ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


     จากบทความที่แล้วผมได้เขียนเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและผู้หนีภัยความตาย ในส่วนประเด็นของบทความนี้จึงขออ้างถึงกรณีการอพยพของชาวโรฮิงยา ซึ่งเป็นชนชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า โดยในพม่านั้นส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่ชาวโรฮิงยาจะนับถือศาสนาอิสลาม จึงอาจกล่าวได้ว่าความเกลียดชังที่พม่ามีต่อชาวโรฮิงยาส่วนหนึ่งนั้นมาจากประเด็นในเรื่องความแตกต่างทางศาสนา อีกทั้งชาวโรฮิงยาบางส่วนยังก่อความไม่สงบในประเทศทำให้เกิดความวุ่นวายมากมาย

     ทั้งนี้รัฐบาลทหารพม่ามีมุมมองว่าประชาชนชาวโรฮิงยาเข้ามาอยู่ในพม่าไม่นาน แต่จริง ๆ แล้วเข้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่เจ็ด ทำให้รัฐบาลทหารมีอคติเป็นพิเศษว่าไม่ได้เป็นประชาชนชาวพม่า อีกทั้งด้วยประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางด้านเขตแดนระหว่างบังกลาเทศกับพม่าเลยทำให้ชาวโรฮิงยาถูกมองว่าไม่ได้เป็นพวกเดียวกันมากกว่าเดิม

     นอกจากนี้ชาวโรฮิงยายังถูกละเมิดไม่ให้รับสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ ห้ามไม่ให้แต่งงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่า เนื่องจากพม่าไม่ต้องการให้ชาวโรฮิงยา “แพร่พันธุ์” เพิ่มจำนวนในประเทศของตนอีก และ นับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีสถานการณ์ความเป็นอยู่ที่เลวร้ายที่สุดในพม่า ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวโรฮิงยาต้องหนีภัยจากพม่าเป็นจำนวนมาก หากพิจารณา ณ จุดนี้แล้วก็จะพบว่า ชาวโรฮิงยาเหล่านี้มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งโดยหลักปฏิบัติของนานาชาติแล้ว ผู้ลี้ภัย หรือผู้หนีภัยความตาย จะต้องไม่ถูกส่งกลับเพื่อไปเผชิญหน้ากับภาวะความเสี่ยงต่อชีวิต และจะต้องได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากประเทศที่เข้าไปลี้ภัยด้วยหลักมนุษยธรรมในฐานะมนุษยชนคนหนึ่ง

     ปัจจุบันมีชาวโรฮิงยาที่หลบภัยออกมาจากรัฐอารากันจำนวนมาก ตั้งแต่ในบังกลาเทศ ปากีสถาน มาเลเซีย และเชื่อว่ามีจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนในประเทศไทย แต่สถานการณ์ในประเทศไทยนับว่าค่อนข้างจะเลวร้ายเช่นเดียวกัน เนื่องจากกลุ่มชนกลุ่มน้อย 14 กลุ่มที่รัฐบาลไทยกำลังตรวจสถานภาพทางกฎหมาย ชาวโรฮิงยาไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ทั้ง ๆ ที่ในกลุ่มนี้มีประชาชนชาวพม่าอยู่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไทยยังมีความรู้เกี่ยวกับชาวโรฮิงยาน้อยเลยไม่ได้รับสิทธิใด ๆ เลย มาตรการที่ทางการไทยปฏิบัติก็ไม่ได้แตกต่างไปจากผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอื่น คือไม่อนุญาตให้มีการขอสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อพยพของหน่วยงานช่วยเหลือของสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นผู้อพยพจากภัยเศรษฐกิจ และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

     รัฐบาลไทยดำเนินการบนพื้นฐานหลักการว่ากลุ่มโรฮิงยาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย (Illegal migration) ที่มิใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ (Displaced person from fighting) และมิใช่เป็นผู้อพยพ/ลี้ภัย (Refugee) แนวทางปฏิบัติของทางการไทยต่อชาวโรฮิงยาก็เป็นไปตามกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งทั้งหมดก็จะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ลักลอบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย

     แม้พวกเขาอยู่ภายใต้การควบคุมและอำนาจของรัฐไทย แต่กลับถูกปฏิบัติว่าไร้ตัวตนทางกฎหมาย รัฐบาลไทยก็เลือกที่ให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกกันออกจากการเป็นสมาชิกของระเบียบสังคมของรัฐ ไม่ได้ถูกรับรองสถานะความเป็นบุคคล และถูกควบคุมในพื้นที่สำหรับ "ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รอการผลักดันกลับ" ภายใต้การควบคุมของสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แต่เนื่องจากการถูกปฏิเสธจากทางการพม่า และการส่งกลับแบบที่เคยทำในช่วงเวลาก่อนปี 2555 ที่ไม่ได้ถูกยอมรับจากรัฐบาลพม่าก็เป็นไปไม่ได้ การควบคุมภายใต้ ตม.ในปัจจุบันเป็นไปเพื่อรอการส่งต่อไปยังรัฐชาติอื่น ๆ ที่จะยอมรับสถานะของชาวมุสลิมโรฮิงยา

     นอกจากนี้ยังพบว่าในไทยเองก็มีความรู้สึกด้านลบกับชาวโรฮิงยาเช่นเดียวกัน โดยผมเองขณะที่กำลังนั่งเล่น facebook อยู่ตามปกติ ก็พบกับเพจๆนึงที่ชื่อว่า ไม่เอา “โรฮิงญา” เข้าประเทศ (https://www.facebook.com/NORoHingya) โดยเนื้อหาของเพจนั้นจะเชื่อมโยงกับการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งนับว่าเป็นการ stereotype ชาวโรฮิงยา หรือกระทั่งรวมไปถึงคนเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายกลุ่มอื่น ว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือผู้ก่อความไม่สงบไปเสียหมด ซึ่งทัศนคติเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังต่อชนชาติและก่อสงครามที่ส่งผลให้เกิดความสูญเสียมากมายมาหลายครั้งแล้ว นอกจากเพจดังกล่าวที่ผมเจอมานี้ จากการศึกษาก็พบว่าหนังสือพิมพ์มติชนก็พยายามจะเชื่อมโยงชาวโรฮิงยาเข้ากับความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกัน หรืออาจเป็นไปได้ว่า เพจดังกล่าวเกิดขึ้นโดยเป็นผลมาจากเนื้อหาในหนังสือพิมพ์นี้ก็เป็นได้

     เมื่อพูดถึงการทำงานที่ผิดกฎหมายในหมู่บุคคลที่เข้าเมืองผิดกฎหมายก็อาจจะมีบ้างเช่นเดียวกับสังคมทุกสังคม และก็เช่นเดียวกับสังคมไทยด้วย แต่เราจะต้องไม่เหมารวมทั้งหมด เพราะมันเป็นเรื่องของบุคคลไม่ใช่เชื้อชาติ ซึ่งจากกรณี stereotype ที่ได้กล่าวไปข้างต้นนี้ เป็นการมองด้วยทัศนคติ “มุสลิมเท่ากับการก่อการร้าย” การมองเช่นนี้นอกจากจะเป็นการมองที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ในภาคใต้แล้ว ยังเป็นการมองที่ช่วยสนับสนุนการเกลียดชังกันทางเชื้อชาติเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ใช่ว่าคนมุสลิมทุกคนจะเห็นด้วยกับวิธีการการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ดังนั้นการเหยียดหยามดูถูกโดยการเหมารวมไปกับอาชญากรต่างๆ หรือการกีดกันสิทธิมนุษยชนพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเนื่องจาก ชาวโรฮิงยาเองก็เป็นมนุษย์เหมือนกันกับเราซึ่งสมควรได้รับการปฏิบัติเยี่ยงมนุษย์เช่นกัน

     นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้ว การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเด่นชัดคงไม่พ้นกรณีการค้ามนุษย์เป็นแน่ โดยการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ใน จ.สงขลา เพิ่งจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่ปี 53  ที่ผ่านมา เนื่องจากมีชาวโรฮิงญา หรือ “อาระกัน” ที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ของประเทศพม่า หลบหนีการทารุณและความยากแค้นเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้เส้นทางการหลบหนีจากประเทศพม่า เพื่อไปยังประเทศมาเลเซีย ผ่าน อ.สะเดา จ.สงขลา ของไทย 

      ขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เริ่มต้นจากการ “รับจ้าง” นำออกจากประเทศพม่าเข้ามายังฝั่งไทย คิดค่าหัวตั้งแต่ 20,000-50,000 บาท แล้วแต่ข้อตกลง เมื่อส่งข้ามแดนประเทศไทยมาแล้วก็ถือว่าหมดหน้าที่ แต่ปัจจุบันขบวนการรับจ้างนำชาวโรฮิงญา ไปยังประเทศที่ 3 มีความ “แยบยล” มากยิ่งขึ้น ซึ่งใช้วิธีการ “เข้าฮอส” แบบกินสองต่อ นั่นคือการรับจ้างนำชาวโรฮิงญาหลบหนีออกจากประเทศพม่าแล้ว ยังทำการกักขังควบคุมตัวเอาไว้ในสถานที่ตามแนวชายแดน เพื่อขายชาวโรฮิงญาให้กับผู้ต้องการแรงงานในประเทศเพื่อนบ้าน ในราคาหัวละ 30,000–50,000 บาท ซึ่งมีนายทุนทั้งภาคการเกษตรและการประมง ที่ต้องการแรงงานเหล่านี้ไว้ใช้งาน เพราะค่าแรงถูก นายทุนสามารถกดขี่ได้ตามชอบใจ ดังนั้นชาวโรฮิงญาเหล่านี้จึงตกอยู่ในสภาพ “หนีเสือปะจระเข้” ตกเป็นทาส ถูกทารุณกรรมสารพัด

     ปัจจุบันประเทศไทยยังคงหาทางออกแก่ปัญหานี้อยู่ ทว่ายังไม่พบหนทางที่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด แต่หากตามความคิดของผมแล้ว ผมเห็นว่าในเมื่อประเทศไทยยังต้องนำเข้าแรงงานจากต่างชาติ ทำไมจึงไม่ใช้ชาวโรฮิงยานี้เป็นแรงงานไปเสียเลยเล่า หากจะอ้างว่าเป็นเพราะขาดความชำนาญหรือเชี่ยวชาญพิเศษในด้านนั้นๆ ก็คงเป็นประเด็นว่าความแตกต่างนั้นกับแรงงานต่างชาติจะมากเสียจนไม่สามารถฝึกปรืออบรมกันได้เชียวหรือ ซึ่งนอกจากวิธีนี้จะเป็นการให้โอกาสไทยในการที่จะมีแรงงานที่มีประสบการณ์ที่อาจหาไม่ได้จากทรัพยากรบุคคลในประเทศเนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมและที่ตั้งภูมิศาสตร์แล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย แต่ในส่วนของการเหยียดชนชาติก็คงต้องแก้ไขที่ทัศนคติของคนในสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

-http://www.oknation.net/blog/print.php?id=395586

-http://www.dailynews.co.th/Content/regional/174579/เจาะลึก%26quot%3Bโรฮิงญา%26quot%3Bเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์ตายทั้งเป็น!!ถูกขูดรีด-กักขัง-กดขี่เยี่ยงทาส

-http://prachatai.com/journal/2013/08/48462

-http://th.wikipedia.org/wiki/โรฮิงยา

หมายเลขบันทึก: 565706เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 21:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2014 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท