กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


     กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สามารถแยกประเภทเพื่อพิจารณาได้ออกเป็นสองประเภท ได้แก่ สนธิสัญญาที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วไปและสนธิสัญญาที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง

๑. สนธิสัญญาที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วไป

                สนธิสัญญาพื้นฐานที่ถือเป็นรากฐานสำคัญในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันคือ กฎบัตรสหประชาชาติ จากกฎบัตรสหประชาชาติได้มีการพัฒนาต่อมา โดยมีการออกปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. ๑๙๔๘  ซึ่งได้มีการขยายเนื้อหาให้ชัดเจนขึ้นอีกโดย กติกาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และกติกาว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง ส่วนในระดับภูมิภาค ได้มีการออกสนธิสัญญา ๓ ฉบับที่สำคัญคือ อนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. ๑๙๕๐ และอนุสัญญาอเมริกันว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. ๑๙๖๙และกฎบัตรแอฟริกันว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ค.ศ. ๑๙๘๑  โดยเมื่อได้พิจารณาถึงเนื้อหาของสนธิสัยญาดังกล่าวในภาพรวมแล้ว มีข้อสังเกตกันอยู่หลายประการดังนี้

                ๑)สนธิสัญญาเหล่านี้ครอบคลุมสิทธิที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพ ร่างกาย และความคิดของบุคคล  สิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

                ๒)สนธิสัญญาเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานของหลักความเท่าเทียมกันหรือการไม่เลือกปฏิบัติ

                ๓)สนธิสัญญาบางฉบับกำหนดข้อบัญญัติที่อนุญาตให้รัฐภาคีงดเว้นไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีบางประการที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาได้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้การให้ความคุ้มครอง

สิทธิบางประการไม่สามารถมีข้อยกเว้นได้

                ๔)อนุสัญญาส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคลไว้อย่างชัดแจ้ง
                           

                ๕)สนธิสัญญาส่วนใหญ่กำหนดกลไกในการบังคับตามสนธิสัญญาไว้ เช่น อนุสัญญายุโรปและอนุสัญญาอเมริกัน ก่อตั้งศาลสิทธิมนุษยชนในกรอบของแต่ละสนธิสัญญา กติกาว่าด้วยสิทธิทางแพ่งและสิทธิทางการเมืองกำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ทำหน้าที่พิจารณารายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีในการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จากรัฐภาคี เป็นต้น

 

๒. สนธิสัญญาที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง

                สนธิสัญญาที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง มักออกมาเพื่อรองรับปัญหาทางด้านการเมืองหรือสังคมที่ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงความเร่งด่วน กลุ่มของสนธิสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงอาจแบ่งได้ดังนี้

๑)สนธิสัญญาที่มุ่งคุ้มครองความอยู่รอดของมนุษย์และการกระทำที่กระทบต่อศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์สนธิสัญญาเหล่านี้มุ่งคุ้มครองพิทักษ์ไว้ซึ่งความอยู่รอดของมนุษยชาติและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ เช่น การห้ามทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ห้ามการปกครองโดยเหยียดสีผิว ห้ามการทรมานและทารุณกรรม เป็นต้น สนธิสัญญาในเรื่องเหล่านี้ได้แก่

                          -อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. ๑๙๔๘

                          -อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติทุกรูปแบบ ค.ศ. ๑๙๖๕

                          -อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดและปราบปรามอาชญากรรมแบ่งแยกผิว ค.ศ. ๑๙๗๓

                          -อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติอื่นๆ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือต่ำช้า ค.ศ. ๑๙๘๔

๒)อนุสัญญาที่มุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติ เป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์มี่มุ่งขจัดการเลือกปฏิบัติอันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น เชื้อชาติ เพศ ภาษา สีผิว สัญชาติ ศาสนา เป็นต้น อนุสัญญาในเรื่องนี้ได้แก่

                -อนุสัญญาต่อต้านการเลือกปฏิบัติทางการศึกษา ค.ศ. ๑๙๖๐

                -อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติทุกรูปแบบ ค.ศ. ๑๙๖๕

๓)สนธิสัญญามุ่งคุ้มครองสตรี มุ่งที่จะให้สตรีได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับบุรุษ ไม่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการถูกเอารัดเอาเปรียบ สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่สำคัญ

ในการคุ้มครองสตรีได้แก่

                          -อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อสตรี ค.ศ. ๑๙๗๙

                          -อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการค้าบุคคลและการแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่น ค.ศ. ๑๙๕๐

๔)สนธิสัญญาคุ้มครองสิทธิเด็ก เป็นที่ยอมรับกันว่าเด็กต้องได้รับความคุ้มครองเป็นกรณีพิเศษ อนุสัญญาที่ให้ความคุ้มครองแก่เด็ก ได้แก่

                          -อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. ๑๙๘๙

๕)สนธิสัญญามุ่งคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน เป็นอนุสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ในการกำหนดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานทางด้านแรงงาน เช่น เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพจากการไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน การได้รับการปฏิบัติและมีโอกาสที่เท่าเทียมกันในการทำงาน อนุสัญญามุ่งคุ้มครองผู้ใช้แรงงานได้แก่

                          -อนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการจัดสมาคม ค.ศ. ๑๙๔๘

                          -อนุสัญญาว่าด้วยการยกเลิกการบังคับใช้แรงงาน ค.ศ. ๑๙๕๗

๖)สนธิสัญญามุ่งคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ไร้สัญชาติ มีวัตถุประสงค์หลักในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่มีความกลัวว่าจะถูกประหัตประหารด้วยเหตุผลทางด้านเชื้อชาติ ศาสนา ความคิดทางการเมือง และผู้ที่ไม่มีสัญชาติ สนธิสัญญามุ่งคุ้มครองผู้ลี้ภัยและผู้ไร้สัญชาติได้แก่

                          -อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. ๑๙๕๑

                          -อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสถานะของบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ค.ศ. ๑๙๕๔

 

     สำหรับประเทศไทย กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่มีความเกี่ยวข้องกับสังคมไทย จะขอนำมายกตัวอย่างเพียงบางฉบับเท่านั้น ได้แก่ กฎหมายดังต่อไปนี้

     International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR หรือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งเป็นกติการะหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อ 27 ตุลาคม พ.ศ. 39 โดยเนื้อหาของสัญญา ครอบคลุมถึงสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพในการนับถือศาสนา เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการชุมนุม สิทธิเลือกตั้งสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดย ICCPR นี้ เป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ด้วย

 

     International Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women หรือ CEDAW หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ โดยประเทศไทย ได้เข้าเป็นภาคีเมื่อ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2528 มีผลบังคับใช้เมื่อ 8 กันยายน พ.ศ. 2528 โดยสัญญาฉบับนี้ องค์การสหประชาชาติได้ร่างขึ้นมาเพื่อเป็นการประกันว่ามนุษย์เพศชายและหญิงจะมีสิทธิเท่าเทียมกันในอันที่จะอุปโภคสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ตลอดจนสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  ทั้งนี้ หากลองวิเคราะห์ความหมายของคำว่า การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เห็นว่า หมายถึง การแบ่งแยก การกีดกัน หรือ การจำกัดใดๆด้วยเหตุแห่งเพศ ซึ่งมีเจตนาหรือเป็นเหตุให้เกิดความไม่เป็นธรรม หรือทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับการยอมรับ ไม่มีสิทธิ ไม่ได้ใช้สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขึ้นพื้นฐานทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และพลเมืองที่พึงมีเสมอกับชาย

การที่ไทยเข้าเป็นรัฐภาคีกับอนุสัญญานี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ก่อนอื่น ต้องมีความเข้าใจว่าการที่ไทยเข้าเป็นรัฐภาคีกับอนุสัญญานี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของประเทศไทย ได้ตระหนักถึงการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในประเทศไทย การเข้าเป็นรัฐภาคี จึงมีประโยชน์อย่างมาก และรัฐ ก็มีข้อผูกพันที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญานี้

แต่ทั้งนี้ เห็นว่าปัจจุบัน กลุ่มผู้หญิงบางกลุ่ม กลับถูกเลือกปฏิบัติ ดังเช่น ผู้หญิงตั้งครรภ์ หลายคน ถูกนายจ้างปฏิเสธที่จะจ้างผ้หูญิงเพราะเธอตั้งครรภ์ ปฏิเสธให้คนงานหญิงเลื่อนตำแหน่ง โยกย้ายงาน หรือได้รับการฝึกอบรมเพราะเธอตั้งครรภ์ ไล่หรือบังคับให้คนงานหญิงออกเพราะเธอตั้งครรภ์ ไล่คนงานหญิงออกหลังจากที่เธอกลับมาจากการลาคลอดบุตร หรือกระทั่งการประเมินคุณค่าหรือผลงานของคนงานหญิงต่ำลงเพราะการลาคลอดบุตรเป็นต้น โดยการกระทำเหล่านี้ ถือว่าเป็นการเลือกปฏบัติทางเพศ โดยมี กฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่สามารถให้ความคุ้มครองผู้หญิงเหล่านี้ได้ คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทางเพศ หรือ Sex Discrimination Ordinance หรือ SDO

 

     International Convention Against Tortue and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatmemt or Punishment หรือ CAT หรือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 แต่อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว ประเทศไทยกลับยังไม่แม้แต่มีการออกกฎหมาย หรือ การดำเนินใดๆในการเปลี่ยนแปลงแนวปฏิบัติของฝ่ายรักษาความมั่นคงของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญเลย ตำรวจยังคงใช้การทรมานที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนทางกฎหมายอยู่เป็นกิจวัตรทั่วประเทศ และหลังจากมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อเดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา กองกำลังฝ่ายรักษาความมั่นคงของรัฐหน่วยต่างๆ ทั้ง กองทัพ ตำรวจ และอาสาสมัครป้องกันภัยในระดับท้องถิ่น ก็ได้ใช้การทรมานเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการตอบโต้ผู้ก่อความไม่สงบเหมือนเป็นเรื่องปกติ ปัญหาเช่นนี้ ย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องแก้ไขปัญหาการทรมานในประเทศไทย ด้วยมาตรการทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร ทางตุลาการ และส่วนอื่นๆ รวมตลอดถึงต้องมีความพยายามอย่างจริงจังในการปฏิรูปฝ่ายรักษาความมั่นคงของรัฐด้วย

 

     Convention on The Elimination of All Forms of Racial Discrimination หรือ CERD หรือ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ ซึ่งไทยได้เข้าเป็นภาคีเมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ. 2546 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546                                                                                                     

     โดยคำว่า การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาตินั้น หมายถึง การจำแนก การกีดกัน การจำกัดหรือการเอื้ออำนวยพิเศษเพราะเชื้อชาติ สีผิว เชื้อสาย ชาติกำเนิด หรือเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการปฏิบัติที่แตกต่างระหว่างบุคคลที่เป็นพลเมืองและไม่ใช่พลเมือง 

     แม้ว่าประเทศไทยจะได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว แต่การกระทำซึ่งเข้าข่ายเป็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติก็ยังคงมีปรากฎให้เห็นอยู่ในสังคมไทย เช่น การเรียกชนพื้นเมืองในไทยว่า “กลุ่มชนเขา” หรือ “ชนกลุ่มน้อย” ซึ่งมีนัยยะของความ “เถื่อน” และ “ป่า” ซึ่งตรงข้ามกับความ “มีอารยธรรม” การเริ่มใช้คำว่าชาวเขาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างชาติ ที่ซึ่งอัตลักษณ์ของชาติและนิยามของ “ความเป็นไทย” นั้นผูกติดกับคุณสมบัติทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะศาสนาพุทธ ภาษาไทย และสถาบันกษัตริย์ การเหมารวมในด้านลบที่สร้างภาพให้ชนเขากลายเป็นผู้ตัดไม้ทำลายป่า ผู้ปลูกฝิ่น และผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์นั้นทำให้พวกเขาถูกนิยามให้ “ไม่เป็นไทย” ขาดการพัฒนา และเป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนคำเรียกอื่นๆ ที่ใช้กันในประเทศไทยนั้นมักเป็นคำที่ตรงกับคำในภาษาอังกฤษ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic groups) ชนกลุ่มน้อย (ethnic minorities) เป็นต้น แต่ (อดีต) กลุ่มคนหาของป่าล่าสัตว์ในภาคใต้ก็ยังถูกเรียกด้วยชื่อ “ซาไก” ที่มีนัยยะดูถูก (เนื่องจากมีความหมายตรงตัวว่า “ทาส”) การให้คำนิยามหรือเรียกชนพื้นเมืองดังกล่าวเหล่านั้น นำมาซึ่งการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็น 

     การเลือกปฏิบัติต่อชนเผ่าพื้นเมืองในฐานะ “ผู้ไม่มีอารยธรรม” ซึ่งตรงข้ามกับคนไทยส่วนใหญ่ที่ “มีอารยธรรม” ในประวัติศาสตร์ และในฐานะภัยคุกคามความมั่นคงของชาติในปัจจุบัน ยังคงส่งผลต่อกฎหมาย นโยบาย และแผนงานของรัฐที่มีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะที่ยอมรับและปกป้องสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านในปี 2007 ก็ไม่ได้ระบุชัดถึงการยอมรับตัวตนของพวกเขา แม้ว่าระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะมีตัวแทนจากชนเผ่าพื้นเมืองต่างๆ เข้าร่วมการประชุมหารือทั้งในระดับจังหวัดและในระดับประเทศก็ตาม

 

     Convention on Child Rights หรือ CRC หรือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยมีผลบังคับใช้ในไทยตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2535 ซึ่งอนุสัญญาฉบับนี้ เป็นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ได้รับความเห็นชอบมากที่สุดในโลก โดยทุกประเทศในโลกได้ให้สัตยาบัน ยกเว้นประเทศโซมาเลียและสหรัฐอเมริกา โดย อนุสัญญาฉบับนี้ระบุรายละเอียดของสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ว่าทุกประเทศต้องรับประกันเด็กในประเทศของตน ได้แก่

• สิทธิที่จะมีชีวิตรอด – ได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัย

• สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา – มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม

• สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง - ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ

• สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม – ในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง

ทุกๆ 5 ปี แต่ละประเทศจะต้องจัดทำรายงานความก้าวหน้าเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิเด็ก ซึ่งประจำอยู่ที่กรุงเจนีวา และมีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบการดำเนินงานของแต่ละประเทศในการรับประกันสิทธิต่างๆ ของเด็กที่ระบุไว้ในอนุสัญญา

จากรายงานฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 3 และ 4) ของประเทศไทยที่จัดส่งให้คณะกรรมการสิทธิเด็กเมื่อ พ.ศ. 2555 คณะกรรมการได้ตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินงานของประเทศไทยมีความก้าวหน้าหลายประการในส่วนของการร่างกฎหมายและจัดโครงสร้างของรัฐเพื่อให้ความคุ้มครองแก่เด็กและปกป้องสิทธิของพวกเขา อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการยังคงเน้นถึงความห่วงใยในหลายด้าน ได้แก่

• การปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กผู้ลี้ภัย

• การบังคับใช้กฎหมาย

• การกำกับดูแล และการเก็บข้อมูล

• งบประมาณของประเทศไทยในการทำงานด้านเด็ก

• การพัฒนากลไกคุ้มครองและช่วยเหลื่อเด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายและถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ ทั้งที่เกิดในครอบครัวและนอกครอบครัว

• การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานแก่เด็กทีขาดโอกาสที่สุด ได้แก่ เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ เด็กผู้ลี้ภัย เด็กเร่ร่อน เด็กอพยพ เด็กยากจน เด็กที่กระทำผิด และเด็กที่ถูกค้ามนุษย์ เด็กพิการ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้

• อายุขั้นต่ำของเด็กที่ต้องรับโทษทางกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 10 ขวบในประเทศไทย ซึ่งเป็นอายุที่ต่ำเกินไป

• ความเหลือมล้ำในสังคม

 

     International Convention on the Rights of Persons with Disabilities หรือ CRPD หรือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ โดยไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อ 30 มีนาคม พ.ศ. 2550 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 โดยอนุสัญญานี้ เน้นไปที่การขจัดอุปสรรคจากภายนอก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของผู้พิการ ตลอดจนการแก้ไขความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการ ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และขัดขวางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นอย่างยิ่งถือเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ให้หลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อคนพิการ อย่างเสมอภาคทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป และเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติฉบับแรก ในศตวรรษที่ ๒๑

     ความยากลำบากในการดำรงชีวิตของคนพิการรูปแบบต่าง ๆ มิได้เกิดจากความบกพร่องของสภาพทางกาย จิตใจ พฤติกรรม หรือสติปัญญาซึ่งเป็นเพียงเหตุให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตระดับหนึ่งเท่านั้น หากแต่เกิดจากอุปสรรคภายนอก ซึ่งเป็นโทษกรรมที่สังคมเป็นผู้สร้างขึ้นทั้งสิ้น

     อนุสัญญาฯ ดังกล่าว นับเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายด้านคนพิการในประเทศไทย อย่างมากมาย โดยได้บัญญัติสาระสำคัญอันเกี่ยวข้องกับสิทธิของคนพิการไว้ในกฎหมายต่างๆ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 20 ฉบับ อันเป็นการสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่เป็นสากลสำหรับคนพิการไว้ในกฎหมายไทยที่สอดคล้องกับความในอนุสัญญา ฯ

     สำหรับในประเทศไทยนั้น บ่อยครั้งที่คนพิการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกับคนทั่วไป ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญต่อคนพิการโดยมิใช่เพียงเพราะเห็นว่าคนพิการเป็นบุคคลผู้น่าสงสารหรือผู้ประสบปัญหาทุกข์ยากเดือดร้อน  แต่เพราะเห็นว่าคนพิการเป็นผู้ที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเป็นบุคคลที่จำต้องได้รับการปฏิบัติจากรัฐอย่างเสมอภาคเช่นเดียวกับบุคคลทั้งหลายซึ่งมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้เป็นหลักประกัน  เพราะฉะนั้น ความสำคัญของคนพิการที่รัฐจำต้องให้ความคุ้มครองจึงแปรผันจากแนวคิดแบบความเวทนาปรานี (compassion) มาเป็นความสำคัญตามแนวคิดแบบสิทธิ (right)

     เมื่อไม่นานมานี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ ๑๕/๒๕๕๕ ตัดสินว่า พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๒๖ (๑๐) เฉพาะส่วนที่บัญญัติว่า “...มีกายหรือจิตใจไม่เหมาะสมที่จะเป็นข้าราชการตุลาการ...” ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๓๐ วรรคสาม  โดยเหตุผลสำคัญคือ บทบัญญัติในส่วนดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องความพิการ อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕/๒๕๕๕ มิได้เป็นคำวินิจฉัยที่มีผู้เห็นพ้องต้องตามโดยปราศจากข้อโต้แย้ง  หากแต่มีความเห็นทางวิชาการที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากคำวินิจฉัยดังกล่าวมีปัญหาเกี่ยวกับหลักกฎหมายมหาชนบางประการ และอาจนำมาซึ่งผลที่ไม่พึงควรจะเกิดขึ้นในระบบกฎหมายไทยตามมาในอนาคต

 

http://neppr56.nep.go.th/claim/อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ-crpd

http://www.unicef.org/thailand/tha/overview_5954.html

http://www.sac.or.th/databases/cultureandrights/cultural-rights-forum/list-of-readings/1753-2/

http://www.humanrights.asia/news/alrc-news/human-rights-council/hrc18/ALRC-CWS-18-03-2011-TH

http://www.eoc.org.hk/eoc/Upload/thai/files/PD.pdf

http://cedawwatch.files.wordpress.com/2008/03/cedaw1.pdf

(http://www.l3nr.org/posts/367785)

http://www.l3nr.org/posts/262449

หมายเลขบันทึก: 566468เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2014 23:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท