กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


ที่มา : http://nalub7.wordpress.com/2013/02/25/sociologia-...

     ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ พ.ศ.1491 ในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชชาติ โดยประเทศสมาชิกต่างมีเจตจำนงค์ประการสำคัญว่า การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเงื่อนสำคัญประการหนึ่งที่จะก่อให้เกิดสันติภาพในประเทศสมาชิกที่ร่วมองค์กรและสังคมระหว่างประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่างๆ เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ, ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง, การเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ตลอดจนกติการะหว่างประเทศที่ว่าด้วยการจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ฯลฯ เป็นต้น [1]

     สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนมีลักษณะเป็นสนธิสัญญาพหุภาคี กล่าวคือ เป็นสนธิสัญญาที่มีรัฐมากกว่าสองรัฐขึ้นไปเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญา ซึ่งกระบวนการในการทำสนธิสัญญามีหลายขั้นตอนนับตั้งแต่การเจรจา การให้ความยินยอมของรัฐเพื่อผูกพันตามสนธิสัญญาโดยการลงนาม การให้สัตยาบัน การภาคยานุวัติ และบางรัฐอาจตั้งข้อสงวน หรือตีความสนธิสัญญา และเมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนในการทำสัญญาครบถ้วนแล้ว ภาคีก็มีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาต่อไป การเข้าเป็นภาคีของสนธิสัญญาก่อให้เกิดพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับสนธิสัญญา มิฉะนั้นอาจต้องรับผิดในทางระหว่างประเทศ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ประเทศไทยก็ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งสหประชาชาติถือเป็น สนธิสัญญาหลัก จำนวน 7 ฉบับได้แก่

     1.อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child - CRC)

     2.อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Woman - CEDAW)

     3.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covernant on Civil and Political Rights - ICCPR)

     4.กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covernant on Economics, Social and Cultural Rights - ICESCR)

     5.อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination - CERD)

     6.อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment - CAT)

     7.อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities – CRPD [2]

     โดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covernant on Civil and Political Rights - ICCPR)

     ข้อ 12

     1. บุคคลทุกคนที่อยู่ในดินแดนของรัฐใดโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในอาณาเขตของรัฐนั้น
     2. บุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะออกจากประเทศใดรวมทั้งประเทศของตนโดยเสรี
     3. สิทธิดังกล่าวข้างต้นไม่อาจถูกจำกัดตัดทอนอย่างใดอย่างหนึ่ง เว้นแต่เป็นไปตามกฎหมายอันจำเป็นต้องมีเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุขหรือศีลธรรม หรือสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และสอดคล้องกับสิทธิอื่นอันรับรองไว้แล้วในกติกาฉบับนี้
     4. บุคคลจะถูกลิดรอนสิทธิในการเดินทางเข้าประเทศของตนโดยพลการหาได้ไม่ [3]

     ซึ่งเมื่อพิจารณาจาก ICCPR ข้อ 12 ประกอบกับกรณีเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศไทยมีการจำกัดสิทธิในการเดินทางและการเลือกที่อยู่อาศัยของคนบางกลุ่ม เช่น บุคคลที่ถือบัตรหมายเลข 0 ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "กลุ่มบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน" ส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม คนชนเผ่า ทางภาคเหนือเช่นชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคใต้ก็เช่นชาวเลมอร์แกน หรือแม้แต่เด็กเร่รอนที่ไม่รู้ว่าใคร คือ พ่อแม่ บุคคลเหล่านี้เนื่องจากตกสำรวจบ้าง หรือไม่มีหลักฐานแสดงตน เช่น ใบรับรองการเกิดที่จะพิสูจน์จุดเกาะเกี่ยวกับแผ่นดินไทยบ้าง สุดท้ายจึงไม่ได้รับการยอมรับให้เป็นพลเมืองจากรัฐไทย แต่เพราะเขามีชีวิตและตัวตนจริงบนแผ่นดินไทย มีพี่น้องครอบครัวอยู่ในแผ่นดินไทย รัฐจึงลงทะเบียนให้เป็นบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน ให้เลขที่บัตรประจำตัวบุคคลขึ้นต้นด้วยเลข 0 แทบจะไม่มีสิทธิใดๆ จากรัฐไทย ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ไม่มีสิทธิที่จะถือครองทรัพย์สิน ไม่มีสิทธิทำใบขับขี่ ไม่มีสิทธิในการเดินทางอย่างเสรี เป็นคนไร้รัฐอย่างสมบูรณ์ ในประเทศไทยมีคนกลุ่มนี้ประมาณ 210,000 คน [4] หรือในกรณีบุคคลผู้หนีภัยความตายมาอยู่ในค่ายก็จะถูกจำกัดให้อยู่แต่เพียงในพื้นที่ที่กำหนด หากออกไปนอกค่ายจะกลายเป็นบุคคลที่เข้าเมืองผิดกฎหมายทันที ซึ่งเมื่อพิจารณาปัญหาดังกล่าวเเล้วจะทำให้เกิดคำถามที่ว่า "การที่ประเทศไทยจำกัดสิทธิในการเดินทาง การเลือกที่อยู่อาศัยเช่นนี้นั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อ ICCPR หรือไม่?"

ที่มา : http://tolonnews.blogspot.com/2011/07/blog-post_30...

     จากคำถามที่เกิดขึ้นข้างต้นในความคิดเห็นของข้าพเจ้ามีความเห็นดังนี้

     ในกรณีที่รัฐได้มีการออกเลขประจำตัวให้แก่บุคคลเเล้ว แม้ว่าจะเป็นเลข 0 ก็ตามถือว่าประเทศไทยได้มีการรับรองสภาพของบุคคลคนนี้เเล้ว บุคคลนี้ไม่ใช่คนไร้รัฐแม้จะเป็นคนต่างด้าวหรืออะไรก็ตาม ดังนั้น การจำไปจำกัดสิทธิของบุคคลนั้นจึงเป็นการกระทำที่ไม่น่าจะสามารถทำได้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณา ICCPR ข้อ 12 ในข้อย่อยที่ 3 ซึ่งมีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าสิทธิดังกล่าวนั้นไม่สามารถจะจำกัดได้ เว้นเเต่ เป็นไปตามกฎหมายที่ออกมาเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ประโยชน์สาธารณะ ความสงบเรียบร้อยต่างๆ หรือกรณีอื่นๆที่สอดคล้องกับสิทธิตามกติกาฉบับนี้ ดังนั้น การที่ประเทศไทยจำกัดสิทธิของคนบางประเภทนั้นหากทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศ หรือสาธารณะแล้วนั้นย่อมไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อ ICCPR

     ในส่วนของกรณีของผู้หนีภัยความตายที่ถูกจำกัดให้อยู่เเต่ในค่าย ข้าพเจ้ามองว่าการที่ประเทศไทยได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หนีภัยความตายเเละได้มีการกำหนดเขตพื้นที่ให้อยู่อาศัยโดยเฉพาะนั้นเป็นความช่วยเหลือเเละรับรองสิทธิในพื้นที่ที่จำกัดไว้โดยเฉพาะ หากมีการหนีออกมาจากค่ายก็น่าจะถือว่าเป็นการสิ้นสิทธิที่รัฐให้ไป จึงเป็นบุคคลที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายเเละไม่มีสิทธิใดๆตามที่ประเทศไทยได้ลงนามใน ICCPR แต่อย่างใด

     ทั้งนี้ในทุกกรณีต่างควรมีการจัดลำดับความสำคัญหรือความจำเป็นของบุคคลที่จำต้องเดินทางหรือออกไปจากพื้นที่ที่กำหนดไว้ให้ ซึ่งควรจะเป็นข้อยกเว้นที่ให้บุคคลที่เเม้จะถูกจำกัดสิทธิก็สามารถเดินทางหรือออกจากพื้นที่ที่กำหนดได้ เหตุจำเป็นดังกล่าว เช่น กรณีที่มีความจำเป็นอันถึงแก่ชีวิต เป็นต้น

     กล่าวโดยสรุปแล้วข้าพเจ้ามองว่าแม้จะมีการให้สิทธิใดๆก็ตาม แต่การใช้สิทธินั้นจำต้องมีขอบเขตที่จำกัดให้เหมาะสมเเละไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสังคมในวงกว้างหรือความมั่นคงของประเทศ จึงจะสามารถใช้สิทธินั้นได้อย่างเต็มที่ แต่หากการใช้สิทธิส่งผลกระทบใดๆซึ่งเป็นผลเสียมากกว่าผลดีก็สมควรที่จะมีการจำกัดสิทธินั้นได้โดยไม่ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อ ICCPR ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามไว้และต้องปฎิบัติตาม


นางสาวชนากานต์ เฉยทุม

เขียนเมื่อ : วันที่ 21 เมษายน 2557


อ้างอิง

[1] แนวทางปฏิบัติและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ. แหล่งที่มา : http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/contentpage.php?id=23&menu_id=2&groupID=2&subID=21 21 เมษายน 2557.

[2] พันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนคืออะไร. แหล่งที่มา :http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/contentpage.php?id=21&menu_id=2&groupID=2&subID=1921 เมษายน 2557.

[3]กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง. แหล่งที่มา : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=3004021 เมษายน 2557.

[4] ตื่นตัว AEC ต้องใส่ใจคนเลข 0. แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000005299 21 เมษายน 2557.

มาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ. แหล่งที่มา : http://law.east.spu.ac.th/law/admin/waaa_file/A29mahachai2.pdf 21 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 566460เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 21:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 21:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท