กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


       หลังจากสงครามโลกครั้งที่2สิ้นสุดลง แต่เนื่องจากประสบการณ์อันเลวร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่2 และเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้าย จึงทำให้เกิดกฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชนทั้งกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในประเทศ โดยมีองค์การที่สำคัญมาทำหน้าที่รักษาความสงบและสันติภาพของประชาคมระหว่างประเทศ คือ องค์การสหประชาชาติ และต่อมาได้ยกร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้นมาเพื่อเป็นการรับรองสิทธิในด้านต่างๆซึ่งบุคคลพึงมีพึงได้ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือเรียกว่า “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ซึ่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนถือเป็นรากฐานสำคัญที่องค์การสหประชาชาตินำมายกร่างอนุสัญญาหลัก

       กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลัก ๆ มีทั้งสิ้น 9 ฉบับได้แก่ 

(1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)  

(2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR)

(3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW)  

(4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC)  

(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD)

(6) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT)

(7)  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)

(8)  อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED)

(9)  อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families MWC)

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศหลักเหล่านี้แล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ คือ (1)-(7)

       โดยจะขอกล่าวถึง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ กับการนำมาใช้ในสังคมไทย สาระสำคัญของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ มีดังนี้

ส่วนที่ 1 (ข้อ 1-3)  กล่าวถึงวัตถุประสงค์ คำนิยาม และหลักการทั่วไป อาทิเคารพศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด เสรีภาพในการตัดสินใจด้วยตนเอง ความเป็นอิสระของบุคคล การไม่เลือกปฏิบัติต่อคนพิการ การมีส่วนร่วมของคนพิการได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพในสังคม  เคารพความแตกต่าง ความเท่าเทียมของโอกาสของคนพิการ  ฯลฯ 

ส่วนที่ 2 (ข้อ 4-8) กล่าวถึงพันธกรณีทั่วไป ความเท่าเทียมกันและการไม่เลือกปฏิบัติ สตรีพิการ เด็กพิการ และการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับคนพิการในสังคม 

ส่วนที่ 3 (ข้อ 9-30) กล่าวถึงสิทธิของคนพิการ อาทิ การจ้างงาน สุขภาพ การศึกษา เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการย้ายถิ่นฐาน เสรีภาพจากการถูกทรมาน สิทธิในการสร้างครอบครัว ฯลฯ 

ส่วนที่ 4 (ข้อ 31-50) กล่าวถึงการเก็บรวบรวมสถิติข้อมูล ความร่วมมือระหว่างประเทศ การตรวจสอบติดตามผลการดำเนินงานตามอนุสัญญา อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการประจำอนุสัญญา ฯลฯ[1]

        จากการที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาดังกล่าวทำให้เกิดหน้าที่ที่รัฐไทยจะต้องออกกฎหมายรับรองสิทธิของคนพิการที่พึงได้รับตามอนุสัญญานี้และออกกฎหมายเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ

        เริ่มต้นตั้งแต่คำนิยามศัพท์ “คนพิการ” คำนิยามศัพท์คนพิการตามมาตรา 4 แห่งพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ.2550 และพรบ.จัดการศึกษา พ.ศ.2551 ได้นิยามคำว่า “คนพิการ” ไม่ได้หมายถึงบุคคลที่มีความบกพร่องเพียงแต่ประการเดียว แต่หมายถึงบุคคลที่มีความบกพร่องบวกอุปสรรคต่างๆจึงทำให้ไม่สามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดรับกับความหมายของคำว่าคนพิการตามข้อ 1 วรรค 2 ของ CRPD

         และในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ม.30 วรรค 1 กำหนดให้บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และมาตรา 30 วรรค 3 การกระทำที่เป็นการเลือกปฎิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ม. 8 กำหนดให้สถานศึกษาที่ปฏิเสธไม่รับคนพิการเป็นการกระทำที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม อีกทั้งพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพบุคคลเพราะเหตุต่างๆรวมทั้งเพราะเหตุแห่งความพิการจะกระทำมิได้ และพรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 15 ถึง มาตรา 17 กำหนดให้การกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการ โครงการ หรือวิธีการปฏิบัติซึ่งหน่วยงานของรัฐองค์กรเอกชนหรือบุคคลใด ในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการจะกระทำมิได้ รวมถึงการเลือกปฏิบัติโดยทางอ้อมด้วย คนพิการที่ได้รับหรือจะได้นับความเสียหายจากการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการมีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติให้มีคำสั่งเพิกถอนหรือห้ามมิให้กระทำการนั้นได้  และไม่ตัดสิทธิผู้ร้องที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดต่อศาล และศาลจะกำหนดค่าเสียหายในเชิงลงโทษไม่เกิน 4 เท่าของความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ ในการใช้สิทธิคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการจะขอให้องค์กรด้านคนพิการเป็นผู้ทำการแทนก็ได้ การฟ้องคดีให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม จากกฎหมายข้างต้นต้องถือได้ว่ามีความสอดรับกับข้อ 5 ของอนุสัญญาอย่างยิ่ง

         แต่เนื่องจากส่วนหนึ่งของสังคมยังคงมีแนวความคิดแต่ดั้งเดิมว่าความพิการเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำ และมองว่าคนพิการใช้ชีวิตเหมือนคนปกติไม่ได้ ไม่มีความสามารถในการทำงาน แนวคิดนี้ส่งผลให้มีการกีดกันการเข้าถึงสิทธิต่างๆซึ่งคนพิการที่เป็นมนุษยชนคนหนึ่งพึงจะได้รับ กีดกันไม่ให้คนพิการมีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง การปฏิบัติดังกล่าวจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และยังเป็นการขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีด้วยการให้สัตยาบัน

         ทำให้ในทางปฏิบัตินั้นยังคงมีการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการอยู่ ดังเช่นกรณีที่ นายศิริมิตร บุญมูล ได้ไปสมัครทดสอบความรู้เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการ แต่สำนักงานศาลยุติธรรมแจ้งว่า ก.ต. มีมติไม่รับสมัครโดยให้เหตุผลว่าสภาพร่างกายและจิตใจไม่เหมาะสมต่อการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการตุลาการ ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐)  จึงมีการยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญว่า การตัดสิทธิสอบบุคคลด้วยเหตุผลดังกล่าว ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องสภาพทางกายหรือความพิการ บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๐

                ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) เฉพาะในส่วนที่บัญญัติว่า “...มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ...” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๐ วรรคสาม

                โดยมีการให้เหตุผลว่า…การที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง (๑๐) ให้ผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้สมัครทดสอบความรู้ หรือผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษ เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม “...มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ...” นั้น คำว่า “กายหรือจิตใจไม่เหมาะสม” อยู่ในกรอบความหมายของคำว่า “คนพิการ” ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการของสหประชาชาติ โดยมีลักษณะเป็นการกำหนดลักษณะทางกายและจิตใจที่ไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการไว้อย่างกว้างขวางไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน น าไปสู่การใช้ดุลพินิจที่ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมได้ในที่สุด กฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น ต้องมีขอบเขตชัดเจนแน่นอน เช่น อาจกำหนดว่า มีลักษณะทางกายและจิตใจที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นข้าราชการตุลาการได้เพียงใด เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนทราบว่ากฎหมายดังกล่าวต้องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดบ้าง…

                และ..การกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการไว้ในขั้นตอนการรับสมัครบุคคลเพื่อสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการ โดยให้เป็นดุลพินิจของ ก.ต. ในการพิจารณาความเหมาะสมของบุคคลที่จะให้มีสิทธิสมัครสอบคัดเลือกเป็นข้าราชการตุลาการหรือไม่นั้น เป็นการตัดสิทธิคนพิการตั้งแต่ต้น โดยไม่เปิดโอกาสให้คนพิการสามารถสอบคัดเลือกได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป และไม่มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานนั้นเสียก่อน ทั้งภารกิจหลักตามอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม คือ การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปโดยยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องนั่งพิจารณาโดยครบองค์คณะ ความพิการจึงมิได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จะเป็นข้าราชการตุลาการ ที่จะมีผลต่อการให้ความเป็นธรรมแก่คู่ความหรือผู้เกี่ยวข้อง…[2]

                ตามความเห็นของนักศึกษานั้นเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยข้างต้น แม้การกำหนดเงื่อนไขในเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกจะเป็นอำนาจหน้าที่และดุลยพินิจของคณะกรรมการตุลาการ แต่เงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติจะต้องไม่ใช่การเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความพิการ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ม.30ได้รับรองไว้ว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง…ความพิการ...จะกระทำมิได้ ดังนั้นเมื่อคุณสมบัติที่กำหนดไว้ไปกระทบกระเทือนถึงเหตุแห่งความพิการ จึงเป็นการขัดต่อ ม.30 แห่งรัฐธรรมนูญ2550 และยังขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการด้วย

                                                                                                                       จุฬาลักษณ์ หาญนาวี              

                                                                                                                         22เมษายน2557

อ้างอิง

[1] ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี, สืบค้นทาง http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conventions (เข้าถึงข้อมูลวันที่21เมษายน2557)

[2]  สรุปคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕/๒๕๕๕, สืบค้นทาง file:///D:/My%20Documents/Downloads/center-law15_55.pdf (เข้าถึงข้อมูลวันที่21เมษายน2557)

 

หมายเลขบันทึก: 566471เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2014 00:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 12:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท