คณะเกษตรฯ มข.จัดงาน Smart Farmer ให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีตลาดเกษตร


คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือภาคเอกชน จัดงาน Smart Farmer เพิ่มช่องทางเกษตรกรใช้มือถือเข้าถึงข้อมูลเทคโนโลยีและการตลาดเกษตร เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน ร่วมออกร้านและแลกเปลี่ยนความรู้การเกษตร

          ภาควิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิดและสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน ภาคเอกชน จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Smart Farmer เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงข้อมูลเทคโนโลยีและการตลาดทางการเกษตร รวมทั้งเทคโนโลยีทางการเกษตรจากผู้รู้จริง มุ่งแก้ความยากจนและความแห้งแล้ง โดยศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระชัย โควสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน มีกลุ่มเกษตรกรร่วมออกร้าน 14 กลุ่ม โดยมีเกษตรกรและนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 300 คน ณ ห้องประชุมกวี จุติกุล และสนามหน้าอาคารAG 08 คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2557
          รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยชาญ วงศ์สามัญ หัวหน้าภาควิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ดี ซึ่งงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร จะใช้อีกช่องทางหนึ่งสู่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งเป็นวิธีการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารทางส่งเสริมการเกษตรที่ใหม่ๆด้วยการผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มาร่วมออกร้านและจำหน่ายผลผลิต จำนวน 14 ร้าน และที่สำคัญมีนักศึกษาทั้งจากคณะเกษตรศาสตร์และคณะอื่นๆ เข้าร่วมและนำเสนอข้อมูลบทเรียนจากการเรียนรู้ในชุมชนเกษตร รวมทั้งเกษตรกรในเครือข่าย กว่า 300 คน เข้าร่วมงาน
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไกรเลิศ ทวีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาส่งเสริมการเกษตรและเป็นประธานจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือหลายๆ ฝ่าย ทั้งสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน คือ ภาควิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ศูนย์วิจัยท่องเที่ยวภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น มูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด และสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกันขอนแก่น มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจถึงการให้บริการข้อมูลข่าวสารทางการเกษตรผ่านทางโทรศัพท์มือถือ 2) ให้เกิดการขยายเครือข่ายรับข่าวสารทางการเกษตรมากขึ้น 3) แลกเปลี่ยนข้อมูลเทคโนโลยีทางการเกษตรในการแก้ไขปัญหาความยากจนและแห้งแล้ง และ 4) สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กร โดยวิทยากรผู้บรรยายและผู้ร่วมงานได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางการเกษตรมากมาย อาทิ การปลูกมะนาวนอกฤดู การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากจาวปลวก การเพาะเห็ดใช้น้ำน้อยผลผลิตสูง การใช้พลังงานทดแทนจากแสงแดดในการผลิตผักปลอดสารพิษ เป็นต้น นอกจากนี้มีการจับฉลากรับรางวัลปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอีกมากมาย

          ผศ.ไกรเลิศ ทวีกุล ข้อมูลข่าว /ไพศาล เอกวัฒน์ ภาพ
          กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

 

หมายเลขบันทึก: 565694เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 20:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2014 20:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท