ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๓๓. ยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลง


 

          บันทึกนี้ต่อเนื่องจากบันทึกที่แล้ว    ได้แรงบันดาลใจจากการประชุมคณะกรรมการชี้ทิศทาง โครงการจัดตั้งสถาบันวิจัย ระบบการเรียนรู้ ที่ ทีดีอาร์ไอ เมื่อบ่ายวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๗

          ทีมงาน นำโดย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ    เสนอภาพความเป็นจริงของระบบการศึกษา     และวิเคราะห์โอกาสทำงานแก้ไขปัญหาความอ่อนแอของระบบการศึกษาอย่างดียิ่ง    และเสนอแนวทางการทำงานวิจัย เพื่อให้เกิดผลงานเร็ว (quick win) สำหรับขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง     เสนอโครงการย่อยที่จะได้ผลสำเร็จใน ๑ ปี จำนวน ๖ โครงการ

          ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ให้ความเห็นว่า เรากำลังดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลง    จึงต้องมีภาพที่ต้องการให้ชัด    แล้ว “กลัดกระดุมเม็ดแรก” ให้ถูก    แล้วกระดุมเม็ดต่อๆ มาก็จะถูกต้องลงตัว     คือสามารถ ดำเนินการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงได้อย่างถูกต้อง    ท่านเสนอให้กำหนดเป้าหมายที่คุณภาพของผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้

          ผมนั่งฟังการเสวนาที่มีรสชาติยิ่งอย่างสนใจ    แต่ไม่ได้พูดอะไร    จนท่านประธานของการประชุม คือ ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร ถามว่า ทำไมผมไม่พูดอะไรเลย

          ผมจึงได้โอกาสบอกความรู้สึกว่า เป้าหมายใน ๑ ปี มีหลายอย่างเกินไป และกระจัดกระจาย    อคติของผม คือต้องมุ่งเป้า ที่คุณภาพของผลสัมฤทธิ์ในการเรียน    โดยเน้นดำเนินการปรับปรุงที่จุดเชื่อมระหว่างนักเรียนกับครู    แล้วให้คุณหรือการตอบแทน แก่ครูที่มีผลงานผลสัมฤทธิ์ของศิษย์ดี    โดยต้องนิยามผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ใหม่    ไม่ใช่ดูที่ผลสอบปลายปี    แต่ดูที่ Net Gain   หรือ Value-Add ใน ๑ ปี ที่นักเรียนแต่ละคนเรียนรู้เพิ่มขึ้น    โดยต้องไม่ดูเฉพาะที่การเรียนวิชา ต้องวัดการเรียนรู้รอบด้าน หรือพหุปัญญา

          การวัดผลงานของครูที่ Net Gain เฉลี่ยใน ๑ ปี ยังไม่พอ    ต้องวิเคราะห์ด้วยว่า Net Gain ของนักเรียนกลุ่ม 25% บนที่เรียนเก่ง    กับของนักเรียนกลุ่ม 25% ล่าง ที่เรียนเก่งน้อยที่สุด แตกต่างกันแค่ไหน   หากแตกต่างกันมาก ถือว่าครูยังทำหน้าที่ ยังไม่ดีพอ    เพราะตามผลงานวิจัยของต่างประเทศ ครูที่เก่ง และเอาใจใส่นักเรียนทุกคนเท่าเทียมกัน    นักเรียนในชั้นจะมี Net Gain เท่าๆ กัน หรือไม่ต่างกันมาก    นักเรียนที่หัวช้า จะมี Net Gain ต่ำกว่านักเรียนหัวดีเพียงเล็กน้อย

          ผมบอกที่ประชุมว่า ผมเคยท้าทาย ดร. สีลาภรณ์ บัวสาย ว่าหากมีหน่วยงานเอาเงินมาให้ผมทำเรื่อง Net Gain เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครู สู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา    หากมีเงินให้ ๒๐๐ ล้านบาท ใน ๕ ปี ผมจะรับทำให้ เหมือนกับทำเรื่อง KM เมื่อกว่าสิบปีมาแล้ว    แต่โชคดีที่ข้อท้าทายของผม ไม่มีใครถือเป็นเรื่องจริงจัง     เพราะผมอาจทำไม่สำเร็จ หรืออาจตายเสียก่อนก็ได้

          นี่คือความฝันยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลง ในคุณภาพของการศึกษาไทย ของผม  

 

 

๙ มี.ค. ๕๗

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 565304เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2014 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 เมษายน 2014 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตเรียนถามและแลกเปลี่ยนค่ะ

ก่อนอื่นต้องเรียนว่าน่าตื่นเต้นที่ผู้ทรงคุณวุฒิที่อยูนอกฟิลด์ ศึกษาศาสตร์ หลายท่านได้มาทำสิ่งที่ขอเรียกว่า initiatives ทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น โปรเจ็ค หรือวิจัย ซึ่งสร้างความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านคุณภาพการศึกษาของชาติ แต่ไม่ค่อยมีข่าวออกมานะคะ ดิฉันทราบจากบันทึกของท่านเป็นส่วนใหญ่

น่าสนใจว่าการวัด Net Gain วัดอย่างไร ในทฤษฎีการวัดตัวแปร Measurement theory มีการวัด Gain หลายวิธี

ดิฉันไม่ค่อยเห็นด้วยที่ว่า ถ้าครูเอาใจใส่นักเรียนเท่าเทียมกัน เด็กเก่งและอ่อนในชั้นจะมี Net Gain เท่ากัน หรือต่างกันน้อย ทั้งนี้เพราะ โดยธรรมชาติแล้วครูต้องเอาใจใส่เด็กที่อ่อนมากกว่าเด็กที่เก่งเพื่อชดเชยจึงจะสามารถทำให้เด็กอ่อนมี achievement gain ใกล้เคียงกับเด็กเก่งได้

การที่จะยกระดับผลสัมฤทธิ์ให้เด็กอ่อนขึ้นไปเทียบเคียงกับเด็กเก่ง ครูควรใช้หลักการของ individualized instruction กล่าวคือจัดการเรียนการสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เด็กทั้งชั้นมีผลสัมฤทธิ์ สูงใกล้เคียงกันไม่ว่าจะวัดจากคะแนนธรรมดาหรือวัดโดยใช้ Gain score คือ เวลา ถ้ามีเป้าหมายของการเรียนรู้เดียวกัน เด็กเรียนช้าย่อมต้องการเวลามากกว่า เวลาในที่นี้ หมายถึงเวลาที่ทำการเรียนจริง (time-on-task)-ขอบคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท