ปัญหาสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัย/คนหนีภัยความตาย


            ปัจจุบันได้เกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนได้ในทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการค้าแรงงาน การค้าประเวณี และ ปัญหาที่กำลังเพิ่มเรื่อยๆคือ ปัญหาผู้ลี้ภัยหรือ คนหนีภัยความตาย อันเนื่องมาจาก การเกิดสงคราม หรือ การเกิดปัญหาทางการเมือง ที่ทำให้คนในประเทศนั้นๆจำนวนมากต่างหนีออกมากจากประเทศตนเอง เช่น ประชาชนชาวซีเรียหนีความตายมาที่ประเทศเลบานอน เป็นต้น

            ผู้ลี้ภัย ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 ให้คำนิยาม และความหมายของสถานภาพผู้ลี้ภัยว่า ผู้ลี้ภัย หมายถึงบุคคลที่จำเป็นต้องทิ้งประเทศบ้านเกิดของตนเอง เนื่องจากความหวาดกลัวการถูกประหัตประหารหรือได้รับการคุกคามต่อชีวิตเนื่องจากสาเหตุข้อหนึ่งข้อใด เช่น เชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติสมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม สมาชิกภาพในกลุ่มความคิดทางการเมือง ผู้ลี้ภัยภัยส่วนใหญ่สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างรวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ บ้านเรือน และแม้แต่ครอบครัว ผู้ลี้ภัย แตกต่างจากแรงงานต่างด้าวเพราะแรงงานต่างด้าวเดินทางออกนอกประเทศของตนโดยสมัครใจเพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ ผู้ลี้ภัยไม่อาจพึ่งพาความคุ้มครองจากรัฐบาลของตนเอง พวกเขาถูกบังคับให้หนีจากประเทศของตนเอง จึงจำเป็นที่ประชาคมนานาชาติต้องให้ความช่วยเหลือ และให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยเหล่านั้น[1]

            ซึ่งการลี้ภัยนั้นเป็นสิทธิอย่างหนึ่งในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมนุษย์ทุกคนต่างก็รักในชีวิตของตนเมื่อไม่สามรถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศของตนได้อย่างปกติสุข มีสงคราม คร่าชีวิตคน ต้องอยู่อย่างหวาดผวา จึงจำเป็นต้องย้ายแหล่งที่อยู่ ซึ่งการย้ายถิ่นฐานจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่ง จะทำให้ประเทศผู้รับ หรือ ประเทศที่สาม ต่างต้องรับภาระในผู้ลี้ภัยนั้นด้วย โดยการลี้ภัยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

              1.การลี้ทางดินแดน (territorial asylum) หมายถึง การขอลี้ภัยเพื่อเข้าไปอยู่ในดินแดนของรัฐผู้ให้ลี้ภัย ซึ่งขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐดินแดนว่าจะให้ลี้ภัยหรือไม่ โดยพิจารณาจากพันธกรณีในข้อตกลงระหว่างประเทศและกฎหมายภายในของรัฐนั้น

              2.การลี้ภัยทางทูต (diplomatic asylum) หมายถึง การลี้ภัยที่ผู้ขอลี้ภัยเข้าไปอยู่ในสถานทูตของรัฐผู้ให้ลี้ภัย ซึ่งตั้งอยู่ในดินแดนของรัฐที่ต้องการตัวผู้ขอลี้ภัยเอง

            ปัจจุบันสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้จัดตั้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติขึ้น เพื่อคุ้มครองและแก้ปัญหาของผู้ลี้ภัยทั่วโลก รวมทั้งปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัย โดนเฉพาะสิทธิที่อาศัยอยู่อย่างปลอดภัยในประเทศอื่นเพื่อเตรียมพร้อมที่จะส่งกลับประเทศต้นทางตามที่ผู้ลี้ภัยต้องการ หรือ เพื่อที่จะส่งไปยังประเทศที่สาม[2]

          แต่อย่างไรก็ตามการลี้ภัยไปจากประเทศของตนได้ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศผู้รับหรือ ประเทศที่สาม และ ปัญหาเกิดขึ้นกับตัวผู้ลี้ภัยเอง ด้วยเหตุที่แต่ละประเทศต่างก็มีระบบจัดการผู้ลี้ภัย นโยบาย งบประมาณที่ต่างกัน เช่น ประเทศเลบานอนที่ต้องแบกรับภาระผู้ลี้ภัยจากซีเรียที่มีจำนวนมหาศาล ทั้งที่ประเทศเลบานอนก็มีปัญหาภายใน อีกทั้งมิใช่ประเทศที่ร่ำรวย ที่จะสามารถรองรับผู้ลี้ภัยและจัดสรรปันส่วนปัจจัยสี่ให้กับผู้ลี้ภัยทั้งหมดได้ หรือ ผู้ลี้ภัยจากลิเบียที่หนีความรุนแรงทางการเมืองมาประเทศอียิปต์ที่กำลังประสบปัญหาทางการเมืองเช่นเดียวกัน หรือ เมื่อผู้ลี้ภัยมายังประเทศที่สามเช่น ฝรั่งเศส แคนาดา สหรัฐอเมริกา ก็อาจประสบปัญหา การเหยียดผิว เหยียดชาติพันธุ์ เป็นต้น

            สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยสถานะภาพผู้ลี้ภัยพ.ศ. 2494 และไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย หรือกระบวนการเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อผู้ขอลี้ภัยประเทศไทย        ประเทศไทยเรียกผู้ลี้ภัยเหล่านี้ว่า คนหนีภัยความตาย โดยประเทศไทยมีเกณฑ์ 3 แบบ คือ

แบบแรกคือกลุ่มของผู้หนีภัยความตายที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราว และกลุ่มผู้ถือบัตรสีต่าง ๆซึ่งรัฐไทยให้หลังจากมีคนหนีเข้ามาในเมืองไทยตามเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น บัตรสีชมพูของผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าที่เข้ามาก่อนปี พ.ศ. 2513 เป็นต้น

          แบบที่สองก็คือ เกณฑ์ของทางยูเอ็นเอชซีอาร์ในเรื่องการพิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย เช่น ในกลุ่มของนักศึกษาพม่า

          แบบที่สาม คือ เป็นเกณฑ์ที่เราเรียกเป็นศัพท์เทคนิคว่า Provincial Admission Board หรือ PAB คือ คณะกรรมการระดับจังหวัดที่ทำการพิจารณาสถานภาพผู้หนีภัย ในเกณฑ์นี้เองก็มีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 รัฐไทยกับยูเอ็นเอชซีอาร์ตกลงกันว่าจะใช้ PAB ในการกลั่นกรองคนโดยใช้เกณฑ์อยู่สองเกณฑ์ คือ เกณฑ์ของผู้หนีภัยการสู้รบ และ เกณฑ์ผลกระทบของการสู้รบ ภายหลังเหลือเกณฑ์แรกเพียงเกณฑ์เดียว ส่วนเกณฑ์ผลกระทบของภัยการสู้รบมิได้ใช้ ในเวลาต่อมา รัฐไทยได้ยกเลิกกระบวนการพิจารณาสถานภาพของยูเอ็นเอชซีอาร์ เพราะต้องการดำเนินการเอง และขยายเพิ่มเป็นผู้หนีภัยทางการเมืองด้วย[3]        

            ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นได้มีเกณฑ์ดูแลคนหนีภัยความตายร่วมกับ UNHCR โดยสร้างค่ายพักพิงชั่วคราวให้แต่ค่ายนี้ต่างตั้งอยู่ชั่วคราวมามากว่าสิบปีแล้ว เช่น ชาวพม่าที่หนีภัยสงครามและไทยสร้างค่ายพักพิงชั่วคราวให้ที่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน โดยคนที่อยู่ในค่าย รัฐไทยไม่อนุญาตให้ออกมานอกค่าย ไม่ให้ประกอบอาชีพ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในค่ายต่างแร้นแค้น อดอยาก ด้วยเหตุที่ไม่มีอาชีพ ไม่มีเงิน เด็กที่เกิดมาไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีความรู้ ซึ่งผลจากการที่ห้ามประกอบอาชีพ และ ออกมาจากค่ายจึงทำให้เกิดปัญหา การแหกค่ายหนีออกมา เพื่อหาเงินซื้อปัจจัยสี่ที่สำคัญในการใช้ชีวิต เพราะ ได้รับจากรัฐไทยไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย และ การค้ามนุษย์ได้ เพราะพวกเขาไม่กลไกทางสังคม  มีทางเลือก ไม่มีที่ไป ซึ่งประเทศไทยควรเอาใจใส่และแก้ปัญหาอย่างจริงจังกว่านี้ โดย

            1.กลไกทางกฎหมาย ที่แบ่งเป็น กลไกกฎหมายระหว่างประเทศ และกลไกกฎหมายไทย  เช่น กลไกกฎหมายระหว่างประเทศ ในส่วนของกฎหมายผู้ลี้ภัย กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  ส่วนกลไกทางกฎหมายของไทย เรื่องสิทธิต่างใน กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นต้น แต่กฎหมาย เหล่านี้ก็ยังไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการให้ผู้หนีภัยความตายที่อยู่ในประเทศไทยได้รับสิทธิต่าง ๆ อย่างเพียงพอ เนื่องจากกฎหมายในทางปฏิบัติยังมีปัญหา เช่น เรื่องการคุ้มครองสิทธิจากการถูกละเมิดทางร่างกาย คือ ในทางทฤษฎีมีกฎหมายรองรับแต่ในทางปฏิบัติทำได้ไม่เต็มที่นักเช่น ถ้าผู้หนีภัยความตายถูกข่มขืน กลไกทางกฎหมายไทยมีการให้ความคุ้มครองโดยหากไปแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะต้องส่งอัยการฟ้องเพื่อจับกุมดำเนินคดี แต่ว่ากลไกที่จะบังคับใช้ยังมีปัญหาอยู่ตรงที่ หากผู้หนีภัยความตายถูกข่มขืนแต่ไม่มีบัตรประจำตัวอะไรเลย เมื่อเดินทางไปแจ้งความก็จะถูกกลไกของกฎหมายเข้าเมืองอีกฉบับหนึ่งควบคุมไว้ ทำให้ถูกจับในฐานผู้หลบหนีเข้าเมืองก่อนที่จะแจ้งความว่าถูกข่มขืนนี่

            2. กลไกทางการเมือง  ทั้งกลไกทางการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น องค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ องค์กรการกุศล ชุมชนระหว่างประเทศที่ช่วยผลักดันนโยบายของผู้ลี้ภัย การที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของชุมชนระหว่างประเทศตรงนี้ก็มีทั้งปัจจัยผลักและดึงดูดให้กลไกทางการเมืองระหว่างประเทศที่รัฐไทยต้องมีบทบาทอยู่จะดำเนินไปอย่างไรในการที่จะทำให้เกิดผล ส่วนกลไกทางการเมืองในประเทศนั้นก็มีผลอย่างมากทั้งกลุ่มผู้หนีภัยความตายที่อยู่ในค่ายและนอกค่ายด้วย เช่น กลไกทางการเมืองภายในประเทศมีผลต่อสิทธิของผู้ถือบัตรสีต่าง ๆ ว่าจะได้รับการพัฒนาสิทธิของตนเองอย่างไร

           3.กลไกทางสังคม โดยแบ่งออกเป็นหลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรก คือสื่อมวลชน มีส่วนสำคัญที่จะทำให้สังคมโดยทั่วไปเข้าใจและมีทัศนคติต่อผู้หนีภัยความตายอย่างไร ซึ่งส่งผลอย่างมาก ต่อการทำให้ผู้หนีภัยความตายได้รับสิทธิหรือไม่ได้รับสิทธิ กลุ่มที่สอง คือ นักวิชาการ ก็มีผลในการสร้างองค์ความรู้ที่สื่อสารออกไปสู่สังคม ทำให้สังคมมีความเข้าใจหรือมีทัศนคติต่อผู้หนีภัยความตายอย่างไรกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มสังคมโดยทั่วๆไป แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนของกลไกทางสังคมของประชาชนทั่วไป กับ กลไกทางสังคมในภาคธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันมีผลอย่างมากต่อการให้สิทธิของผู้หนีภัยความตายในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มาลงทะเบียน เนื่องจากภาคธุรกิจต้องการแรงงานในส่วนนี้ และประเทศไทยก็ต้องมีภาคธุรกิจเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทำให้รัฐบาลไทยยอมให้สิทธิต่าง ๆ กับกลุ่มแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เช่น สิทธิในการทำงาน การอยู่อาศัย การรักษาพยาบาล การศึกษา ตรงนี้ก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีผลต่อการให้สิทธิแก่ผู้หนีภัยความตาย มากขึ้น เพราะฉะนั้น สิทธิสามารถเปลี่ยนได้ตามปัจจัยที่ผลักดัน[4]

อ้างอิง

[1] UNHCR Thailand,คนลี้ถัยคือใคร ค้นเมื่อ 8 เมษายน 2014 แหล่งที่มา: https://www.unhcr.or.th/th/refugee/about_refugee

[2] aomnumongs,กฏหมายว่าด้วยผู้ลี้ภัย  ค้นเมื่อ 8 เมษายน 2014 แหล่งที่มา://sites.google.com/site/aomunomgs/home/law3

[3]]4]พงศ์เทพ ยังสมชีพ,สิทธิของผู้หนีภัยความตาย ค้นเมื่อ 8 เมษายน 2014 แหล่งที่มา: http://salweennews.org/home/?p=9

หมายเลขบันทึก: 565695เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2014 13:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท