ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก

     เหตุการณ์ความไม่สงบของประเทศต่างๆนำมาซึ่งการลี้ภัย หรืออพยพของประชากรเข้ามาอยู่ในประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศผู้รับก็ไม่อาจปฏิเสธการเข้ามาได้ และยังต้องมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นตามหลักสิทธิมนุษยชน กฎหมายระหว่างประเทศ หรือแม้แต่หลักมนุษยธรรม

     ประเทศไทยนั้นมีผู้หนีภัยความตายมาจากทั้งประเทศเพื่อนบ้านเช่น พม่าและประเทศที่กำลังเกิดความไม่สงบเช่น ซีเรีย อยู่เป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะขอหยิบยกประเด็นของชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นกลุ่มชนบริเวณชายแดนพม่าที่พูดภาษาจิตตะกอง-เบงกาลี และนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธสถานภาพพลเมืองของชาวโรฮิงญา และยังถูกจำกัดสิทธิพลเมืองอีกหลายประการ ได้แก่ ไม่มีอิสระในการเดินทาง การบังคับเก็บภาษี การยึดที่ดินและบังคับย้ายถิ่น การขัดขวางการเข้าถึงด้านสาธารณสุข ที่พักอาศัยและอาหารไม่เพียงพอ การบังคับใช้แรงงาน รวมทั้งมีข้อจำกัดในการสมรส  ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากอพยพไปยังประเทศเพื่อนบ้าน[1] ชาวโรฮิงญามีปัญหากระทบกระทั่งกับชาวยะไข่ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ และนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในลักษณะการกีดกันทางชนชาติ มีการเข่นฆ่า ทำร้ายและเผาผลาญบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา  จนไม่อาจอยู่ในถิ่นเกิดได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังไม่มีรัฐใดให้ความคุ้มครองสิทธิของชาวโรฮิงญา การกระทำของรัฐบาลพม่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในหลายๆข้อ เช่น ละเมิดปฏิญญาสากลฯ ข้อ 1 มนุษย์ทั้งปวงเกิดมามีอิสระและเสมอภาคกันในศักดิ์ศรีและสิทธิ ต่างในตนมีเหตุผลและมโนธรรม และควรปฏิบัติต่อกันด้วยจิตวิญญาณแห่งภราดรภาพข้อ 2 ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใด อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน การเกิด หรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใดบนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด ข้อ 3 ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลพม่าไม่ให้สัญชาติแก่ชาวโรฮิงญา รวมไปถึงการคุมกำเนิดเฉพาะชาวโรฮิงญา เป็นต้น

       เมื่อมีการพบว่ามีชาวโรฮิงญาอพยพเข้ามา ไทยมักจะผลักดันชาวโรฮิงญาให้ออกนอกอาณาจักร และมีการกักตัวชาวโรฮิงญาไว้อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อรอนโยบายจากรัฐบาลไทยว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นอกเหนือจากความผิดฐานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 นอกจากนี้พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการควบคุมชาวโรฮิงญาไว้ชั่วคราวไว้ว่าไทยยังยืนยันจะไม่มีการตั้งศูนย์อพยพ ส่วนที่ชาวโรฮิงญาอพยพเข้าไทย เพื่อหลบหนีเข้าประเทศมาเลเซียนั้น ต้องให้เป็นหน้าที่ของยูเอ็นเอสซีอาร์และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง [2]

      เกิดข้อสังเกตว่าที่รัฐไทยปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาเช่นนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือกฎหมายระหว่างประเทศฉบับใดหรือไม่ การที่ไทยผลักดันให้ชาวโรฮิงญาพ้นไปจากราชอาณาจักรนั้นขัดกับหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะข้อ 14(1) ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา และที่จะได้ที่ลี้ภัยในประเทศอื่นจากการประหัตประหาร เป็นต้น

     ไทยผูกพันกับกฎหมายระหว่างประเทศหลายฉบับซึ่งล้วนรับรองและมีกฎหมายสิทธิมนุษยชนแทรกเข้าไปอยู่ในนั้น เช่น ปฏิญญาสากลด้วยว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นพื้นฐานชองอนุสัญญาต่างๆของสหประชาชาติโดยได้รับการรับรองจากสมัชชาซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิกจำนวน 193 ประเทศ แต่อย่างไรก็ตามการมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นนอกจากจะลงนามเป็นภาคีแล้วยังต้องมีการตรากฎหมายเพื่อรองรับกฎหมายนั้น

 ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลัก ๆ มีทั้งสิ้น 9 ฉบับได้แก่

 (1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR)  

(2) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม(International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights-ICESCR)

(3) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบต่อสตรี(Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women-CEDAW)  

(4) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child-CRC)  

(5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ(Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination-CERD)

(6) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย  ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี(Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment- CAT)

(7)  อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD)

(8)  อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ(Convention on the Protection of All Persons from Enforced Disappearance - CED)

(9)  อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว (Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families MWC)

       ปัจจุบันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีตราสารระหว่างประเทศหลักเหล่านี้แล้วทั้งสิ้น 7 ฉบับ รวมทั้งเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญา CEDAW ว่าด้วยการรับข้อร้องเรียนและอนุสัญญาสิทธิเด็กอีก 2 ฉบับคือ พิธีสารเลือกรับเรื่องการขายเด็ก การค้าประเวณีและสื่อลามกที่เกี่ยวกับเด็ก(Optional Protocol to the Convention on Rights of the Child on the Sale of Children, Child Prostitution and Child Pornography) และพิธีสารเลือกเรื่องความเกี่ยวพันของเด็กในความขัดแย้งกันด้วยอาวุธ (Optional Protocol to the Convention on Rights of the Childon the Involvement of Children in Armed Conflict )  ส่วนอนุสัญญาอีกสองฉบับที่ไทยยังไม่ได้เป็นภาคีคือ อนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันบุคคลจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว [3]

      เมื่อไทยยอมผูกพันกับกฎหมายระหว่างประเทศเหล่านี้ ก็จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาต่างๆ การปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามอนุสัญญาหรือการละเมิดอนุสัญญาย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน เช่น ประชนถูกละเมิดสิทธิโดยรัฐ หากมีการโต้แย้งจะส่งผลกระทบตามมา กล่าวคือ เกิดความรับผิดในทางต่างประเทศ และอาจมีมาตรการของต่างประเทศที่ไม่ยอมรับการกระทำละเมิดของรัฐนั้น เช่น ไม่ทำการค้าด้วย เป็นต้น

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

[1] ประวัติของชาวโรฮิงญา.  เข้าถึงได้จาก:  http://www.tacdb-burmese.org/web/index.php?option=com_content&view=article&id=61:2010-11-16-05-48-43&catid=36:2010-10-21-08-06-37&Itemid=58 [ออนไลน์].  สืบค้นวันที่ 8 เมษายน 2557

[2] เกศริน เตียวสกุล.  บันทึกจากสนาม: เส้นทางโรฮิงญา ตอนที่ 1 การเข้ามาในเมืองไทย.  เข้าถึงได้จาก:  http://prachatai.com/journal/2013/02/45266 [ออนไลน์].  สืบค้นวันที่ 8 เมษายน 2557

[3] ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่พัฒนามาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน.  เข้าถึงได้จาก :  http://www.mfa.go.th/humanrights/human-rights-conventions [ออนไลน์].  สืบค้นวันที่ 8 เมษายน 2557

[4] โรฮิงยา ชีวิตภายใต้อำนาจ จากชายแดนพม่าถึงไทย.  เข้าถึงได้จาก:  http://prachatai.com/journal/2013/08/48462#_ftnref3 [ออนไลน์].  สืบค้นวันที่ 8 เมษายน 2557

[5] ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

หมายเลขบันทึก: 565696เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2014 21:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท