ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทยที่เชื่อมต่อกับสังคมโลก


         สิทธิมนุษยชน หมายถึง สิทธิและเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ โดยสิทธินี้จะติดตัวมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นสิทธิที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และเป็นสิทธิตามธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนมีเท่าเทียมกัน ซึ่งปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน จะเกิดจากการละเมิดหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์[1]
         สิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นสำคัญที่นานาชาติให้ความสนใจ องค์การต่างๆทั้งในระดับโลก เช่น สหประชาชาติ และองค์การเอกชนต่างก็ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมให้พลเมืองเกิดความเคารพในสิทธิ ความเป็นมนุษย์และสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างไรก็ตามการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆของโลกซึ่งถือเป็นปัญหาของสังคมโลกที่สำคัญ เพราะจะส่งผลให้สังคมโลกปราศจากความสงบสุข
         ปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์และหลักการทั่วไปเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชน แต่ไม่มีพันธะผูกพันในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบด้วยการรับรองสิทธิมนุษยชนในด้านต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความพยายามขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดระดับโลกและมีสมาชิกมากที่สุด ที่จะผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนให้นานาชาติเห็นความสำคัญ และยึดถือปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกหลายองค์กรที่มีส่วนรณรงค์และสอดส่องปัญหาสิทธิมนุษยชน แต่ทั้งนี้หลายประเทศที่เป็นสมาชิกองค์กรสหประชาชาติและให้สัตยาบันรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ยังคงถูกกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง
         การละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นปัญหาระดับโลก มิใช้เพียงปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีทั้งที่กระทำโดยรัฐบาลและเอกชน นอกจากนี้การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังอาจเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน โดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจ โดยที่เราอาจเป็นผู้กระทำและผู้ถูกกระทำก็ได้ เช่น เราอาจมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนเด็กที่ถูกบังคับใช้แรงงานโดยไม่ตั้งใจ หากเราสนับสนุนการใช้สินค้าที่ผลิตโดยบริษัทที่ใช้แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานเด็ก หรือแรงงานผิดกฎหมาย [2]
         อย่างกรณีโรฮิงญาที่กลายเป็นเรือมนุษย์ โรฮิงญาเป็นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามในรัฐอาระกัน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐ ถูกเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติโดยรัฐบาลทหารพม่าอย่างต่อเนื่อง และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างมากโดยรัฐบาลทหารพม่า ตั้งแต่การบังคับไม่ให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่ตามกฎหมายสัญชาติพม่าปี 1982 (Burma Citizenship Law) ต้องขออนุญาตจากรัฐบาลทหารถ้าจะออกจากพื้นที่ และต้องจ่ายเงินถ้าจะออกจากพื้นที่ ทำให้มีสถานภาพความเป็นอยู่ที่ต่ำมาก เนื่องจากไม่สามารถหางานทำหรือค้าขายได้ ซ้ำร้ายยังถูกละเมิดไม่ให้รับสิทธิที่จะได้รับสัญชาติ ห้ามแต่งงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลทหารพม่า นับว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีสถานการณ์ความเป็นอยู่ที่เลวร้ายที่สุดในพม่า ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องหนีภัยจากพม่าเป็นจำนวนมาก หากพิจารณาเหตุปัจจัยเหล่านี้ ชาวโรฮิงญาจึงน่าจะมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย ซึ่งโดยหลักปฏิบัติของนานาชาติแล้ว ผู้ลี้ภัย หรือผู้หนีภัยความตาย จะต้องไม่ถูกส่งกลับเพื่อไปเผชิญหน้ากับภาวะความเสี่ยงต่อชีวิต และจะต้องได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองจากประเทศที่เข้าไปลี้ภัยด้วยหลักมนุษยธรรมในฐานะมนุษยชนคนหนึ่งแต่เมื่อชาวโรฮิงญามีสถานะที่แตกต่างกับประชาชนในรัฐอาระกันหรือชนชาติยะไข่ ทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม และภาษาพูด อีกทั้งรัฐบาลทหารพม่ามีทัศนคติว่า ชาวโรฮิงญาเข้ามาอยู่ในพม่าไม่นาน ทำให้รัฐบาลทหารไม่ยอมรับความเป็นประชาชนของพม่า แม้ปัจจุบันในรัฐอาระกันมีประชาชนทั้งหมดกว่า 3 ล้านคน และประมาณ 1 ล้านกว่าเป็นชาวโรฮิงญาก็ตาม เมื่อรัฐบาลทหารพม่ามีนโยบาย “สร้างชาติพม่า” เพื่อจะ “กำจัดชาวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย" ชาวโรฮิงญาจึงได้รับผลกระทบอย่างมาก ชาวโรฮิงญาในประเทศไทยนั้น มีการอพยพเข้ามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งเข้ามา หลายๆ ส่วนมีส่วนร่วมในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าในปี ค.ศ.1988 แต่ด้วยวิถีชีวิตที่นับถือศาสนามุสลิมทำให้มีข้อจำกัด ปัจจุบันมีชาวโรฮิงญาหลบภัยออกมาจากรัฐอาระกันจำนวนมากในบังกลาเทศ ปากีสถาน มาเลเซีย และเชื่อว่ามีจำนวนมากกว่าหนึ่งหมื่นคนในประเทศไทย[3]

        รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันฟื้นสิทธิต่าง ๆ ที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองโดยชัดแจ้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้สรุปสิทธิต่าง ๆ เป็นเสรีภาพในการพูด เสรีภาพสื่อ การชุมนุมโดยสงบ สมาคม ศาสนาและขบวนการภายในประเทศและต่างประเทศ
        สังคมไทยปัจจุบันเน้นความสำคัญของภาคเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือระบบตลาดได้ครอบงำเศรษฐกิจโลก และภายใต้ระบบตลาดเศรษฐกิจทุนนิยมดังกล่าว ได้ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มาพร้อมกับเศรษฐกิจในระบบตลาด ภายใต้เงื่อนไขของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นโดยในที่นี้จะขอกล่าวถึงสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นผลมาจากการพยายามก้าวไปสู่ความทันสมัย รัฐบาลได้ใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน [4]
        ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือปัญหาการค้ามนุษย์ การค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งการล่อลวงและการลักพาชายจากกัมพูชาโดยนักค้ามนุษย์และขายให้แก่เรือประมงผิดกฎหมายซึ่งจับปลาในอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ชายเหล่านี้ได้รับสัญญาว่าจะได้ทำงานที่มีรายได้ดีกว่า แต่กลับถูกบังคับให้ทำงานเป็นทาสบนเรือนานถึง 3 ปี[3] การค้าเด็กก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญในประเทศไทยเช่นกัน โดยการบังคับให้เด็กที่ถูกลักพาซึ่งมีอาจมีอายุน้อยเพียง 4 ปีเป็นทาสเพื่อบริการทางเพศในนครใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและภูเก็ต กิจกรรมดังกล่าวแพร่กระจายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชนบทของประเทศ[4]
ส่วนกรณีของคนไทยที่ต้องตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และถูกส่งไปยังต่างประเทศนั้น พบว่าส่วนใหญ่จะถูกนำไปค้าที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย ศรีลังกา บาห์เรน และจีน มีบางส่วนถูกนำไปค้าที่รัฐเซีย แอฟริกาใต้ เยเมน เวียดนาม สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสิงค์โปร์ นอกจากนี้ยังมีคนไทยบางส่วนถูกนำไปค้าในประเทศออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี อินโดนีเซีย อิสราเอล ญี่ปุ่น คูเวต ลิเบีย กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และติเมอร์-เลสเต เรียกได้ว่าคนไทยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และถูกส่งไปค้ายังทุกทวีปทั่วโลก โดยเหยื่อการค้ามนุษย์คนไทยที่ถูกส่งไปยังต่างประเทศนั้น จะถูกบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณ ต้องทำงานหนักเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวันโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน นอกจากการใช้แรงงานแล้ว ยังมีการนำเหยื่อการค้ามนุษย์ไปเพื่อการค้าประเวณีอีกด้วย
        จากปัญหาสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยและสังคมโลกสะท้อนให้เห็นได้ว่า ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่สังคมมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีทุกๆด้าน ทั้งเทคโนโลยี เศรษฐกิจ แต่สภาพของสังคมกับเปลี่ยนแปลงไปในด้านตรงกันข้าม มนุษย์ด้วยกันกลับถูกกดขี่ข่มเหงจนถึงกับไม่มีแผ่นดินจะอยู่เช่นเดียวกับชาวโรฮิงญา แม้จะมีบทบัญญัติต่างๆที่บัญญัติรับรองสิทธิมนุษญชนมากมายว่า มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น รวมทั้งสังคมไทยที่ยังมีการกดขี่ ค้าขายมนุษย์ด้วยกันเหมือนเป็นสินค้า ดิฉันจึงมีความมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นประเด็นที่ควรมุ่งศึกษาทำความเข้าใจในวงกว้างมากขึ้น โดยอิงอยู่กับพื้นฐานของความชอบธรรม เพราะในโลกของเรายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ในทุกมุมมองของโลกและสิทธิมนุษยชนนั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของคนทุกคนที่อยู่รวมกันในสังคม และยังเกี่ยวข้องกับ สังคม เศรษฐกิจและการเมือง เป็นพื้นฐานของหลักการที่มุ่งไปสู่ประชาธิปไตยและพัฒนาสังคมให้มีความสงบสุขและเจริญ หากว่ามนุษย์รู้จักและเข้าใจยอมรับและเคารพในสิทธิมนุษยชนของกันและกัน

[1]สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย - วิกิพีเดีย แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki 8 เมษายน 2557
[2] “สิทธิมนุษย์ชนในสังคมโลก - ครูชนกพร ศรัทธา - Google Sites” แหล่งที่มา : sites.google.com/site/kruchanokwp/home/siththi-mnusy-chn-ni-sangkhm-lok
[3] “บทความพิเศษโรฮิงญากับสิทธิมนุษยชนสากล” คมชัดลึกออนไลน์ แหล่งที่มา : http://www.komchadluek.net/detail
[4] “สิทธิมนุษยชนกับปัญหาสังคม” จากบล็อกโอเคเนชั่น (ออนไลน์) แหล่งที่มา : http://www.oknation.net/blog/print.php?id=398519 8 เมษายน 2557

 

 

หมายเลขบันทึก: 565705เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2014 21:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 เมษายน 2014 21:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท