กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(UDHR)ได้ถือกำเนิดขึ้นโดยการรับรองของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สำหรับเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน โดยไม่มีการแบ่งแยกหรือเลือกปฏิบัติทางใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านเชื้อชาติ สีผิว เพศ อายุ สถานะทางสังคม ศาสนาและวัฒนธรรม และได้กลายเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ในการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในเวลาต่อมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมรับรองปฏิญญาฉบับนี้ในปี 2491 ท่ามกลางบรรยากาศหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่เรียกร้องถึงสันติภาพ การเคารพสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีของมนุษย์ เพื่อป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมที่ทำลายล้างชีวิตของมนุษยชาตินับล้านคนขึ้นอีกในอนาคต[1]

เมื่อถือว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฉบับนี้ ถือเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ในการวางรากฐานด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศฉบับแรกของโลก นั่นหมายถึงกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับในปัจจุบันล้วนมีพื้นฐานและได้รับการพัฒนา และมาจากปฏิญญาสากลฉบับนี้ทั้งสิ้น และกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากฎหมายภายในประเทศของประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศของตน หากมองในมุมของกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนและเกี่ยวข้องกับประเทศไทยนั้น จะเห็นว่ามีอนุสัญญาหลายฉบับที่ประเทศไทยได้ลงนามร่วมเป็นภาคีอนุสัญญา และยอมรับข้อตกลงระหว่างประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญๆ 7 ฉบับ จากทั้งหมด 9 ฉบับ สำหรับอนุสัญญาหลักอีก 2 ฉบับที่ไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีคือ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว

อนุสัญญาที่ไทยได้เข้าร่วมมีดังนี้

1. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2528

2. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child- CRC) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 ประกอบด้วยบทบัญญัติ 54 ข้อ ได้แก่เรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิของเด็กโดยตรง

3. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2539

4. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542

5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546

6. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550

7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities) มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551[2]

โดยในที่นี้ผู้เขียนขอนำเสนอเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ

“อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ”(Convention on the Rights of Persons with Disabilities ,CRPD) ถือเป็นอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ให้หลักประกันในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อคนพิการ อย่างเสมอภาคทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป และเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติฉบับแรก ในศตวรรษที่ ๒๑

สาระสำคัญของ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ” (Convention on the Rights of Persons with Disabilities ,CRPD) เน้นไปที่การขจัดอุปสรรคจากภายนอก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความยากลำบากในการดำเนินชีวิตของผู้พิการ ตลอดจนการแก้ไขความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการ ซึ่งก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และขัดขวางการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยหลักการ 2 ประการ ได้แก่

1. การพัฒนาสังคม (Social Development) เป็นการกำหนดมาตรการที่มุ่งพัฒนาบริการในด้านต่างๆ เพื่อช่วยให้คนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป

2. การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของคนพิการ ซึ่งรวมถึงการขจัดการเลือกปฏิบัติและการสร้างหลักประกันความเสมอภาคในทุกมิติ (Non-Discrimination and Equality)

นอกจากนี้อนุสัญญา ฯฉบับนี้ ยังมีคุณลักษณะเฉพาะ ที่ทำให้อนุสัญญาฉบับนี้มีความโดดเด่นและชี้ให้เห็นจุดที่อนุสัญญาฉบับอื่น ๆขาดไป อันได้แก่ หลักการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ (Accessibility)

1. การปรับสภาพแวดล้อม ทางกายภาพ อาคารสถานที่ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง สารสนเทศและการสื่อสาร และบริการต่างๆ ฯลฯ ให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยการออกแบบที่เป็นสากลและเป็นธรรม ต่อคนทุกกลุ่ม เช่น การออกแบบและก่อสร้างสุขาให้คนทุกกลุ่มรวมถึงคนพิการที่ใช้เก้าอี้เข็นสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป การออกแบบบริการข้อมูลผ่านเวปไซท์หรือสื่ออีเล็กทรอนิกส์อื่นใดให้อยู่ในรูปแบบที่ทุกคน รวมถึงคนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ เป็นต้น

2. การจัดให้มีเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สำหรับคนพิการแต่ละประเภท เช่น เครื่องช่วยฟังสำหรับคนหูหนวก โปรแกรมอ่านจอภาพคอมพิวเตอร์สำหรับคนตาบอด หรือป้ายบอกทางซึ่งใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจ เป็นต้น

3. การให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมหรือสมเหตุผล (Reasonable Accommodation) เพื่อลดความเสียเปรียบทางสังคมของคนพิการแต่ละประเภท เช่น การจัดบริการล่ามภาษามือให้แก่คนหูหนวก การให้มีผู้ช่วยคนพิการสำหรับคนพิการที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ อันไม่อาจตอบสนองได้โดยวิธีการทั่วไป รวมถึงความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น[3]

ประเด็นที่จะนำมาเสนอ คือประเด็นที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นานมานี้ คือเป็นประเด็นเกี่ยวกับการสมัครเข้ารับราชการตุลาการของผู้พิการคือสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้นำประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา โดยเนื้อหาของประกาศดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 15/2555 ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ว่า "พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (10) เฉพาะส่วนที่บัญญัติว่า "…กายหรือจิตใจไม่เหมาะสม…" เป็นถ้อยคำที่กำหนดลักษณะทางร่างกายหรือจิต ที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้สมัครทดสอบความรู้ หรือผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกพิเศษเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาที่เกินจำเป็น จึงเป็นการจำกัดสิทธิในการบรรจุเข้ารับข้าราชการตุลาการของผู้พิการ โดยคำนึงถึงสภาพร่างกายหรือจิตของผู้พิการเพียงอย่างเดียว และเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้าสอบใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง โดยมิได้กำหนดว่ากายหรือจิตใจลักษณะใดเป็นความไม่เหมาะสม จนไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตุลาการได้ อีกทั้ง มิได้คำนึงถึงความรู้ความสามารถอันเป็นภารกิจหลักของตุลาการหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี [4]

จากประเด็นปัญหาดังกล่าวนั้น ผู้เขียนมองว่า ในหลักความเป็นจริงตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้นมนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพ และไม่ควรมีผู้ใดมาจำกัดสิทธิที่จะต้องการประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่ง หากบุคคลมีความรู้ความสามารถมากพอก็ต้องสามารถทำงานหรือประกอบอาชีพนั้นได้โดยไม่จำต้องคำนึงถึงคุณลักษณะอย่างอื่น

แต่ สิ่งที่แน่นอนกว่าความเท่าเทียมกันของสิทธิในการเลือกประกอบอาชีพ นั่นคือในการรับบุคคลเข้าทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งนั้น มักจะมีข้อกำหนด กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครไว้เสมอ ตามประเด็นปัญหา คือการที่มีผู้พิการต้องการที่จะสมัครเข้าเป็นข้าราชการตุลาการ แต่ได้ถูกปฏิเสธ โดยอ้างว่ามีกายหรือจิตใจที่ไม่เหมาะสม ในกรณีนี้ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิโดยไม่ชอบธรรม เนื่องจากคนทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณา หากผู้พิการไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกจำกัดสิทธินั้นย่อมเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญาด้วย แต่ก็มีทางแก้ปัญหาของประเด็นนี้อยู่ ได้แก่การกำหนดประเภท หรือระดับของความพิการให้แน่นอน และเหมาะสม ว่าผู้พิการประเภทใดบ้างที่มีคุณสมบัติ และมีบุคลิกภาพที่จะพอพิจารณาในการรับเข้าประกอบอาชีพ เนื่องจากไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าอาชีพเกี่ยวกับข้าราชการตุลาการนั้นเป็นอาชีพที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถือพอสมควร ผู้ที่จะเข้ารับราชการในตำแหน่งนี้นั้นจึงต้องเป็นผู้ที่คณะกรรมการการคัดเลือกเห็นสมควรโดยคำนึงถึงผลดีผลเสียที่จะตามมา


[1] http://bbs.pramool.com/webboard/view.php3?katoo=C56467

[2] http://www.l3nr.org/posts/467177

[3] www.neppr56.nep.go.th

[4] http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=389119

หมายเลขบันทึก: 566470เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท