AnthroCat-Thailand
นาย ปรัชญาณินทร์ วงศ์อทิติกุล

ชาติ ชาตินิยม พหุนิยมและพหุวัฒนธรรมนิยม(1/3)


ปัญหาของทุกรัฐ-ชาติที่ก่อตัวขึ้นมาได้ประสบ ก็คือ ตัวเองต้องการมีอัตลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่ชัดเจน มีเสียงพูดเสียงเดียว ผลประโยชน์เป็นหนึ่งเดียว ความมุ่งมั่นเป้าหมายเป็นหนึ่งเดียว ในท่ามกลางสภาวะแข่งขันรุนแรงของโลกศตวรรษที่ 18 อันเป็นยุคล่าอาณานิคมที่ทุกประเทศแก่งแย่งผลประโยชน์กันด้วยวิธีการที่รุนแรงไร้ศีลธรรม เช่น ความเป็นรัฐ-ชาติไทย ญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลี อินเดีย ฯลฯ อันเป็นหนึ่งเดียว แต่ในสภาพความเป็นจริงของแต่ละชาติ มักประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี มีปัญหาผลประโยชน์และเป้าหมายที่ต่าง ๆ กันไป

ในอดีตแนวความคิดที่มีความเป็นหนึ่งเดียว เช่น ระบบการเมืองเดียว ระบบสังคมเดียว ได้เคยเกิดขึ้นและเป็นที่ยอมรับ และนำมาอธิบายถึงความชอบธรรมในการดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมเดียว แต่ต่อมาแนวคิดเช่นนั้นได้ถูกปฏิเสธและถูกแทนที่ด้วยแนวคิดแบบพหุนิยม (Pluralism)

ปัญหาของทุกรัฐ-ชาติที่ก่อตัวขึ้นมาได้ประสบ ก็คือ ตัวเองต้องการมีอัตลักษณ์เพียงหนึ่งเดียวที่ชัดเจน มีเสียงพูดเสียงเดียว ผลประโยชน์เป็นหนึ่งเดียว ความมุ่งมั่นเป้าหมายเป็นหนึ่งเดียว ในท่ามกลางสภาวะแข่งขันรุนแรงของโลกศตวรรษที่ 18 อันเป็นยุคล่าอาณานิคมที่ทุกประเทศแก่งแย่งผลประโยชน์กันด้วยวิธีการที่รุนแรงไร้ศีลธรรม เช่น ความเป็นรัฐ-ชาติไทย ญี่ปุ่น เยอรมัน อิตาลี อินเดีย ฯลฯ อันเป็นหนึ่งเดียว แต่ในสภาพความเป็นจริงของแต่ละชาติ มักประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายภาษา ขนบธรรมเนียม ประเพณี มีปัญหาผลประโยชน์และเป้าหมายที่ต่าง ๆ กันไป ซึ่งได้กลายมาเป็นสิ่งที่เกี่ยวโยงกับแนวนโยบายต่าง ๆ สำหรับรัฐที่ต้องการประสานความต้องการกับการยอมรับในความจริงแห่งความแตกต่างเหล่านี้ และแนวโน้มโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นก็คือ รัฐพยายามลบความแตกต่าง สร้างความเหมือน หรือความเป็นหนึ่งเดียวขึ้นในช่วงต้น ๆ ของการเกิดรัฐ-ชาติ ต่อมาความพยายามนี้ล้มเหลวหรือมีเหตุปัจจัยเปลี่ยนไป จึงเกิดความคิดที่เคารพความแตกต่าง (difference) เคารพความหลากหลาย (diversity) ในมิติต่าง ๆ ของคนในชาติของตนขึ้นมา ตั้งแต่ภาษา ประเพณี วัฒนธรรม สังคม การเมือง มากขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ แนวคิดพหุนิยมจึงสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความคิดเรื่องชาตินิยม ดังนั้น เราต้องเข้าใจพัฒนาการของ ชาตินิยมจึงจะสามารถเข้าใจพหุนิยมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จากแนวคิดที่มีผู้คิดไว้เกี่ยวกับ ความเป็นชาติหรือ ชาตินิยมมองไว้ ดังนี้

1.      ชาติไม่ได้ดำรงอยู่โดยธรรมชาติ แต่ชาติเป็นวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้นและจินตนาการขึ้น (Anderson, 1983) รวมทั้งเป็นเพียงอุดมการณ์ชุดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง หรือที่ Kedourie (1996) เคยกล่าวไว้มีใจความโดยสรุปว่า ชาตินิยมเป็นลัทธิที่ถูกสร้างขึ้นในยุโรปเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 เป็นเสมือนการให้มาตรฐานสำหรับการกำหนดหน่วยของประชากรให้พึงพอใจรัฐบาลของตนเป็นพิเศษ และเป็นแนวคิดในการสร้างความชอบธรรมในการมีอำนาจบริหารต่อสังคมภายในอาณาเขตของรัฐ อีกทั้งเพื่อเป็นการสร้างความชอบธรรมในการจัดตั้งหน่วยองค์กรที่มีความชอบธรรม ทั้งหมดเป็นแนวทางในการอ้างถึงความชอบธรรมของการมีรัฐ หรือการมีสถานะที่ทุกคนต้องให้ความเคารพและยึดมั่น โดยแนวความคิดเกี่ยวกับความเป็นชาติ (the nation) นี้ ได้แพร่กระจายจากตะวันตกไปทั่วทุกแห่งทั่วโลกผ่านลัทธิการล่าอาณานิคม (Colonialism) ของประเทศมหาอำนาจตะวันตก ส่งผลให้นานาประเทศที่กลุ่มประเทศมหาอำนาจนี้ไปถึงต้องปรับเปลี่ยนและจัดการต่อการสถาปนาความเป็นชาติของตนขึ้น เพื่อเป็นการต่อรองทางด้านอธิปไตยและความเป็นรัฐของตนเอง โดยการกำหนดเส้นเขตแดนและการผนวกเอาอาณาจักรต่าง ๆ เข้าเป็นหนึ่งเดียวกับอำนาจส่วนกลาง ซึ่งก็หมายถึงการรวบรวมเอาความแตกต่างของสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา ชาติพันธุ์ และอื่น ๆ ผ่านกระบวนการสร้างความเป็นชาติ ดังเช่นกรณีของประเทศไทยที่ได้ใช้กระบวนการสร้างความเป็นไทย (Thai-ization) ทั้งในยุคต้นของรัตนโกสินทร์และหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการปฏิวัติสังคมและวัฒนธรรมและการเปลี่ยนระบอบการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย

2.      การก่อตัวของชาติหรือความคิดชาตินิยมสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับโลกยุคใหม่ และการเกิดทุนนิยมหรือระบบอุตสาหกรรมขึ้นในโลก ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ขัดแย้งกับแนวคิดของ Gellner (1984) (ที่มองว่า ชาติ หรือ ชาตินิยมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสังคมเกษตรกรรม โดยมีเหตุผล 3 ประการที่สนับสนุนสมมติฐานนี้

ประการแรก เมื่อมองผ่านแนวคิดเรื่องชาติ มักถูกมองว่า พรมแดนทางการเมือง พรมแดนทางวัฒนธรรมต้องเป็นหนึ่งเดียว (Unity & Unique) หรือที่เรียกว่า One Culture, One State เช่นที่ ประเทศเยอรมันได้พยายามสร้างความเป็นวัฒนธรรมเยอรมันเพียงหนึ่งเดียว ประเทศญี่ปุ่นก็จำต้องมีวัฒนธรรมญี่ปุ่นและประเทศไทยในยุคสร้างชาติและปฏิรูปสังคมวัฒนธรรมก็ได้พยายามให้มีการใช้เพียงหนึ่งวัฒนธรรม (monoculturalism) โดยพยายามที่จะปฏิเสธและเข้าเปลี่ยนแปลงความเป็นวัฒนธรรมอื่น ๆ ให้หมดไป หรือแม้กระทั่งในประเทศอเมริกาที่ถือกันว่าเป็นประเทศที่กำเนิดขึ้นจากกลุ่มคนที่หลากหลายต่างเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม ต่างก็ผ่านกระบวนการที่เรียกวันว่า America Meting Pot เพื่อสร้างความเป็นอเมริกาเพียงหนึ่งเดียว

เมื่อมองผ่านสังคมแบบเกษตรกรรม พรมแดนด้านการเมืองกับวัฒนธรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องมีความสอดคล้องกัน แต่กลับสัมพันธ์กับระบบด้านสังคม และเครือญาติเป็นหลัก แต่ละกลุ่มสังคมเกษตรกรรมก็มีความเป็นตัวตนที่ชัดเจนของตนเอง มีภาษา ระบบการผลิต การปกครองในรูปแบบที่เหมาะสมต่อสภาวะแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และสภาวะแวดล้องทางกายภาพที่ตนดำรงอยู่ อีกทั้ง มีการยอมรับในความแตกต่างที่ปรากฏอยู่ระหว่างกัน เช่น อาณาจักรออตโตมัน อาณาจักมองโกลของเจงกิสข่าน อาณาจักรโรมัน ต่างก็ใช้รูปแบบการปกครองที่หลากหลาย มีกฎหมายทั้งท้องถิ่นและส่วนกลาง (เช่น อาณาจักรโรมัน มีการใช้กฎหมายยิว และกฎหมายโรมันในการควบคุมสังคมขณะนั้น) ความแตกต่างภาษาก็ได้รับการยอมรับโดยการยินยอมให้มีล่ามเป็นผู้แปลภาษา มากกว่าที่จะบังคับให้ผู้ที่อยู่ใต้การปกครองเปลี่ยนมาใช้ภาษาของผู้มีอำนาจเหนือกว่า หรือในสังคมของประเทศไทยเอง ก็มีความหลากหลายด้านกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกันในทุก ๆ ด้าน ซึ่งบางครั้งพรมแดนทางด้านการเมืองก็ไม่สอดคล้องกับพรมแดนทางด้านวัฒนธรรม ดังที่ได้อ้าวไว้แล้ว กล่าวคือ รัฐไท (ไทย) เล็ก ๆ ในแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งประเทศพม่าได้เชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มวัฒนธรรมที่เป็น ข่า ขมุ อันเป็นการดำรงอยู่ภายใต้พรมแดนการเมืองเดียวกัน แต่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงด้านพรมแดนทางวัฒนธรรมเดียวกัน เพราะ กลุ่มชาติพันธุ์ไท (ไทย) ในสิบสองปันนา กับกลุ่มชาติพันธุ์ข่า กลุ่มชาติพันธุ์ขมุ ต่างก็มีวัฒนธรรม ภาษา ระบบสังคม จารีตประเพณีเป็นของตนเอง

ในความเป็นชาติ ยังมีส่วนเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมอีกด้วย ซึ่งในที่นี้อาจมีผู้กล่าวอ้างว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และเป็นแนวความคิดที่ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 19 ผ่านการศึกษาของเหล่านักมานุษยวิทยาที่โด่งดัง เช่น Boas และลูกศิษย์ที่เน้นการศึกษาเกี่ยวกับวัฒนธรรมเป็นสำคัญ ว่ามีความหลากหลาย (diversity) และสามารถแพร่กระจายไปหากันได้ (diffusion) จนกระทั่งเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น (assimilation)

อีกประการหนึ่ง ในปลายศตวรรษที่ 19 วัฒนธรรมมีความหมายที่กว้างมากขึ้น คือ หมายถึงแบบแผนชีวิตร่วมของคนชาติต่าง ๆ หรือบางทีก็แคบลงมาเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของกลุ่มต่าง ๆ รวมความถึง ความคิด แบบแผน ประเพณี พีธีกรรมต่าง ๆ ทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะที่เป็นทางการหรือเป็นของกลุ่มชนชั้นปกครอง และของที่ได้รับการจัดว่าเป็นรูปแบบที่ดีงาม ในประวัติศาสตร์ มีอยู่เสมอที่บรรดาชนชั้นปกครอง ได้แก่ กษตัริย์ เหล่าขุนนางต่างก็ยึดถือวัฒนธรรมเฉพาะ (specialized culture) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่จำกัดอยู่ในวงแคบ และถือกันว่าเป็นวัฒนธรรมหลวง เป็นเครื่องมือในการควบคุมสังคม โดยแยกตัวเองออกเป็นกลุ่มพิเศษ (exclusive group) ออกไปจากประชาชนส่วนใหญ่ และมักหมายถึงการมีอำนาจ (powerful) นั่นเอง และมักจะมองข้ามหรือดูถูกในวัฒนธรรมราษฎร์ อีกทั่งมีความพยายามที่จะยัดเยียดหรือปรับเปลี่ยนความเป็นวัฒนธรรมราษฏร์ให้มีความเหมือนหรือคล้ายในบางด้านของวัฒนธรรมชั้นสูง แต่ก็มีการสงวนไว้ซึ่งความเป็นเอกสิทธิ์หรืออภิสิทธิ์ของกลุ่นตนไว้ในขณะเดียวกัน

ดังนั้น สังคมเกษตร จึงมุ่งสร้างความเป็นคู่ (dualism) หรือความเป็นพหุมากกว่าที่จะสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังเช่น ในยุครัฐ-ชาติสมัยใหม่ (new modern nation-state)

ประการที่สอง สังคมเกษตรกรรมมักสร้างรูปแบบการเมืองการปกครองที่เอื้อต่อการเป็นพหุนิยม (Pluralism) หรือการมีคนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มย่อยที่มีฐานะพิเศษเพื่อทำหน้าที่เฉพาะในการบริการ เช่น หน้าที่การเก็บภาษี การค้า การเงินการคลัง การทหาร ด้านวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม และมักมีการใช้กลยุทธวิธีในการใช้คนจากกลุ่มคนที่มีลักษณะพิเศษที่เกิดจากความโดดเด่นของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ๆ เช่น การใช้คนจีนในการเก็บภาษีในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นถึงกลาง การประกอบพิธีกรรมโดยพราหมณ์ เป็นต้น

กลุ่มที่ถูกเลือกเข้ามาทำหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านี้ จึงมีลักษณะสำคัญ คือเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีวัฒนธรรมร่วมหรือวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเอง และมักรักษาวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเข้มแข็ง (นั่นหมายความว่า ถ้าหากไม่สามารถรักษาเอาไว้ได้ และถูกกลืนเข้าสู่สังคมวัฒนธรรมใหญ่ ก็สูญสิ้นสิทธิ์ในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ๆ ได้อีกต่อไป) แต่ความแตกต่างของกลุ่มสังคม กลุ่มคนต่างชาติ ต่างภาษาเหล่านี้ ได้ถูกผลกระทบเมื่อเกิดระบบอุตสาหกรรมและแนวความคิดการสร้างชาติ โดยผ่านแนวคิดชาตินิยมขึ้น ซึ่งระบบสังคมแบบใหม่นี้ มีความต้องการที่จะให้คนส่วนใหญ่ทำงานประสานกันอย่างต่อเนื่องไร้อุปสรรคและต้องการให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันและสามารถทำงานในหน้าที่ต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวางเท่าที่จะทำได้ คนกลุ่มน้อยที่มีวัฒนธรรมเฉพาะของตนจึงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะมีวัฒนธรรมที่ต่างไปจากคนส่วนใหญ่ ซึ่งคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นผู้ที่ได้รับอภิสิทธิ์และผูกขาดกิจการบางอย่างอยู่เนื่องจากความเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของตน จึงมีความแตกต่างไปจากสังคมคนส่วนใหญ่ที่มีความด้อยในด้านเศรษฐกิจสังคมกว่า จนกลายไปสู่การเกลียดชัง ตัวอย่างเช่นประเทศไทย ในยุคเริ่มสร้างรัฐ-ชาติของตน และพยายามทำให้เกิดความรู้สึกว่าชาติเป็นของคนไทยจึงใช้นโยบายผลักไสโจมตีคนจีนในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 6 ใช้นโยบายโจมตีกีดกันคนจีน สมัยจอมพล ป. กีดกัดบทบาทเศรษฐกิจคนจีน โดยใช้อำนาจรัฐขึ้นมาตั้งรัฐวิสาหกิจต่าง  ๆ เพื่อแข่งขันกับการประกอบธุรกิจของคนจีน และเป็นมาเป็นนโยบายผนวกรวม (assimilation) ในยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้น จากข้างต้น จะเห็นได้ว่าสังคมอุตสาหกรรมมีแนวโน้มในการปฏิเสธความหลากหลายและมุ่งสร้างความเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งต่างไปจากสังคมเกษตรกรรมที่มีการยอมรับในความแตกต่างได้ดีกว่า และมีแนวโน้มในการสนับสนุนให้เกิดความเป็นพหุนิยมดังที่ได้เสนอไว้ข้างต้น

ประการที่สาม ในสังคมเกษตรกรรม รัฐต้องการให้คนที่พื้นที่ในลักษณะถาวร (permanent place) ไม่ให้เคลื่อนย้ายไปไหน แต่อาจมีการกวาดต้อนคนเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองและกำหนดพื้นที่สำหรับการอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง เพื่อประโยชน์ในการใช้แรงงาน การเก็บส่วย และเพื่อการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมทั้งที่เป็นวัฒนธรรมด้านวัตถุ และวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัตถุของกลุ่มคนเหล่านั้น จนในที่สุดส่งผลให้เกิดความหลากหลายในการดำเนินชีวิต ระบบสังคม วัฒนธรรม ศาสนา ภาษา และศิลปะเฉพาะกลุ่ม นับว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสนับสนุนให้เกิดความเป็นพหุลักษณ์ของสังคม

3.ชาตินิยมเกิดขึ้นพร้อมกับการเสื่อมสลายตัวของสังคมยุโรปยุคกลาง

นั่นคือเกิดขึ้นพร้อมกับลัทธิมนุษย์นิยม และปัจเจกชนนิยมในยุค Renaissance การปฏิรูปศาสนา การปฏิวัติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ซึ่งเป็นการนำไปสู่ระบบอุตสาหกรรม (industrialism) ในยุคศตวรรษที่ 18 ส่วน Anderson มองว่าเกิดจาการจินตนาการชุมชน ชาติขึ้นมาแทนที่ ชุมชนศาสนา ในยุคกลาง และให้ความสำคัญกับบทบาทของหนังสือ การสื่อสาร ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการพิมพ์ สำหรับ แ มองว่าระบบอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดแนวคิดชาติและชาตินิยมขึ้น ซึ่งแนวคิดเหล่านี้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจพัฒนาการของความคิดเรื่องชาติ ชาตินิยม รวมทั้งความคิดพหุนิยมในบ้านเรา โดยที่ Gellner เน้นย้ำว่าสังคมอุตสาหกรรมมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับการเกิดชาติ และชาตินิยม ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

·       หลักสำคัญหนึ่งของสังคมอุตสาหกรรม คือ การใช้ปัญญาหาเหตุผล (rationality) มาเป็นหลักในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งสิ่งที่เรียกว่า rationality แบบตะวันตกไม่ได้มีความหมายอย่างเดียวกันกับความมีเหตุมีผลของเอเชีย ถึงแม้จะมีความเข้าใจที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็สามารถแยกแยะได้เป็น 2 แง่มุม คือ

Ø    แง่มุมแรก คือ การเน้นย้ำถึงความสอดคล้องในเชิงตรรกะเหตุผล ความสม่ำเสมอ (consistency) ในการใช้เหตุผล ไม่ใช่เลือกใช้เหตุผลชุดหนึ่งชุดใดในสถานการณ์หนึ่ง ๆ แง่มุมนี้ของ rationality ทำให้เราสามารถตรวจสอบซ้ำความรู้ทฤษฎี หรือการทดลองวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้ ทำให้ความเชื่อมั่นในความถูกต้อง หรือการทำงานได้เกิดผลขึ้น

Ø    แง่มุมที่สอง rationality หมายถึง การเลือกเอาความคิดทฤษฎีวิธีการที่จะได้ผลมากที่สุดซึ่งก็คือการเน้น efficiency โดยไม่ต้องมีสิ่งอื่นใดมาเป็นอุปสรรคขวางกั้น นี่เป็นที่มาของกระแสวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนิยม รวมทั้งการแสวงกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุดของพ่อค้า นักธุรกิจในระบบทุนนิยม

·       การยึดหลักใช้ rationality ส่งผลให้เกิดความคลั่งไคล้ในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลให้สังคมสมัยใหม่หรือสังคมอุตสาหกรรมมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งทางวัตถุ สังคม ความรู้ อาชีพ วัฒนธรรม อุดมการณ์ นอกจากนี้แนวคิดแบบวิเคราะห์แบบแยกส่วน (espirit d’analyse) ยังมีบทบาทในการแยกย่อย หรือการสร้างความแตกต่าง (differentiation) และสร้างความชำนาญเฉพาะ (specialization) ที่ละเอียดซับซ้อน ส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในคติลัทธิความก้าวหน้า (progress) การพัฒนา (modernization) หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างไม่รู้จักจบสิ้นเกิดขึ้น

ลักษณะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในสังคมเกษตรกรรม เพราะถึงแม้สังคมเกษตรกรรมจะมีการแบ่งงานที่แยกย่อยได้เช่นกัน แต่ความชำนาญเฉพาะนั้นมักเป็นไปในลักษณะตายตัว และถ่ายทอดกันในระบบปิด คือระบบครัวเรือนหรือระบบช่างฝึกงาน และระบบทั้ง 2 นี้ไม่สามารถตอบสนองในการผลิตผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีทักษะที่มีจำนวนมากและเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะเฉพาะ (specification) ได้ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องมีการจัดระบบการศึกษาและการฝึกอบรมแบบใหม่ที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของสังคมอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ มีความคล่องตัวปรับตัวได้สูงเพื่อรองรับความต้องการใหม่ของตลาดแรงงาน ซึ่งสถาบันการศึกษาเหล่านี้จึงต้องมีบทบาทและเป้าหมายเพื่อแสวงหาความรู้ใหม่ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งก็คือระบบการศึกษาที่เราใช้กันในปัจจุบัน

การจัดการศึกษาผ่านสถาบันการศึกษาเช่นนี้ ที่เปิดโอกาสให้ ใครก็ได้เข้าไปแสวงหาความรู้ ต่างก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขประการหนึ่ง คือ การมีภาษาร่วมกัน ภาษานั้นต้องเป็นภาษาเขียนหรือพิมพ์ซึ่งในการมีภาษาเพียงหนึ่งเดียวในการสื่อสารนี้ นับว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างชาติและชาตินิยม เพื่อให้เกิดการถ่ายเทความรู้ สื่อสารได้ตรงประเด็นความหมาย และในที่สุดการที่มีภาษาเพียงหนึ่งนี้จะก้าวไปสู่ความเป็นสากล เพราะถึงแม้ว่าผู้ที่ทำงาน ผู้ที่ศึกษาจะมาจากพื้นที่ที่ต่างกัน แต่ก็จำเป็นต้องมีภาษากลางร่วมที่สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่องความหมายอย่างชัดเจน และมักมีเรื่องด้านอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารนั้น
หมายเลขบันทึก: 56562เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 08:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท