันพบที่คลินิกโรคหอบหืดและโรคถุงลมโป่งพอง มีโรคประจำตัวคือ เป็นโรคถุงลมโป่งพองและเป็นโรคไทรอยด์ด้วย ตาโปนเล็กน้อย ท่าทางเหนื่อยหอบ สุขภาพทั่วไปในขณะนั้นไม่ค่อยจะแข็งแรงเท่าไหร่ มาตรวจที่คลินิกตามนัด จากการซักประวัติพบว่าลุงแซมสูบบุหรี่อยู่วันละ 3-4 มวน เป็นบุหรี่มวนเอง ลุงแซมซื้อบุหรี่จากร้านค้าในหมู่บ้าน ห่อละ 5-10 บาท ห่อหนึ่งจะสูบในหมู่บ้าน จึงเป็นโอกาสดีของดิฉันที่จะได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ที่มีต่อโรคถุงลมโป่งพองและโรคไทรอยด์ที่ลุงแซมเป็นอยู่ว่า “การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยมากและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นะลุง ยาที่หมอให้ไปจะใช้ไม่ค่อยได้ผลเพราะว่าในบุหรี่ที่มีสารพิษมากมายที่ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง ลุงเป็นทั้งไทรอยด์ด้วย การสูบบุหรี่อยู่จะทำให้ควบคุมอาการของโรคยากมากขึ้น พูดง่ายๆ คือยาจะใช้ไม่ได้ผลนั่นเอง” ลุงแซมทำท่าเหมือนจะเข้าใจ และรับฟังด้วยความตั้งใจ อาจเป็นเพราะว่ามีอาการหอบเหนื่อยอยู่ด้วยก็ได้ ทำให้ลุงแซมตั้งใจฟังเป็นอย่างดี บางครั้งลุงแซมก็พยักหน้าเห็นด้วย แต่ลุงแซมไม่พูด ดิฉันจึงถามลุงแซมว่า “ถ้าหมอจะนัดมาเข้าคลินิกเพื่อเลิกบุหรี่ ลุงยินดีที่จะมาไหม” และดิฉันก็พูดถึงความสำคัญที่ต้องเลิกบุหรี่ให้ลุงแซมเข้าใจ ลุงแซมก็บอก “มาก็ได้” จากนั้นดิฉันจึงเขียนใบนัดให้ลุงแซมมารับบริการบำบัดบุหรี่ที่คลินิกฟ้าใส

 

    ลุงแซมมาตามนัดเรื่อยมาจนมาถึงการนัดครั้งที่ 4ครั้งนี้ลุงแซมมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมากกว่าเดิม ลุงแซมบอกว่า “วันนี้ลุงมาที่คลินิกหอบหืดด้วย อาการดีขึ้นมากตั้งแต่ไม่มีควันบุหรี่ ไม่ไอ ไม่หอบ นอนหลับดี” ดิฉันก็ทักทายลุงแซมและเรามีความคุ้นเคยกันมากขึ้น กิจกรรมครั้งสุดท้ายของการนัดบำบัดก็เน้นให้ลุงแซมมีความมั่นใจ มีกำลังใจและไม่กลับไปเสพบุหรี่ซ้ำอีก และคุยกับลุงแซมเรื่องการติดตามเยี่ยมที่บ้านเพื่อเป็นการฟื้นฟูและป้องกันการกลับไปเสพบุหรี่ซ้ำอีกนั่นเอง ลุงแซมเข้าใจและยินดีที่หมอจะไปเยี่ยมที่บ้าน ดิฉันจึงได้เขียนใบนัดหมายว่าติดตามเยี่ยมบ้านวันใดบ้าง หลังจากนั้นดิฉันจึงได้นัดลุงแซม และให้ลุงกลับไปรับยาโรคถุงลมโป่งพองตามนัดหมายที่คลินิกโรคเรื้อรังต่อไป ถึงตอนนี้เป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือนแล้วที่ลุงแซมเลิกยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่โดยเด็ดขาด ลุงแซมมาตามนัดที่คลินิกสม่ำเสมอ สุขภาพดีขึ้นมาก และดิฉันก็มีกำลังใจในการที่จะบำบัดบุหรี่ให้กับผู้รับบริการทุกคนที่สนใจจะเลิกบุหรี่ด้วยความยินดีค่ะ

และในปีนี้ ทาง ศจย. เราได้จัดทำโครงการเรื่องเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานช่วยคนเลิกสุรา ยาสูบ และยาเสพติดของปี พ.ศ.2557 ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมผลงานการประกวด เมื่อเสร็จขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ผู้เขียนจะนำเรื่องเล่าที่ชนะการประกวดมาเล่าให้คุณผู้อ่านใน Go to know ได้อ่านกันนะคะ...

เว็บไซต์ศจย. : http://www.trc.or.th/

ถอดความโดย รติกร เพมบริดจ์ [email protected]

2 พ.ค.57

หมายเลขบันทึก: 567210เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2014 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ที่คณะแพทย์เชียงใหม่ กำลังทำเรื่อง รพ.ปลอดบุหรี่ค่ะ จะชวนมาอ่าน :)

ขอบคุณค่ะ ดร.พจนา และ คุณ ป.ที่ติดตาม

คุณ ป. ค่ะ ยังไงรอติดตามอ่านค่ะและเป็นกำลังใจให้นะคะ ที่คณะแพทย์เชียงใหม่ ทำเรื่อง รพ.ปลอดบุหรี่

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท