ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


สิทธิมนุษยชนเป็นเพียงคำสั้นๆที่เกิดอะไรต่างๆตามมามากมาย ไม่ว่าการลี้ภัยของคนต่างแดนเป็นผู้ลี้ภัย หรือคนหนีภัย นอกจากนี้ยังมีการอพยพ ที่โดนกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้พวกเขาปราศจากสิทธิขั้นพื้นฐานอันมนุษย์พึงมี จึงนำไปสู่การระหว่างประเทศด้วย เช่น กลุ่มโรฮิงยา เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ของ โรฮิงยา การสร้างชาติพม่า ชีวิตที่ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ
"โรฮิงยา" เป็นคำที่เรียกชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่อยู่ดินแดนอาระกัน หรือรัฐระคายในปัจจุบัน รัฐชายแดนทางตะวันตกของประเทศพม่า ติดกับชายแดนบังคลาเทศ มีลักษณะร่างกาย ภาษาที่ใช้ใกล้เคียงกับภาษาเบงกาลี ภาษาที่ถูกใช้ในบังคลาเทศ ประเทศเพื่อนบ้านมุสลิมทางตะวันตก จากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และความแตกต่างทางชาติพันธ์ที่ชัดเจน ชาวโรฮิงยาไม่เคยถูกยอมรับว่าเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า

คำว่า "โรฮิงยา" ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงถึงความเป็นมา สำหรับชาวโรฮิงยา พวกเขาอ้างถึงการสืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับ การก่อตั้งอาณาจักรโบราณที่ชื่อว่า มารุค อุ (Mrauk U) ในดินแดนอาระกัน รัฐระคายในปัจจุบัน พวกเขาคือคนพื้นเมืองบนดินแดนอาระกัน เป็นกลุ่มชาติพันธ์บนดินแดนอาระกันที่นับถืออิสลาม แต่สำหรับพม่า "โรฮิงยา" เป็นคำที่เกิดขึ้นมาใหม่จากนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐอาระกันที่หมายถึงพวกที่อพยพเข้ามาจากบังคลาเทศอย่างผิดกฎหมายในช่วงเวลาที่พม่าอยู่ภายใต้อังกฤษในฐานะอาณานิคม โรฮิงยาจึงไม่ใช่กลุ่มชาติพันธ์ดั้งเดิมในพม่า (U Khin Maung Saw,1993) ข้อถกเถียงดังกล่าวไม่ได้ทำให้กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าชาวโรฮิงยาหายไป และไม่ว่าชาวโรฮิงยาจะเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากนักเดินเรือชาวอาหรับ หรือผู้อพยพชาวบังคลาเทศที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนดินแดนอาระกัน แต่ชาวโรฮิงยาในปัจจุบันก็เป็นคนรุ่นที่สอง หรือสามที่ซึ่งเกิดและเติบโตขึ้นมาในดินแดนอาระกัน มีพ่อ แม่ หรืออาจรวมถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เกิดและตายบนดินแดนอาระกัน

ประวัติศาสตร์ของโรฮิงยาจึงผูกพันกับดินแดนอาระกัน ที่ซึ่งมีประวัติเป็นของตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในช่วงเวลาไม่นาน อาณาจักรมารุค อุ เป็นเอกราช เช่นเดียวกับอาณาจักรของชาวพม่า จนกระทั่งปี ค.ศ.1784 ที่อาณาจักรพม่าขยายอำนาจเข้าครอบครองดินแดนอาระกัน ผู้คนจำนวนมากทั้งพุทธ และมุสลิมอพยพหนีกองภัยสงครามเข้าสู่จิตตะกอง ซึ่งเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษในสมัยนั้น ขณะที่บางส่วนถูกกวาดต้อนไปยังดินแดนพม่าตอนใน ประชากรในดินแดนอาระกันจึงลดจำนวนลง ไร่นาถูกละทิ้งเป็นจำนวนมา ดินแดนอาระกันจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรพม่าอยู่ 44 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1784 จนถึง 1828 (Aye Chan, 2005)        

ช่วงเวลาปี ค.ศ. 1823 -1828 อังกฤษเป็นฝ่ายชนะในสงครามครั้งที่ 1 กับพม่า ทำให้ดินแดนชายฝั่ง บริเวณอาระกัน รัฐเทนาเสริม อยู่ภายใต้การปกครองอาณานิคมของอังกฤษ และในปี 1886 สงครามครั้งที่ 3 ระหว่างอังกฤษกับพม่าสิ้นสุด พม่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม ดินแดนพม่าตอนในทั้งหมดจึงกลายเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ระหว่างการปกครองอาณานิคมของอังกฤษเหนือพม่า ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามครั้งที่ 1 ผู้คนจากอินเดีย และบังคลาเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่อาระกัน บางส่วนเป็นชาวอาระกันที่อพยพออกไปหลังกองทัพพม่าเข้ายึดครองอาระกัน บางส่วนก็คือชาวบังคลาเทศจากจิตตะกอง หรือคนอินเดียจากพื้นที่ใกล้เคียง (U Knin Maung Saw, 1993)

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพม่าและกลุ่มชาวโรฮิงยาแตกแยกมากขึ้น เมื่อช่วงต้นของสงคราม กองกำลังกู้ชาติของพม่าเลือกที่จะสนับสนุนกองทัพญี่ปุ่น ขณะที่กองทัพอังกฤษในพม่าก็ได้กองหนุนจากคนอินเดีย และโรฮิงยา ชาวพม่าเผชิญกับความรุนแรงจากกองกำลังอังกฤษและพันธมิตร แต่ความพ่ายแพ้ของอังกฤษในตอนต้นของสงคราม การถอยทัพอย่างรวดเร็วของอังกฤษได้ทิ้งให้ชาวอินเดีย ชาวโรฮิงยาเผชิญหน้ากับความรุนแรงที่มาพร้อมกับกองทัพญี่ปุ่น และพันธมิตรที่เป็นกองกำลังกู้ชาติของพม่า เมื่อสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 เปลี่ยนไป กองทัพญี่ปุ่นเริ่มประสบกับความพ่ายแพ้ในสงคราม กองกำลังกู้ชาติของพม่าเปลี่ยนการสนับสนุน กลับมาเป็นพันธมิตรกับกองกำลังอังกฤษ  ชาวอินเดีย ชาวโรฮิงยาที่อดีตพันธมิตรของอังกฤษถูกละเลย และทิ้งให้เผชิญกับชะตากรรมของตนในพม่าแต่เพียงลำพัง จนกระทั่งพม่าได้รับเอกราชบนเงื่อนไขของการยอมรับของกลุ่มชาติพันธ์ตามข้อตกลงปางหลวง

แม้ว่าในภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ชาวโรฮิงยาจะถูกรับรองในความเป็นกลุ่มชาติพันธ์ในสมัยรัฐบาลของนายอูนุ ในการประชุมสภาเมื่อ 1950 แต่ภายหลังการยึดอำนาจของนายพล เน วิน ในปี 1978 พร้อมกับการนำสังคมนิยมแบบพม่ามาใช้ มีการสร้างความรู้สึกชาตินิยมพม่าพุทธขึ้นมา นำไปสู่ความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธ์ที่แตกต่างไปจากพม่า และกลุ่มชาติพันธ์ที่แตกต่างไปจากพม่ามากที่สุดคือผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนอาระกัน หรือระคายในปัจจุบัน ที่มีลักษณะภายนอก มีภาษา มีการแต่งกายใกล้เคียงกับผู้คนในบังคลาเทศ มากกว่าพม่า มีการนับถือทั้งศาสนาอิสลาม ฮินดูและพุทธ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเขาต่อสู้เคียงข้างอังกฤษเจ้าอาณานิคมนับตั้งแต่เริ่มต้นและสิ้นสุดสงคราม ความเข้าใจที่แตกต่างในประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยากับชาวพม่า จึงเป็นการง่ายที่จะทำให้คนกลุ่มดังกล่าวเป็นชาว "โรฮิงยา" ที่เป็นผู้อพยพมาจากจิตตะกอง และพื้นที่ใกล้เคียงในยุคสมัยอาณานิคมอังกฤษ เป็นผู้คนซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิในการเป็นพลเมืองพม่าตามกฎหมายสัญชาติ (1982)



ผู้อพยพสู่ผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง แรงงานผิดกฎหมาย อาชญากรและผู้ก่อการร้าย
เมื่อคนถูกกันออกจากการเป็นสมาชิกของรัฐ แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมือง แต่ก็เป็นชีวิตที่เป็นเป้าหมายของการใช้อำนาจมากกว่าจะเป็นผู้มีบทบาทางการเมืองและเมื่อปราศจากความสัมพันธ์ใด ๆ กับรัฐ การเผชิญหน้ากับอำนาจและปฏิบัติของของรัฐจึงกระทำลงบนชีวิตโดยตรง พวกเขากลายเป็นชีวิตที่ไร้การปกป้อง เป็นชีวิตที่เปลือยเปล่า[5] สิ่งที่พวกเขาทำได้ก็เป็นเพียงการพยายามหลบหนี หลีกเลี่ยงจากการเผชิญหน้าในฐานะของเป้าหมายของปฏิบัติการทางอำนาจของรัฐ หน่วยงานความมั่นคงภายในรัฐ และรวมถึงคนธรรมดาที่ซึ่งมีสำนึกของการเป็นพลเมืองที่ดี พร้อมที่จะแบ่งปันภาระของอำนาจสูงสุด ด้วยการใช้ความรุนแรงในนามของรัฐ (Thomas Blom Hansen, Finn Stepputat, 2005) ไม่ว่าจะมีความเสี่ยงอะไรที่รออยู่ ก็ดีกว่าการตกอยู่ภายใต้การกระทำ และการควบคุมของรัฐที่ซึ่งตนไม่สามารถทำอะไรได้เลย

ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยายุคก่อนอาณานิคมสามารถที่จะเป็นได้ทั้งที่อยู่ดั้งเดิมตามการอ้างอิงของนักประวัติศาสตร์ ปัญญาชนชาวโรฮิงยา หรือเป็นผู้ที่เข้ามาใหม่ตามความเข้าใจของชาวพม่า แต่กระนั้นการอธิบายของทั้งสองแนวคิดไม่ได้ปฏิเสธการเคลื่อนย้าย การมีปฎิสัมพันธ์ที่หลากหลายของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความขัดแย้งระหว่างชาวพม่า กับกลุ่มชาวโรฮิงยาเกิดขึ้นมาในภายหลังยุคอาณานิคม

การสร้างชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้สร้างให้คนกลุ่มน้อยที่แตกต่างไปชนชั้นนำที่ครอบงำการสร้างชาติกลายเป็นคนอื่นที่ยังไม่พร้อมจะเป็นพลเมืองของรัฐ หรือในบางกรณีกลายเป็นศัตรูของชาติ กรณีของประเทศพม่า ชาวโรฮิงยาไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มชาติพันธ์ที่ขัดแย้งกับรัฐบาลพม่า แต่เป็นมากกว่าคนนอก เป็นคนนอกที่อพยพบนแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง เมื่อรัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะยอมรับและให้สถานะของการเป็นพลเมืองของพวกเขา พวกเขาการถูกทำร้าย ถูกทำลาย ถูกแย่งชิงทรัพย์สิน ถูกขับไล่ออกไปจากบ้านเกิดของตนในพม่า ไม่ได้รับการปกป้อง คุ้มครองจากรัฐ และถูกบังคับให้อพยพหนีออกจากประเทศพม่า เป็นผู้อพยพที่มุ่งหน้าไปยังประเทศบังคลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาระเบีย แต่สำหรับมาเลเซีย และประเทศไทย ที่ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมรับสถานะของการเป็นผู้อพยพ พวกเขาอยู่ในฐานะของผู้ลักลอบหนีเข้าเมือง เป็นแรงานข้ามชาติผิดกฎหมาย บางคนอาจได้รับสิทธิในการอยู่อาศัยชั่วคราว หลายคนก็อยู่อย่างผิดกฎหมาย แต่พวกเขาก็ยังมีความสามารถที่จะดิ้นรนท่ามกลางสนามปะลองของการอำนาจต่างๆ ของทั้งสองประเทศ แต่กรณีที่แย่ที่สุดคือการพวกเขาชาวโรฮิงยาที่อยู่ในพื้นที่ที่ถูกผูกขาด หรือถูกครอบงำโดยอำนาจได อำนาจหนึ่ง การถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และปฏิบัติการของรัฐในห้องกัก ของด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือการตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ กลายเป็นแรงงานบนเรือประมงที่ไม่ได้มีโอกาสขึ้นฝั่งเป็นระยะเวลานาน หากทนได้ก็ทน หากทนไม่ได้ก็อาจถูกฆ่าและกลายเป็นศพลอยอยู่กลางทะเลหรือกลายเป็นอาชญากรที่ตัดสินใจฆ่าไต้ก๋งเรือเพื่อที่จะหลบหนีออกจากเรือ[6]

ท่ามกลางการดิ้นรนในสนามการแข่งขันของอำนาจต่าง ๆ ที่เอื้อให้ชาวโรฮิงยาสามารถดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดได้ การสร้างวาทกรรมของการเป็นผู้ก่อการร้าย ของชาวมุสลิม ที่รวมไปถึงการเป็นมุสลิมของชาวโรฮิงยาในประเทศไทย ที่ยังไม่ได้มีอิทธิพลโดยตรง หรือนำไปสู่การสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงยาโดยคนธรรมดาในสังคม อาจนไปสู่ความรุนแรงที่ขยายตัวอย่างไร้การควบคุม และฝังลึกลงในสังคมไทย แม้ว่าสังคมไทยจะแตกต่างไปจากสังคมพม่า แต่

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดก็ใช่ว่าไม่มี
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยา
ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาจำนวน 1,000 คนอพยพมาจากประเทศพม่า ได้ถูกทหารพม่าจับกุมพร้อมทั้งถูกทารุณกรรม จากนั้นถูกจับโยนลงทะเลโดยไม่มีเรือมารับ และขาดแคลนทั้งน้ำและอาหาร เรื่องนี้รัฐบาลทหารพม่าออกมาตอบโต้ในเบื้องต้นว่า ซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวเกินความจริง และที่ว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้ใช้เรือใบโดยไม่มีเครื่องยนต์และห้องน้ำบนเรือ จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือพวกเขาขึ้นมายังชายฝั่ง ทางด้าน โฆษกกระทรวงกลาโหมพม่า ออกมาปฏิเสธว่าสื่อรายงานไม่ถูกต้อง[4]

นอกจากนี้สื่อยังได้รายงานผลการสอบสวนว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้หายตัวไปจากการกักขังที่ส่วนกลางและยังไม่พบว่าอยู่ที่ไหน รัฐบาลทหารพม่าให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า "พวกเราอาจหยุดเดินเรือหรือพวกเขาจะกลับมา ทิศทางลมจะพาพวกเขาไปยังอินเดียหรือไม่ก็ที่อื่น" จากนั้นรัฐบาลทหารพม่าให้สัญญาว่าจะดำเนินการสอบสวนผู้นำทางทหารอย่างเต็มที่ แต่ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่หาว่าปกปิดการใช้อำนาจกองทัพไปในทางที่ผิด

แองเจลินา โจลี ทูตสันถวไมตรีแห่งข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) วิจารณ์รัฐบาลทหารพม่าว่าไม่สนใจไยดีต่อสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของชาวโรฮิงยา และเสนอแนะว่ารัฐบาลทหารพม่าควรดูแลคนกลุ่มนี้ให้ดีกว่าตอนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพม่า กระทรวงการต่างประเทศออกมาตำหนิ UNHCR มีการบันทึกว่า UNHCR ไม่มีอำนาจหน้าที่และการกล่าวว่าเรื่องนี้ไม่ควรจะอ้างถึงกระทรวงการต่างประเทศ และอาคันตุกะของกระทรวงการต่างประเทศ..

อ้างอิง
http://prachatai.com/journal/2013/08/48462
http://th.wikipedia.org/wiki/
http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php

หมายเลขบันทึก: 565720เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 22:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2014 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท