มนุษย์ที่ข้ามชาติ


        มนุษย์ที่ข้ามชาติ  หมายถึง บุคคลที่มีการกระทำในลักษณะที่ข้ามชาติ คือ มีถิ่นที่อยู่หรือเคยอยู่อาศัยในประเทศประเทศหนึ่งอยู่แล้ว แต่ได้มีการข้ามหรือเคลื่อนย้ายมายังอีกประเทศหนึ่ง ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม บุคคลเหล่านี้ได้แก่ นักท่องเที่ยว แรงงานข้ามชาติ นักลงทุนข้ามชาติ นักศึกษา และผู้หนีภัยความตาย เป็นต้น

         มนุษย์ที่ข้ามชาติ ในกรณีศึกษานี้จะเป็นเรื่องของ "เด็กที่ข้ามชาติ" ซึ่งเด็กข้ามชาติเหล่านี้มีหลากหลายประเภท เพราะเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน และเด็กเหล่านี้ก็พบกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในหลายๆเรื่อง

ประเภทของเด็กข้ามชาติในประเทศไทย

1. เด็กข้ามชาติที่ติดตามพ่อแม่ซึ่งเป็นคนข้ามชาติที่หลบหนีเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือตัวเด็กเองหลบหนีเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือถูกลักพาตัวเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย

2. เด็กข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่ที่เป็นคนข้ามชาติ ซึ่งเด็กเหล่านี้สมควรจะได้รับการขึ้นทะเบียนจากรัฐ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น โดยอาจเกิดจากความไม่รู้ของพ่อแม่ หรือการปฏิเสธการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทำให้ไม่อาจเข้าถึงสิทธิได้ และถูกถือเป็นเด็กข้ามชาติ

3. เด็กที่ข้ามชาติมาอย่างถูกกฎหมาย[1]

     ปัญหามนุษย์ที่ข้ามชาตินั้นมีอยู่มากมายหลายกรณี แต่มีอยู่กรณีหนึ่งที่ถูกยกขึ้นมาศึกษาของปัญหานี้คือ เคสของน้อง ดนัย ยื้อบ๊อ
           น้องดนัย เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2542 ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย เป็นบุตรของนายอาบู ไม่ได้มีสัญชาติไทยที่เป็นถิ่นฐานที่เข้ามาอยู่อาศัย โดยการเข้าเมืองผิดกฏหมาย กับนางหมี่ยื่ม ยื่อบ๊อ ซึ่งทั้งสองเป็นชาวอาข่าที่อพยพมาจากฝั่งเมียนมาร์ ต่อมาในปี 2552 นางหมี่ยื่ม สามารถพิสูจน์และได้รับสัญชาติไทยภายหลังจากทีน้องดนัยเกิด ดังนั้นในขณะที่น้องดนัยเกิด บิดาและมารดาจึงเป็นคนข้ามชาติที่อาศัยในไทย โดยไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย

           ซึ่งหากพิจารณาหลักของการได้รับสัญชาติไทยจะต้องเป็นไปตาม มาตรา 7 พระราชบัญญัติสัญชาติ
มาตรา 7บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด

(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย ยกเว้นบุคคลตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง

คำว่าบิดาตาม (1) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นบิดาของผู้เกิดตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง แม้ผู้นั้นจะมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เกิด และมิได้จดทะเบียนรับรองผู้เกิดเป็นบุตรก็ตาม[2]

            ซึ่งกรณีของน้องดนัย มิได้เข้าหลักเกณฑ์ตาม อนุ1 เนื่องจากในขณะที่น้องดนัยเกิด บิดาและมารดามิได้มีสัญชาติไทย จึงต้องมาพิจารณาหลักเกณฑ์ตามอนุ 2 ซึ่ง ตามมาตรา 7 อนุ 2 นั้นวางหลักว่า การเกิดในราชอาณาจักรไทย อย่างกรณีน้องดนัย จะได้รับสัญชาติก็ต่อเมื่อ มิได้เป็นกรณีตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติสัญชาติ

มาตรา 7 ทวิผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น

(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย

(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ

(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง

            เมื่อพิจารณามาตรา 7 ทวิ ก็พบว่าเคสของน้องดนัยตรงกับมาตรา 7 ทวิ เพราะ บิดาและมาราดามิได้มีสัญชาติไทย และอยู่อาศัยในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ว่าภายหลังน้องดนัยเกิดบิดามารดาจะได้รับสัญชาติแล้วก็ตาม ส่งผลให้เกิดปัญหาว่าขณะที่น้องดนัยเกิด ไม่มีสิทธิได้รับสัญชาติ เมื่อภายหลังบิดามารดาได้รับสัญชาติไทยน้องดนัยก็ยังคงเป็นบุคคลไม่มีสัญชาติอยู่ดี อันทำให้น้องดนัยขาดสิทธิต่างๆที่ควรจะได้ทั้ง สิทธิในการศึกษา สิทธิในการได้รับการรักษาพยาบาล เป็นต้น

นายภัทรภณ  อุทัย


[1] http://www.l3nr.org/posts/535656

[2] http://www.thailandlawyercenter.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538975889&Ntype=19

หมายเลขบันทึก: 566951เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2014 22:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 04:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท