กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย


กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

                สิทธิมนุษยชน (Human Right) หมายถึง สิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลที่ได้รับการรับรอง ทั้งความคิดและการกระทำที่ไม่มีการล่วงละเมิดได้ โดยได้รับการ คุ้มครองตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ[1]และความเท่าเทียมกันของสิทธิต่างๆของประชาชนคนไทยนั้น ได้มีการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย เพื่อเป็นเครื่องประกันในการกำชับ และเรียกร้องเมื่อถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย อย่างชัดเจน เช่น 

มาตรา ๔ บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง”

มาตรา ๒๖ บัญญัติว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ”

มาตรา ๒๘ บัญญัติว่า “บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล อื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

จะเห็นได้ว่าได้มีกฎหมายรองรับการกระทำต่างๆเพื่อไม่ให้ละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยังมีประเด็นขัดแย้งเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานในการที่จะดำรงชีวิต นั่นคือเรื่องโทษประหารชีวิต ซึ่งเป็นที่โต้เถียงกันว่า โทษประหารชีวิตซึ่งถือเป็นโทษสูงสุดทางอาญานั้น ขัดต่อหลักสิทธิขั้นพื้นฐานชองประชาชนหรือไม่ เพราะตามหลักแล้วมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตและได้รับการคุ้มครองชีวิตและร่างกายจากกฎหมาย แต่เมื่อเป็นกรณีที่กฎหมายนั้นได้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อจำกัดและทำลายชีวิตนั้น สมควรที่จะให้มีกฎหมายใช้ต่อไปหรือไม่ หรือควรจะแก้ไขให้ทำการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยวิธีอื่น

ซึ่งในประเด็นนี้ก็ได้มีนักวิชาการออกมาแสดงความคิดเห็น ซึ่งสามารถที่จะแบ่งเป็นสองความคิดเห็น คือ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการมีโทษประหารชีวิตพร้อมต้องการให้ยกเลิกการประหารชีวิต และฝ่ายที่เห็นด้วยกับการคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตและต่อต้านยกเลิกโทษประหารชีวิต

ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า การลงโทษประหารชีวิตเป็นการปฏิเสธสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่สุดสำหรับบุคคล นั่นคือ เป็นการละเมิด “สิทธิในการมีชีวิต” ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โทษประหารชีวิตเป็นการสังหารบุคคลโดยรัฐเป็นผู้ลงมืออย่างเลือดเย็นและมีการไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และที่น่าหวาดหวั่นที่สุด คือ การลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม[2] และได้มีงานวิจัยที่จัดทำขึ้นสำหรับสหประชาชาติในปี 2531 และ 2545 เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างโทษประหารชีวิตกับอัตราการฆาตกรรม พบว่า การคงไว้ซึ่งอัตราโทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยยับยั้งอัตราการฆาตกรรมมากไปกว่าอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต ดังนั้น ในความเป็นจริงการคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตไม่สามารถยับยั้งหรือลดจำนวนการเกิดอาชญากรรมได้ กระบวนการยุติธรรมที่ไม่สมบูรณ์นั้นหลายครั้งนำไปสู่การลงโทษผู้บริสุทธิ์ ผู้ต้องหาหลายคนถูกจำคุกยาวนานหลายปีโดยไม่ได้ทำความผิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงโทษด้วยการประหารชีวิตนั้นไม่สามารถย้อนกลับผลของการกระทำได้  ผู้ต้องหาหลายคนซึ่งโดยส่วนมากคือคนที่ไม่มีอิทธิพลใด หรือเป็นผู้ยากไร้ต้องกลายเป็นแพะรับบาป และเมื่อได้ถูกประหารชีวิตไปแล้ว การจะเรียกชีวิตกลับคืนเมื่อยืนยันความบริสุทธิ์ได้แล้วนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นแล้วทางแก้ปัญหาคือ การยกเลิกโทษประหารชีวิต [3]

ส่วนฝ่ายที่เห็นด้วยกับการมีโทษประหารและต่อต้านการยกเลิกโทษประหารนั้น ให้เหตุผลว่าเพราะกลัวว่าหากไม่มีโทษประหาร อาชญากรรมจะเพิ่มสูงขึ้น และเพื่อก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคมเนื่องจากสังคมมนุษย์ที่มีประชากรจำนวนมากจะมีความแตกต่างหลากหลายค่อนข้างสูง ทั้งลักษณะทางกายภาพ และความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ  โทษประหารชีวิตจึงเป็นเครื่องมือควบคุมให้ผู้ที่ก่อความเดือด ร้อนวุ่นวายต่อผู้อื่น และสังคมต้องได้รับการลงโทษ  และเป็นเครื่องมือที่จะป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นเนื่องจากความเกรงกลัวในผลจากการกระทำความผิดต่อมา[4] และในปัจจุบันประเทศไทยก็ได้ใช้กฎหมายลงโทษประหารชีวิตในกรณีที่เป็นความผิดที่หนักหนา หากพิจารณาไปถึงความผิดของผู้จะต้องได้รับโทษประหารชีวิตแล้ว  เขาหรือเธอก็สมควรได้รับโทษขั้นรุนแรง เพราะหากว่าความผิดที่ได้กระทำเป็นสิ่งที่มีความร้ายแรง และมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อผู้อื่นและสังคมส่วนรวม  เป็นต้นว่าเขาหรือเธอไปทำลายชีวิตของบุคคลอื่น  เมื่อมองในแง่นี้ สมควรแล้วที่เขาหรือเธอผู้นั้นจะต้องได้รับการตอบแทนในรูปแบบเดียวกัน  น่าจะจัดได้ว่าเป็นความเท่าเทียมกัน

ในความคิดเห็นของผู้เขียนนั้นมีความเห็นว่า ควรคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต ถึงแม้ว่าจะได้มีการทำวิจัยออกมาบ้างแล้ว ว่าแม้มีโทษประหารชีวิตก็ไม่ได้ทำให้คดีเกี่ยวกับการฆาตกรรมจะลดน้อยลงแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้หากมองในแง่มุมของสังคมในประเทศไทยแล้ว แม้จะมีกฎหมายบัญญัติโทษขั้นสูงไว้ แต่สื่อก็ยังมีการนำเสนอข่าวคดีฆาตกรรมอย่างต่อเนื่อง หากในกรณีที่ไม่ได้กำหนดโทษขั้นสูงสุดเป็นโทษประหารชีวิต ข่าวทำนองดังกล่าวนั้นจะไม่ทวีคูณขึ้นหรือ และที่สำคัญกฎหมายของประเทศไทยก็บัญญัติโทษประหารชีวิตไว้ในวงจำกัดของผู้ที่มีความผิดร้ายแรงเท่านั้น หากจะอ้างว่าเป็นการโหดร้าย ทารุณ ขัดต่อหลักสิทธิขั้นพื้นฐาน แล้วมันไม่สมควรกับการกระทำของผู้กระทำความผิดที่ได้กระทำการอันโหดร้ายจนในที่สุดตนก็ต้องรับผลแห่งการทำผิดนั้นหรอกหรือ

 

[1] http://kittayaporn28.wordpress.com/โลกศึกษา-2/หน่วย-5/สิทธิมนุษยชน-human-right/human-right/

[2] http://www.amnesty.or.th/th/our-work/end-the-death-penalty

[3] http://www.amnesty.or.th/th/component/k2/item/307=component&print=1

[4] http://www.l3nr.org/posts/259306

หมายเลขบันทึก: 566469เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2014 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2014 23:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท