ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


ที่มา :http://www.l3nr.org/posts/513756

     กฎหมายภายในของไทยได้มีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนในรูปแบบต่างๆ เริ่มต้นจากการที่ประเทศไทยได้ให้ความเห็นชอบกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และหลังจากนั้นประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายฉบับด้วยกัน เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Froms of Discrimination against Women) เป็นต้น [1]

     อย่างไรก็ตามแม้ประเทศไทยจะมีพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนตามสนธิสัญญาต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ประเทศไทยก็ยังมีปัญหาที่เกิดจากการขาดการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีวามเกี่ยวพันกับสังคมโลก ดังจะกล่าวต่อไปนี้

     กรณีตัวอย่างปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่มีความเชื่อมต่อกับสังคมโลกที่ผู้เขียนจะนำมากล่าวถึงประการแรกคือปัญหาเรื่องชาวโรฮิงญา

ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1...

     โรฮิงญา เป็นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามในรัฐอาระกัน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐ ถูกเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติโดยรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากโดยรัฐบาลทหารพม่า ตั้งแต่การบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ตามกฎหมายสัญชาติพม่าปี 1982 (Burma Citizenship Law) ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลทหารถ้าจะออกจากพื้นที่ และต้องจ่ายเงินถ้าจะออกจากพื้นที่ ทำให้มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำมาก เนื่องจากไม่สามารถหางานทำหรือค้าขายได้ ซ้ำร้ายยังถูกละเมิดไม่ให้รับสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ ห้ามแต่งงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่า [2]

     ซึ่งเมื่อพิจารณาปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

     ข้อ 13 (1) ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการ เคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยภายในพรมแดนของแต่ละรัฐ

               (2) ทุกคนมีสิทธิที่จะออกนอกประเทศใด รวมทั้งประเทศของตนเอง และสิทธิที่จะกลับสู่ประเทศตน

     เช่นนี้ การกระทำของประเทศพม่าที่มีการบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ โดยถ้าจะมีการเคลื่อนย้ายต้องจ่ายเงินจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงญา

     ข้อ 15 (1) ทุกคนมีสิทธิในสัญชาติหนึ่ง

               (2) บุคคลใดจะถูกเพิกถอนสัญชาติ ของตนตามอำเภอใจ หรือถูกปฏิเสธสิทธิที่จะเปลี่ยนสัญชาติของตนไม่ได้

     เช่นนี้ การกระทำของประเทศพม่าที่ไม่ให้ชาวโรฮิงญามีสิทธิในการได้รับสัญชาติพม่า ทั้งที่อยู่อาศัยในประเทศพม่ามาเป็นเวลายาวนาน เพราะเหตุจากความคิดที่ว่าชาวโรฮิงญาไม่ใช่ชนชาติเดียวกับตน และประเทศบังลาเทศก็ไม่ยอมรับเนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก เป็นภาระที่ยากแก่การดูแลและรับรองสิทธิต่างๆให้ ทำให้ชาวโรฮิงญากลายเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีสัญชาติ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 15

     ข้อ 16 (1) บรรดาชายและหญิงที่มีอายุครบ บริบูรณ์แล้ว มีสิทธิที่จะสมรสและก่อร่างสร้างครอบครัวโดยปราศจากการจำกัดใด อันเนื่องจากเชื้อชาติ สัญชาติ หรือศาสนา ต่างย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการสมรส ระหว่างการสมรส และในการขาดจากการสมรส

               (2) การสมรสจะกระทำโดยความยินยอม อย่างอิสระและเต็มที่ของผู้ที่จะเป็นคู่สมรสเท่านั้น

     เช่นนี้การกระทำของประเทศพม่าที่ห้ามชาวโรฮิงญาแต่งงานโดยไม่ได้รับความยินยอมเพราะไม่ต้องการให่มีประชากรชาวโรฮิงญาเพิ่มขึ้นจึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 16 [3]

     ซึ่งจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีสถานการณ์ความเป็นอยู่ที่เลวร้ายที่สุดในพม่า ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องหนีภัยจากพม่าเป็นจำนวนมาก โดยมีการอพยพเข้ามาที่ประเทศไทยในแถบจังหวัดระนอง และในต่างประเทศได้แก่ประเทศปากีสถาน มาเลเซีย เป็นต้น

     การที่ชาวโรฮิงญาอพยพเข้ามาในประเทศไทยนั้นเป็นการอพยพเข้าที่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการขอวีซ่า ไม่มีการขอเข้าเมืองแต่อย่างใด และหากมองว่าชาวโรฮิงญาอพยพเข้ามาในฐานะของผู้ลี้ภัยก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะ ประเทศไทยไม่ได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วข้าพเจ้าเห็นว่าชาวโรฮิงญาที่อพยพเข้ามามีสถานะเป็นเพียงผู้หนีภัยความตาย หรือมีสถานะเป็นเพียงต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองมาแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งหากมีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมชาวโรฮิงญาก็จะต้องถูกส่งกลับไปยังประเทศพม่าดังเดิม แต่อย่างไรก็ตามหากไม่มีการดำเนินการดังกล่าวการที่ชาวโรฮิงญาไม่มีสถานะใดๆ ไม่มีสัญชาติที่ได้รับการรับรองจากรัฐใดเลยจึงทำให้อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องของการใช้แรงงานทาสได้ง่าย เพราะเมื่อตายหรือมีเหตุใดๆเกิดขึ้นจะไม่สามารถตรวจสอบได้เลย และหากจะแก้ไขโดยการให้ประเทศไทยช่วยเหลือก็ยังคงประสบปัญหาที่ต้องใช่งบประมาณจำนวนมากซึ่งเป็นภาระแก่ประเทศไทยอีกเช่นกัน ปัญหาดังกล่าวยังคงหาทางออกไม่ได้ในปัจจุบัน แต่แนวทางที่จะสามารถเป็นไปได้คือการให้สถานะเป็นแรงงานต่างด้าวแกชาวโรฮิงญาแทนการใช้แรงงานจากประเทศอื่น ซึ่งจากแนวทางนี้ก็จะพบปัญหาในเรื่องของความสามารถที่ด้อยคุณภาพของชาวโรฮิงญาอีกเช่นกัน [4]

ที่มา : http://www.komchadluek.net/detail/20130425/156877/...

     ปัญหาประการต่อมาที่จะยกมาพูดถึงในที่นี้คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวคือ ปัญหานี้เกิดจากการที่มีชาวต่างชาติบางส่วนที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายก็ได้สร้างปัญหาต่อความมั่นคงของสังคมโดยรวมและประเทศชาติ เช่น ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาโรคระบาด เป็นต้น

     ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศไทยปลายทางรับแรงงานต่างชาติเหล่านี้เข้ามาทำงานจึงพยายามควบคุมแรงงานดังกล่าวให้มีจำนวนจำกัด เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยได้กำหนดยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2547 คือให้นายจ้างนำแรงงานที่ลักลอบเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายมาจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวให้เข้าสู้ระบบการจ้างแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งขอความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติให้ช่วยกดดันประเทศมหาอำนาจหรือประเทศที่ร่ำรวยกว่าประเทศไทยให้ช่วยรับแรงงานเหล่านี้เข้าไปอยู่ในประเทศ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยังผลให้ประเทศไทยต้องรับภาระดูแลชาวต่างชาติดังกล่าวมากขึ้นทุกปี และยังต้องนำงบประมาณของประเทศอีกจำนวนมากมาดูแลแรงงานเหล่านี้นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยต้องรับภาระดูแลชาวต่างชาติเหล่านี้ ยังส่งผลให้อัตราประชากรเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู้ปัญหาชุมชนแออัดเพิ่มมากขึ้นในเขตเมืองหลวงและเขตอุตสาหกรรมตามพื้นที่ต่างๆ

     ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวทางในการแก้ไข คือ ควรมีการจัดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวตลอดทั้งปีเพื่อหมุนเวียนแรงงานในตลาด ควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมดูแล ทำหน้าที่เป็นคนกลางอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการกำหนดกลไกคุ้มครองที่สามารถเข้าถึงได้จริง เช่น กำหนดโทษที่ชัดเจน เป็นต้น

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/Peaceful1906/2009/01/...

     ปัญหาประการต่อมาที่เห็นได้ในประเทศไทยที่มีวามเชื่อมโยงต่อสังคมโลก คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเด็กและเยาวชน กล่าวคือ ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเป็นเวลานานปละมีแนวโน้มขยายความรุนแรงกว้างขวางขึ้น การละเมิดสิทธิเด็กจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น การที่เด็กไม่ได้รับบริการขึ้นพื้นฐานต่างๆจากรัฐอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา เรื่องสาธารณูปโภค การที่เด็กถูกปล่อยปละละเลยขาดการดูแลเอาใจใส่ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายและจิตใตเด็กอีกด้วย ซึ่งปัญหาดังกล่าวควรต้องมีการประสานงานร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อเพื่อออกมาตรการที่ชัดเจน รวมไปถึงให้มีการเผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเข้าถึงสิทธิต่างๆอย่างทั่วถึง

ที่มา : http://www.creativemove.com/advertising/womens-aid...

     และปัญหาที่จะกล่าวถึงประการสุดท้ายคือ ปัญหาการละเมิดสตรี ซึ่งการละเมิดสิทธิสตรีในสังคมไทยโดยส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งสามารถแยกออกได้ 2 ประเด็น ได้แก่ การกระทำรุนแรงทางกายภาพ เช่น สามีทำร้ายร่างกายภรรยา สามีบังคับขืนใจทางเพศภรรยา เป็นต้น หรือแรงงานหญิงถูกเลือกปฏิบัติจากนายจ้าง เช่น ถูกเอาเปรียบในเรื่องของค่าจ้างและการเลื่อนตำแหน่ง แรงงานหญิงที่เป็นแรงงานข้ามชาติถูกกดขี่ ไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ เป็นต้น

     ปัญหาที่เกิดกับสตรีในสังคมไทยส่วนใหญ่สะท้อนเห็นถึงสภาพและความคิดของคนในสังคมไทยที่ยังคงมีความคิดว่าผู้ชายเป็นใหญ่ ซึ่งครอบงำสังคมไทยมาโดยตลอด แม้ว่าในปัจจุบันสภาปัญหาอาจดูเหมือนรุนแรงน้อยลง และมีโครงสร้างทางกฎหมายยอมรับในความเท่าเทียมกันของหญิงและชายเป็นหลักการพื้นฐานทางสังคม ตลอดจนมีการเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ เช่น ในองค์กรทางการเมืองระดับต่างๆมากขึ้นก็ตาม แต่ปัญหาและความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อสตรีก็ยังปรากฏให้เห็นมาโดยตลอด

     ฉะนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ การกระตุ้นให้คนในสังคมเรียนรู้หลักสิทธิมนุษยชนและเคารพในศักดิ์ศรีของสตรี ตระหนักถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทุกๆด้าน ยิ่งไปกว่านั้นรัฐควรมีนโยบายหรือมาตรการพิเศษที่จะช่วยเอื้อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิสตรีอย่างจริงจัง เช่น การจัดตั้งหน่วยงาน หรือองค์กรที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิสตรีและป้องกันการละเมิดสตรีขึ้นมาโดยเฉพาะ เป็นต้น


นางสาวชนากานต์ ฌแยทุม

เขียนเมื่อ : วันที่ 8 เมษายน 2557


อ้างอิง

[1] ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศและแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนา. แหล่งที่มา : https://sites.google.com/site/30318hayatee/6-payha-siththi-mnusy-chn-ni-prathes-laea-naewthang-kaekhi-payha-laea-phathna 8 เมษายน 2557.

[2] ประวัติชาวโรฮิงญา. แหล่งที่มา : http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php?option=com_content&view=article&id=61:2010-11-16-05-48-43&catid=36:2010-10-21-08-06-37&Itemid=58 8 เมษายน 2557.

[3] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน. แหล่งที่มา : http://www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf 8 เมษายน 2557.

[4] โรฮิงญากับสิทธิมนุษยชนสากล. แหล่งที่มา : http://blog.eduzones.com/jipatar/18849 8 เมษายน 2557.

หมายเลขบันทึก: 565707เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2014 21:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท