ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๓๖. เรียนรู้จากระบอบพระมหากษัตริย์ไทย


 

          ในวงสนทนาของสี่สหายที่อยุธยาเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗    ผมเอ่ยเรื่องการฟื้นฟูความเข้มแข็งของระบอบกษัตริย์ ของไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๙    และถาม ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ว่าเป็นความจริงตามที่ผมได้ยินมาหรือไม่ ว่าบุคคลสำคัญที่คิด ยุทธศาสตร์เรื่องนี้คือ “พระองค์ธานี” หรือพระองค์เจ้าธานีนิวัต    หรือกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร    ที่แนะนำให้ฟื้นความ ศักดิ์สิทธิ์ ให้แก่ระบอบกษัตริย์ของไทย

          ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ บอกว่าเพิ่งเคยได้ยิน    แต่ก็ทราบว่า พระองค์ธานีเป็นบุคคลสำคัญยิ่งในรัชกาลที่ ๙ นี้    พร้อมกับเอ่ยเรื่อง “ราชประชาสมาสัย” ที่หมายถึงระบอบการปกครองที่เกื้อกูลอำนาจกันระหว่างพระเจ้าแผ่นดินกับพลเมือง    และบอกว่า ดร. ปราโมทย์ นาครทรรพ เพิ่งเขียนเรื่องนี้    ซึ่งผมค้นได้ ที่นี่และ ที่นี่

          ในวันที่ ๑๐ มีนาคม ผมก็ได้รับจดหมาย ในซองมีเอกสารเรื่อง The Old Siamese Conception of the Monarchy by Prince Dhani    ที่ท่านค้นมาจาก อินเทอร์เน็ต    อ่านแล้วได้ความรู้มาก ผมจึงนำมาบอกต่อ    บทความนี้ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เล่มที่ ๓๖ (๒) หน้า ๙๑ - ๑๐๖.

          พระองค์ธานี ทรงมองว่าคนไทยมีความเชื่อทั้งพราหมณ์ พุทธ และผี (animism)    เรื่องระบอบกษัตริย์ เราได้คติมาจากอินเดียโบราณ    มีพระคัมภีร์หรือกฎหมายโบราณต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คัมภีร์พระธรรมศาสตร์    

          ผมติดใจ ข้อความในหน้า 99 ซึ่งผมคัดลอกมา “As has been said by scholars of legal history, the function of the king was not to legislate but to protect the people and preserve the sacred law.”   พระราชาไม่มีหน้าที่ตรากฎหมาย    แตมีหน้าที่ ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชน  และอนุรักษ์กฎหมายศักดิ์สิทธิ์    นี่คือคติที่เหมาะสมยิ่งในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อย   หรือแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยในสมัยโบราณ

          อ่านบทความนี้แล้ว ผมสรุปว่า คติเดิมกษัตริย์ไทยเป็นคนธรรมดา    ที่ผู้คนยกย่องขึ้นให้ปกครองแว่นแคว้น และมีพระราชอำนาจ ขนาดสั่งตัดหัวประหารชีวิตคนได้    ต่อมาได้คติเขมรซึ่งได้มาจากฮินดูอีกต่อหนึ่ง    กษัตริย์กลายเป็นเทพ คล้ายๆ เทพในฮินดู    มีความศักดิ์สิทธิ์แบบไม่ต้องคิดถึงเหตุผล เพราะความศักดิ์สิทธิ์เป็นเรื่องเหนือเหตุผล

          แล้วก็มาถึงยุคคติตะวันตกแพร่เข้ามาตั้งแต่สมัย ร. ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์    บทความบอกว่า เกิดคติที่ทั้งพระเจ้าแผ่นดิน และไพร่ฟ้าต่างก็ให้สัตย์ปฏิญาณต่อกัน    ไม่ใช่แค่ไพร่ฟ้าถวายความจงรักภักดีเพียงฝ่ายเดียว

          นั่นมันความคิดของคนเมื่อเกือบ ๗๐ ปีมาแล้ว    ก่อนยุคโลกาภิวัตน์สมัยใหม่ ที่เริ่มมาประมาณ ๓๐ ปี    ที่โลกสมัยนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและข้อมูลข่าวสารถึงกันหมด

          ที่ผมติดใจคือ ในปัจจุบันเราควรออกแบบระบบต่างๆ ของสังคม ตามประเพณีนิยมโบราณเป็นหลัก    หรือคิดไปข้างหน้า เป็นหลัก    คำถามนี้อาจเป็นคำถามที่ผิด เพราะคิดแบบขาว-ดำ     แต่สาระคือ เราจะให้น้ำหนักโบราณประเพณีในแง่ไหน และจะให้น้ำหนักสภาพสังคมในอนาคตอย่างไร

          น่าจะเป็นประเด็นสำหรับการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

 

 

๑๒ มี.ค. ๕๗

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 565744เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2014 08:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2014 08:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท