ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


ไม่ว่าประเทศใดๆในโลกล้วนแต่มีประวัติศาสตร์ของชาติตนเองทั้งสิ้น ประวัติศาสตร์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของคนแต่ละชาติ ความเป็นมาของชาตินั้นๆซึ่งส่งผลถึงการดำรงอยู่ของประเทศในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ยังส่งผลถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอันมีสาเหตุมาจากความเกลียดชังที่ฝังลึกและทัศนคติที่เป็นลบนั่นเอง ดังที่จะกล่าวดังกรณีตัวอย่างต่อไปนี้

                กรณีของชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นกลุ่มชนบริเวณชายแดนฝั่งพม่าอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอะรากัน (ยะไข่) ในตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ นับถือศาสนาอิสลาม แรกเริ่มประเทศพม่ามองว่าพวกโรฮิงญาไม่มีความจงรักภักดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวโรฮิงญาบางส่วนต้องการสร้างรัฐอิสระขึ้นทางอะรากันตอน เหนือ และผนวกเข้ากับปากีสถาน พม่าจึงไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นพลเมือง และในปี พ.ศ. 2491 กองทหารพม่าออกปฏิบัติการกวาดล้างพวกนี้ หมู่บ้านหลายร้อยแห่งถูกเผาและคนหลายพันคนถูกฆ่า ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลอพยพหนีไปยังบริเวณที่เป็นปากีสถานในขณะนั้น และ นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เจ้าหน้าที่ทางการพม่าพยายามจะข่มขวัญและขับไล่ พวกโรฮิงญาในครั้งต่อ ๆ มาอีก ทำให้ผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้าสู่ปากีสถานและต่อด้วยบังคลาเทศระลอกแล้วระลอกเล่า

ในมุมมองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชาวโรฮิงญาเป็นประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย" และอพยพมากจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่าทำให้ประชาชนชาวโรฮิงญาไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous groups) ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่ยากจนไร้สัญชาติจำนวนมากจึงอพยพไปสู่เมืองใหญ่ในบังคลาเทศ มาเลเซีย ปากีสถาน และเดินทางต่อไป

ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ยังคงถูกปฏิเสธสิทธิในสัญชาติภายใต้กฎหมายพลเมืองพม่าปี 2525 พวกเขาอาศัยอยู่ในรัฐระไข่ห์ ตอนเหนือ ซึ่งยังคงต้องขออนุญาตและชำระค่าธรรมเนียมเพื่อออกจากหมู่บ้าน เรื่องดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการค้าขายและแสวงหางานทำ นอกจากนั้นพวกเขามักจะถูกบังคับให้เป็นแรงงานอีกด้วย ชาวมุสลิมโรฮิงญายังถูกจำกัดสิทธิพลเมืองอีกหลายประการ ได้แก่ ไม่มีอิสระในการเดินทาง การบังคับเก็บภาษี การยึดที่ดินและบังคับย้ายถิ่น การขัดขวางการเข้าถึงด้านสาธารณสุข ที่พักอาศัยและอาหารไม่เพียงพอ การบังคับใช้แรงงาน รวมทั้งมีข้อจำกัดในการสมรส ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายพันคนอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคซับซ้อน[1]

                ดังนั้นแต่แรกเริ่มมา ชาวโรฮิงญาถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่อยู่ที่ประเทศพม่า นับตั้งแต่การที่พม่าไม่ยอมให้ชาวโรฮิงญาได้รับสัญชาติพม่าซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเชื้อชาติและศาสนาเนื่องจากพม่านับถือศาสนาพุทธแต่ชาวโรฮิงญานับถือศาสนาอิสลาม และชาวโรฮิงญานั้นมีเชื้อชาติบังคลาเทศ จึงมีหน้าตาที่แตกต่างกับคนที่มีเชื้อชาติพม่า ซึ่งขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 2 คือทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม

ปัญหาเรื่องการหลอกเอาเอกสารพิสูจน์ตัวบุคคลของชาวโรฮิงญาส่งผลให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นคนไม่มีสัญาชาติ ไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐใดๆซึ่งส่งผลสืบเนื่องมาถึงปัญาที่ชาวโรฮิงญาถูกละเมิดสิทิมนุษยชนจากรัฐพม่าเองและรัฐอื่นๆที่ชาวโรฮิงญาอพยพไปอาศัยอยู๋ได้ง่ายดายยิ่งขึ้น เป็นการขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 15(1) ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง และ (2) บุคคลใดจะถูกเพิกถอนสัญชาติของตนตามอำเภอใจ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของตนไม่ได้

การจำกัดสิทธิพลเมืองของชาวโรฮิงญา เป็นการขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 7 ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ซึงการจำกัดสิทธิพลเมืองได้แก่

1.การบังคับเก็บภาษี การยึดที่ดินและการขัดขวางการเข้าถึงด้านสาธารณสุข ที่พักอาศัยและอาหารไม่เพียงพอ ขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษชนข้อ 25(1) คือ ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพอันเพียงพอสำหรับสุขภาพและความอยู่ดีของตนและของครอบครัว รวมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และการดูแลรักษาทางการแพทย์ และบริการสังคมที่จำเป็น และมีสิทธิในหลักประกันยามว่างงาน เจ็บป่วย พิการ หม้าย วัยชรา หรือปราศจากการดำรงชีพอื่นในสภาวะแวดล้อมนอกเหนือการควบคุมของตน

2.การบังคับย้ายถิ่น ขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 13 (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ และ (2) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกนอกประเทศใด รวมทั้งประเทศของตนเอง และสิทธิที่จะกลับสู่ประเทศตน

  1. การถูกบังคับให้เป็นแรงงานและการไม่มีอิสระในการหางานทำ ขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในข้อ 3คือ ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคลและ ข้อ 23(1) คือ ทุกคนมีสิทธิในการทำงาน ในการเลือกงานโดยอิสระ ในเงื่อนไขที่ยุติธรรมและเอื้ออำนวยต่อการทำงาน และในการคุ้มครองต่อการว่างงาน

4.การกำหนดข้อจำกัดในการสมรส เป็นการขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในข้อ 16 (1) บรรดาชายและหญิงที่มีอายุครบบริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและก่อร่างสร้างครอบครัวโดยปราศจากการจำกัดใด อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส[2]

ปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญาเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยโดยมีสาเหตุมาจากชาวโรฮิงญาเมื่อถูกละเมิดสิทธิและถูกเลือกปฏิบัติในประเทศพม่าเพราะสาเหตุดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจึงอพยพย้ายถิ่นไปยังประเทศต่างๆเช่นประเทศที่อยู่ข้างเคียงเช่นบังคลาเทศ ปากีสถาน บางส่วนอพยพมายังประเทศออสเตรเลียและประเทศไทย ซึ่งอพยพโดยการแล่นเรือมาลักลอบเข้าประเทศไทยที่จังหวัดระยองและลักลอบเข้าทางบกที่จังหวัดตาก ชาวโรฮิงญาบางส่วนถูกจับไปค้าเป็นทาสผู้หญิง และเด็กบางส่วนถูกหลอกให้หลบหนีออกจากบ้านพักเพื่อเดินทางต่อ แต่สุดท้ายโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องถิ่นที่ร่วมมือกับขบวนการค้ามนุษย์ข่มขืน โดยมีขบวนการที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชั่นที่มีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ[3] ประกอบกับการที่รัฐพม่าไม่ได้รับรองชาวโรฮิงญาให้มีสัญชาติพม่าชาวโรฮิงญาจึงๆไม่มีรัฐใดๆคุ้มครองป้องกันไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงถึงละเมิดสิทธิได้อย่างง่ายดาย การถูกจับมาค้าเป็นทาสเมื่ออพยพมายังประเทศไทยนั้นเป็นอีกปัญหาหนึ่งซึ่งขัดกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในข้อ 4 คือบุคคลใดจะตกอยู่ในความเป็นทาส หรือสภาวะจำยอมไม่ได้ ทั้งนี้ ห้ามความเป็นทาส และการค้าทาสทุกรูปแบบ

                ประเทศไทยเช่นเดียวกับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังไม่ได้การรับรองสนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ.1957 และอนุสัญญาออกตามมาในปี ค.ศ.1967 ไม่ได้มีกลไกทั้งภายในประเทศ และกลไกในภูมิภาคในการปกป้อง คุ้มครอง และดูแลผู้อพยพหนีภัย การปฏิบัติต่อผู้อพยพหนีภัยจึงขึ้นอยู่กับความต้องการของรัฐบาลไทย ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายและปฏิบัติการต่อผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่เข้ามาเขตแดนอำนาจอธิปไตยของไทย และความช่วยเหลือส่วนใหญ่เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ มาตรการที่ทางการไทยปฏิบัติไม่ได้แตกต่างไปจากผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอื่น ไม่อนุญาตให้มีการขอสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อพยพของหน่วยงานช่วยเหลือของสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นผู้อพยพจากภัยเศรษฐกิจ และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

รัฐบาลไทยดำเนินการบนพื้นฐานหลักการว่ากลุ่มโรฮิงญาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย (Illegal migration) ที่มิใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ (Displaced person from fighting) และมิใช่เป็นผู้อพยพ/ลี้ภัย (Refugee) แนวทางปฏิบัติของทางการไทยต่อชาวโรฮิงญาก็เป็นไปตามกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งทั้งหมดก็จะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ลักลอบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การดำเนินการของไทยจะเป็นมาตรการสกัดกั้นใน 2 ลักษณะ คือ กรณี ชาวโรฮิงญาสามารถเข้าถึงแนวชายฝั่ง จะดำเนินการจับกุมโดยใช้ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ กองกำลังป้องกันชายแดน ทหารเรือ และตำรวจน้ำ ก่อนที่จะส่งมอบให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองดำเนินคดี และผลักดันต่อไป กรณี สามารถจับกุมได้ในขณะยังไม่ขึ้นฝั่ง จะใช้ วิธี การผลักดัน

แม้พวกเขาอยู่ภายใต้การควบคุมและอำนาจของรัฐไทย แต่กลับถูกปฏิบัติว่าไร้ตัวตนทางกฎหมาย รัฐบาลไทยก็เลือกที่ให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกกันออกจากการเป็นสมาชิกของระเบียบสังคมของรัฐ ไม่ได้ถูกรับรองสถานะความเป็นบุคคล และถูกควบคุมในพื้นที่สำหรับ "ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รอการผลักดันกลับ" ภายใต้การควบคุมของสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แต่เนื่องจากการถูกปฏิเสธจากทางการพม่า และการส่งกลับแบบที่เคยทำในช่วงเวลาก่อนปี 2555 ที่ไม่ได้ถูกยอมรับจากรัฐบาลพม่าก็เป็นไปไม่ได้ การควบคุมภายใต้ ตม.ในปัจจุบันเป็นไปเพื่อรอการส่งต่อไปยังรัฐชาติอื่น ๆ ที่ยอมรับสถานะของชาวมุสลิมโรฮิงญา[4] ซึ่งไทยได้ดำเนินการผลักดันผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับพม่าไปแล้วราว 1,300 คนการผลักดันชาวโรฮิงญาซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ห้ามไม่ให้ส่งผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่พักพิงกลับไปในสถานที่ซึ่งพวกเขาต้องเผชิญภัยอันตราย[5]

ความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยกับประเทศอื่นๆในโลกเกิดจากการที่ประเทศนั้นๆมีความขัดแย้งเกิดขึ้นที่เป็นการเลือกละเมิดสิทธิมนุษยชนจนกระทั่งผู้ที่ถูกละเมิดสิทธินั้นไม่สามารถทนรับการการละเมิดสิทธินั้นได้จนเกิดการอพยพมายังประเทศไทย และประเทศไทยก็มีทัศนคติที่ผิดและละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลกลุ่มดังกล่าวอีกจึงเกิดเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องและไม่สามารถแก้ไขได้โดยใช้เวลาเพียงสั้นๆเนื่องจากเป็นเรื่องของทัศนคติของบุคคลแต่ก็เป็นปัญหาที่ควรแก้ไขเพราะมนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมหัน มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนๆกัน ไม่มีใครสมควรที่จะได้รับการปฏิบัติโดยไม่ได้คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงควรปรับทัศนคติแยกความเกลียดชังออกจากการคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจึงไม่ควรยึดความเกลียดชังเป็นตัวตั้งเพื่อเป็นข้ออ้างในการเลือกที่จะปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างไม่เท่าเทียม

[1] Thai Action Committee for Democracy in Burma. ประวัติของชาวโรฮิงญา. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.tacdb-burmese.org. 8เมษายน 2557.

[2] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน, (กรุงเทพฯ:กรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ, 2551), 22-29

[3] ไทยรัฐออนไลน์. มายา? โรฮิงญา ยิ่งกว่าลับลวงพราง. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://kwamrak.blog.fc2.com/blog-entry-1604.html. 8 เมษายน 2557

[4] ศิววงศ์ สุขทวี.โรฮิงยา ชีวิตภายใต้อำนาจ จากชายแดนพม่าถึงไทย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://prachatai.com/journal/2013/08/48462. 8 เมษายน 2557

[5]ASTVผู้จัดการออนไลน์. สื่อนอกตีข่าว เพียง 3 เดือน ไทยผลัก “โรฮิงญา” กลับพม่าไปแล้วกว่าพันราย. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9570000017582. 8เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 565733เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2014 00:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท