เหตุ อยู่ที่ใจเรา


เหตุอยู่ที่ใจของเรา

พระบรมศาสดาทรงสอนการเกิดและการดับของธรรมทั้งหลาย ทั้งปวง โดยสรุปรวมอยู่ในหลัก อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ความทุกข์ความไม่สบายใจอยู่ที่ใหน อยู่ในใจของเรานี้เองใช่ใหม ทุกข์อยู่ที่ใหน เหตุก็อยู่ที่นั่น เมื่อทุกข์เกิดแต่เหตุ ท่านจึงสอนให้ละเหตุอันนั้น
ฟังให้ดีๆนะ ท่านให้ละสมุทัย ละเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ แต่บางคนเข้าใจผิด ไปโทษปัจจัย ทั้งๆที่ความจริงแล้ว เหตุกับปัจจัยไม่ใช่อย่างเดียวกัน เช่น ถ้าใครนินทาเรา เราเกิดความรู้สึกน้อยใจ ไม่สบายใจ เป็นทุกข์ ตามธรรมดาเราก็มักจะคิดไปว่า ทำไมเขาพูดอย่างนั้น เราได้ช่วยเหลือ ทำดีกับเขาอย่างโน้นอย่างนี้แล้ว เขาไม่น่าจะพูดถึงเราอย่างนั้นเลย จากนั้น เราก็คิดไปเรื่อยๆ คิดแล้วก็ยิ่งไม่สบายใจ คิดแล้วก็ยิ่งเกิดความรู้สึกน้อยใจ คิดแล้วก็ยิ่งเกิดความทุกข์ ในที่สุดก็เกิดความอาฆาตพยาบาท อย่างนี้เรียกว่า คิดผิด

ท่านสอนว่า ให้แก้ที่เหตุ คือแก้ที่กิเลสตัณหา อุปาทานของตัวเอง สิ่ง ที่ได้ยินได้ฟังแล้วไม่ถูกใจเรานั้น เป็นเพียงปัจจัยภายนอก ไม่ใช่สิ่งที่เราจะห้ามได้ เราแก้ไขสิ่งที่อยู่ภายนอกไม่ได้ แม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงแก้ไขไม่ได้ พระองค์ให้ทรงแก้ที่เหตุ และเหตุก็อยู่ที่ใจของเรานี่เอง เราอาจจะเปรียบได้กับการเพาะปลูกพันธ์ไม้ชนิดหนึ่ง เมล็ดพันธ์นี้เป็นเหตุ เมื่อปัจจัย คือ น้ำ แสงสว่าง และอุณหภูมิ พรั่งพร้อมพอเหมาะ เมล็ดก็จะงอก และแตกหน่อออกมาเป็นต้นไม้ กล่าวคือ เมื่อเหตุดีและปัจจัยพร้อมพอดี ก็จะเกิดดอกออกผลขึ้นในที่สุด ถ้าเราไม่ต้องการดอก ผล หรือต้นไม้ ก็ทำลายเมล็ดพันธ์ หรือต้นไม้นั้นเสีย ก็จบเรื่อง คือ ทำลายเหตุ ผลก็ไม่เกิด ไม่ใช่ว่าพยายามไปแก้ที่ปัจจัย ที่ธรรมชาต เช่นไม่ให้มีฝนตก ไม่ให้มีแสงสว่าง ไม่ให้มีอุณหภูมิพอเหมาะ หรืออื่นๆ ถ้าทำอย่างนั้นเราจะเหนื่อยเปล่า
เมื่อเราได้เห็นได้ยินอะไรแล้ว ให้น้อมเข้ามาสู่ใจของเรา เพื่อพิจารณาดูที่เหตุ ตรงที่รับอารมณ์ ตรงที่มีความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบใจ แล้วกำหนดรู้ ให้เป็นสักแต่ว่าความรู้สึก เพียงเท่านี้ทุกอย่างก็จบ ไม่เกิดเป็นปัญหา ไม่เกิดทุกข์ พูดง่ายๆคือ ไม่ต้องนึกคิดปรุงแต่งนั่นเอง ความรู้สึกนั้นเป็นของที่ไม่แน่นอน ไม่เที่ยงแท้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้าไม่สามารถหยุดอยู่ในอารมณ์ชั้นนี้ได้ จิตจะปรุงแต่งไปเป็นอารมณ์ที่สอง คือ เกิดความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบใจ เป็นเวทนาขึ้นมา และถ้าไกลออกไปจากนี้อีกก็จะเป็นอารมณ์ที่สาม เกิดเป็นความนึกคิด ทะยานอยาก เพื่อที่จะไม่ให้เกินอารมณ์ที่สามออกไปอีก คือ แม้จะนึกคิดทะยานอยากไปอย่างโน้นอย่างนี้ ก็หยุดเอาไว้เสีย ไม่ยึดถือเป็นจริงเป็นจัง จนกระทั่งเป็นอุปาทานขึ้นมา อย่างนี้ก็จะยังไม่เกิดทุกข์ เรียกได้ว่ามีใจเป็นศีล ใจเป็นธรรม มีจิตใจที่เข้าถึงอริยสัจ มีความตั้งใจดี ตั้งใจถูก หรือว่าคิดถูกนั่นเอง

คำว่า คิดถูก นี้ ฟังดูแล้วเหมือนจะง่าย แต่เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเอง เกิดอารมณ์คลอบงำจิตใจของตัวเองแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะคิดให้ถูกได้ เราจึงต้องปฏิบัติจนเกิดปัญญา เห็นโทษของกิเลสในตัวเองนั่นแหละ จึงจะคิดถูกได้อย่างแท้จริง

คำสำคัญ (Tags): #เหตุ#ปัจจัย
หมายเลขบันทึก: 566624เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2014 21:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 เมษายน 2014 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สาธุ ๆ ๆ ขอบคุณครับ 

นอกจากนี้พระพุทธองค์ยังได้ทรงสอนไว้ว่า ผู้ที่จะเข้าถึงธรรมได้อย่างแท้จริงจำเป็นต้องมีศีล-สมาธิ-และปัญญาครบถ้วน

การเข้าถึงอริยสัจคือปัญญาที่เกิดจากการได้ เห็น ตามความเป็นจริง

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท