สุนทรียสนทนาในห้องเรียนวิชาจริยธรรมและทักษะชีวิต


 

สุนทรียสนทนาในห้องเรียนวิชาจริยธรรมและทักษะชีวิต

อ.วรากรณ์ พูลสวัสดิ์

 

 

บทนำ

                การศึกษาที่ดีที่สุดต้องมีใจเป็นฐานทำให้มนุษย์อยากเรียนรู้และทำความเข้าใจสรรพสิ่ง เหตุนี้การศึกษาที่ดี มีศักยภาพแห่งความใคร่รู้และสร้างสติปัญญาจึงไม่ใช่การยัดเยียดความรู้ ข้อมูลและข่าวสารใดๆซึ่งมีครูอาจารย์เป็นผู้กำหนดแต่เพียงฝ่ายเดียว หากต้องคำนึงถึง “ความรักเรียน” ของศิษย์หรือผู้เรียน จะต้องคำนึงถึงฐานคิดที่เป็นทุนรอนดั้งเดิมของศิษย์ แล้วครูอาจารย์เข้าไปกระตุ้นหรือแต่งเติมความคิดนั้น เฉกเช่นปฏิมากรแกะสลักหินอ่อนหรือหยกเนื้อดีเป็นงานศิลปกรรมงดงามตระการตา(พิทยา ว่องกุล อ้างใน เกียรติวรรณ อมาตยกุล,๒๕๔๕ : (๓) ) การเรียนรู้ของมนุษย์มี ๒แบบคือ การเรียนรู้ภายนอกและการเรียนรู้ภายใน การเรียนรู้ภายนอกคือ การเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ทางโลกหรือที่เรียกว่าเป็นทางสมมติหรือสมมติบัญญัติ ซึ่งต่างจากการเรียนรู้ภายใน คือ การเรียนรู้ภายในจิตใจของเราเองซึ่งเป็นการเรียนรู้ความจริงภายในตน เรียนรู้กระบวนการคิดและจิตใจของเรา อิทธิพลของอารมณ์ของจิตใจหรือที่เรียกว่าทางวิมุติ เป็นการเรียนรู้เพื่อให้จิตใจเป็นอิสระ ค้นพบจิตเดิมแท้ของตนเอง ไม่มีการปนเปื้อนทางจิตใจ มีสติอย่างต่อเนื่องจนเกิดปัญญาที่แท้จริง(วรภัทร์ ภู่เจริญ, ๒๕๕๑ : ๑๘) การเรียนรู้ดังที่กล่าวมานี้เป็นการเรียนรู้แนวใหม่เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยเฉพาะพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่าการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ

 

ภาคปริยัติ

ความรู้เชิงทฤษฎี

 

จิตปัญญาศึกษา : การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ (Contemplative Education)

                         จิตตปัญญาศึกษาเป็นการศึกษาที่เน้นกระบวนการพินิจพิเคราะห์ใคร่ครวญด้วยใจเพื่อให้ผู้ศึกษาย้อนกลับไปหารากเหง้าของคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของการเรียนรู้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพลวัตรไม่หยุดนิ่งจนสามารถเห็นสรรพสิ่งที่สัมพันธ์เชื่อมโยงและเปลี่ยนแปลงไปมาตามสภาพความเป็นจริง ทั้งนี้ทั้งนั้นโดยใช้หลักคำสอนทางศาสนา ดนตรี ศิลปะตลอดจนธรรมชาติซึ่งถือเป็นเครื่องมืออย่างดีที่สามรถทำให้เกิดการหยั่งรู้ภายใน จนก่อให้เกิดการค้นพบแนวทางใหม่ในการดำเนินชีวิตที่ดีมีความสุขสงบอย่างแท้จริงด้วยตัวของตัวเองและสามารถสัมผัสคุณค่าของการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันเพื่อให้เกิดการมีดุลยภาพของสรรพสิ่ง(จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร,๒๕๕๓ : ๒๔-๒๕) คำว่า จิตตปัญญาศึกษา เดิมใช้คำภาษาอังกฤษว่า Contemplative Education ซึ่งที่ประชุมราชบัณฑิตของไทยได้บัญญัติคำนี้ว่า จิตตปัญญาศึกษา ศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ ได้เป็นผู้นำเสนอคำนี้ โดยมีนัยว่าการพัฒนาคนอย่างยั่งยืนนั้น จะพัฒนาเพียงกาย ใจ ให้รู้ รับรู้ เพียงมีความรู้คู่คุณธรรมไม่พอ ต้องพัฒนาในมิติที่ลึกกว่า คือพัฒนาในมิติจิตใจและจิตวิญญาณโดยมีจุดมุ่งหมายที่เน้นให้เกิดการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ผ่านการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ

                         วิจักขณ์ พานิช(อ้างใน นฤมล อเนก,๒๕๕๒) ได้อธิบายถึงกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญว่าเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ที่ได้ความรู้จากประสบการณ์ กระบวนการเรียนรู้ ประกอบด้วย 3 ลักษณะ คือ 1. การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) หมายถึง ฟังด้วยหัวใจ ด้วยความตั้งใจอย่างสัมผัสได้ถึงรายละเอียดของสิ่งที่เราฟังอย่างลึกซึ้งด้วยจิตที่ตั้งมั่น การฟังด้วยความเคารพเคารพ คือ การฟังทั้งหมดอย่างไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะที่ชอบหรือไม่ชอบ เป็นการพยายามมองสิ่งต่างๆ ว่ามีการถักทอเป็นผ้าผืนเดียวกัน เป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด เป็นการมองหาสิ่งดีที่สุดในตัวบุคคลหนึ่ง พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเรา 2. การน้อมสู่ใจอย่างใคร่ครวญ (Contemplation) เป็นกระบวนการต่อเนื่องจากการฟังอย่างลึกซึ้ง กอปรกับประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตในทางอื่นๆ เมื่อเข้ามาสู่ใจแล้ว มีการน้อมนำมาคิดใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องอาศัยความสงบเย็นของจิตใจเป็นพื้นฐาน จากนั้นก็ลองนำไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลจริง ก็จะเป็นการพอกพูนความรู้เพิ่มขึ้นในอีกระดับหนึ่ง 3. การเฝ้ามองเห็นตามที่เป็นจริง (Meditation) การปฏิบัติธรรมหรือการภาวนา คือ การเฝ้าดูธรรมชาติที่แท้จริงของจิต นั่นคือ การเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ความบีบคั้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง และสภาวะของการเป็นกระแสแห่งเหตุปัจจัยที่เลื่อนไหลต่อเนื่อง การปฏิบัติภาวนาฝึกสังเกตธรรมชาติของจิต จะทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงจากภายในสู่ภายนอก เห็นความเป็นจริงที่พ้นไปจากอำนาจแห่งตัวตนของตน ที่หาได้มีอยู่จริงตามธรรมชาติ เป็นเพียงการเห็นผิดไปของจิตเพียงเท่านั้น                

                        การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ด้วยวิธีการคิดอย่างเป็นระบบแบบโยนิโสมนสิการ จุดเริ่มคือการฟังด้วยหัวใจ ถือได้ว่าเป็นการจัดการความรู้ที่เป็นความรู้ฝังลึก(Tacit Knowledge)โดยนำภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมมาเป็นฐาน โอบอุ้มด้วยรักและเมตตาของกัลยามิตร ที่เห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน เป็นการเรียนรู้ด้านในที่ให้ความสำคัญและเอาใจใส่ในเรื่องของจิตใจ ผู้เรียนในทุกขณะ เป็นอีกมิติหนึ่งที่ใช้ในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร จนนำพาให้องค์กรเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ดังแนวคิดของนักการศึกษารุ่นใหม่อย่าง ปีเตอร์ เซงเก้ เป็นแนวทางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยมีจุดเริ่มต้นของการพัฒนาคือบุคคล การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่พรั่งพร้อมด้วยศีล สมาธิ การก่อเกิดปัญญา เป็นการหาคุณค่าและความหมายที่แท้จริงของชีวิต บนพื้นฐานความเชื่อในศักยภาพของการเรียนรู้ของมนุษย์อันไร้ขีดจำกัด ด้วยจิตที่อิสระจากอัตตาตัวตน สู่ความดี ความงาม และความจริง จนก่อเกิดความสงบเย็นและเป็นสุขอย่างยั่งยืน เป็นความรู้ทางปัญญาที่จะเกิดขึ้นจากประสบการณ์รอบตัว และเมื่อเราเพิ่มมิติของการใคร่ครวญด้วยหัวใจ เราจะสัมผัสได้ถึงคุณค่า และความงามที่ทำให้เกิดความรักความเมตตาอันกว้างใหญ่ไพศาลต่อสรรพสิ่ง ก่อให้เกิดพลังสร้างสรรค์ เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดสุขภาวะทางจิตวิญญาณ

                         การเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญคือแก่นแกนของพุทธศาสนา ที่เน้นหัวใจสำคัญอยู่ที่การเจริญสัมมาทิฐิและไตรสิกขา ซึ่งองค์ประกอบของสัมมาทิฐิจะเกิดได้ ก็ด้วยการน้อมรับฟังและนำมาพินิจพิจารณาใคร่ครวญด้วยใจอย่างยิ่ง (โยนิโสมนสิการ) ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และหากสามารถเข้าถึง “ไตรสิกขา” ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เป็นการศึกษาอันยอดเยี่ยมยิ่งกว่าระบบการศึกษาใดๆ (สิกขานุตตริยะ) ทำให้มนุษยชาติได้เข้าถึงสัจธรรมในระดับโลกุตระ เป็นการศึกษาที่ล้างกิเลส ความเห็นแก่ตัวได้จริง จึงสามารถช่วยคนอื่นได้จริง เพราะไม่มีอะไรต้องวนกลับมาหาอัตตาตัวตนอีกต่อไป

 

กระบวนการสุนทรียสนทนา

                         คำว่าสุนทรียสนทนา มาจากคำว่า Dialogue ซึ่งมีผู้แปลคำนี้แตกต่างกันเช่น สานเสวนา ภาวนาสนทนาเป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามคำนี้มีความหมายถึง กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ร่วมกันของกลุ่มบุคคลโดยเป็นการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ที่อยู่ด้านในตัวบุคคล อันเป็นความรู้ที่เจอปนไปด้วยประสบการณ์ ความรู้สึก ความนึกคิดที่ได้สะสมมาของบุคคล(มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร,๒๕๕๓ : ๒) Dialogue มาจากคำว่า Dial: มาจากภาษากรีก หมายถึง ทะลุทะลวง Logue : มาจากภาษากรีก หมายถึงคำพูด ดังนั้น Dialogue จึงหมายถึง คำพูดทะลวงใจ กระแทกใจ โดนใจ กระตุ้นไจและถ้าจะกล่าวในขั้นสูงก็คือ ชำระใจนั่นเอง(วรภัทร์ ภู่เจริญ,๒๕๕๒ : ๑๓)

                         มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร(๒๕๕๒ : ๑๐) ได้อธิบายความหมายของคำว่า Dialogue ว่า มีความหมายโดยพื้นว่า “สนทนา” แต่ความหมายจากรากศัพท์ได้ถูกอธิบายโดย เดวิ โบห์ม(Bohm) นักฟิสิกรางวัลโนเบลว่าหมายถึง “Through-การไหลผ่าน” ดังนั้นการสนทนาแบบที่เป็น Dialogue จึงหมายถึงการไหลของกระแสแห่งความหมายโดยที่ไหลผ่านตัวพวกเราไป และไหลไปมาระหว่าพวกเรา เมื่อเกิดการไหลเวียนของความหมายจึงปรากฏเป็นความเข้าใจใหม่และมีบางสิ่งเกิดขึ้นใหม่ รวมทั้งมีการแบ่งปันความคิด ความเข้าใจ ความรู้สึก ความหมายกันภายในกลุ่ม

                         เรือรบ(๒๕๕๓ : ๑๗ –๑๘) ได้อธิบายถึงกระบวนการสุนทรียสนทนาว่า สุนทรียสนทนาก็คือการจับกลุ่มล้อมวงกันเพื่อสนทนาในหัวข้อใดๆ ก็ได้ โดยเน้นที่การฟังเป็นหลักมากกว่าการพูด สิ่งแตกต่างที่เห็นได้ชัดจากการพูดคุยทั่วไปก็คือ บรรยากาศในวงนี้จะไม่มีการตัดสินและหาคำตอบในทันที กระทั่งการคัดค้านหรือสนับสนุนคำพูดของใครคนใดคนหนึ่งก็แทบไม่ปรากฏในวงสุนทรียสนทนา

                         การฝึกอบรมเพื่อการตื่นรู้ในแนวทางสุนทรียสนทนา เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา ที่ถือได้เป็นการเรียนรู้เชิงการบูรณาการแบบองค์รวมด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เองโดยมีหลักความเชื่อดังนี้คือ ศักยภาพของมนุษย์สามารถพัฒนาได้อย่างไร้ขีดจำกัด การเรียนรู้จะเกิดได้ดีเมื่อเกิดความต้องการที่จะเรียนรู้ด้วยตัวของผู้เรียนเอง ยิ่งไปกว่านั้นการจัดบรรยากาศที่ผ่อนคลายและรู้สึกปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ เจตคติ และค่านิยมของตนมาใช้ในกระบวนการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานภายในตนเอง และเกิดจิตอาสา โดยใช้ หลักขบวนการแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาดังนี้คือ หลักการการฟังอย่างใคร่ครวญ เป็นการสร้างสมาธิ สติและปัญญาเพื่อให้เข้าถึงเจตนาเกิดความเชื่อมโยงกับสรรพสิ่ง เกิดความรักความเมตตา เกิดการเชื่อมโยงสัมพันธ์สามารถเข้าถึงความจริงได้อย่างรื่นไหล เกิดความมุ่งมั่นเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้

 

กติกาในการจัดกระบวนการสุนทรียสนทนา      

              มนต์ชัย พินิจจิตสมุทร(๒๕๕๓ : ๑๐ – ๑๒) ได้อธิบายถึงกติกาในการจัดกระบวนการสุนทรียสนทนาโดยเห็นว่า กติกาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการสุนทรียสนทนา การรักษากติกาอย่างเข้มแข็งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการสุนทรียสนทนาซึ่งกติการที่สำคัญมีดังนี้

๑.    ปิดโทรศัพท์มือถือ

๒.   ไม่มีการพูดคุยย่อยหรือคุยซุบซิบกันในกลุ่ม จะต้องเป็น one meeting เท่านั้น

๓.   “วาง” หัวโขนตำแหน่งงาน ถือว่าสมาชิกทุกคนมีความเท่าเทียมกัน

๔.   สร้างบรรยากาศที่เปิดกว้าง(Openness) และรู้สึกเป็นอิสระ

๕.   ไม่เริ่มโดยมีจุดมุ่งหมายหาข้อสรุปร่วมกันในประเด็นอันใดอันหนึ่ง รวมทั้งไม่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาเรื่องใด

๖.    พูดทีละคน สมาชิกที่เหลือฟังอย่างตั้งใจ และ “วาง” กรอบความคิด และการตัดสินในด้านใดใด ไม่ว่าเรื่องที่พูด ผู้พูดหรือลักษณะที่พูด ฯลฯ

๗.   ไม่พูดแทรกขึ้นมา จนกว่าคนที่กำลังพูดอยู่ได้กล่าวจบให้อดทนรอได้และค่อยๆ ยกมือขวาขึ้นเพื่อแสดงความต้องการเสนอความคิดเมื่อการพูดก่อนหน้าสิ้นสุดลง

๘.   ไม่ตัดสิน แต่ให้ไตรตรองความคิดของตนเองว่ายึด “สมมติฐาน” ใดไว้

๙.    ในการพูดนั้นพูดต่อกลุ่มทั้งหมด ไม่เป็นการพูดไปยังคนใดคนหนึ่งเฉพาะ

๑๐.รักษา “หลักการเปิดพื้นที่” โดยไม่ครอบครองการพูดเพียงคนเดียว หรือเป็นส่วนใหญ่ ทุกคนจะต้องมีโอกาสได้พูดอย่างเท่าเทียมกัน และต้องพูดแสดงความคิดเห็นโดยสามารถหยิบยกขึ้นมาพูดได้ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้อง

๑๑.ไม่ยึดการพูดเอาไว้ ไม่พูดเป็นหลักอยู่คนเดียว อาจจะต้องให้คนอื่นได้พูดคั่นก่อน ๒-๓ ท่าน ก่อนจะพูดเพิ่มเติม และการพูดเสนอความคิดในแต่ละครั้งควรใช้เวลาสั้นๆ

๑๒.ไม่พูดนอกประเด็น แต่ขยายขอบเขตของเรื่องได้

๑๓.  ไม่มุ่งหาข้อสรุปหรือข้อตกลงในเรื่องใดหรือสิ่งใดและไม่ตัดสิน ความคิดเห็นใดใดตามมา ว่าเป็นสิ่งที่ถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ใช้ได้หรือไม่ได้ และด้านอื่นใดก็ตาม

๑๔.  ต้องไม่พยายามโน้มน้าวให้คนอื่นคล้อยตามความคิดของเรา

๑๕.  พูดในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สร้างสรรค์ความสมานสามัคคีและมีไมตรีจิตต่อกัน

๑๖.ไม่วิพากษ์คำพูดหรือความคิดของใคร และต้องไม่ใช้คำพูดว่า “ใช่ แต่ว่า.....(ตามด้วยประโยคที่บ่งบอกความคิดนั้นใช้ไม่ได้) แต่ให้ใช้คำพูดว่า “ ใช่ และ.....(เพื่อขยาย หรือเสริมต่อความคิด)”

๑๗.  ดำรงอยู่ในความเงียบ คือการไตร่ตรองความคิดของตนเอง กลับไปตั้งคำถามกับสมมติฐานของตนเอง และไม่ปกป้องสมมติฐานของตนเอง โดยการโต้แย้งหรือแสดงอากัปกิริยาขุ่นเคืองใจ

๑๘.  “ปล่อยวาง” สมมติฐาน และไม่ตัดสินทั้งของตนเองและของผู้อื่น

๑๙.แม้ว่า Dialogue ให้ความสำคัญกับการฟังอย่างตั้งใจอย่างทุ่มเทสมาธิเข้าไปฟังก็ตาม แต่สิ่งสำคัญคือ รักษาดุลยภาพของตัวเราในการ “ฟัง-ไตร่ตรอง-ซักถาม-นำเสนอความคิด” จึงต้องมีการแสดงออกทั้ง ๓ ประการ

๒๐.ไม่นำสิ่งที่กล่าวในวง Dialogue ไปเผยแพร่ขยายวงออกไปนอกวง อย่างมีวัตถุประสงค์ในเชิงลบ หรือก่อเกิดความเสียหายต่อสมาชิกและผู้อื่น

                         กระบวนการสุนทรียสนทนานี้หากใครหรือองค์กรใด กลุ่มใดได้ฝึกฝนพัฒนาการพูดคุยกันด้วยสุนทรียสนทนาแล้วจะมีผลอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับบุคคลและกลุ่มหรือองค์กร ดังที่มาร์กาเร็ต เจ. วีตเลย์(๒๕๔๙ : ๔) กล่าวไว้ในหนังสือหันหน้าเข้าหากันว่า “ฉันเชื่อว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ หากเพียงจะเริ่มต้นหันกลับมารับฟังกันและกันอีกครั้ง ด้วยบทสนทนาเรียบง่าย ซื่อตรง และเคารพต่อความเป็นมนุษย์ ...ซึ่งเราแต่ละคนจะมีโอกาสได้พูด มีผู้รับฟังเรา และเราต่างฟังกันและกันอย่างตั้งอกตั้งใจ จะเป็นอย่างไร หากเราหันกลับมารับฟังความเดือดเนื้อร้อนใจของกันและกัน ? หันกลับมารับฟังว่าอะไรคือพลังหรือความหวังของเรา หันกลับมารับฟังถึงความปรารถนา ความกลัว คำภาวนา และเรื่องราวของลูกหลานของกันและกัน”

 

แนวคิดให้ความรักก่อนให้ความรู้

                         ในกาจัดการศึกษาแนวใหม่เพื่อส่งศักยภาพของผู้เรียนหรือผู้เข้าอบรมนั้นให้เกิดเรียนรู้อย่างมีความสุขนั้น ครูอาจารย์ วิทยากร หรือกระบวนกรจะต้องยึดถือแนวคิดรักเรียน เรียนด้วยรัก ให้ความรักก่อนให้ความรู้ซึ่งเป็นแนวคิดที่เฮอร์เบิร์ต เอ็ม กรีนเบิร์ก(เกียรติวรรณ อมาตยกุล,แปล, ๒๕๔๕ : ๒)ได้เสนอไว้ในหนังสือ รักเรียน เรียนด้วยรักโดยท่านได้เสนอว่า ความรักเป็นรากฐานสำคัญทั้งการเรียนและการสอนเพราะ

                         ความรัก หมายถึง การเอาใจใส่ต่อบุคคลอื่น นั่นคือความรู้สึกที่ผู้สอนควรให้กับผู้เรียนทั้งในและนอกห้องเรียน

                         ความรัก หมายถึง การยอมรับ นั่นคือ การยอมรับว่า ผู้เรียนแต่ละคนต่างมีความสำคัญและมีความงามในตัว

                         ความรัก หมายถึง การให้ความสนใจอย่างจริงจังกับปัญหาและคำถามของอีกฝ่าย นั่นคือ การมีความสนใจอย่างแท้จริงกับสิ่งที่นักศึกษากำลังพูดหรือพยายามจะพูด

                         ความรัก หมายถึง ความตั้งใจที่จะฟังความเห็นของผู้เรียน

                         ความรัก หมายถึง การยอมรับในความแตกต่างของผู้เรียน เช่น การไม่ด่วนสรุปว่า ผู้เรียนบางคนเป็นคนไม่ดี ไม่มีความสามารถ เป็นคนไม่น่าคบและไม่สมควรได้รับความรัก การให้การศึกษาที่แท้จริงจึงต้องมีรากฐานมาจากความรัก

 

ภาคปฏิบัติ

             เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าได้อ่านบทความในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่อง เพื่อนครูมหิดล เขียนโดย สรยุทธ รัตนพจนารถ ท่านได้เล่าถึงกิจกรรมประชุมเสวนาสัญจร เรื่อง “ เพื่อนครูมหิดล : ความสุขและความหมายในชั้นเรียน” มี“ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ ๓๐ คน มีทั้งอาจารย์และนักศึกษาต่างมาร่วมกันค้นหาวิธีนำความสุข ความหมาย ความมีชีวิตชีวาในชั้นเรียนกลับคืนมา ทั้งหมดนั่งกับพื้นล้อมวงแลกเปลี่ยนในประเด็นต่างๆ” สรยุทธ รัตนพจนารถ เนื้อหาของบทความนี้อธิบายถึงการปรับปรุงวิธีการเรียนการสอน เทคนิคและวิธีการเข้าไปรู้จักและเชื่อมโยงกับนักศึกษา การประชุมครั้งนี้แม้จะไม่มีคำว่า สุนทรียสนทนาอยู่ในบทความ แต่ข้าพเจ้าก็เข้าใจได้ทันทีว่านี้คือกิจกรรมสุนทรียสนทนา ซึ่งเป็นที่สนใจอย่างยิ่งของข้าพเจ้าในเวลานี้

             เมื่อได้อ่านบทความนี้จบแล้วข้าพเจ้ารู้สึกปีติใจอย่างบอกไม่ถูก มีพลังใจบางอย่างกระทุ้งให้มีกำลังใจว่าที่ข้าพเจ้าได้พยายามวิเคราะห์ปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเอง โดยการนำกิจกรรมจิตตปัญญาศึกษ สุนทรียสนทนา และแนวคิดให้ความรักก่อนให้ความรู้มาปรับปรุงการสอนอยู่นั้น ปรากฎว่ามีคนคิดและทำตรงกันกับข้าพเจ้าแล้วโดยมิได้นัดหมายกันมาก่อน ข้าพเจ้านำบทความนี้มาอ่านซ้ำอีกหลายครั้งในค่ำคืนและตอนเช้าเมื่อเข้าห้องน้ำซึ่งเป็นห้วงยามที่ใจข้าพเจ้าสงบอย่างยิ่ง

ตั้งแต่ข้าพเจ้าเข้ารับเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้มาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้สอนในรายวิชาศึกษาทั่วไปคือวิชาความจริงของชีวิต ต่อมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นรายวิชาจริยธรรมและทักษะชีวิต ข้าพเจ้าพยามปรับปรุงการเรียนการสอนอยู่เสมอ แต่อย่างไรก็ตามยิ่งสอนยิ่งเบื่อหน่ายไร้ความสุขและประเมินตนเองว่ายังล้มเหลวไม่ได้ดังใจเท่าที่ควร ข้าพเจ้ามีความปรารถนาอยู่ในจิตตลอดเวลาว่าจะต้องมีวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนรายวิชานี้ จนกระทั่งเมื่อสองถึงสามปีที่แล้วข้าพเจ้าได้พบกับคำว่า จิตตปัญญาศึกษา ซึ่งแปลว่าว่าการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ การศึกษาที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์ ข้าพเจ้าได้ค้นหาบทความและหนังสือเกี่ยวจิตตปัญญาศึกษามาอ่านด้วยความสุขและความหวัง อีกทั้งพยายามศึกษาแนวคิดเรื่องหัวใจความเป็นมนุษย์ การศึกษาวิถีพุทธอย่างจริงจัง พร้อมทั้งในเวลานั้นข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาทางเลือกหลายเล่ม โดยเฉพาะปรัชญาการศึกษาไทย แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนามนุษย์ของพระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ. ปยุตโต) หนังสือเรื่องรักเรียน เรียนด้วยรัก ของเฮอร์เบิร์ต เอ็ม กรีนเบิร์ก และโรงเรียนป(ล)ฎิหาริย์ แปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา หนังสือสองเล่มนี้ประทับใจข้าพเจ้ามากเพราะทำให้เห็นรูปธรรมในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เป็นอย่างดี

              นอกจากการศึกษาแนวคิดต่างๆจากหนังสือและวีดีทัศน์จากอินเตอร์เนตเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ๆแล้ว เมื่อปี ๒๕๕๔ ข้าพเจ้าประสบกับความโชคดีของชีวิตเป็นอย่างมาก เมื่อได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอก สาขาวัฒนธรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อนร่วมชั้นซึ่งเป็นกัลยาณมิตรอันยอดเยี่ยมของข้าพเจ้าได้นำทางให้ข้าพเจ้าได้รู้จักกับสุนทรียสนทนาและให้โอกาสข้าพเจ้าได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมแนวสุนทรียสนทนาหลายครั้ง ทั้งนี้เพราะท่านเป็นเจ้าของศูนย์อบรมแนวสุนทรียสนทนาและเป็นวิทยากรที่เชี่ยวชาญการอบรมแนวสุนทรียสนทนาอย่างหาตัวจับยาก ข้าพเจ้าประทับใจในองค์ความรู้และความสามารถในการเป็นกระบวนกรของเพื่อนร่วมชั้นเรียนและเป็นครูที่เคารพรักของข้าพเจ้า ท่านชื่อว่าอาจารย์วันเพ็ญ เขมะกนก ข้าพเจ้าได้ยืมหนังสือและเข้าร่วมเป็นกระบวนกรเข้ารับประสบการณ์ตรงและเห็นผลการเปลี่ยนแปลงของผู้เข้าอบรมอย่างมหัศจรรย์

              ในเวลาต่อมาข้าพเจ้าออกตามล่าซื้อหนังสือเกี่ยวกับสุนทรียสนทนา เวิร์ลคาเฟ่และการจัดการความรู้มาอ่านจำนวนมาก เข้าอินเตอร์อ่านบทความและดูวีดีทัศน์เกี่ยวกับสุนทรียสนทนาอย่างเพลิดเพลินใจและมีความสุข ข้าพเจ้ามีความมุ่งหวังในจิตว่าจะต้องนำกระบวนการอบรมแนวนี้มาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้จงได้

               เมื่อปิดภาคเรียนที่สองของปีการศึกษา๒๕๕๔ ข้าพเจ้ารู้สึกล้มเหลวและเหนื่อยหน่ายในการสอนเป็นอย่างมาก ประเมินตนเองว่าทำไมยิ่งสอนยิ่งเหินห่างกับนักศึกษา ยิ่งสอนดูเหมือนว่าความประพฤติและคุณธรรมจริยธรรมนักศึกษายิ่งไม่ได้ดังใจหวัง ยิ่งสอนยิ่งทุกข์ท้อ เมื่อทำภารกิจประเมินผลการเรียนนักศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว ข้าพเจ้าอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุนทรียสนทนาและจิตตปัญญาศึกษา ดูวีดีทัศน์เกี่ยวกับจิตปัญญาศึกษาของมหิดล วีดีทัศน์ของอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู อาจารย์ดร. วรภัทร ภู่เจริญ ครุ่นคิดว่าจะสอนนักศึกษากศ.พป.ในภาคฤดูร้อนนี้ให้มีความสุขทั้งอาจารย์และนักศึกษาอย่างไรดี ในระหว่างนั้นเองข้าพเจ้าได้หวนคิดถึงหนังสือรักเรียน เรียนด้วยรัก ที่เคยอ่านมาหลายครั้งแล้ว ข้าพเจ้าออกไปตามหาหนังสือเล่มนี้ที่ห้องสมุด แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอ กลับมาห้องก็ครุ่นคิดถึงหนังสือเล่มนี้นึกถึงวิธีสอนของศาสตราจารย์เฮิร์บ ที่เข้ามาในชั้นเรียนวันแรกแล้วบอกกับนักศึกษาว่า “ผมชื่อ “เฮิร์บ ไม่ใช่ศาสตราจารย์หรือดอกเตอร์” ข้าพเจ้านึกถึงวิธีการสอนอันแหวกแนวจากการเรียนการสอนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านให้นักศึกษาตัดเกรดตนเอง ข้าพเจ้านอนคิดนั่งคิดถึงอาจารย์เฮิร์บอยากจะนำแนวการสอนของท่านมาประยุกต์ใช้ วันต่อมาข้าพเจ้าไปที่ห้องสมุดอีกครั้งพยายามหาหนังสือเล่มนี้ให้ได้ ค้นหาจากคอมพิวเตอร์พบหนังสือแต่หายังไงก็ไม่เจอที่ชั้นวาง เลยต้องไปขอความช่วยเหลือจากบรรณารักษ์ให้มาช่วยหา แล้วก็สมดังใจ ข้าพเจ้ารีบนำหนังสือไปถ่ายเอกสารกลับมานอนอ่านทำความเข้าใจและวางแผนการสอนนักศึกษาในภาคเรียนฤดูร้อนโดยประยุกต์ร่วมกับกิจกรรมสุนทรียสนทนา ข้าพเจ้าได้ทำการสอนมาสี่ครั้งแล้ว ผลปรากฎว่าเป็นที่พอใจของข้าพเจ้ายิ่งนักและประเมินว่านักศึกษาก็มีความคุ้นเคยและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้จะมีปัญหาบ้างแต่ก็พยามปรับปรุง ที่พอใจยิ่งคือ ข้าพเจ้าพูดน้อยลงนักศึกษาพูดมากขึ้น การหลับในชั้นเรียนเกือบจะไม่มีให้เห็น

               วันนี้เป็นการจัดการเรียนครั้งที่ ๕ ของข้าพเจ้าในรายวิชาจริยธรรมและทักษะชีวิตซึ่งข้าพเจ้าได้ตั้งชื่อกิจกรรมการเรียนตลอดภาคเรียนนี้ว่า “สุนทรียสนทนาพัฒนาจริยธรรมและทักษะชีวิต” กิจกรรมการเรียนวันนี้ข้าพเจ้าประทับใจและพอใจเป็นอย่างมาก

วันนี้ข้าพเจ้าเริ่มต้นการเรียนการสอนโดยทบทวนเนื้อหาของบทที่ ๑ เรื่องแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับชีวิตและจริยธรรม เป็นการสรุปเนื้อหาในประเด็นสำคัญอย่างสั้นๆของแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตเพื่อตอบคำถามว่าชีวิตคืออะไรตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ ปรัชญาและศาสนา โดยอธิบายเชื่อมโยงเพื่อเชคอินนักศึกษากับประสบการณ์การกลับบ้านไปทำบุญสงกรานต์ เยี่ยมเยือนพ่อแม่ผู้สูงอายุ อีกทั้งได้สอดแทรกความสำคัญของชีวิตและผู้ให้กำเนิดชีวิต โดยข้าพเจ้าเล่าการกลับบ้านไปทำบุญสงกรานต์และให้นักศึกษาเล่าเสริมประสมการณ์ของตนเองร่วมด้วย

                 เมื่อนักศึกษามากันพร้อมแล้วและเห็นว่านักศึกษามีความพร้อมทางใจที่จะเรียนรู้บทที่ ๒ ข้าพเจ้าจึงเริ่มการสอนในบทที่ ๒ โดยเกริ่นว่าวันนี้เราจะไม่เน้นเนื้อหาแต่จะเน้นการเรียนรู้ด้วยใจ โดยที่ข้าพเจ้าได้ขึ้นหัวข้อสำคัญในพาวเวอร์พอยท์ว่า บทที่ ๒ คุณค่าและจุดมุ่งหมายของชีวิต แผนการเรียนที่ ๑ คุณค่าของชีวิต พร้อมทั้งอธิบายผลการเรียนรู้ว่านักศึกษาอธิบายเรื่องเป้าหมายของชีวิตได้ นักศึกษาอธิบายคุณค่าของชีวิตได้ และนักศึกษาวิเคราะห์คุณค่าและจุดหมายของชีวิตของตนเองได้ เมื่ออธิบายผลลัพธ์ของการเรียนรู้แล้ว ข้าพเจ้าจึงให้คำถามสำคัญเกี่ยวกับชีวิตแก่นักศึกษาดังนี้ คนเราเกิดมาเพื่ออะไร ชีวิตที่มีคุณค่าเป็นอย่างไร เรามีชีวิตอยู่เพื่อใคร อะไรคือจุดหมายของชีวิต เมื่ออธิบายพอให้นักศึกษาเข้าใจและเห็นทิศทางการเรียนในวันนี้แล้ว ข้าพเจ้าจึงเริ่มต้นนำเข้าสู่ประสบการณ์ทางใจโดยให้นักศึกษานั่งสมาธิตามแนวการสอนของดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา โดยเปิดวีดีโอแล้วให้นักศึกษาทำสมาธิตาม ในระหว่างนั้นข้าพเจ้าก็ทำสมาธิตามไปด้วยเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ว่าการทำสมาธิและการให้นักศึกษาทำสมาธิด้วยวิธีนี้เป็นอย่างไรบ้าง เกิดการเรียนรู้จริงหรือไม่ จิตสงบจริงหรือไม่ ซึ่งก็ปรากฏว่าข้าพเจ้ารู้สึกดีเนื้อหาที่ท่านกล่าวนำทำสมาธิก็เชื่อมโยงกับเนื้อหาที่ข้าพเจ้าตั้งใจจะสอนในบทนี้พอดี

             เมื่อจบการนั่งสมาธิแล้วข้าพเจ้าได้บอกกับนักศึกษาว่าต่อไปนี้เราจะใช้เวลาประมาณสามสิบนาทีเพื่อใช้ใจเข้าไปเรียนรู้ โดยให้นักศึกษาปล่อยใจไปตามเนื้อหาในวีดีโอที่ข้าพเจ้าเตรียมมานำเสนอ สังเกตและเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดกับจิตของเราโดยหยุดใช้สมองคิดถึงเนื้อหาวิชา เนื้อหาสาระในวีดีโอนั้นข้าพเจ้าได้จัดลำดับมาเป็นอย่างดีและทดลองดูด้วยตนเองมาหลายรอบ ดูกี่รอบก็น้ำตาไหลเกิดการเรียนรู้ภายในใจของข้าพเจ้า ซึ่งเข้าไปสัมผัสเนื้อหาเกี่ยวกับจุดหมายของชีวิตและคนสำคัญในชีวิตของเรา โดยที่ข้าพเจ้าได้นำเนื้อหาของวีดีทัศน์ชุดนี้มาจากยูทูบซึ่งเป็นเรื่องที่มาจากโฆษณา รายการทีวีและละครสั้นๆนำมาเรียงร้อยเนื้อหาให้เชื่อมโยงกันและกระตุ้นความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยเรียงเนื้อหาดังนี้ เพลงเรียงความเรื่องแม่มีภาพประกอบด้วย เรื่องความรักของพ่อ เรื่องสำนึกรักบ้านเกิดยายสองคนคุยกันถึงลูกชาย โฆษณาไทยประกันชีวิตชุดพ่อเป็นใบ้ โฆษณาไทยประกันชีวิตชุดเรามีชีวิตอยู่เพื่อใคร โฆษณากระทิงแดงชุดเป้าหมายดีๆ โฆษณาซีพีความรักของแม่ไม่สิ้นสุด เรื่องจริงผ่านจอพระช่วยแม่แก่เฒ่าไถนา และพระเจ้าอาวาสเลี้ยงแม่ที่เป็นอัมภาษทั้งอาบน้ำดูแลซักผ้าทุกอย่าง เมื่อจบการนำเสนอแล้วข้าพเจ้าให้นักศึกษาร่วมกันแสดงความรู้สึก จากการสังเกตนักศึกษาหลายคนน้ำไหลและให้ความเห็นว่าชีวิตอยู่เพื่อใครเป็นสิ่งสำคัญมาก ต่อจากนั้นข้าพเจ้าให้ดูวีดีทัศน์ชุดสุดท้ายเป็นโฆษณาไทยประกันชีวิตชุดชีวิตที่มีค่าคืออะไร และสรุปว่าชีวิตที่มีค่าคือชีวิตที่ตัวเราเป็นคนมีคุณค่าและทำให้คนอื่นมีค่า

               ต่อจากนั้นเป็นช่วงสุนทรียสนทนา ในช่วงนี้เป็นกิจกรรมฝึกฝนทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งเป็นเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ ข้าพเจ้าเริ่มต้นกิจกรรมโดยการให้นักศึกษานั่งล้อมวงเป็นวงกลม ต่อจากนั้นให้หัวหน้าสังฆะรายงานให้เพื่อนสมาชิกทราบวิถีความเป็นไปของเพื่อนสมาชิกว่าใครมาใครขาดเพราะเหตุใดบ้าง โดยการเรียกชื่อเล่นแล้วให้ยกมือ กิจกรรมนี้เน้นความเป็นกัลยาณมิตรแต่ก็ยังยึดติดถือมั่นในการเคารพกติกาของสังคม ข้าพเจ้าได้ทบทวนหลักการให้ความรักก่อนให้ความรู้และหลักการ Play,Learn and Together. พร้อมทั้งตอกย้ำทบทวนกติกาการฟังด้วยหัวใจ ฟัง ๖๐ ไตร่ตรอง ๓๐ พูด ๑๐ ย้ำการฟังด้วยทฤษฎี U-Theory เชิญระฆังแห่งสติ อยู่กับปัจจุบัน

                เมื่อทุกคนพร้อมแล้วจึงเริ่มกิจกรรมสุนทรียสนทนากิจกรรมที่ ๑ กิจกรรมอุปมาชีวิต ให้ทุกคนทำใจให้สงบแล้วใคร่ครวญชีวิตตนเองที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบัน หรือปัจจุบันนี้หากให้เปรียบได้คิดว่าชีวิตเราน่าจะเปรียบได้กับสิ่งใดเพราะอะไร ข้าพเจ้าให้นักศึกษาฟังเพลง ค่าของคน ซึ่งเป็นเพลงประกอบรายการคนค้นคนคลอไปเบาๆระหว่างที่นักศึกษาครุ่นคิดถึงชีวิตของตนว่าน่าจะเปรียบได้ดังสิ่งใด เมื่อเพลงจบข้าพเจ้าจึงให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนกันและกัน โดยมีนักศึกษาบางคนเสนอว่าชีวิตเขาอุปมาได้ดังนี้ ต้นไม้ หยดน้ำ ดาบ เครื่องจักรกล สมุดที่ว่างเปล่า เนินเขา ชิงช้าสวรรค์ ส่วนข้าพเจ้าได้แลกเปลี่ยนกับนักศึกษาว่าชีวิตของข้าพเจ้าตอนนี้เปรียบดังว่าวที่สายป่านขาด จากกิจกรรมอุปมาชีวิตนี้นักศึกษาได้นำเสนอชีวิตของตนเปรียบกับสิ่งต่างๆได้อย่างน่าสนใจ ข้าพเจ้าสังเกตว่ามีหลายคนเริ่มเชื่อมโยงชีวิตตนเองกับธรรมชาติได้มากขึ้น สังเกตเห็นถ้อยคำที่ลื่นไหลงดงามและนักศึกษากล้าที่จะพูดมากขึ้นกว่าวันก่อนๆเป็นอย่างมาก

 

กิจกรรมที่ ๒ เรื่องเล่าประทับใจในวัยเยาว์ กิจกรรมนี้ข้าพเจ้าให้กติกาดังนี้

๑.      จับคู่กันสองคนสลับกันพูดและฟังคนละ ๑๐ นาที

๒.    นั่งเก้าอี้หันหน้าเข้าหากัน

๓.     คนหนึ่งพูด อีกคนฟังอย่างตั้งใจ รอจนคนหนึ่งพูดจบ อีกคนจึงพูดต่อ

๔.     เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องในวัยเยาว์ ความประทับใจ บุคคลที่สำคัญต่อชีวิต สิ่งที่ชอบไม่ชอบ ความใฝ่ฝันในอนาคต

๕.     สังเกตว่า เราจับ “เจตนา” ของเรา ที่ตั้งใจจะเข้าไปพูดแทรก เข้าไปเสริม เข้าไปต่อยอด เข้าไปพูดในเรื่องแบบนี้บ้าง อยากจะแชร์ไอเดีย ได้กี่ครั้ง

๖.      ให้สังเกตความรู้สึกนึกคิดและการตีความของตัวเราเอง

๗.     บันทึกสิ่งที่สังเกตพบในตัวเราลงในตารางที่มอบให้

กิจกรรมนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ข้าพเจ้าออกจากห้องมาแอบสังเกตดูเห็นนักศึกษาเล่ากันอย่างจริงจัง ดูมีความคุ้นเคยสนิทสนมกันมากขึ้น ข้าพเจ้าแจกกระดาษให้คนละหนึ่งแผ่นเพื่อบันทึกผลการฟัง สิ่งที่เพื่อนพูด สิ่งที่เราตีความหรือคิดซึ่งเป็นเสียงในสมองหรือจิตเรียกว่าความคิดจรมา เมื่อครบเวลาการสนทนาข้าพเจ้าสุ่มให้แลกเปลี่ยนผลการฟังซึ่งเป็นการฝึกฟังกลุ่มใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าให้นักศึกษาเล่าสรุปสิ่งที่เพื่อนเล่าให้เราฟัง จากการสังเกตนักศึกษาเล่าได้ดีคนที่ถูกเล่าถึงเริ่มน้ำตาไหล และเขาสามารถจับสังเกตเสียงในจิตหรือในสมองได้ดี ข้าพเจ้าถามว่ามีการพูดแทรกในระหว่างฟังบ้างไหม บางคนบอกมีนิดหน่อย หลายคนบอกไม่พูดแทรกเลยตั้งใจฟังอย่างเดียว ข้าพเจ้าสรุปว่าการฝึกฟังแบบนี้บ่อยๆจะมีประโยชน์โดยให้เราฝึกได้ยินสักว่าได้ยิน เห็นสักว่า ไม่คิดต่อ ไม่ตีความ ไม่พิพากษา หรือที่อาจารย์ดร. วรภัทร ภู่เจริญสอนไว้ในหนังสือ ฉลาดได้อีก ว่า ให้สิ้นคิดแล้วจะสิ้นปัญหา กลับไปบ้านแม่บ่น พ่อบ่น หรือใครด่าใครว่าให้ฟังอย่างเดียวลองไปทำดู เมื่อจบกิจกรรมการเรียนข้าพเจ้าสั่งนักศึกษาว่าอย่าลืมกลับไปบันทึกผลการเรียนรู้ลงในสมุดบันทึกประจำวันซึ่งต้องส่งเมื่อสิ้นสุดการศึกษาวิชานี้

 

ภาคปฏิเวธ

ผลที่เกิดจากความสำเร็จในการศึกษา

                ต่อการสอนครั้งต่อๆมาข้าพเจ้าได้นำกิจกรรมสุนทรียสนทนาบูรณาการเข้าไปเป็นกิจกรรมการเรียนการสอนจำนวนมากเช่น กิจกรรมเมล็ดพันธุ์แห่งความสุข ผู้นำสี่ทิศ ข้ามแม่น้ำพิษ เรื่องเล่าประทับใจ รถแข่ง เป็นต้น ซึ่งผลจากการจัดการเรียนการสอนสะท้อนออกมาจากสมุดบันทึกของนักศึกษาที่ส่งตอนปลายภาคดังตัวอย่าง

เรียนวันแรก“วันนี้รู้สึกแปลกกับอาจารย์และตลกมากที่อาจารย์ให้ทำป้ายชื่อมาแขวนคอเหมือนรับน้องปีหนึ่งยังไงก็ไม่รู้คะ แต่ก็ถือว่า OK ค่ะผ่านไปได้ด้วยดี รู้สึกไม่เครียดสนุกดี แต่ก็รู้สึกอดขำอาจารย์ไม่ได้ และคิดว่าอาจารย์จะสอนแบบไหนน๊า.....? เพราะตั้งแต่เรียนมากไม่เคยเจออาจารย์แบบนี้คะ....งง...งง...อยู่...เหมือนกัล... 555+++.....แต่...ก้อ...Happy…Ka””สุพิชญา(๒๕๕๕ : สมุดบันทึก)

“วันนี้เป็นวันเปิดเรียนวันแรก ตัวดิฉันเองก็ยังสงสัย ว่าทำไมต้องเรียนวิชานี้ด้วยเนี่ย แหมไม่เข้าใจ วิชาอะไรจริยธรรมและทักษะชีวิต แหมน่าจะให้เรียนตั้งแต่ยังเป็นเด็กประถมนะเนี้ย ตอนนี้โตแล้วก้อมีประสบการมากพอสมควรทำไมต้องเรียนรู้เรื่องจริยธรรมและทักษะชีวิตด้วย ไม่เข้าใจเลยคะ งง งง งง จังเลย เอาเป็นว่าเรียนก็เรียน ตัวดิฉันเองก็อยากรู้เหมือนกันว่าเรียนแล้วจะมีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้นมาอย่างไรก็ตามคงคล้ายคล้ายกับการใช้ชีวิตประจำวันของดิฉันเองมั้ง(คิดในใจนะ)” พรทิพย์(๒๕๕๕ : สมุดบันทึก)

“นับเป็นครั้งแรกที่ฉันได้เรียนกับอาจารย์สอนวิชาจริยธรรมแนวใหม่ ยอมรับนะคะว่าเป็นการเรียนที่ค่อนข้างแปลกๆคะ..”แปลกอย่างไรหรือคะ มาๆจะเล่าให้ฟัง” ....เป็นสัปดาห์แรกที่ได้เรียนรายวิชาจริยธรรมกับอาจารย์(วรากรณ์ พูลสวัสดิ์) อาจารย์ผู้สอนพูดด้วยสำนวนแปลกหู พูดรัวเร็ว เนื้อหาที่พูดชวนให้หลับสบาย(หลังจากกินมาอิ่มๆ) เนื้อหาที่สอนก็เกี่ยวกับการละตัวตน ไม่ยึดติดกับสังขาร ความไม่เที่ยง...กิจกรรม ให้จับกลุ่มคุยกันเพื่อทำความรู้จักกันมากขึ้น เปิดใจคุยกับคนที่ไม่รู้จัก การแนะนำตัว การเปิดใจคุยกับคนอื่น ทำให้เกิดการยอมรับกัน เปิดใจยอมรับสิ่งใหม่ๆทำให้เกิดการไว้วางใจซึ่งกันและกันโดยพื้นฐานความจริงใจต่อกัน และทำป้ายแขวนคอในทุกครั้งที่เข้าเรียนและให้เรียกชื่อเล่นกัน โดยให้เรียกอาจารย์ผู้สอนว่า “กร” เฉยๆไม่ต้องเรียกว่าอาจารย์ แสดงให้เห็นถึงการไม่ถือตัว การไม่ยึดติดกับอัตตา อัตตาคือสิ่งที่เราสร้างขึ้น เหมือนเป็นเกราะป้องกันตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นยศถาบรรดาศักดิ์ สิ่งที่ได้รับ : จากการเรียนทำให้รู้ว่าการที่ไม่ยึดติดกับอัตตาทำให้เกิดความไม่ถือตัวตนทำให้คนเราทุกคนมีความเป็น “คน” เท่าเทียมกัน........ขอบคุณอาจารย์กรที่ให้ความรู้ ขอบคุณมากๆที่สอนดิฉันให้รู้จักตัวตนและรู้จักหา “ความสุข”ที่แท้จริง”เบญจนาถ(๒๕๕๕ : สมุดบันทึก)

“กิจกรรมข้ามแม่น้ำพิษทำให้เกิดความสามัคคี การวางแผนที่ดี การแบ่งปันความคิด การรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นและความตั้งใจของทุกคนและทำให้รู้จักเพื่อมากขึ้น กล้าคุยมากขึ้นจากสัปดาห์ก่อนๆ เพราะเรามาเรียนร่วมไม่รู้จักกับใครเลย ตอนนี้ก็รู้จักหลายคนและจำชื่อเพื่อนได้มากขึ้น กล้าเข้าไปคุยกับคนอื่นมากขึ้น” กนิษฐา(๒๕๕๕:สมุดบันทึก)

“เกมส์รถแข่ง (ผลจากกิจกรรม) ผมไม่เคยคิดจะคุยกับคนแปลกหน้าเลย แต่ผมทักทายกับคนแปลกหน้าได้ สำหรับผมมันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์”ประภาส(๒๕๕๕ : สมุดบันทึก)

“ขอกราบขอบคุณท่านอาจารย์ที่ได้มอบความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการเรียนการสอนให้กับการศึกษาและทุกสิ่งทุกอย่างยังนำไปใช้ได้จริงกับชีวิตประจำวัน” อนุสรา(๒๕๕๕: สมุดบันทึก)

“ก่อนการเริ่มเรียนวิชาจริยธรรมและทักษะชีวิตผมได้ตั้งคำถามไว้หลายคำถาม จริยธรรมและทักษะชีวิตคืออะไร? มีความสำคัญอย่างไร? มีประโยชน์ที่ได้รับหลังจากการเรียนรู้สิ้นสุดลงอย่างไรบ้าง แล้วสิ่งที่ได้รับมันไปเกี่ยวข้องอะไรกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์? ผลคำตอบที่ได้รับก็คงหลังจากได้ศึกษาวิชาจริยธรรมและทักษะชีวิต... “ไม่มีงานเลี้ยงใดที่ไม่มีวันเลิกลา” ก็รู้สึกใจหายเหมือนกันนะหลังจากได้เรียนรู้วิชาจริยธรรมและทักษะชีวิตจบลง เร็วจังเลยนะ เคยมีหลายคนบอกเหมือนกันว่าถ้าเราชอบสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะผ่านไปเร็วมาก ส่วนสิ่งที่ได้รับจากการเรียนก็มีความรู้สึกว่ามากมายเหลือเกินทั้งเนื้อหาสาระความรู้ การเข้าสังคมด้วยกิจกรรมต่างๆ รวมถึงท่านอาจารย์ผู้สอนก็มีความเป็นกันเอง จึงไม่ทำให้เกิดความเครียดจากการเรียนวิชานี้ มีแต่รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผมและเพื่อนๆ โดยท่านจะสอนเนื้อหาสาระ+กิจกรรมต่างๆ ประกอบกับการดูวีดีโอ ทำให้มองเห็นชัดเจนมากขึ้นในความรู้สึกของแต่ละคน...”ปณิธาน(๒๕๕๕ : สมุดบันทึก)

                “กิจกรรมต่อมาคือกิจกรรม “ขับรถมิตรภาพ” ชื่อกิจกรรมนี้เราตั้งเองนะ โดยให้นักศึกษาเอาผ้าปิดตาเพื่อนที่เราไม่ค่อยสนิท จากนั้นค่อยๆบังคับให้เพื่อนเดินไปข้างหน้า กิจกรรมนี้ทำให้รู้สึกไว้วางใจผู้อื่นมากขึ้น ในช่วงสุดท้ายของการเรียนได้มีการตั้งคณะ “สังฆะ” ขึ้นโดยมีลักษณะการดูแลเหมือนพระสงฆ์ดูแลกัน เหตุเพราะอยากให้เราพึ่งพาอาศัยกันดูแลกันด้วยความห่วงใยความเข้าใจนั่นเอง จากการสอนวันนี้ให้อะไรใหม่ๆเกิดขึ้น เกิดความคิดใหม่ๆ มุมองใหม่ๆ เกิดมิตรภาพที่ดีระหว่างผู้เรียน วันนี้ทั้งสนุกทั้งได้ความรู้ ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์มากๆคะ” อัสมาภรณ์(๒๕๕๕ : สมุดบันทึก)

                “เราเรียนวิชานี้แล้ว เราเปลี่ยนตัวเองในทางดีขึ้นหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน นั้นคือข้อที่ผมจะต้องใช้เป็นเกณฑ์ในการให้คะแนนตัวเอง...สิ่งที่ได้ในวิชานี้ ก็จะเป็นความคิด ทัศนคติต่างๆข้อความคติเตือนใจ สิ่งที่ได้และทำได้ในการเรียนวิชานี้อีกอย่าง เทคนิคของการทำให้จิตของตนเองให้อยู่กับปัจจุบัน คำว่า “อยู่กับปัจจุบัน” นี้ทำให้เรามีสติเตือนตัวเองได้ดี การประเมินตัวเองว่าได้อะไรจากการเรียนคิดแล้วอย่างน้อยเราก็ได้รู้จักตัวเอง เราได้รู้จักอยู่กับปัจจุบันทำให้เราควบคุมตัวเองจากกิเลสได้ดีขึ้นครับ” วิฑูรย์ ไชยวุฒิ(๒๕๕๕ : สมุดบันทึก)

                “เจ้าไดอารี่ วันนี้เป็นวันสุดท้ายแล้วที่เจ้าจะได้อยู่กับเรา ใจหายนะ เราอยู่ด้วยกันมา ๔ เดือน ความผูกพันเกิดขึ้นมากมาย สิ้นชั่วโมงเจ้าต้องไปอยู่กับอาจารย์แล้วนะ....แต่เราสัญญาว่าจะคิดถึงเจ้าทุกวัน...กราบขอบคุณอาจารย์ที่สอนให้เรารู้จักชีวิตมากขึ้น...ขอบ..คุณ..คะ..”ศิริลักษณ์(๒๕๕๕ : สมุดบันทึก)

 

สรุป

                จากการประยุกต์และบูรณาการจิตตปัญญาศึกษาและกระบวนการสุนทรียสนทนาในการจัดกาเรียนการสอนในห้องเรียนโดยการผสมผสานเนื้อหาในหลักสูตรกับกิจกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญที่เรียกว่าจิตตปัญญาศึกษา และการฝึกทักษะการฟังอย่างลึกซึ้งด้วยกระบวนการสุนทรียสนทนาซึ่งเป็นการเรียนรู้แนวใหม่ที่ทำให้มนุษย์ได้สัมผัสมนุษย์ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข อีกทั้งการยึดมั่นในแนวทางการสอนที่ว่าให้ความรักก่อนให้ความรู้นั้นมีผลอย่างสำคัญต่ออารมณ์และจิตใจของผู้สอนทำให้ผู้สอนและผู้เรียนมีระยะห่างกันน้อยลงเกิดบรรยากาศของความเป็นกันเองทำให้ผู้เรียนอยากเรียนรู้ผู้สอนกระตือรื้อล้นในการสอนทำให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

              

บรรณานุกรม

จิรัฐกาล พงศ์ภคเธียร. จิตตปัญญาศึกษา การเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่ กรุงเทพฯ : สวนเงินมีมา. ๒๕๕๓.

เดวิด โบห์ม. ว่าด้วยสุนทรียสนทนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, 2554.

นฤมล เอนกวิทย์.. การพัฒนาหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษาสำหรับนักศึกษาพยาบาล. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.2552

ปาริชาด สุวรรณบุปผา. สานเสวนาสานใจสู่ใจ. กรุงเทพฯ : ห.จ.ก. ควอลิตี้ อาร์ท,2552.

ปาริชาด สุวรรณบุปผา. คู่มือการจัดกระบวนการสานเสวนา. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล.๒๕๕๓.

มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร. สุนทรียสนทนาฉบับนักปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : โมโนธีม คอนซัลลิตี้,2553.

มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร. Dialogueสุนทรียสนทนา : ศาสตร์แห่งการสร้างสติปัญญาร่วมกันของมนุษย์. กรุงเทพฯ : โมโนธีม คอนซัลติ้ง.๒๕๕๒.

มาร์กาเร็ต เจ. วีดเลย์. หันหน้าเข้าหากัน. กรุงเทพฯ : สวนเงินมีมา.๒๕๔๙

เรือรบ . สุนทรียสนทนา ฉบับครอบครัว(สิบวันเปลี่ยนชีวิต๒). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา,2553

วรภัทร์ ภู่เจริญ. Dialogue คิดลงสู่ใจไหลงลงสู่ปัญญา. กรุงเทพน : อริยชน.๒๕๕๒.

วิศิษฐ์ วังวิญญู. ปฏิวัติความรู้ในถ้อยน้ำชา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วงน้ำชา,2552.

สุมามาลย์ พงษ์ไพบูลย์. “จิตตปัญญาศึกษา.” วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย, 3(2) (ก.ค.-ธ.ค.2552), 5. 2552.

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2550.

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.การพัฒนารูปแบบการ

              สร้างเสริมวินัยในตนเอง.

กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ, 2542.

พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต).   วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม. กรุงเทพฯ

:   ศยาม, 2541

สมพร เทพสิทธา. การสร้างจิตสำนึกด้านคุณธรรมจริยธรรม. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสามพรเทพสิทธา เพื่อศาสนาและ           พัฒนาสังคม, 2541

ปราชญา กล้าผจัญ และคณะ.   การบริหารทรัพยากรมนุษย์.   กรุงเทพฯ :   ก.พล การพิมพ์ (1996)จำกัด, 2550.

ทองย่อม สาครสูงเนิน. การศึกษาพฤติกรรมการบริหารด้านคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหารสถานศึกษาขั้น พื้นฐานสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคามเขต1. วิทยานิพนธ์คุรุศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาสารคาม, 2548

สุมามาลย์ พงษ์ไพบูลย์. “จิตตปัญญาศึกษา.” วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย, 3(2) (ก.ค.-ธ.ค.2552), 5. 2552.

นฤมล เอนกวิทย์.. การพัฒนาหลักสูตรจิตตปัญญาศึกษาสำหรับนักศึกษาพยาบาล. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.2552

เดวิด โบห์ม. ว่าด้วยสุนทรียสนทนา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, 2554.

ปาริชาด สุวรรณบุปผา. สานเสวนาสานใจสู่ใจ. กรุงเทพฯ : ห.จ.ก. ควอลิตี้ อาร์ท,2552.

มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร. สุนทรียสนทนาฉบับนักปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : โมโนธีม คอนซัลลิตี้,2553.

เรือรบ . สุนทรียสนทนา ฉบับครอบครัว(สิบวันเปลี่ยนชีวิต๒). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา,2553

วิศิษฐ์ วังวิญญู. ปฏิวัติความรู้ในถ้อยน้ำชา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วงน้ำชา,2552.

 

คริสโตเฟอร์ จอห์นสัน. การสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนชาวไทย. กรุงเทพฯ : ส เจริญการพิมพ์, 2551.

จิรัฐกาล   พงศ์ภคเพียร. จิตปัญญาศึกษา การเรียนรู้สู่จิตสำนึกใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา, 2253.

ชารอล ดาลอซ ปาร์ค. ห้องเรียนผู้นำของฮาร์วาด. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แมคกรอ-ฮิล. 2552.

ธนา   นิลชัยโกวิทย์. ศิลปะการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง : คู่มือกระบวนกรจิตตปัญญา. กรุงเทพฯ : ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล. 2552.

ปาริชาด     สุวรรณบุปผา. สานเสวนา สานใจสู่ใจ. กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาลัยมหิดล, 2552.

ปาริชาด     สุวรรณบุปผา. คู่มือจัดกระบวนการสานเสวนา กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาลัยมหิดล, 2553.

วรภัทร ภู่เจริญ. HRD 3.0 พัฒนาคน พัฒนาใจ เติมหัวใจให้องค์กร. กรุงเทพฯ : บริษัท อริยชน จำกัด. 2554.

วรภัทร์ ภู่เจริญ. Dialogue คิดลงสู่ใจ...ไหลลงเป็นปัญญา. กรุงเทพฯ : บริษัทอริยชน จำกัด. 2552.

เสน่ห์ จุ้ยโต. การฝึกอบรมเชิงระบบ ทฤษฎีการเรียนรู้แนวใหม่. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2554.

สว่าง เลิศฤทธิ์. โบราณคดี แนวคิดและทฤษฎี. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2547.

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 566337เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2014 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 เมษายน 2014 08:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การเรียนรู้ด้วยใจ อย่างใคร่ครวญ ..... เป็นสิ่งที่ดีและงดงามนะคะ ขอบคุณบันทึกดีดีนี้นะคะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท