การทบทวนนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์ 2011-2014


การทบทวนนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์ 2011-2014

                                                                             

    

เกริ่นนำ

“สังคมสวัสดิการ”นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ดึงทุกภาคส่วนในสังคมร่วมรับผิดชอบการจัดสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของปวงชนชาวไทยวิชาชีพสังคมสงเคราะห์เป็นกลไกหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน  การทบทวนนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์รอบใหม่ที่เริ่มดำเนินตั้งแต่ปี 2011 ในแวดวงนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพทั่วโลกเป็นการแสดงถึงอัตลักษณ์ที่มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม กระบวนการทบทวนความหมายใกล้ถึงปลายทางที่จะประกาศใช้และเผยแพร่ออย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม 2014 นี้แต่ผู้เขียนประสงค์จะบอกเล่าความเป็นมาและเคลื่อนไหวกระบวนการที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาคเอเซียและแปซิฟิกเพื่อร่วมเผยแพร่ความเคลื่อนไหวของการรวมตัวกันของมวลหมู่นักสังคมสงเคราะห์ทั่วโลก

ความเป็นมาของการทบทวนนิยามความหมาย

                สหพันธ์นักสังคมสงเคราะห์นานาชาติ (International Federation of  Social  Workers - IFSW)  องค์กรที่เกิดจาการรวมตัวกันของนักสังคมสงเคราะห์ และองค์กรสังคมสงเคราะห์ในประเทศต่างๆ กว่า 80 ประเทศทั่วโลก เพื่อส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สังคมสงเคราะห์ในกระแสโลกภิวัตน์โดยการจัดประชุมนักสังคมสงเคราะห์หรือองค์กรที่เป็นสมาชิกทุกๆ 2 ปี  

การประชุมที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดาในปี คศ.2000 สหพันธ์นักสังคมสงเคราะห์นานาชาติ  IFSW ได้เห็นว่านิยามความหมายสังคมสงเคราะห์มีความหลากหลายตามยุคสมัยโดยมากมักเป็นการนิยามจากนักวิชาการ ประกอบกับความเป็นโลกาภิวัตน์ส่งผลให้นักสังคมสงเคราะห์มิได้ปฏิบัติงานเฉพาะในบริบทของอาณาเขตใดอาณาเขตหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นการปฏิบัติงานที่ไร้พรมแดนมากขึ้น ที่ประชุมจึงเห็นพ้องร่วมกันจัดทำนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์ที่สามารถบ่งบอกความหมายงานสังคมสงเคราะห์วิชาชีพที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับในแวดวงผู้ปฏิบัติงานและนักวิชาการ จนได้นิยามสังคมสงเคราะห์ที่ประกาศให้รับทราบและใช้อยู่ในปัจจุบันว่า

“วิชาชีพสังคมสงเคราะห์  ส่งเสริม สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม  การแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ของคน  เสริมพลังและส่งเสริมให้คนและสังคมอยู่ดีมีสุข  โดยใช้ทฤษฎีพฤติกรรมมนุษย์ และระบบทางสังคม    งานสังคมสงเคราะห์เข้าแทรกแซงในจุดที่คนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมของเขา  สิทธิมนุษยชน  และความมั่นทางสังคมเป็นหลักพื้นฐานของงานสังคมสงเคราะห์”  ในปี คศ. 2001 สมาคมสถานศึกษาสังคมสงเคราะห์นานาชาติ (International Association of Schools of Social Work -IASSW) ได้มีมติยอมรับการใช้คำจำกัดความข้างต้นด้วยจากการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน และตกลงกันไว้ว่าทุกๆ สิบปี IFSW และ IASSW จะจัดให้มีการทบทวนคำนิยามใหม่

ทบทวนความหมายสังคมสงเคราะห์” เป็นชื่อหัวข้อหนึ่งในการประชุมนำก่อนวันจัดประชุม 2010 Joint World Conference on Social Work and SocialDevelopmentณ เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่ง 3 องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับงานสังคมสงเคราะห์ คือ สหพันธ์นักสังคมสงเคราะห์นานาชาติ (International Federation of  Social  Workers - IFSW) สมาคมสถานศึกษาสังคมสงเคราะห์นานาชาติ (International Association of Schools of Social Work -IASSW)และสภาองค์กรสวัสดิการสังคมนานาชาติ(the International Council on Social Welfare -ICSW)ร่วมกันจัดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พศ. 2553  การประชุมในห้องนี้เรียกความสนใจของผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน  ผู้เขียนถือเป็นโอกาสดีที่ได้เข้าร่วมประชุมในเรื่องนิยามความหมายนี้เพราะได้รวบรวมค้นคว้าเรื่องนิยามสังคมสงเคราะห์มาสอนในรายวิชาปรัชญาแนวคิดสังคมสงเคราะห์ เพื่อแสดงให้นักศึกษาเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงความหมายของแต่ละยุคสมัยเริ่มตั้งแต่นิยามของ Mary Richmond (1922 อ้างถึงใน วันทนีย์ วาสิกะสินและคณะ.2550) ได้ให้คำนิยามว่า “สังคมสงเคราะห์เป็นกระบวนการในการพัฒนาบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล โดยการช่วยให้คนรู้จักปรับตนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของสังคมได้ด้วยดี” จนกระทั่งถึงนิยามของ IFSW (2000) ยุคปัจจุบัน ซึ่งได้สะท้อนถึงพัฒนาการของแนวคิดและหลักการทำงานสังคมสงเคราะห์ที่สอดคล้องกับสภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย

ที่ประชุมในวันนั้นมีนักสังคมสงเคราะห์และนักวิชาการหลายท่านไม่ทราบความเป็นมาของนิยามปัจจุบันหรือบางท่านทราบแต่ไม่ได้มีส่วนร่วมเพราะส่วนใหญ่การจัดประชุมมักเกิดขึ้นในแถบยุโรปและอเมริกา นิยามก็สะท้อนความเป็นตะวันตกยังไม่ครอบคลุมแนวคิดของแถบตะวันออกหรือความเป็นพื้นถิ่นหรือทางเลือกอื่นๆของงานสังคมสงเคราะห์ที่มีอยู่ปัจจุบัน อีกทั้งเวลา 10 ที่ผ่านมาสังคมโลกมีการเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนแปลงรวดเร็ววิธีการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์แต่ละประเทศปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เช่นกัน ที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวางทั้งแบบกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ตลอดสามชั่วโมงในที่สุดจึงมีมติที่จะปรับเปลี่ยนความหมายปัจจุบันให้สะท้อนภาพวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ที่ครอบคลุมและทุกคนมีส่วนร่วมมากที่สุด จึงมอบการบ้านให้แต่ละคน แต่ละองค์กรที่เข้าร่วมประชุมมีการบ้านกลับไปยังกลุ่ม องค์กร ประเทศ หรือภูมิภาคของตนเพื่อระดมการมีส่วนร่วมทบทวนความหมายสังคมสงเคราะห์วิชาชีพในประเทศของตนเองด้วยภาษาของตนเอง แล้วส่งกลับมายัง IFSW ศูนย์กลางการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการทบทวนต่อไปในการประชุมประจำปี 2012 ที่ประเทศสวีเดน

ระหว่างการประชุมที่ฮ่องกง สมาคมสถาบันการศึกษาสังคมสงเคราะห์แห่งเอเซีย แปซิฟิก (Asia Pacific Association for Social Work Education -APASWE)ได้เชิญประชุมประเทศสมาชิกในแถบเอเซีย- แปซิฟิก เพื่อร่วมกันดำเนินกิจกรรมการทบทวนความหมายในระดับภูมิภาคหลังจากที่แต่ละประเทศจัดการทบทวนนิยามของประเทศแล้วให้ส่งผู้แทนเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันที่กรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่นเพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมจัดประชุมวิชาการของAPASWEในปีคศ.2011

การทบทวนนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย

                สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยเล็งเห็นว่าการทบทวนนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์ในบริบทของไทยเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในกระแสการสร้างความเป็นมาตรฐานทางวิชาชีพให้เข้มแข็งเพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้บริการด้วยการเสนอร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ และการเสนอขอใบประกอบโรคศิลปะสาขาสังคมสงเคราะห์คลีนิกที่เริ่มดำเนินการรอบใหม่ตั้งแต่ปี 2552 จนกระทั่งปัจจุบันพบปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนของนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์อีกทั้งประเทศไทยยังไม่เคยมีการอภิปรายเรื่องนิยามความหมายที่สะท้อนภาพงานสังคมสงเคราะห์ไทยมีแต่นิยามที่เขียนโดยนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติ  สมาคมนักสังคมสงเคราะห์ฯจึงมีมติที่จะเป็นตัวกลางดำเนินการทบทวนความหมายสังคมสงเคราะห์ไทยขึ้นโดยการเชิญชวนสถาบันการการศึกษาสังคมสงเคราะห์ หน่วยงาน องค์กรสังคมสงเคราะห์และนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพเข้าร่วมโครงการ

กระบวนการทบทวนนิยามความหมาย

                การทบทวนความหมายของสังคมสงเคราะห์วิชาชีพในประเทศไทยซึ่งมีกระบวนการดำเนินงานหลายขั้นตอนโดยเริ่มจากการประชุม อภิปรายร่วมกับคณาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติรวมทั้งนักสังคมสงเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 โดยพิจารณาความเหมาะสมสอดคล้องของนิยามความหมายปัจจุบันกับบริบทสังคมไทย

 ผลจากการประชุมครั้งแรกที่ประชุมได้เสนอร่างนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์ไทยว่า“วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ส่งเสริม/สนับสนุน การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การพัฒนาสังคม โดยบูรณาการศาสตร์ ศิลป์ และภูมิปัญญา อาศัยการประสานและจัดการทรัพยากร เพื่อแก้ไข ฟื้นฟู และดำเนินการในจุดที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสภาวะแวดล้อม ที่เกี่ยวข้องกับคน ครอบครัว กลุ่ม ชุมชน สังคม รวมทั้งการเสริมพลัง การพิทักษ์สิทธิ เพื่อความเป็นอิสระของมนุษย์ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งกาย จิต สังคม ปัญญา โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางสังคม คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ภายใต้กรอบมาตรฐาน และจรรยาบรรณทางวิชาชีพ”

จากนั้นสมคมนักสังคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยได้ส่งร่างครั้งที่ 1ให้นักสังคมสงเคราะห์และเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์ต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศอภิปรายแสดงความคิดเห็นในระยะเวลาหนึ่งเดือน ผลปรากฏว่ามีผู้ตอบกลับเป็นรายบุคคล 6 คน และมีการประชุมกลุ่มของเครือข่ายนักสังคมสงเคราะห์ 5 เครือข่าย รวม 331  คน ต่อจากนั้นสมาคมนักสังคมแห่งประเทศไทยร่วมกับ ภาคีเครือข่ายจัดประชุมพิจารณาข้อมูลที่ได้รับกลับมาใน วันที่ 22 กันยายน 2553 ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งประเด็นการอภิปรายและเรียบเรียงข้อคิดเห็นต่างๆเป็นร่างที่ 2 ให้เป็นนิยามที่สะท้อนเอกลักษณ์วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ไทยได้อย่างครอบคลุมและมีความทันสมัย

ร่างผลลัพท์ของนิยามสังคมสงเคราะห์ไทย

วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ส่งเสริมสนับสนุน การพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การพัฒนาศักยภาพของบุคคล ครอบครัว กลุ่ม องค์กร ชุมชน สังคม ในสภาวะแวดล้อม โดยบูรณาการองค์ความรู้ทั้งศาสตร์ ศิลป์ ภูมิปัญญา การจัดการทรัพยากรทางสังคม การเสริมพลัง และการพิทักษ์สิทธิ เพื่อคุ้มครอง ป้องกัน บำบัด ฟื้นฟู ทั้งกาย จิต สังคม ปัญญา โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมทางสังคม คุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อให้ดำรงตนอย่างอิสระ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และร่วมเป็นหุ้นส่วนทางสังคม ภายใต้กรอบมาตรฐาน และจรรยาบรรณทางวิชาชีพ

คำอธิบายเพิ่มเติม

                สังคมสงเคราะห์วิชาชีพในประเทศไทยมีความหลากหลายตามต้นสังกัดของหน่วยงานที่ให้บริการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนแต่อย่างไรก็ตามสังคมสงเคราะห์วิชาชีพมีเป้าหมายร่วมกันคือส่งเสริมการพัฒนาสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและคุณภาพชีวิตที่ดีรวมทั้งความเป็นอิสระของผู้ใช้บริการ จุดเน้นของการบริการคือการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูศักยภาพรวมทั้งป้องกันปัญหามิให้เกิดขึ้นแก่บุคคล ครอบครัว กลุ่ม ชุมชน สังคมสงเคราะห์วิชาชีพของไทยมีความครอบคลุมทั้งองค์ความรู้สากลและท้องถิ่น ยึดมั่นในค่านิยม จรรยาบรรณและการปฏิบัติงานอย่างมีมาตรฐาน

ค่านิยม

การสงเคราะห์ช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างเพื่อนมนุษย์ตามความเชื่อของพุทธศาสนาในประเทศไทยกลมกลืนกับจุดเริ่มต้นของงานสังคมสงเคราะห์ในประเทศตะวันตกทึ่สะท้อนให้เห็นแนวคิดมนุษย์นิยมในการทำงานสังคมสงเคราะห์วิชาชีพซึ่งมุ่งเน้นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน นอกจากนี้สังคมสงเคราะห์ไทยยอมรับค่านิยมสากลในเรื่องของสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคมโดยการปฏิบัติงานพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิ์ผู้ใช้บริการที่ด้อยโอกาสหรือถูกเอารัดเอาเปรียบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม

ความรู้

                สังคมสงเคราะห์วิชาชีพประยุกต์ใช้ศาสตร์และศิลปะในการช่วยเหลือผู้ใช้บริการ ความรู้สาขาใดสาขาหนึ่งไม่เพียงพอในการวิเคราะห์หรือวางแผนช่วยเหลือแบบองค์รวมทั้งด้านกาย จิต สังคมและปัญญาได้นักสังคมสงเคราะห์จึงบูรณาการความรู้ที่เป็นสหศาสตร์รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นทำงานร่วมกับสหวิชาชีพเพื่อก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ใช้บริการ  การปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายของการช่วยเหลือยังต้องอาศัยศิลปะหรือเทคนิคความชำนาญในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้ใช้บริการโดยคำนึงถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการกับสภาวะแวดล้อมรวมทั้งความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี

การปฏิบัติงาน

                การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์วิชาชีพในประเทศไทยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือทางสังคมซึ่งครอบคลุมทั้งการแก้ไขปัญหา บำบัด ฟื้นฟู  คุ้มครองผู้ใช้บริการและ การป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงอันนำไปสู่ปัญหาหรือป้องกันมิให้เกิดซ้ำ โดยการประสานการจัดการทรัพยากรทางสังคมของแต่ละพื้นที่ที่ให้บริการ  ตลอดจนการเสริมพลังและการพิทักษ์สิทธิผู้ใช้บริการให้มีศักยภาพในการดูแลตนได้อย่างอิสระ และร่วมเป็นหุ้นส่วนทางสังคมตามแนวทางสังคมสวัสดิการอันเป็นนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน นักสังคมสงเคราะห์ต้องปฏิบัติงานให้ได้ตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ

 

สู่การทบทวนความหมายของภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก

ด้วยความกรุณาจาก รศ.ดร.เดชา สังขวรรณ คณบดีคณสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้แปลนิยามสังคมสงเคราะห์ของไทยเป็นภาษอังกฤษว่า  Social work profession promotes and supports social development and social change through the capacity building of individual, family, group, organization, and community in their environments. Social workers integrated body of knowledge of arts and sciences together with wisdom, social resources management, empowerment and advocacy skills in their practice processes in-physically, mentally, socially, and intellectually-protection, prevention, treatment, and rehabilitation the clients they serve. In commitment to the framework of professional ethics, social workers hold the professional values of human rights, social justice, human value and dignity, social well being, and social partnership.

นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ฯได้มอบหมายให้ผู้เขียนเป็นผู้แทนของสมาคมนำร่างครั้งที่2 พร้อมการอธิบายรายละเอียดไปนำเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง International Definition of Social Work Professionเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 ร่วมกับนักสังคมสงเคราะห์และนักวิชาการสังคมสงเคราะห์รวม 12 ประเทศ ได้แก่ จีน    อินโดนีเซีย   มาเลเซีย สิงคโปร์  ฟิลิปินส์  เกาหลี  เนปาล  บังกลาเทศ  ศรีลังกา  ไทย  นิวซีแลนด์  และเจ้าภาพญี่ปุ่น ณ Japan College of Social Work  มหาลัยวิทยาลัยชั้นนำด้านสังคมสงเคราะห์ ของญี่ปุ่นที่ดำเนินการสอนสังคมสงเคราะห์ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก    

 Shigehiro Takahashi อธิการบดี Japan College of Social Work และ Tasturu Akimoto ประธาน APASWE ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมอย่างอบอุ่น และ  Robyn Mason จากมหาวิทยาลัย Monash ออสเตรเลีย ประธานที่ประชุมได้ให้เวลาผู้แทนแต่ละประเทศนำเสนอประเทศละ 20 นาที โดยมีประเด็นเรื่องของการทบทวนนิยามความหมายว่ามีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนความหมายปัจจุบันหรือไม่ ถ้าต้องทบทวนจะทบทวนประเด็นใด เพราะเหตุใด และจะมีการเปลี่ยนแปลงความหมายเป็นเช่นไรซึ่ง  Ritsuko Watanabe ( 2010) ได้รวบรวม ความคิดเห็นจากเอกสารรายงานการทบทวนนิยามและข้อสังเกตุของแต่ละประเทศ สรุปไว้ดังนี้

หากพิจารณาในแง่เป้าหมายสุดท้ายหรือเป้าหมายสูงสุดของงานสังคมสงเคราะห์ประเทศฟิลิปปินส์เสนอว่านอกจากความกินดีอยู่ดีที่มีอยู่แล้วในความหมายปัจจุบันแล้วควรมีเป้าหมายเพื่อเอาชนะความเหลื่อมล้ำและมีการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ส่วนมาเลเซียขอเพิ่มในเรื่องของคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและการพัฒนาสังคม การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการควบคุมทางสังคม เกาหลีเห็นว่าจะต้องรวมเรื่องสิ่งแวดล้อมทางสังคมเข้าเป็นเป้าหมายสุดท้ายด้วย ขณะที่เนปาลเห็นว่าเป้าหมายของสังคมสงเคราะห์คือการพิทักษ์สิทธ์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมโดยการแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

หากพิจารณาเป้าหมายเฉพาะในนิยามปัจจุบันมุ่งเน้นเรื่องของการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การเสริมพลังอำนาจของประชาชน และการส่งเสริมเสรีภาพของประชาชน ซึ่งประเทศจีนเพิ่มเรื่องของความมั่งคงและความกลมกลืนของสังคม อินโดนีเซียเพิ่มในเรื่องการส่งเสริมทุนทางสังคมและแก้ปัญหาคนกับสิ่งแวดล้อม ไทยเพิ่มในส่วนของการพัฒนาสังคม มาเลเซียเสนอให้บริการที่เน้นการจัดการด้านจิตสังคม สนับสนุนการเสริมพลังเพื่อบริการที่ดีขึ้น ฟิลิปปินส์เสนอการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความเป็นประชาธิปไตยและการเสริมพลังประชาชน ประเทศบังคลาเทศเสนอในเรื่องการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคคล การเสริมพลังผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม เนปาลเสนอเรื่องของการส่งเสริมการเปลี่ยนสแปลงทางสังคมเชิงบวก เกาหลีขอให้ระบุชัดเจนว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงทั้งระดับบุคคลและสังคม

ส่วนประเด็นเครื่องมือในการทำงานของวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ซึ่งนิยามในปัจจุบันใช้ทฤษฎีพฤติกรรมมนุษย์และทฤษฎีระบบทางสังคมนั้นประเทศจีนเสนอให้ใช้ธรรมเนียมประเพณีของกลุ่มชนกลุ่มต่างๆเพิ่มขึ้น ไทยเพิ่มในส่วนของการบูรณาการศาสตร์และศิลปและภูมิปัญญารวมทั้งการจัดการทุนทางสังคม ฟิลิปปินส์เสนอเรื่องทฤษฎีระบบนิเวศน์ทางสังคม เนปาลเพิ่มเครื่องมือในระดับจุลภาคและมหภาค

 

นิยามปัจจุบันยึดหลักการสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคมเป็นแหล่งที่มาของเป้าหมายซึ่งคล้ายคลึงกับหลายๆประเทศแต่มีเพิ่มเติมในเรื่องของหลักวัฒนธรรมพื้นถิ่นของแต่ละประเทศ ความเป็นพลวัตของสังคมทั้งระดับท้องถิ่นภูมิภาคและสังคมโลกนอกจากนี้ก็มีค่านิยมสังคมสงเคราะห์ด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเข้าถึงทรัพยากร ความเท่าเที่ยมกันของเพศสภาพ และการยึดถือจรรยาบรรณทางวิชาชีพ

  เมื่อจบการนำเสนอของทุกประเทศในช่วงเช้า  ตอนบ่ายจะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกันของผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้นประมาณ 100 คน โดยแยกเป็นการประชุมกลุ่มย่อย 4 กลุ่มเพื่ออภิปรายและหาข้อสรุปสำหรับนิยามของประเทศในแถบเอเชีย ผลการประชุมกลุ่มย่อยส่วนใหญ่มีข้อสรุปว่าต้องการเห็นการทบทวนความหมายใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของภูมิภาคเอเซียที่สะท้อนให้เห็นมุมมองทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและสังคมโลกพร้อมๆกับความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ โดยมีคำสำคัญๆที่เห็นพ้องต้องกันให้ปรากฏในนิยามเพิ่มเติมคือ  การพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต การคำนึงถึงบริบททางสังคมและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อของแต่ละกลุ่ม ชุมชนและประเทศ การพิทักษ์สิทธิและการเสริมพลัง ภูมิปัญญาและจิตวิญญาณ ค่านิยมและจรรยาบรรณสังคมสงเคราะห์

จากนั้นการทบทวนความหมายสังคมสงเคราะห์ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้งที่การประชุมสังคมสงเคราะห์เอเซียแปซิฟิกในวันที่ 15 -18 กรกฏาคม 2011 ณ มหาวิทยาลัยวาเซดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีหัวข้อการประชุมว่า Crossing Boarders: Interdependent Living and Solidarity.  ซึ่งมีหัวข้อการอภิปรายเรื่องนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์ในประเทศเอเชียแปซิฟิคประกอบด้วยประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ และผลการประชุมนี้แม้ว่าส่วนใหญ่จะรับแนวคิดการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์มาจากยุโรปและอเมริกาแต่ก็มีบริบททางสังคมของตนเองที่แตกต่างกันยังไม่สามารถยกร่างนิยามความหมายใหม่เพราะการพัฒนางานสังคมสงเคราะห์ในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แต่ได้เห็นพ้องกัน 4 ประเด็นว่าสังคมสงเคราะห์

  1. ส่งเสริมการต่อสู้กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคม

2. เสริมพลังอำนาจให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเองและครอบครัวหรือชุมชน

3. เสริมสร้างการพัฒนาศักยภาพของบุคคลและครอบครัว

4. สร้างเสริมสัมพันธภาพของประชาชนโดยคำนึงถึงความเป็นพื้นถิ่นของแต่ละคนหรือชุมชน

 

ดังนั้นในการทบทวนนิยามสังคมสงเคราะห์อาจมีลักษณะเป็นนิยามที่ไม่ต้องตายตัวแต่มีลักษณะหรือคำสำคัญร่วมกัน เช่น การพัฒนาสังคม  การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การปฏิบัติงานกับมนุษย์ที่คำนึงถึงบริบทและความเป็นพลวัตของแต่ละคน กลุ่ม สังคมหรือความเป็นพื้นถิ่น ( คนและสิ่งแวดล้อม ) การพิทักสิทธิและการเสริมพลัง การปฏิบัติการทางสังคม  (social action ) ความยุติธรรมทางสังคม การทบทวนความหมายสังคมสงเคราะห์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคครั้งนี้เป็นการสร้างความรับรู้การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ในภูมิภาคให้มีความเป็นตัวตนมากขึ้นมิใช่เพียงแค่การตามรอยของตะวันตก เป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของแต่ละประเทศและเป็นเสียงสะท้อนที่สร้างความเข้าใจร่วมกันให้แก่วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ทั่วโลก

แม้ว่าผู้เขียนมิได้เข้าร่วมการประชุมสุดท้ายที่ประเทศสวีเดนในปี 2012 แต่ได้รับข้อมูลการทบทวนความหมายเป็นระยะจาก IFSW และสุดท้ายคณะทำงานนี้ได้จัดทำความหมายสังคมสงเคราะห์สำเร็จลงด้วยความหมายข้างล่างนี้และจะนำความหมายนี้เข้าประกาศรับรองในที่ประชุมทั่วไปของ IFSW วันที่ 6-7 กรกฎาคม 2557 ที่กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ดังนี้

“Social work is a practice-based profession and an academic discipline that promotes social change and development, social cohesion, and the empowerment and liberation of people. Principles of social justice, human rights, collective responsibility and respect for diversities are central to social work.  Underpinned by theories of social work, social sciences, humanities and indigenous knowledge, social work engages people and structures to address life challenges and enhance wellbeing.

บทสรุป

บทความนี้เป็นเรื่องเล่าจากประสบการณ์และการมีส่วนร่วมในการทบทวนนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคซึ่งกระบวนการทบทวนนี้สร้างสรรค์โอกาสแห่งการเรียนรู้ร่วมกันของผองเพื่อนร่วมวิชาชีพ การรับรู้ปัญหา การเรียนรู้แนวทางแก้ไข การเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของวัฒนธรรมความเชื่อ การหลอมรวมพลังและทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกัน กระบวนการที่แสดงถึงอัตลักษณ์วิชาชีพสังคมสงเคราะห์เพื่อการนำไปสู่เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการพัฒนาสังคม

 

 

 

 

บรรณานุกรม

1.วันทนีย์ วาสิกะสิน. สุรางรัตน์ วศินารมณ์และกิติพัฒน์ นนทปัทมะดุลย์. 2550. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมและสังคมสงเคราะห์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

2.สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย. 2553 .เอกสารประกอบการทบทวนนิยามความหมายสังคมสงเคราะห์. สิงหาคม-กันยายน 2553

3.Ritsuko Watanabe. 2010. International Definition of Social Work Regional Workshop. Tokyo: Asia Pacific Association for Social Work Education 2010 Joint World Conference on Socail Work and Social Development: The Agenda. 2010. Abstract Book. Hong Kong.

  1. http://www.ifsw.org/f38000138.htm, November 22 , 2010

5.http://ifsw.org/get-involved/global-definition-of-social-work/ April 6 ,2014

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 566275เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2014 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2014 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท