สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย-โทษประหารชีวิตตามกฎหมายไทย


สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

      อย่างที่ทราบกันดีว่า ในสังคมของทุกประเทศจะต้องมีการรับรองสิทธิมนุษยชนไว้ในรัฐธรรมนูญ อันเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศซึ่งทำให้จะมีการตรากฏหมายขึ้นอันมีลักษณะเป็นการริดรอนหรือ ทำลายสิทธิมนุษยชนไม่ได้
เพราะการตรากฏหมายอันขัดต่อกฏหมายสูงสุดของประเทศย่อม ส่งผลให้บทกฏหมายดังกล่าวบังคับใช้ไม่ได้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยเช่นกันที่มีการบัญญัติการรับรองสิทธิและศักดิ์ความเป็นมนุษย์ไว้ในมาตรา4ที่ว่า"ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง" และในรัฐธรรมนูญไทยเช่นเดียวกันที่มีการบัญญัติคุ้มครองประชาชนชาวไทยทุกคนโดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างใดๆ ไว้ในมาตรา 5ที่วางหลักว่า "ประชาชนชาวไทยไม่ว่าเหล่ากำเนิด เพศ หรือศาสนาใด ย่อมอยู่ในความคุ้มครองแห่งรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน" ดังนั้นแล้วจึงจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูยแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติรับรองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยไว้อย่างชัดเจน และกฏหมายใดที่จะตราขึ้นให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นจะเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ตามหลักใน มาตรา 6 ที่ว่า"รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ
บทบัญญัติใดของกฏหมาย กฏ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

โทษประหารชีวิต

โทษประหารชีวิตนั้นปรากฎอยู่ในสังคมโลกมาอย่างช้านาน ซึ่งโทษประหารชีวิต เป็นโทษลักษณะหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามีความหมายว่าการปฏิบัติของรัฐต่อผู้กระทำความผิดโดยทำให้คนผู้นั้นถึงแก่ความตายเป็นการทดแทนเพราะเหตุที่เขาได้กระทำความผิด 

วัตถุประสงค์ที่สำคัญในการลงโทษประหารชีวิตนั้นมีดังต่อไปนี้
1.เพื่อเป็นการแก้แค้นและทดแทนกับความผิดที่ได้กระทำขึ้น(RetributionandExpiation) 
2.เพื่อเป็นการข่มขู่มิให้ผู้ใดกระทำความผิดนั้นขึ้นอีก(Deterrent)
3.เพื่อเป็นการตัดโอกาสในการกระทำความผิดซ้ำขึ้นอีก(Incapacitation)

      เมื่อเราพิจารณาถึงลักษณะและวัตถุประสงค์ของโทษประหารชีวิตแล้วจะพบว่า โทษประหารชีวิตเป็นโทษที่ปฏิเสธหลักการลงโทษเพื่อดัดนิสัยของผู้กระทำผิด ทั้งนี้เพราถือว่าผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่จะมีโทษประหารชีวิตนั้น คือผู้ที่เป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อสังคม การให้โอกาสแก่บุคคลประเภทนี้ให้กลับตัวกลับใจ ก็เท่ากับปล่อยให้สังคมต้องเสี่ยงภัยที่น่ากลัวอยู่ต่อไปไม่รู้จบสิ้น
      อีกทั้งโทษประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 5 “บุคคลใดจะถูกทรมานหรือได้รับการปฏิบัติหรือการลงทัณฑ์ซึ่งทารุณโหดร้าย,ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ได้มีการรวมตัวกันเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต เพราะถือว่า การที่รัฐบาลประหารชีวิตนักโทษซึ่งถือว่าเป็นประชาชนคนหนึ่งนั้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ซึ่งรัฐเองไม่ควรทำแบบเดียวกับที่อาชญากรกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งนับแต่ภายหลังเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวในสงคราใโลกครั้งที่สอง องค์การสหประชาชาติเอง ก็ได้มีการเรียกร้องให้ทั่วโลกพักการลงโทษประหารชีวิต โดยในปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว 140 ประเทศ ขณะเดียวกันยังมี 58 ประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ ซึ่งในประเทศเหล่านี้เพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่นำโทษประหารชีวิตมาใช้จริง ส่วนใหญ่เป็นประเทศในแถบเอเชียและตะวันออกกลางและหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทยอยู่ด้วย 

โทษประหารชีวิตในประเทศไทย

      โทษประหารชีวิตถูกนำมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 1895 โดยได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาคดีอาญาและการลงทัณฑ์ หรือ พระอัยการอาญาหลวง ผู้กระทำความผิดในคดีมุ่งร้ายต่อราชวงศ์, เบียดเบียนประชาชนให้ทุกข์ยาก, ให้ที่อยู่อาศัยแก่ผู้ต้องโทษ, ขัดขืนการจับกุม, ออกหมายเท็จ, เปลี่ยนแปลงคำให้การและละเลยการปฏิบัติตามกฎระเบียบซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบราชการจะถูกตัดสินลงโทษด้วยการตัดศีรษะต่อมาในปี พ.ศ. 1978 ได้มีการขยายคดีที่ต้องโทษประหารชีวิตให้มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
      หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 การเปลี่ยนแปลงทางสังคมการเมืองในขณะนั้นส่งผลกระทบต่อโทษประหารชีวิตเช่นกัน ในปี พ.ศ. 2476 พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ยุติโทษประหารชีวิต แต่ได้มีการลงความเห็นว่า ยังไม่ถึงเวลายกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ควรเปลี่ยนรูปแบบการประหารชีวิตเป็นวิธีการที่มีความทรมานน้อยกว่าเดิม ในปีเดียวกันนี้ จึงได้มีการแก้ไขมาตรา 13 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยเปลี่ยนวิธีการประหารชีวิตจากตัดศีรษะมาเป็นการยิงเป้า
      แม้วิธีการประหารชีวิตจะมีความทรมานน้อยลง หากแต่โทษประหารชีวิตของไทยกลับทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2499 ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ ซึ่งระบุโทษประหารชีวิตในหลายกรณี เช่น ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ,ความผิดเกี่ยวกับการปกครองและกระบวนการยุติธรรม, ความปลอดภัยของสาธารณชน, การคุกคามทางเพศ, ชีวิตและความปลอดภัยทางร่างกาย, เสรีภาพและทรัพย์สินส่วนบุคคล, การขู่เข็ญเรียกค่าไถ่, การขู่กรรโชกและการปล้นทรัพย์สิน นอกจากนั้น ยังมีพระราชบัญญัติยาเสพติดพ.ศ.2522 ซึ่งโทษสูงสุดคือการประหารชีวิตเช่นกัน ปัจจุบัน พระราชบัญญัติยาเสพติดได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เป็น พระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ. 2544 โดยโทษประหารชีวิตยังคงอยู่ ซึ่งนับตั้งแต่ปีพ.ศ.2546เป็นต้นมาโทษประหารชีวิตส่วนใหญ่มาจากคดียาเสพติด
      โทษประหารชีวิตของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งในปี พ.ศ. 2546 เมื่อรัฐสภาไทยผ่านกฎหมายห้ามโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตสำหรับผู้เยาว์ นอกจากนี้ ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารชีวิตจากการยิงเป้าเป็นฉีดยาหรือสารพิษเข้าเส้นแทน แม้จะมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายและวิธีการประหารชีวิตในกฎหมายไทย ประเทศไทยยังคงมีจุดยืนในการบังคับใช้โทษประหารชีวิต
ดังนั้นโดยสรุปวิวัฒนาการของวิธีในการประหารชีวิตของไทยมีสามวิธีดังนี้
1.การตัดหัวหรือกุดหัว
2.การยิงเป้า
3.การฉีดยาเข้าเส้น(มาตรา19ประมวลกฎหมายอาญา)
ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังคงบัญญัติโทษประหารชีวิตไว้ ในมาตรา 18 (1) แต่ถึงแม้จะมีการบัญญัติโทษประหารชีวิตไว้ในประมวลกฎหมายอาญาก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นการประหารชีวิตแทบจะไม่ได้นำมาใช้จริง เพราะปัจจุบันจากที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่าสหประชาชาติกำลังรณรงค์ให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตเสียในประเทศต่างๆทั่วโลก ซึ่งมาตรา18ได้วางหลักว่า 
      "โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้
(1)ประหารชีวิต
(2)จำคุก
(3)กักขัง
(4)ปรับ
(5)ริบทรัพย์
       โทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตมิให้นำมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี
       ในกรณีผู้ซึ่งกระทำความผิด ในขณะที่มีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีได้กระทำความผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุกห้าสิบปี

       และได้กำหนดวิธีการในการประหารชีวิตในปัจจุบัน โดยวิธีการฉีดยาไว้ในมาตรา 19 ที่ว่า      "ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วนวิธีการฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย"

ซึ่งในส่วนนี้ข้าพเจ้ามองว่า การที่กฎหมายลงโทษประหารชีวิตนั้น เป็นการปิดกั้นโอกาสในการกลับตัวกลับใจของผู้กระทำความผิดเอง ซึ่งอาจจะเป็นเพียงแค่เรื่องของโอกาส ความจำเป็นและพฤติการณ์ภายนอกที่บีบบังคับให้เขาต้องก่ออาชญากรรม อันเป็นไปตามหลักการทางอาชญวิทยา (ไม่รวมถึงผู้ที่ถือเป็นอาชญากรโดยกำเนิด)ดังนั้นแล้วการที่เขาก่ออาชญากรรมนั้นอาจเป็นเรื่องของการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือ ความจำเป็นในการอยู่รอดของเขา อันเป็นปัจจัยที่บังคับให้เขาต้องก่ออาชญากรรม ซึ่งสิ่งที่เขาก่อขึ้นนั้นกลับมีโทษร้ายแรงถึงประหารชีวิต เช่น A มีเจตนาที่จะขโมยของเท่านั้น แต่เพราะเจ้าของมาพบเข้า A ตกใจเกรงว่าตนจะโดนจับ จึงฆ่าเจ้าของตาย อันเป็นโทษประหารชีวิต ตามมาตรา 288 ประมวลกฎหมายอาญา ดังจะเห็นได้ว่าเพราะพฤติการณืบางอย่างทำให้ให้เขาจำต้องกระทำลงไปเพื่อเอาตัวรอดทั้งที่เจตนาในตอนแรกไม่ได้คิดจะไปฆ่าใคร ดังนั้นการที่จะลงโทษประหารชีวิตเพื่อตัดเขาออกจากสังคมไป เพียงเพราะความหวาดกลัวที่ว่าหากเขากลับมาในสังคมอีก เกรงว่าจะไปกระทำความผิดซ้ำอีกนั้น จึ่งเป็นความคิดที่ดูแล้วเห็นแก่ตัวเกินไป

       ดังนั้นข้าพเจ้าจึงไม่เห็นด้วยกับ การลงโทษประหารชีวิต เพราะข้าพเจ้ามีความเชื่อที่ว่าผู้กระทำความผิดย่อมต้องได้รับโอกาสในการกลับตัวกลับใจแทนการที่จะตัดเขาออกไปจากสังคมนั้นเสียเลย เพราะบางกรณ๊นั้นผู้ที่ต้องโทษประหารอาจจะเป็นเพียง ผู้ที่ตกเป็นเเพะรับบาปก็ได้ ซึ่งหากเขาต้องถูกประหารชีวิตก็เท่ากับว่าเป็นการฆ๋าคนที่มิได้กระทำความผิด ซึ่งถึงแม้จะพิจารณาจากวิธีการประหารว่าจะมีความทารุณน้อยลงก็ตาม แต่การประหารชีวิตนั้น ถือเป็นการกระทำอันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ข้อห้า "ที่ว่าบุคคลใด ๆ จะถูกทรมานหรือได้รับผลปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายผิดมนุษยธรรมหรือต่ำช้าไม่ได้ดังนั้นแล้วการประหารชีวิต จึงถือเป็นการลงโทษบุคคลซึ่งกระทำความผิดโดยวิธีการที่โหดร้ายและผิดมนุษยธรรม ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีวิธีการที่ทารุณกรรมน้อยลงก็ตาม(เพราะในสัมยที่ใช้การตัดหัวนั้น ศพของผู้ถูกประหารจะถูกแล่ออกเป็นชิ้นเพื่อให้แร้งรับประทานและมีการตัดหัวของผู้ถูกประหารชีวิตเพื่อเสียบไม้ประจาน) แต่การประหารชีวิตก็ถือเป็นการพรากชีวิต หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการฆ่าคนคนหนึ่ง อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนสิทธิในการมีชีวิตของบุคคล ตาม ข้อสามแห่ง ปฏิณญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า "คนทุกคนมีสิทธิในการดำรงชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งตัวตน"

       ดังนั้นแล้วข้าพเจ้าเองมีความเห็นว่า ประเทศไทยเห็นควรที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตไปเสีย โดยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และอีกทั้งจากข่าว และ เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่าถึงแม้จะยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่ในระบบกฎหมายไทยอยู่ก็ตามแต่อาชญากรรมต่างๆ ก็มิได้ลดลงไปจากเดิมแต่อย่างใด ดังนั้นการลงโทษประหารชีวิตจึงไม่ใช่ทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในประเทศไทย

อ้างอิง

1.โทษประหารชีวิตในประเทศไทย ,สืบค้นเมื่อ 14 เม.ย. 57 ,ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%82%E0%B8%97%E0...

2.บทความโทษประหารชีวิต ,สืบค้นเมื่อ 14 เม.ย. 57 ,ที่มา http://www.pantown.com/board.php?id=8476&area=&nam...

3.พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์ ,สืบค้นเมื่อ 14 เม.ย. 57 ,ที่มา http://www.correct.go.th/mu/index4.html

4.โทษประหารชีวิต ความจำเป็นที่คงอยู่ หรือความรุนแรงที่ควรยกเลิก ,สืบค้นเมื่อ 14 เม.ษ. 57 ,ที่มา http://www.dailynews.co.th/Content/Article/127538/...

5.Universal Declaration of Human Rights - Thai ,สืบค้นเมื่อ 14 เม.ย. 57 ,ที่มา http://www.unicode.org/udhr/d/udhr_tha.html

หมายเลขบันทึก: 566083เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2014 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 13:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท