การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารวดี โดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้


การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารวดี

โดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้

TheDevelopment ofLearningManagementModelonBuddhismduringDvaravati

Based onPhra Pathom ChediNational MuseumasaLearningSource

นายวรากรณ์พูลสวัสดิ์ Warakorn Poonswat, นายพิสิฐสุขสกล และ นายญาณภัทรยอดแก้ว[1]

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เรื่อง พุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้ศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักศึกษาจากการใช้รูปแบบารจัดการเรียนรู้พุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นแหล่งเรียนรู้

คณะผู้วิจัยได้สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยใช้แนวคิดการพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธปรัชญาประกอบกับทฤษฎีคอนสตรัคติวิซึม(Constructivism theory)กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ นักศึกษาโปรแกรมวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่ลงทะเบียนเรียนในปีการศึกษา 2552 แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ใช้ในขั้นทดลองใช้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 มีจำนวน30คนกลุ่มที่ 2 ใช้ในขั้นพัฒนา เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 2 มีจำนวน 25 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ รูปแบบการจัดการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลได้แก่แบบประเมินความเหมาะสมของเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญแบบประเมินความพึงพอใจโดยนักศึกษา และแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน โดยมีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย(X)ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน(S.D.) และวิเคราะห์เนื้อหา ผลการดำเนินการวิจัย พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้เรื่อง พุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้มีความเหมาะสมในระดับมาก นักศึกษามีความพึงพอใจต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในระดับมากและนักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียน

คำสำคัญ:รูปแบบการจัดการเรียนรู้ พุทธศาสนาสมัยทวารวดีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์แหล่งการเรียนรู้

Abstract

The proposes of this study were to 1)develop learning management model onBuddhismduringDvaravatibased on Phra Pathom Chedinational museum asalearningsource, 2) study students’satisfaction about learning management model onBuddhismduringDvaravatibased onPhra Pathom Chedinational museum asalearningsourceand 3) study students’ learning achievement from using learning management model onBuddhismduringDvaravatibased onPhra Pathom Chedinational museum asalearningsource.

This study is the educational research and development.Research group had created and devloped learning management model onBuddhismduringDvaravatibasedon Buddhist educational theory andconstructivism theory.

Samples used inthis studyconsistedofstudents in social studies programe, Nakorn Pathom Rajabut University . There were 2 groups in this study. The fist group was usedin the trying step and the second group was used in the development step . The instrumentswere the develop learning management model onBuddhismduringDvaravatibased on Phra Pathom Chedinational museum as alearning source and a set of questionnaires. Data anlysis in this study were percentage, mean, standard deviation and content analysis.

The results were as follows:

1) The learning management model onBuddhismduringDvaravatibased onPhra Pathom Chedinational museum asalearningsource was profitable model at a high level.

2) Students’ satisfaction about learning management model on Buddhism during Dvaravatibased onPhra Pathom Chedinational museum asalearningsource wasat a high level.

3) Students’ learning achievement after using learning management model onBuddhismduringDvaravatibased onPhra Pathom Chedinational museum as a learningsourc was higher before using this learning management model.

Keyword: Learning management model, BuddhismduringDvaravati, Phra Pathom Chedinational museum, Learningsourc.

e-mail address : poonswa

1.ที่มาและความสำคัญ

การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคนและในการพัฒนาคนที่สำคัญนั้นคือการพัฒนาปัญญาเพราะปัญญาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิตการให้ความสำคัญในเรื่องของการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการศึกษาทุกระดับชั้นและทุกขั้นตอนจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในส่วนการพัฒนากระบวนการเรียนรู้นั้นจำเป็นต้องเป็นแสวงหากระบวนการเรียนรู้ที่สามารถทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาปัญญาและพัฒนาในทุกด้าน กระบวนการเรียนรู้ที่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ยึดเอาคนเป็นตัวตั้งของการพัฒนา ดังที่ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศวะสี ได้เสนอความคิดเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้ว่า “การปฏิรูปการศึกษาต้องปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้โดยเปลี่ยนจากการเอาวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นการเอาคนและสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้ง อันจะทำให้การเรียนง่าย สนุก สร้างความเข้มแข็งทางปัญญา ทางจริยธรรมและเป็นการพัฒนาครูให้เก่งขึ้นตลอดเวลา”[1] ซึ่งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ. 2542แก้ไขปรับปรุง 2545 ที่ได้กำหนดแนวทางการจัดการศึกษาไว้โดยยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนสำคัญที่สุด ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ในทุกเวลาและทุกสถานที่

การใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นในการจัดการเรียนรู้จึงเป็นการตอบสนองแนวทางการจัดการศึกษาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติและเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมในสังคมปัจจุบันมากดังที่รองศาตราจารย์ดร.อาชัญญารัตนอุบล ได้กล่าวถึงความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้ไว้ว่า “ระบบการศึกษาของไทยในปัจจุบันควรเน้นการมีและการใช้แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่หลากหลาย ทั้งนี้เพราะการให้ความสำคัญกับแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพียงแหล่งเดียว คือ ระบบโรงเรียน ซึ่งไม่สามารถพัฒนาบุคคลให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต อาชีพ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อมและทรัพยากรของชุมชนและอาจยังทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ขาดความสามารถ ทักษะการดำรงชีวิตและพัฒนาตนเองตามวิถีของชุมชนเนื่องจากไม่มีแหล่งการเรียนรู้อื่นเข้ามาเสริม”[2] ซึ่งในบรรดาแหล่งการเรียนรู้ทั้หลายพิพิธภัณฑ์นับได้ว่าเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สำคัญประเภทหนึ่งเพราะเป็นสถานที่ที่ให้บริการข้อมูลข่าวสาร ความรู้ในเรื่องต่างๆตามลักษณะของการบริการความรู้ที่ดี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย เพราะเป็นแหล่งรวบรวมและให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมสมัยทวารวดีโดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนาสมัยทวารวดีและวิถีชีวิตของประชาชนในจังหวัดนครปฐมในอดีตได้เป็นอย่างดีแต่ในปัจจุบันยังไม่มีการใช้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งการเรียนรู้เท่าที่ควร [3]

โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐมได้จัดเนื้อหาวิชาที่มีองค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนาในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมศึกษาในหลายรายวิชา แต่ในกระบวนการจัดการเรียนรู้ยังไม่มีการพัฒนาการรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่นำแนวคิดการพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธปรัชญาและการใช้แหล่งการเรียนรู้ที่มีในท้องถิ่นมาสนับสนุนเนื้อหาสาระในรายวิชาที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบ

ดังนั้นคณะผู้วิจัยจึงได้ทำการวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้” ขึ้น โดยเน้นกระบวนการพัฒนาปัญญาตามแนวพุทธปรัชญาโดยใช้แหล่งเรียนรู้เป็นฐาน

2. วัตถุประสงค์ของการวิจัย

2.1 เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้เรื่อง พุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้

2.2เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งเรียนรู้

2.3เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักศึกษาจากการใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้พุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นแหล่งเรียนรู้

3.ประโยชน์ที่ได้รับ

3.1นักศึกษามีเจตคติที่ดีต่อการเรียนพุทธศาสนาและมีความรัก ความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่น

3.2เกิดเครือข่ายการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์กับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

3.3สถานศึกษาในท้องถิ่นสามารถนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยการใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นแหล่งการเรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ได้

4. นิยามศัพท์

รูปแบบการจัดการเรียนรู้ หมายถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นมาจากแนวคิดการพัฒนาปัญญาเชิงพุทธประยุกต์กับทฤษฎีสร้างสรรค์ด้วยปัญญา

พุทธศาสนาสมัยทวารวดี หมายถึง ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนาสมัยทวารวดีที่ปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งพระปฐมเจดีย์ในรูปแบบต่างๆ

แหล่งการเรียนรู้ หมายถึง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ในการศึกษา ค้นคว้า จัดกิจกรรมหรือเป็นสื่อในการเรียนรู้

ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ หมายถึง ผลการเรียนรู้ เรื่อง พุทธศาสนาสมัยทวารวดี ซึ่งได้จากการทดสอบวัดผลตามแบบทดสอบที่สร้างขึ้นและใช้ทั้งก่อนและหลังเรียน

5. วิธีการดำเนินการวิจัย

การวิจัยนี้เป็นการวิจัยประเภทการวิจัยและพัฒนาทางการศึกษา (Educational Research and Development: R&D) ซึ่งมีวิธีการศึกษาดังนี้

5.1ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

ประชากรได้แก่นักศึกษาโปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมที่กำลังศึกษาอยู่ในปีการศึกษา 2552ระดับชั้นปีที่ 1-4จำนวน150คน

กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่นักศึกษาโปรแกรมวิชาสังคมศึกษาซึ่งแบ่งออกเป็น2กลุ่ม

กลุ่มที่ 1คือกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในขั้นตอนการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ได้แก่นักศึกษาโปรแกรมวิชาสังคมศึกษาชั้นปีที่3ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาพุทธศาสนศึกษาปีการศึกษา 2552 จำนวน30คน

กลุ่มที่ 2คือกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในขั้นตอนการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ ได้แก่นักศึกษาโปรแกรมวิชาสังคมศึกษาชั้นปีที่ 2ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาพิธีกรรมและภูมิปัญญาไทย ปีการศึกษา 2552จำนวน25คน

5.2เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

รูปแบบการจัดการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สร้างขึ้น

5.3เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล

1)แบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดการเรียนรู้โดยผู้เชี่ยวชาญ

2) แบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาก่อนและหลังการเรียน

3) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารวดี

5.4การเก็บรวบรวมข้อมูล

คณะผู้วิจัยแบ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็น 2ตอน ดังนี้

1) ขั้นการสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้คณะผู้วิจัยได้ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เพื่อสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้ จากนั้นจึงนำไปปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญแล้วนำมาทำการปรับปรุงแก้ไขและนำไปทดลองใช้กับนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง(กลุ่มที่ 1)โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในขณะทดลองใช้ด้วยวิธีการสังเกตและสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษารวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขสำหรับใช้จริงในขั้นต่อไป

2) ขั้นการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ คณะผู้วิจัยนำข้อมูลจากการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้มาวิเคราะห์และปรับปรุงแก้ไข จากนั้นจึงนำไปตรวจสอบความเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญและนำไปใช้จริงกับนักศึกษากลุ่มตัวอย่าง(กลุ่มที่ 2)โดยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลผลการใช้จากแบบประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและแบบสอบถามความพึงพอใจ

5.5การวิเคราะห์ข้อมูล

1)การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean)และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(StandardDeviation)

2) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)

6. ผลการวิจัย

ผลการวิจัยมีดังนี้

1)ด้านแหล่งเรียนรู้ จากการศึกษาพบว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นสถานที่ที่เหมาะสมในการจัดการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาในสมัยทวารวดี เพราะเป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุและข้อมูลความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมสมัยทวารวดีโดยเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาสมัยทวารวดีและวิถีชีวิตของประชาชนจังหวัดนครปฐมในอดีต

2)ด้านเนื้อหาสาระ จากการศึกษาคณะผู้วิจัยได้แบ่งสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนาสมัยทวารวดีออกเป็น 4 ด้าน คือ 1. ความเป็นมาและความสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ 2.พระพุทธศาสนาสมัยทวารวดี

3. หลักธรรมสำคัญที่ปรากฏในพุทธศิลป์สมัยทวารวดี 4. ชาดกที่ปรากฏในประติมากรรมสมัยทวารวดี ซึ่งจะนำไปจัดเป็นฐานการเรียนรู้ 4 ฐาน

3)ด้านหลักการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้ มีดังนี้

๑. การจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม คือ สถานศึกษาร่วมกับพิพิธภัณฑ์ โดยมีบุคคลสำคัญ ๓ กลุ่ม ได้แก่นักศึกษา วิทยากรและอาจารย์

๒.การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้สามารถเข้าถึงความรู้ ประมวลองค์ความรู้และสรุปองค์ความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยวิทยากรและอาจารย์ทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ให้คำแนะนำและส่งเสริมการเรียนรู้เท่านั้น

๓.การจัดการเรียนรู้ที่อยู่บนฐานของการพัฒนาปัญญาเชิงพุทธ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยภายนอก(ปรโตโฆสะ) ที่ดี เรียกว่า “กัลยาณมิตร” หมายถึง มีมิตรดี ครูอาจารย์ดีและบุคคลรอบข้างดีรวมถึงสภาพแวดล้อมที่ดี และอาศัยปัจจัยภายในที่พร้อม ที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” หมายถึงพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีการคิด ทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบ วิเคราะห์ได้ สังเคราะห์เป็นอย่างมีเหตุผล ผสมผสานกับปรัชญาสร้างสรรค์นิยม(Constructivism) ที่เน้นการสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตัวผู้เรียนเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และนำไปสู่การเรียนรู้และองค์ความรู้ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ในด้านการจัดกระบวนการเรียนรู้คณะผู้วิจัยได้นำหลักวุฒิธรรม ๔ ประการซึ่งเป็นหลักธรรมในการพัฒนาปัญญาและชีวิตให้เจริญงอกงามคือสัปปุริสสังเสวะ หมายถึง การคบคนดี (เสวนาผู้รู้)สัทธัมมัสสวนะ หมายถึง การฟังธรรมของคนดี (ฟังดูคำสอน) โยนิโสมนสิการ หมายถึง การคิดอย่างเป็นระบบมีเหตุผล (คิดให้แยบคาย) และธัมมานุธัมมปฏิบัติ หมายถึง การปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม(ปฏิบัติให้ถูกหลัก)มาเป็นกรอบในการกำหนดกระบวนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ ดังนี้

๑. การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ (เสวนาผู้รู้)ประกอบด้วย

๑.๑ พิพิธภัณฑ์เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยวัตถุแสดงนิทรรศการและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ

๑.๒ อาจารย์ผู้สอนเป็นแหล่งการเรียนรู้ซึ่งเป็นที่มาของการจัดการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือต่าง ๆอธิบายเสริมความรู้และประเมินผล

๑.๓ เอกสารหรือแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์และนอกพิพิธภัณฑ์

๒. การเรียนรู้ (ฟังดูคำสอน) เน้นหลักการเรียนรู้แบบพหูสูต (สุ จิ ปุ ลิ) แบ่งเป็นขั้นตอนดังนี้

๒.๑ ขั้นรับรู้องค์ความรู้

-ศึกษาจากวัตถุแสดง

-ศึกษาจากนิทรรศการ

-ศึกษาจาการฟังการบรรยายของวิทยากร

-ศึกษาจากใบความรู้และคำอธิบายเสริมของอาจารย์

-สอบถามเพิ่มเติมในสิ่งที่สงสัย

๒.๒ ขั้นรวบรวมองค์ความรู้

-บันทึกความรู้ในสมุดบันทึก

-บันทึกในใบงาน

๓.การวิเคราะห์องค์ความรู้ (คิดโดยแยบคาย) แบ่งเป็นขั้นตอน ดังนี้

๓.๑ขั้นวิเคราะห์เพื่อสร้างความเข้าใจเชิงลึก

-วิเคราะห์ความสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์

-วิเคราะห์ลักษณะของพุทธศาสนาสมัยทวารวดี

-วิเคราะห์หลักธรรมที่แฝงอยู่ในโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ

-วิเคราะห์เรื่องราวชาดกที่ปรากฎในประติมากรรมปูนปั้น

๓.๒การอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์

๓.๓การนำเสนอผลการวิเคราะห์

๔. การนำความรู้สู่การปฏิบัติ(ธัมมานุธัมมปฏิบัติ)

๔.๑การจัดทำชิ้นงานจากองค์ความรู้

๔.๒ การร่วมกันเสนอแนวทางการอนุรักษ์โบราณวัตถุ

๔.๓ การร่วมกันเสนอแนวทางสืบทอดพุทธศาสนา

ลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางข้างต้นนี้ใช้รูปแบบการรวม-แยก-รวม โดยมีขั้นตอนดังนี้

๑. ขั้นรวมเป็นขั้นนำเข้าสู่กิจกรรม เพื่อร่วมกันรับฟัง ทำความเข้าใจคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้และกำหนดการต่างๆรวมทั้งแบ่งกลุ่มออกเป็น ๔ กลุ่ม ตามจำนวนฐานการเรียนรู้

๒.ขั้นแยกเป็นขั้นที่นักศึกษาแต่ละกลุ่ม ต้องแยกกลุ่มเพื่อเข้าศึกษาตามฐานการเรียนรู้ทั้ง ๔ ฐาน โดยมีวิทยากรประจำฐานเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และแต่ละกลุ่มต้องเข้ากิจกรรมฐานการเรียนรู้ครบทั้ง ๔ ฐานในลักษณะวนฐาน

๓.ขั้นรวมเป็นขั้นที่นักศึกษาทุกกลุ่มมารวมกลุ่มกันอีกครั้ง เพื่อวิเคราะห์ อภิปรายและรายงานผลการศึกษาโดยมีอาจารย์เป็นผู้คอยดูแล เสริมความรู้และประเมินผล

กำหนดการ การจัดกิจกรรมเรียนรู้

ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้ เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารวดี

โดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้

เวลา กิจกรรมการเรียนรู้
๐๘.๐๐-๐๘.๔๐ น. ลงทะเบียน –รายงานตัว ทำแบบทดสอบก่อนเรียน
๐๘.๔๐-๐๙.๐๐ น. ชี้แจงกิจกรรมการเรียนรู้และแบ่งกลุ่มย่อย๔ กลุ่ม เพื่อเข้าฐานศึกษา ๔ ฐาน
๐๙.๐๐ - ๑๑.๔๐ น. ศึกษาเรียนรู้จากฐานการเรียนรู้ ๔ ฐาน
ฐานเรียนรู้ที่ ๑ ความเป็นมาและความสำคัญของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์   (๔๐ นาที)ฐานเรียนรู้ที่ ๒ พุทธศาสนาสมัยทวารวดี (๔๐นาที)๑)   ความเป็นมาของอาณาจักรทวารวดี

๒)   การเข้ามาของพุทธศาสนาสมัยทวารวดี

๓)   หลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพุทธศาสนาสมัยทวารวดี

ฐานการเรียนรู้ที่   ๓ หลักธรรมสำคัญที่ปรากฎในพุทธศิลป์สมัยทวารวดี (๔๐ นาที)

ฐานการเรียนรู้ที่   ๔ ชาดกที่ปรากฎในประติมากรรมสมัยทวารวดี (๔๐นาที)

๑๑.๔๐ - ๑๒.๐๐น. รวมกลุ่มฟังคำชี้แจงการทำกิจกรรมในภาคบ่าย
๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐น. พักรับประทานอาหาร
๑๓.๐๐-๑๔.๐๐น. แยกกลุ่มวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้   ๔ ฐาน
๑๔.๐๐-๑๕.๐๐ น. นำเสนอผลสรุปการวิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้   กลุ่มละ๑๐นาที
๑๕.๐๐-๑๕.๓๐ น. ร่วมกันอภิปรายและซักถามข้อสงสัยจากวิทยากร
๑๕.๓๐-๑๖.๐๐ น. วางแผนการจัดทำชิ้นงานและนำเสนอแนวทางการอนุรักษ์พิพิธภัณฑ์และสืบทอดพระพุทธศาสนา
๑๖.๐๐-๑๖.๓๐ น. ประเมินผล ๑)   ประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้๒)ประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้

7. สรุปผลและอภิปรายผล

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้

1)รูปแบบการจัดการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้เป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ

2)ผลการประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาต่อรูปแบบการจัดการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้ พบว่า โดยภาพรวมนักศึกษามีความพึงพอใจในระดับมาก

3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักศึกษาก่อนและหลังการเรียนรู้ตามรูปแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้พุทธศาสนาสมัยทวารวดีโดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นแหล่งเรียนรู้พบว่า นักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนตามสมมติฐานที่วางไว้คือ ก่อนเรียนนักศึกษามีผลการทดสอบโดยมีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ42.3และเมื่อได้ศึกษาเรียนรู้ตามรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นพบว่านักศึกษามีผลการทดสอบสูงขึ้นกว่าเดิม โดยมีคะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ74

จากผลการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักศึกษาก่อนและหลังการเรียนรู้ พบว่านักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่สร้างและพัฒนามานี้ มีส่วนส่งเสริมผลการเรียนรู้ที่ดีให้แก่นักศึกษาซึ่งอาจจะเป็นเพราะเป็นรูปแบบที่ทำให้นักศึกษาได้ปรับเปลี่ยนการเรียนรู้จากบรรยากาศห้องเรียน มาเป็นบรรยากาศของแหล่งเรียนรู้ที่มีสื่อของจริงซึ่งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้สัมผัสเรียนรู้โดยประสบการณ์ตรงและก่อเกิดทักษะการเรียนรู้ได้หลายทาง ซึ่งอาจเป็นส่วนที่ทำให้สามารถจดจำและมีความเข้าใจองค์ความรู้ที่ได้รับได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น สอดคล้องกับที่ศิริกาญจน์ โกสุมภ์ (๒๕๔๕: คำนำ)[i] ได้จัดทำหนังสือเรื่อง แหล่งเรียนรู้ : เพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้และหลักสูตรสถานศึกษา โดยกล่าวว่า การเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนสามารถจัดกิจกรรมที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้หลายลักษณะ เช่น การเรียนรู้ตามความสนใจของผู้เรียน การเรียนรู้เป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากสภาพจริงนั่นเองที่สำคัญหากผู้สอนได้มีการพัฒนาแนวทางการสอนให้แปลกใหม่ ไม่จำเจก็จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้เรียนมีความสนใจใฝ่เรียนมากขึ้นได้จึงทำให้มีผลการเรียนที่ดีขึ้น สอดคล้องกับที่ดร.สมจิตจันทร์ฉาย(๒๕๔๕ : บทคัดย่อ)ได้ทำการวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเตรียมการสอนสำหรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้แก่นักศึกษา ซึ่งพบว่า ผลการทดลองการใช้รูปแบบการเตรียมการสอนที่พัฒนาขึ้น ปรากฏว่า หลังการทดลองนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนและทักษะการเรียนรู้ในระดับดีและดีมากและสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕ นอกจากนี้นักศึกษามีความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการเตรียมการสอนที่พัฒนาขึ้นอีกด้วย

8. ข้อเสนอแนะ

ควรนำรูปแบบการจัดการเรียนรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้เรื่อง ประวัติศาสตร์สมัยทวารวดีหรือเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้และควรมีการส่งเสริมการใช้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์เป็นแหล่งการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษากับพิพิธภัณฑ์อย่างจริงจัง

9.เอกสารอ้างอิง

[1]ประเวศวะสี , การปฏิรูปการศึกษา-ยกเครื่องทางปัญญา ทางรอดจากความหายนะ. กรุงเทพฯ :

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์, 2541.

[2] อาชัญญารัตนอุบล , รายงานการวิจัย การจัดการเรียนรู้ของแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต : สวนสาธารณะ. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2548.

[3]สัมภาษณ์ เบญจวรรณ จันทราช, ภัณฑารักษ์พิพิธภัณ


[1]โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

Social Studies ProgramHumanityandSociety Faculty RajaphutNakornpathom University


[i]ศิริกาญจน์โกสุมภ์. แหล่งการเรียนรู้ : เพื่อการปฏิรุปการเรียนรู้และหลักสูตรสถานศึกษา.กรุงเทพฯ: บริษัท

เมธีทิปส์ จำกัด.2545

สมจิตจันทร์ฉาย รายงานการวิจัย การพัฒนารูปแบบการเตรียมการสอนสำหรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเพื่อใช้พัฒนาทักษะการเรียนร้แก่นักเรียน. นครปฐม :สำนักวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันราชภัฏนครปฐม.2545

หมายเลขบันทึก: 566857เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2014 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2014 10:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท