การดูแลผู้สูงอายุวิถีพุทธ[1]


การดูแลผู้สูงอายุวิถีพุทธ[1]

Elderly Nursing in Buddhism way.

วรากรณ์พูลสวัสดิ์1,กล้าสมตระกูล2,ปรารภแก้วเศษ3

โปรแกรมวิชาสังคมศึกษา 1

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม1

[email protected]

คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม2,3

บทคัดย่อ

บทความนี้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุวิถีพุทธเพื่อเป็นแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการดูแลผู้สูงอายุในสถานสงเคราะห์คนชราและอื่นๆตามความเหมาะสม บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เรื่อง “สถานสงเคราะห์คนชรา : การพัฒนาการจัดการดูแลตามวิถีพุทธ” ในการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงเอกสารโดยนำกรอบความคิดตามหลักอริยสัจสี่มาศึกษาผู้สูงอายุพบว่า สังคมไทยปัจจุบันได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุและผู้สูงอายุกำลังประสบปัญหาในทุกด้าน สาเหตุของปัญหาเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย สภาพแวดล้อมทางสังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณ การดูแลผู้สูงอายุโดยนำหลักวิถีพุทธมาประยุกต์ในการจัดการดูแลผู้สูงอายุสามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้ซึ่งหลักธรรมที่จะนำมาใช้ในการดูแลผู้สูงอายุคือ สัปปายะ 7 สังคหวัตถุ 4 พุทธธรรมบำบัด และภาวนา4

คำสำคัญ: ผู้สูงอายุ, วิถีพุทธ, การดูแลผู้สูงอายุ,

Abstract

This passage presents in Elderly Nursing in Buddhism way. This will be benefitto take care of Elderly Nursing Home and somewhere necessary. Thispassagefollows the Four Nolbe Truths idea and after studied found that currentThai society is will be Elderly age and they are in trouble with many problems,cause of problems come from physical change, social environment, emotion, andsoul. Eldery nursing in Buddhism way to manage how to take care of those elderlyand they will meet the need. Buddhist teaching for this passages are Thingsfavorable to mental development 7, Virtues making for group intergration andleadership 4, and development 4,

Keyword: Elderly ,Buddhism way ,Elderly Nursing,

ประชากรของประเทศไทยในรอบ๕๐ ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะขนาดของประชากรมีการขยายใหญ่ขึ้น จากข้อมูลในการทำสำมะโนประชากร พ.ศ. ๒๕๐๓ มีจำนวน ๒๖ ล้านคนได้เพิ่มเป็นประมาณ ๖๔ ล้านคน ใน พ.ศ. ๒๕๕๓มูลเหตุการเพิ่มขึ้นของประชากรที่สำคัญคือ การแพทย์และสาธารณสุขมีความเจริญก้าวหน้าทำให้อัตราการตายลดลงและประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น อีกทั้งระบบการวางแผนครอบครัวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้โครงสร้างของประชากรมีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สังคมไทยปัจจุบันได้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุและผู้สูงอายุกำลังประสบปัญหาเป็นอย่างมากดังที่กิตติสมานไทยกล่าวว่า “ในปัจจุบันสังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว เนื่องจากมีจำนวนและสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นผลสืบเนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขทำให้คนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น ในขณะเดียวกันกับภาวะทางด้านเศรษฐกิจและสังคมทำให้ประชากรวัยแรงงานต้องเข้ามาแสวงหางานทำในเมืองใหญ่ เกิดปัญหาผู้สูงอายุถูกละเลยหรือถูกทอดทิ้งเพิ่มมากขึ้น จนประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านต่างๆ” [๑]

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีความจำเป็นที่เราจักต้องศึกษาทำความเข้าใจผู้สูงอายุให้มากขึ้นเพราะผู้สูงอายุคือ บุคคลที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก ท่านเหล่านั้นมีพระคุณต่อเรา ในการศึกษาทำความเข้าใจผู้สูงอายุในครั้งนี้จะนำระบบวิธีคิดแบบอริยสัจสี่มาทำความเข้าใจผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวสุขภาพผู้สูงอายุ

๑.ความหมายและความสำคัญของผู้สูงอายุ

ในสังคมไทยมีถ้อยคำที่ใช้เรียกผู้สูงอายุที่แตกต่างกันหลายคำซึ่งถ้อยคำเหล่านี้บ่งบอกความหมายและนัยต่อผู้สูงอายุที่แตกต่างกันเช่น “แก่ ๑ ว. มีอายุมาก เช่น แก่ไปทุกวัน ไม้แก่ เด็กคนนี้แก่กว่าเด็กคนนั้น,อยู่ในวัยชรา เช่น คนแก่ หญิงแก่,...”“ชรา” หมายถึง ความแก่ด้วยอายุ ชำรุดทรุดโทรม” [๒]นอกจากนี้ยังมีคำที่ใช้เรียกขาน“คนสูงอายุ” จำนวนมาก เช่น คำว่า ผู้สูงวัย วัยชรา วัยทอง วัยดึก วัยตกกระ ผู้แก่ ผู้เฒ่า ไม้ใกล้ฝั่ง ซึ่งมีความหมายถึง “คนแก่” แต่คำนี้ไม่เป็นที่นิยมมากนักเนื่องจากก่อให้เกิดความหดหู่ใจและความรู้สึกถดถอย จึงได้มีการบัญญัติศัพท์คำว่า “ผู้สูงอายุ” ขึ้นใช้เป็นบรรทัดฐานครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๒ ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายยกย่องให้เกียรติแก่ผู้ที่ชราภาพว่าเป็นผู้ที่สูงทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์ [๓]

๑.๑ ความหมายของคำว่าผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุหมายถึงผู้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงวัยสุดท้ายของชีวิตเพราะมนุษย์เมื่อเกิดมาย่อมมีความเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับกล่าวคือ เจริญเติบโตเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่ และสุดท้ายเป็นผู้สูงอายุ นายแพทย์บรรลุศิริพานิช[๔] ได้แยกแยะความแตกต่างของคำเรียกว่าผู้สูงอายุไว้ดังนี้

๑) เรียกตามลักษณะทางกายภาพ เช่นเรียกว่าคนแก่ คนชรา คนเฒ่า (The Aged,Aging,Old man)เป็นการเรียกตามลักษณะทางสรีระที่บ่งบอกว่าผู้นั้นแก่ เช่น ผมหงอก ผิวหนังเหี่ยวย่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามบางคนมีลักษณะแก่ชราทั้งๆที่อายุยังไม่มากนักก็ได้

๒) เรียกตามอายุมากหรือน้อยตามปฏิทิน เช่น เรียกว่า ผู้สูงอายุ( Elderly,Older Person) ปัญหาที่ตามมาก็คือ อายุเท่าใดจึงเรียกว่า “ผู้สูงอายุ” เรื่องนี้ได้มีการถกเถียงกันในที่ประชุมสมัชชาว่าด้วยผู้สูงอายุโลกขององค์การสหประชาชาติ ส่วนใหญ่คนในภาคพื้นยุโรปและอเมริกาเรียกคนอายุ ๖๕ ขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุ แต่ภาคพื้นเอเชียมักถือเอา ๖๐ ปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์ผู้สูงอายุ เป็นที่ตกลงกันในระหว่างประเทศให้ยึดเอา ๖๐ ปีขึ้นไป เป็นผู้สูงอายุ

๓) เรียกตามสถานภาพทางสังคม เช่นเรียกว่า ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส (Senior Citizens) ในองค์กรหนึ่งๆผู้เป็นหัวหน้าย่อมเป็นผู้ใหญ่ขององค์กร ทั้งๆที่อาจอายุไม่มากหรือไม่ใช่คนแก่

จากการแยกแยะถ้อยคำเกี่ยวผู้สูงอายุจะเห็นได้ว่า ในการศึกษาผู้สูงอายุนั้นมีมิติที่หลากหลายกล่าวคือ มิติทางกายภาพและมิติทางสังคม แต่ในที่นี้จะมุ่งเน้นไปที่ความหมายของผู้สูงอายุทีอยู่ในวัยแห่งการเสื่อมของร่างกายซึ่งเปรียบเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง เป็นวัยที่มีแต่ความหลังเหลืออยู่และเป็นวัยที่ประสบกับความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ซึ่ง Birren and Renne(1997)[๕]ได้อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการสูงอายุว่ามีการเปลี่ยนแปลงในสามรูปแบบคือ

๑) ความสูงอายุทางร่างกาย(Biological aging) เป็นการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายเนื่องจากประสิทธิภาพของการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายลดน้อยลง เป็นผลจากความเสื่อมตามกระบวนการสูงอายุซึ่งเป็นตามอายุขัยของแต่ละบุคคล

๒) ความสูงอายุทางจิตใจ(Psycological aging) หมายถึงความสามารถในการปรับตัวตามสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้มากยิ่งขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ การรับรู้การแก้ปัญหา เจตคติตลอดจนบุคลิกภาพ สิ่งเหล่านี้มีการพัฒนามากขึ้น

๓) ความสูงอายุทางสังคม(Sociological aging) หมายถึงบทบาทสถานภาพในครอบครัวและการงาน รวมทั้งความคาดหวังของสังคมต่อบุคคลนั้น ซึ่งเกี่ยวกับอายุ การแสดงออกตามคุณค่าและความต้องการของสังคม

ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า ผู้สูงอายุคือ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไปซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงวัยสุดท้ายที่เป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจและสังคม เป็นผู้ที่ควรค่าแก่การอุปการะในด้านต่างๆเพราะผู้สูงอายุคือผู้มีพระคุณและเป็นผู้มีอุปการะช่วยเหลื่อดูแลเรามาก่อน

๑.๒ คุณค่าของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุในสังคมไทยเป็นจัดเป็นปูชนียบุคคลคือบุคคลที่ควรบูชา การที่สังคมไทยยกย่องและบูชาผู้สูงอายุเป็นอย่างมากเนื่องจากได้รับอิทธิคำสอนทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมดั้งเดิมของสังคมไทยที่ได้อบรมสั่งสอนและสอดแทรกการเคารพบูชาผู้สูงอายุเอาไว้ในประเพณีและวิถีชีวิตด้านต่างๆ แม้ว่าผู้สูงอายุเหล่านั้นจะสิ้นชีวิตไปแล้ว คนไทยก็ยังเคารพบูชาและมีประเพณีที่แสดงออกถึงความเคารพและกตัญญูต่อผู้สูงอายุที่ปรากฎเป็นรูปธรรมเช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีทำบุญให้กับผู้ตายเป็นต้น

หลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาได้ยกย่องผู้สูงอายุว่าเป็นรัตตัญญูคือผู้ที่รู้ราตรีนาน หมายความว่าเป็นผู้มีความรอบรู้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆมามาก เปรียบผู้สูงอายุเสมือนคลังปัญญา เป็นบุคคลที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก พระพุทธเจ้าได้ยกย่องพระอัญญาโกณฑัญญะว่าเป็นรัตตัญญู ผู้ที่ภิกษุควรเข้าไปหาปรึกษาซักถามและช่วยเหลือดูแล การยกย่องบูชาผู้สูงอายุถือเป็นมงคลแก่ชีวิต ผู้สูงอายุแม้ว่าจะมีความเสื่อมถอยทางร่างกาย แต่ท่านก็ยังเป็นส่วนสำคัญในครอบครัวที่คอยให้ความรัก ความอบอุ่น ช่วยสานสัมพันธ์ให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุแม้สังขารจะจักร่วงโรยไปตามวัยจนบางครั้งท่านถูกละเลยทอดทิ้งและไม่เห็นคุณค่าถูกมองว่าเป็นบุคคลที่ไร้ประโยชน์ ทว่าหากเราพิจารณาอย่างรอบคอบและด้วยใจกตัญญู เราจะรู้ซึ้งถึงพระคุณของท่านและประจักษ์ด้วยใจว่าผู้สูงอายุเป็นรัตตัญญูและเป็นปูชนียบุคคลที่เราควรบูชาอันจะนำมาซึ่งมงคลแห่งชีวิต

๒.ความทุกข์หรือปัญหาชีวิตของผู้สูงอายุ

ดังที่กล่าวแล้วว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่ประสบกับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้านทั้งทางด้านร่างกาย เศรษฐกิจ อารมณ์ จิตใจและสังคม ทำให้ผู้สูงอายุต้องประสบกับปัญหาในการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก ในทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นแนวคิดที่อธิบายความเป็นไปของชีวิตตามสภาพความเป็นจริง อธิบายความเป็นไปของชีวิตผู้สูงอายุด้วยคำว่า “ชรา พยาธิ มรณะ” ซึ่งเป็นการอธิบายความเป็นจริงของชีวิตว่ามนุษย์ที่เกิดมาต้องประสบกับความแก่ ความเจ็บและความตาย อย่างหนีไม่พ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการอธิบายเรื่องความทุกข์ของมนุษย์มักอธิบายว่า ชาติปิ ทุกขาชราปิ ทุกขา มรณัมปิทุกขังกล่าวคือ แม้ความเกิด ความแก่และความตายคือความทุกข์ ความแก่ชราเป็นที่มาของความเจ็บป่วยทุกข์ทรมานด้วยโรคภัยต่างๆ ดังพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในชราสูตรพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ หน้าที่ ๖๒ ว่า

“ถึงท่านจะติความแก่อันเลวทราม ถึงท่านจะติความแก่อันทำให้ผิวพรรณทรามไป รูปอันน่าพึงพอใจก็ถูกความแก่ย่ำยีอยู่นั่นเอง แม้ผู้ใดพึงมีอายุอยู่ร้อยปี(ผู้นั้นก็ไม่พ้นความตายไปได้) สัตว์ทั้งหลายมีความตายเป็นเบื้องหน้าความตายย่อมไม่ละเว้นอะไรๆ ย่อมย่ำยีทั้งหมดทีเดียว” [๖]

จากพุทธพจน์นี้อธิบายได้ว่า มนุษย์ที่เกิดมาย่อมประสบความทุกข์อันเกิดจากความแก่ความเจ็บและความตาย โดยเฉพาะความแก่นั้นมีอำนาจมากในการสร้างปัญหาแก่มนุษย์เพราะความแก่นำมาซึ่งความกลัวตาย และแสดงถึงชีวิตกำลังย่างใกล้เข้าสู่ความตายและความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย การย่างเข้าสู่วัยผู้สูงอายุจึงเป็นวัยที่กำลังเผชิญกับปัญหาของชีวิต เพราะผู้สูงอายุต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้านคือ ทางด้านร่าง จิตใจ อารมณ์และสังคมสิ่งแวดล้อม จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๕ พบปัญหาของผู้สูงอายุเรียงลำดับดังนี้[๗]

๑. ปัญหาเศรษฐกิจอันเนื่องจากรายได้ไม่แน่นอนร้อยละ๓๑ ๒. ปัญหาทางสุขภาพอนามัยทรุดโทรมร้อยละ๒๙ ๓. ขาดเพื่อนสนิททำให้รู้สึกเหงาโดดเดี่ยวร้อยละ๑๐ ๔.ไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไรร้อยละ๙ ๕.ปัญหาความสัมพันธ์กับครอบครัวร้อยละ๕๖.ปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินและอื่นๆร้อยละ๒ ๗.ไม่มีปัญหาร้อยละ๑๐

จากที่กล่าวมาเกี่ยวปัญหาของผู้สูงอายุอาจสรุปได้ว่าความทุกข์หรือปัญหาของผู้สูงอายุแบ่งเป็นสองด้านคือปัญหาทางด้านร่างกาย และปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคมสิ่งแวดล้อมทำให้ผู้สูงอายุต้องเผชิญปัญหาต่างๆมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุที่มีปัญหาถูกครอบครัวทอดทิ้งหรือไม่สามารถอยู่ร่วมกับบุตรหลานได้ ทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีปัญหาชีวิตมากกว่าผู้สูงอายุปกติทั่วไป

๓.สาเหตุของความทุกข์หรือปัญหาชีวิตของผู้สูงอายุ

ความทุกข์ของผู้สูงอายุมีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจและสภาพแวดล้อมทางสังคม ความเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอยย่อมไม่เป็นที่พึงปรารถนา มนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดย่อมมีความอยาก ความต้องการที่เรียกว่า ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา(อยากได้ อยากครอบครอง อยากเป็นเจ้า) ภวตัณหา(อยากให้อยู่ อยากให้มีสภาพเช่นนั้นไปนานๆ หรืออยากให้คงอยู่ตลอดกาล) วิภวตัณหา (อยากทำลาย อยากให้สลายไป) มนุษย์เมื่อย่างเข้าสู่วัยชราย่อมประสบกับความไม่สมอยากหรือไม่สมหวังได้ดังใจปรารถนา เพราะเป็นวัยที่ต้องประสบความเปลี่ยนแปลงในทุกด้านมูลเหตุของความทุกข์มาจากความเปลี่ยนแปลง

๑.ด้านสุขภาพอนามัย ผู้สูงอายุมักมีสุขภาพทางกายและทางจิตไม่สมบูรณ์ ความเสื่อมโทรมทางสรีรวิทยา หรือมีโรคประจำตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง

๒.ด้านสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ ผู้เข้าสู่วัยสูงอายุย่อมมีรายได้ลดลงหรือไม่อาจประกอบกิจการงานเพื่อหารายได้ให้สูงขึ้นและมีแต่จะลดน้อยถอยลงตามลำดับและหากผู้เข้าสู่วัยสูงอายุไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้พร้อมก็จะประสบปัญหาอย่างมากมาย

๓.ทางด้านสังคมและจิตวิทยาผู้เข้าสู่วัยสูงอายุย่อมีภาพลักษณ์ของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปโดยเฉพาะในสถานภาพทางสังคมจึงเกิดความรู้สึกว่าเป็นผู้ไร้ประโยชน์ไม่มีคุณค่า ไม่มีตำแหน่งหน้าที่และผู้คนทั่วไปก็จะเลิกเกรงกลัวบารมี เลิกเกรงอกเกรงใจหากไม่เตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม ก็จะเกิดวิกฤตการณ์ทางด้านภาพลักษณ์ขึ้นได้[๘]

จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่าสาเหตุของปัญหาชีวิตของผู้สูงอายุมีมูลเหตุมาจากความต้องการที่เรียกในทางพระพุทธศาสนาว่า ตัณหา คือความอยากหรือความต้องที่ไม่สมอยาก และชีวิตของผู้สูงอายุต้องประสบกับความเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์ จิตใจและสังคมทำให้มีผลกระทบต่อผู้สูงอายุทำให้ผู้สูงอายุต้องการการดูแลและสนับสนุนทางด้านต่างๆจากครอบครัว เช่น ด้านอารมณ์ เศรษฐกิจ และนอกจากนั้นยังมีความต้องการความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว และต้องการการติดต่อกับญาติพี่น้อง ลูกหลานด้วย หากความต้องการเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนองก็จะนำมาซึ่งปัญหาชีวิตของผู้สูงอายุ

๔.ความสุขของผู้สูงอายุ

คำว่า “ความสุข”ในความหมายของผู้สูงอายุย่อมแตกต่างจากความสุขในความหมายของบุคคลวัยอื่นๆทั้งนี้เป็นเพราะความต้องการของคนแต่ละวัยมีจุดสนใจหรือมุ่งเน้นแตกต่างกัน การได้รับการตอบสนองความต้องการนำมาซึ่งความสุข สุรกุลเจนอบรม[๙] อธิบายถึงความต้องการของผู้สูงอายุไว้ดังนี้

๑)ความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ คือ ต้องการได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงิน เช่น ลูกหลานหรือญาติให้การเลี้ยงดูตามสมควรแก่อัตภาพ ถ้าหากผู้สูงอายุไม่มีรายได้อื่นใด แต่ถ้ามองในด้านความมั่นคงของสังคมก็ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องมีโครงการสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ เช่น การให้บำเหน็จบำนาญ การสงเคราะห์ผู้สูงอายุหรือการประกันผู้สูงอายุเพื่อให้ทุกคนมีรายได้ยามชรา

๒)ความต้องการในเรื่องที่อยู่อาศัยโดยให้ผู้สูงอายุมีที่พักพิง เช่น อาจจะอยู่ในบ้านของตัวเองหรือยู่กับลูกหลาน ญาติพี่น้อง หรือในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรืแอกชน

๓)ความต้องการในด้านอนามัย ผู้สูงอายุมักจะมีสภาพร่างกายอ่อนแอกว่าคนหนุ่มสาวจึงเป็นหน้าที่ของครอบครัวและลูกหลานจะต้องให้การเอาใจใส่ซึ่งในหลายประเทศก็มีการบริการด้านนี้อย่างจริงจัง โดยรัฐบาลให้บริการทางด้านประกันสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ เช่นอเมริกาและทางยุโรปเป็นต้น

๔)ความต้องการทางด้านการงาน การมีงานทำมีความหมายแก่ผู้สูงอายุมาก เป็นที่มาของรายได้และเป็นการใช้เวลาให้หมดไป ใช้แรงงานให้เกิดประโยชน์ เป็นการป้องกันความเบื่อหน่าย มีเพื่อนที่จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงความสามารถเพื่อให้คนอื่นยอมรับหรือเคารพนับถือ เพราะผู้สูงอายุบางคนทำงานไม่ใช่หวังเงิน แต่ทำเพื่อฆ่าเวลา เพื่อความภาคภูมิใจมากกว่า

๕)ความต้องการความรักความเคารพ ความอบอุ่น ความเอาใจใส่ เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุมีความต้องการมาก เพราะเป็นวัยที่เรียกว่าไม้ใกล้ฝั่ง ความตายอยู่ใกล้เข้ามาทุกที จึงมีความต้องการการสนับสนุนจากครอบครัว ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ต้องการการยอมรับและเคารพยกย่องนับถือจากบุคคลในครอบครัว ถึงแม้ว่าจะมีบุคคลหรือองค์กรภายนอกให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์แก่ผู้สูงอายุในด้านอื่นๆแล้วก็ตาม ผู้สูงอายุก็ยังต้องการความรัก ความใกล้ชิด ความยกย่องนับถือจากลูกหลาน เป็นวัยที่อยากจะมีคนรักและอยากจะถูกรัก เช่น อยากให้ลูกหลานหรือญาติพี่น้องนึกถึงตนและเอาใจใส่ตนบ้าง เช่นมาพูดคุยทำอาหารให้รับประทาน

ความต้องการด้านต่างๆของผู้สูงอายุเมื่อได้รับการตอบสนองครบในทุกด้านชีวิตก็จะมีความสุข แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยเฉพาะในวัยชราที่มีความปรารถนาให้ตนพ้นจากความทุกข์ทั้งร่างกายและจิตใจนั้น ในความเป็นจริงยิ่งอายุมากขึ้นความทุกข์ต่างๆก็เพิ่มขึ้นด้วยเพราะความทรุดโทรมของร่างกาย การป่วยกายโดยไม่ป่วยใจย่อมเป็นเป้าหมายในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ

๕.วิธีการดูแลผู้สูงอายุวิถีพุทธ

ชีวิตของผู้สูงอายุในสังคมไทยมีความผูกพันใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนามีภูมิปัญญาและแนวทางในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะเหตุว่าหลักคิดในพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะในเรื่องอริยสัจสี่นั้นเป็นระบบคิดที่อธิบายได้ว่า ชีวิตมีความทุกข์ ความทุกข์ต่างๆเกิดจากเหตุ ความทุกข์ต่างๆสามารถหมดไปได้และมีวิธีการที่จะปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากความทุกข์นั้น พระพุทธศาสนามองว่าความแก่เป็นความทุกข์และมนุษย์สามารถพ้นทุกข์จากความแก่ได้โดยดำเนินชีวิตตามหลักวิถีพุทธ อย่างไรก็ตามความทุกข์ของผู้สูงอายุนั้นเป็นความทุกข์ทั้งทางร่างกายและทางใจ การดูแลผู้สูงอายุจึงต้องดูแลทั้งร่างและจิตใจให้สมดุลกัน อีกทั้งมูลเหตุของความทุกข์ของผู้สูงอายุนั้นเกิดจากเหตุที่สำคัญคือความต้องที่ไม่สมปรารถนาในด้านต่างๆคือ ความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัยอนามัย การงาน และต้องการความรักความเคารพ

วิถีพุทธที่สำคัญซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุได้มีดังนี้

๑.การมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม(กัลยาณมิตร)

ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุมีหลักการที่สำคัญในทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า สัปปายะ๗ คือสิ่งที่เหมาะสม สิ่งที่เกื้อกูลช่วยเหลือให้การบำเพ็ญภาวนาเกิดผลดีซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุได้ดังนี้

๑) อาวาสสัปปายะ (ที่อยู่ซึ่งเหมาะกัน เช่น ไม่พลุกพล่านจอแจ suitable abode)จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
  ๒) โคจรสัปปายะ (ที่หาอาหาร ที่เที่ยวบิณฑบาตที่เหมาะดี เช่น มีหมู่บ้านหรือชุมชนที่มีอาหารบริบูรณ์อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไปsuitable resort)มีเครื่องอุปโภคบริโภคเพียงพอเพียงพอ
  ๓) ภัสสสัปปายะ (การพูดคุยที่เหมาะกัน เช่น พูดคุยเล่าขานกันแต่ในกถาวัตถุ 10 และพูดแต่พอประมาณ suitable speech)มีแหล่งข้อมูลความรู้ ข่าวสารที่ดีมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต

  ๔) ปุคคลสัปปายะ (บุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน เช่น มีท่านผู้ทรงคุณธรรม ทรงภูมิปัญญาเป็นที่ปรึกษาเหมาะใจ suitable person)มีผู้ให้คำปรึกษาดูแลที่ดี ,มีกัลยาณมิตร
  ๕) โภชนสัปปายะ (อาหารที่เหมาะกัน เช่น ถูกกับร่างกาย เกื้อกูลต่อสุขภาพ ฉันไม่ยาก suitable food) มีอาหารเหมาะสมถูกสุขลักษณะ
  ๖) อุตุสัปปายะ (ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะกัน เช่น ไม่หนาวเกินไป ไม่ร้อนเกินไป เป็นต้น suitable climate) มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม
  ๗) อิริยาปถสัปปายะ (อิริยาบถที่เหมาะกัน เช่น บางคนถูกกับจงกรม บางคนถูกกับนั่ง ตลอดจนมีการเคลื่อนไหวที่พอดี suitable posture) มีการเคลื่อนไหวไปมาเหมาะสม(พระพรหมคุณาภรณ์[๑๐]

ในการนำหลักสัปปายะทั้ง๗ มาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุนั้นสามารถปรับประยุกต์ใช้ให้ครอบคลุมความต้องการของผู้สูงอายุทั้งสี่ด้าน คือด้านสุขภาพกาย อารมณ์ จิตใจและสังคมโดยมีการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสม

๒.พุทธธรรมบำบัด

ในการดูแลผู้สูงอายุเราสามารถนำแนวคิดเรื่องพุทธธรรมบำบัดมารักษาดูแลสุขภาพผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้สูงอายุมีความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจนายแพทย์พงษ์วรพงศ์พิเชษฐ[๑๑]ได้เขียนหนังสือชื่อพุทธธรรมบำบัด โดยอธิบายการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพมีงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศรองรับซึ่งมีพุทธธรรมที่สำคัญที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุได้ดังนี้

๑) อารมณ์ทำให้เกิดโรค ร่างกายและจิตใจของคนเรามีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก เวลาที่ใจของเรามีความเครียด ความโกรธหรืออารมณ์ในทางลบก็จะมีผลต่อร่างกายของเรา จิตใจของเราจึงมีอิทธิพลมากต่อการเกิดโรคของร่างกาย[๑๒]ในทางกลับกันการมีอารมณ์ที่ดี เช่นการฝึกเจริญเมตตาภาวนาเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงซึ่งมีผลต่ออารมณ์ที่ดีทำให้ภูมิต้านทานแข็งแกร่งขึ้น

๒) ความผ่อนคลายบำบัดโรควิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ได้ศึกษาพบว่าความผ่อนคลายเป็นสิ่งสำคัญมากเนื่องจากการสร้างความผ่อนคลายจะช่วยรักษาโรคและป้องกันไม่ให้เกิดโรคต่างๆ เช่นโรคหัวใจ โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคจิตประสาท โรคหืดหอบรวมทั้งโรคมะเร็งต่างๆด้วย ดร.เบนสันบอกว่าการทำให้เกิดการผ่อนคลายทำได้หลายวิธี เช่น การสวดมนต์ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การวิ่งเหยาะๆแล้วกำหนดสติที่เท้า การว่ายน้ำแล้วเจริญสติไปด้วย การฝึกการหายใจ การฝึกโยคะสมาธิ การฝึกชี่กงหรือแม้แต่การเจริญสติในขณะถักนีตติ้งหรือโครเช การฝึกสมาธิโดยตรงในท่ายืน เดิน นั่ง นอนใช้สติกำหนดรู้ส่วนต่างๆในร่างกาย สามารถทำให้เกิดสมาธิและผ่อนคลายได้มาก[๑๓]

๓) สมาธิบำบัดโรคปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าการทำจิตให้เป็นสมาธิช่วยสร้างความผ่อนคลายแก้ไขโรคของความเครียดอย่างได้ผล คนอเมริกันฝึกหัดสมาธิเพื่อแก้ไขปัญหาความเครียดและปัญหาความทุกข์ใจ...นอกจากนั้นการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยังชี้ให้เห็นถึงผลดีของสมาธิต่อการรักษาโรคทางกายอย่างชัดเจน จึงทำให้การใช้สมาธิรักษาเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย นิตยสารไทม์ถึงกับตีพิมพ์บทความเรื่อง “การสวดมนต์ ไปวัด ปฏิบัติสมาธิ ช่วยรักษาโรคได้”[๑๔]

๔) วิปัสสนากรรมฐานบำบัดโรคการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นวิธีการที่เกิดจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีเฉพาะในพระพุทธศาสนา เป็นการฝึกจิตให้เกิดปัญญา เห็นสภาวธรรมต่างๆเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำให้เราเข้าใจสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง ทำให้ถอดถอนความยึดติดในสิ่งทั้งปวง ว่าไม่ใช่ตัวเราของเรา เป็นเหตุให้สามารถขจัดกิเลสหรืออารมณ์ต่างๆโดยเฉพาะกิเลสอย่างละเอียด แต่ในเบื้องต้นทำให้เราควบคุมจิตใจ อารมณ์ได้ดี สามารถวางเฉยต่อสิ่งต่างๆทั้งดีและไม่ดีได้[๑๕]

๕) การสวดมนต์บำบัดโรคการไปวัด ไหว้พระ สวดมนต์ แผ่เมตตา เป็นกิจกรรมที่ชาวพุทธเราปฏิบัติกันเป็นประจำในชีวิตประจำวัน การวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันพบว่า การไหว้พระสวดมนต์ การไปวัดทำกิจกรรมทางศาสนามีผลทำให้สุขภาพดีและรักษาโรคได้ด้วย[๑๖]

๓. การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุใน ๔ ด้าน

นายแพทย์พงษ์วรพงศ์พิเชษฐ [๑๗]ได้สรุปวิธีการดูแลสุขภาพเอาไว้ว่า ถ้าเราสาวลึกลงไปถึงสาเหตุของโรคต่างๆพบว่าสาเหตุของโรคเกิดจากคุณภาพจิตใจที่ไม่ดี อารมณ์ทางลบ ความคิดอกุศล ความโลภ ความโกรธ ความหลงกิเลสตัณหาในใจของเรา ล้วนเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังนั้นการที่เราจะมีสุขภาพดีนั้นองค์การอนามัยโลกจึงกำหนดว่าจะต้องมีสุขภาวะทางกาย ทางใจ ทางสังคม ทางจิตวิญญาณ

ในด้านร่างกาย เราใช้อาหาร การออกกำลังกาย การเดินการวิ่ง การฝึกโยคะ ไทเก๊ก ชี่กง การว่ายน้ำเล่นกีฬาประเภทต่างๆ ล้วนแต่ส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง ภูมิต้านทานดี ช่วยรักษาโรคต่างๆได้

ในด้านจิตใจ เราใช้วิธีการผ่อนคลายแบบต่างๆ การฝึกการหายใจ การใช้ดนตรีช่วยบำบัด การใช้ศิลปะบำบัด การจินตนาการบำบัด การสะกดจิตบำบัด การทำจิตบำบัดรูปแบบต่างๆ

ในด้านสังคม เราใช้กลุ่มบำบัด กลุ่มความเอื้ออาทร กลุ่มกัลยาณมิตรผู้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีเมตตาต่อกันให้อภัยต่อกัน ไม่อิจฉาริษยา ชิงดีชิงเด่นต่อกัน การอยู่ในหมู่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงที่มีไมตรีจิตต่อกัน จะทำให้เราไม่โดดเดี่ยว มีความภูมิใจในคุณค่าของตนเอง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้น ทำให้ภูมิต้านทานดี

ในด้านจิตวิญญาณ การปฏิบัติธรรม การสวดมนต์ การแผ่เมตตา การฝึกสมาธิ วิปัสสนา จะช่วยทำให้จิตของเราดีอยู่เสมอ ความโลภ ความโกรธ ความหลงจะลดลง ความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง ปล่อยวางได้มากขึ้น สามารถปรับผ่อนจิตใจในเวลามีความทุกข์ใจได้ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัย สามารถปรับตัวเข้ากับความผันผวนของชีวิตได้ ยอมรับว่าการเกิดแก่เจ็บตายเป็นไปตามธรรมชาติ ทำใจได้เมื่อเวลาจะใกล้ตาย

๖. สรุป

จากหนังสือพุทธธรรมบำบัดของนายแพทย์พงษ์วรพงศ์พิเชษฐที่ได้เสนอแนวทางในการนำพุทธธรรมมาบำบัดดูแลรักษาโรคเราสามารถนำแนวคิดและแนวทางของท่านมาประยุกต์ใช้การดุแลสุขภาพผู้สูงอายุวิถีพุทธได้เป็นอย่างดี อีกทั้งในยุคปัจจุมีการศึกษาเกี่ยวกับการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้การการดูแลสุขภาพดังเช่น หนังสือ สาธารณสุขกับพุทธธรรมของนายแพทย์ประเวส วะสี หนังสือ แค่สวดมนต์ก็พ้นได้ของพระมหานงค์ สุมังคโล ธรรมะรักษาโรค ของพระมหาบุญมี มาลาวชิโร และงานวิจัยต่างๆซึ่งมีมากขึ้นทั้งในไทยและต่างประเทศทำให้เชื่อมั่นได้ว่าการทำพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุสามารถเป็นได้จริง ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุวิถีพุทธเป็นการประยุกต์หลักธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนาและวิถีปฏิบัติธรรมในชีวิตของชาวพุทธเช่น การไหว้พระสวดมนต์ ทำสมาธิ และการนำหลักสัปปายะทั้งเจ็ดมาพัฒนาเป็นรูปธรรมในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุอันเป็นวิธีการที่จะทำให้เกิดความสมดุลทั้งสุขภาพกายใจ อารมณ์และสังคม

เอกสารอ้างอิง

[1] สุนทรีพัวเวส, ความรู้เกี่ยวกับเรื่องผู้สูงอายุ,พิมพ์ครั้งที่๒

กรุงเทพมหานคร : สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ,๒๕๕๑,คำนำ.

[2] ราชบัณฑิตยสถาน,พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒,

กรุงเทพมหานคร : บริษัทนานมีบุ๊คส์พับบลิเคชั่น จำกัด,๒๕๔๖,๓๔๗.

[3] ศศิพัฒน์ ยอดเพชร. โครงการระบบการดูแลระยะยาวในครอบครัว

สำหรับผู้สูงอายุ. กรุงเทพฯ :มิสเตอร์ก็อปปี้ (ประเทศไทย),

๒๕๔๙, ๕-๖

[4] บรรลุศิริพานิช,ผู้สูงอายุไทย สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย

พิมพ์ครั้งที่ ๒,กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ดี,๒๕๔๒,หน้า ๒๔-๒๕.

[5] ปิยาภรณ์ ศิริภานุมาศ,ปัญหาและแนวทางพัฒนาชมรมผู้สูงอายุใน

การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ,วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มาวิทยาลัยขอนแก่น ๒๕๔๖,หน้า ๗.

[6] ธรรมรักษา,พระไตรปิฎก ฉบับผู้ใฝ่ธรรม, กรุงเทพมหานคร :

สำนักพิมพ์สติ,๒๕๔๑,หน้า ๑๙๖-๑๙๗.

[๗] นิศาชูโต,คนชราไทย,กรุงเทพมหานคร ;

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๒๕, หน้า ๒๖.

[๘] พิทักษิณาสุภานุสร,กลไกทางวัฒนธรรมในการช่วยเหลือผู้สูงอายุ

ของชุมชนคนบท, วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษานอกระบบ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,๒๕๔๖,หน้า๑๘-๑๙.

[๙] สุรกุล เจนอบรม. วิทยาการผู้สูงอายุ. กรุงเทพฯ : คณะครุศาสตร์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๓๔,หน้า ๘๙ – ๙๐.

[๑๐] พรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตโต)(พระ),พจนานุกรมพุทธศาสตร์

ฉบับประมวลธรรม,กรุงเทพมหานคร :

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๕๐,หน้า ๒๕๔.

[๑๑] พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ,นายแพทย์,พุทธธรรมบำบัด,กรุงเทพมหานคร :

กองแพทย์ทางเลือก กรมการพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข,๒๕๕๐

[๑๒]พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ,นายแพทย์,พุทธธรรมบำบัด,กรุงเทพมหานคร :

กองแพทย์ทางเลือก กรมการพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข,๒๕๕๐,หน้า๕.

[๑๓]พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ,นายแพทย์,พุทธธรรมบำบัด,กรุงเทพมหานคร :

กองแพทย์ทางเลือก กรมการพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข,๒๕๕๐,หน้า๑๒-๑๓.

[๑๔] พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ,นายแพทย์,พุทธธรรมบำบัด,กรุงเทพมหานคร :

กองแพทย์ทางเลือก กรมการพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข,๒๕๕๐,หน้า๑๙.

[๑๕] พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ,นายแพทย์,พุทธธรรมบำบัด,กรุงเทพมหานคร :

กองแพทย์ทางเลือก กรมการพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข,๒๕๕๐,หน้า๓๐.

[๑๖] พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ,นายแพทย์,พุทธธรรมบำบัด,กรุงเทพมหานคร :

กองแพทย์ทางเลือก กรมการพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข,๒๕๕๐,หน้า๓๙.

[๑๗] พงษ์ วรพงศ์พิเชษฐ,นายแพทย์,พุทธธรรมบำบัด,กรุงเทพมหานคร :

กองแพทย์ทางเลือก กรมการพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข,๒๕๕๐,หน้า๙๙-๑๐๐.


[1]บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของดุษฎีนิพนธ์ สาขา วัฒนธรรมศาสตร์ หัวข้อ “สถานสงเคราะห์คนชรา : การพัฒนาการจัดการดูแลตามวิถีพุทธ” คณะวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

หมายเลขบันทึก: 566855เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2014 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 เมษายน 2014 10:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท