ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


   ในปัจจุบัน ประเทศไทยนั้นได้มีปัญหาในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ส่งผลต่อภาพรวมของประเทศออกไปสู้ สังคมโลกภายนอก โดยได้มีให้เห็นอยู่ในหลายรูปแบบ ในส่วนของที่เห็นได้ชัดเจนอย่างที่สุดก็คือ เรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่อพยพเข้ามาในประเทศคือชาวโรฮิงยา

   โรฮิงยา เป็นกลุ่มชนบริเวณชายแดนฝั่งพม่าที่พูดภาษาจิตตะกอง-เบงกาลี และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธสถานภาพพลเมืองของชาวโรฮิงยา ส่งผลให้มีชาวโรฮิงยาจำนวนมากต้องอพยพลี้ภัยไปยังประเทศอื่นเพื่อแสวงหา ชีวิตที่ดีกว่า ตั้งแต่แรกเริ่มเป็นต้นมา ประเทศพม่ามองว่าพวกโรฮิงญาไม่มีความจงรักภักดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวโรฮิงญาบางคนต้องการสร้างรัฐอิสระขึ้นทางอะรากันตอน เหนือ และผนวกเข้ากับปากีสถาน พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงยาเป็นพลเมือง และในปี พ.ศ. 2491 กองทหารพม่าออกปฏิบัติการกวาดล้างพวกนี้ หมู่บ้านหลายร้อยแห่ง “ถูกเผาและคนหลายพันคนถูกฆ่า ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลอพยพหนีไปยังบริเวณที่เป็นปากีสถานในขณะนั้น” และ นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เจ้าหน้าที่ทางการพม่าพยายามจะข่มขวัญและขับไล่ พวกโรฮิงยาในครั้งต่อ ๆ มาอีก ทำให้ผู้ลี้ภัยหลั่งไหลเข้าสู่ปากีสถานและต่อด้วยบังคลาเทศระลอกแล้วระลอกเล่า

   ในมุมมองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชาวโรฮิงยาเป็นประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย"  และอพยพมากจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่าทำให้ประชาชนชาวโรฮิงยาไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous groups) ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า ชาวมุสลิมโรฮิงยายังถูกจำกัดสิทธิพลเมืองอีกหลายประการ ได้แก่ ไม่มีอิสระในการเดินทาง การบังคับเก็บภาษี การยึดที่ดินและบังคับย้ายถิ่น การขัดขวางการเข้าถึงด้านสาธารณสุข ที่พักอาศัยและอาหารไม่เพียงพอ การบังคับใช้แรงงาน รวมทั้งมีข้อจำกัดในการสมรส ซึ่งส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงยาหลายพันคนอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในภูมิภาคซับซ้อน [1]

   ซึ่งประเทศไทยก็เช่นเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่มีชาวโรฮิงยาอพยพมาอย่างมากมาย จำนวนชาวมุสลิมโรฮิงยาที่ถูกทางการไทยจับกุมได้ มีจำนวนกว่า 15,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาย อายุระหว่าง 15 ถึง 40 ปี มีเด็กและผู้หญิงค่อนข้างน้อย มาตรการที่ทางการไทยปฏิบัติไม่ได้แตกต่างไปจากผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายอื่น ไม่อนุญาตให้มีการขอสถานะผู้ลี้ภัย ไม่ให้มีการขึ้นทะเบียนเป็นผู้อพยพของหน่วยงานช่วยเหลือของสหประชาชาติ เนื่องจากเป็นผู้อพยพจากภัยเศรษฐกิจ และจะถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

   รัฐบาลไทยดำเนินการบนพื้นฐานหลักการว่ากลุ่มโรฮิงยาเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย (Illegal migration) ที่มิใช่ผู้หนีภัยจากการสู้รบ (Displaced person from fighting) และมิใช่เป็นผู้อพยพ/ลี้ภัย (Refugee) แนวทางปฏิบัติของทางการไทยต่อชาวโรฮิงยาก็เป็นไปตามกรอบกฎหมายของไทย ซึ่งทั้งหมดก็จะถูกปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ลักลอบหนีเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย

   แม้พวกเขาอยู่ภายใต้การควบคุมและอำนาจของรัฐไทย แต่กลับถูกปฏิบัติว่าไร้ตัวตนทางกฎหมาย รัฐบาลไทยก็เลือกที่ให้อยู่ในพื้นที่ซึ่งถูกกันออกจากการเป็นสมาชิกของระเบียบสังคมของรัฐ ไม่ได้ถูกรับรองสถานะความเป็นบุคคล และถูกควบคุมในพื้นที่สำหรับ "ผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายที่รอการผลักดันกลับ" ภายใต้การควบคุมของสำนักตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แต่เนื่องจากการถูกปฏิเสธจากทางการพม่า และการส่งกลับแบบที่เคยทำในช่วงเวลาก่อนปี 2555 ที่ไม่ได้ถูกยอมรับจากรัฐบาลพม่าก็เป็นไปไม่ได้ การควบคุมภายใต้ ตม.ในปัจจุบันเป็นไปเพื่อรอการส่งต่อไปยังรัฐชาติอื่น ๆ ที่ยอมรับสถานะของชาวมุสลิมโรฮิงยา [2]

   ดังนั้นแล้วจึงทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงยา เพราะจากมุมมองของคนไทยนั้น มองว่าชาวโรฮิงยานั้น เป็นพวกเดียวกลับกลุ่มผู้ก่อการร้าย จึงมีการนำชาวโรฮินยามาเป็นทาส หรือมีการใช้แรงงานแบบไม่มีมนุษยธรรม รวมไปถึงมีการค้าชาวโรฮิงยาไปเป็นแรงงานประเทศต่างๆเป็นการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง

   ประเทศไทยนั้นได้มีการพยายามประสานกับองค์กรระหว่างประเทศให้เข้ามาช่วยเหลือชาวมุสลิมโรฮิงยาและร่วมหาทางออกร่วมกัน เพราะต่างก็ทราบดีว่า การที่ส่งตัวพวกเขากลับไปยังประเทศพม่านั้น ก็ไม่ต่างจากส่งพวกเขากลับไปยังนรกขุมเดิม พร้อมกับบอกว่า หากให้พวกเขากลับไปอยู่ที่รัฐอาระกัน ก็เหมือนกับไปรอคอยความตาย อยู่ไปก็อยู่อย่างไร้อนาคต ไม่มีสภาพความเป็นคน[3]

   ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องหามาตรการในการแก้ไขปัญหาในเรื่องของชาวโรงฮิงยาดังกล่าว โดยด่วนและจะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชน เพราะชาวโรฮิงยานั้นก็ยังคงมีสถานะความเป็นมนุษย์อยู่ในสังคมโลก เช่นเดียวกับชนชาติอื่นๆเช่นเดียวกัน

                                                                                                                                                       ชยากร โกศล

                                                                                                                                                      8 เมษายน 2557

ที่มา (http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_d...

อ้างอิง

[1] http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php?option=...

[2] http://prachatai.com/journal/2013/08/48462

[3] http://hilight.kapook.com/view/33433

หมายเลขบันทึก: 565699เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2014 00:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กฏหมาย..สิทธิ..มนุษยชน..ในประเทศเรา..กำลังดิ่งลงเหว...(น่ากลัวๆ)

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท